วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

นวนิยายดีที่สุดในโลก ดีอย่างไร

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

เสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2550 13.30 น.
เสวนา ‘นวนิยายดีที่สุดในโลก : ดีอย่างไร’ โดย วัลยา วิวัฒน์ศร, ปณิธิ หุ่นแสวง และมกุฏ อรฤดี

มกุฏ : ผู้แปลชาวเกาหลีเคยถามว่าประเทศคุณเพิ่งแปลดอนกิโฆเต้ฯ หรือ เวียดนามแปลก่อนเราเกือบสามสิบปี จึงรู้สึกกระตือรือร้นเมื่อหอสมุดธรรมศาสตร์ติดต่อให้จัดนิทรรศการ สำนักพิมพ์ผีเสื้อพิมพ์หนังสือหนึ่งร้อยเล่มมอบให้ธรรมศาสตร์ ก่อนหน้านี้มอบให้ห้องสมุดเรือนจำสามร้อยเล่ม เพราะห้องสมุดเรือนจำน่าจะมีคนที่มีการศึกษาเข้ามาอยู่มากในอนาคต หรือไม่ก็ให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีความรู้เพิ่มขึ้น

ความรู้สึกของสำนักพิมพ์ขณะจัดทำดอนกิโฆเต้ฯ เป็นภาษาไทย ซึ่งคุณเวียง วชิระ บัวสนธ์ กล่าวถึงตัวผมว่าบ้าที่จะทำหนังสือเล่มนี้ ผมก็เห็นว่าสี่ร้อยปีก่อน เซร์บันเตสก็บ้า มีคำขอบคุณมากมายในหนังสือ ซึ่งแท้จริงแล้ว คนที่เขียนอุทิศให้เหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้อุปถัมภ์เซร์บันเตส ตอนที่เขาเขียนต้นฉบับก็ไปหาคนเหล่านี้ แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ คนเราถ้าไม่บ้าเสียก่อน คงไม่อยู่มาได้ถึงสี่ร้อยปี หนังสือเล่มนี้อยู่ได้ถึงสี่ร้อยปีด้วยความบ้า อยากให้มหาวิทยาลัยไทยมีดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับของตัวเอง ต่อไปขอเชิญ อ. ปณิธิ กับ อ. วัลยา

อ. ปณิธิ : ที่จริงแล้ววันนี้ผมกับ อ. วัลยา ควรไปอยู่สถานทูตฝรั่งเศสมากกว่า เพราะเป็นวันชาติฝรั่งเศส หัวข้อเสวนาวันนี้คือ 'นวนิยายดีที่สุดโลก ดีอย่างไร' ต้องบอกว่าดีที่สุดในโลก หรือดีสำหรับคนนี้ คนนั้น แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ในสายตาผม หนังสือดีที่สุดคือหนังสือที่ตกในมือของผู้อ่านในอุดมคติ คือผู้อ่านที่ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย อย่างผมกับ อ. วัลยา อ่านมามาก เรียนมามาก อย่างที่คุณมกุฏเตรียมที่ไว้ให้แล้วในเรือนจำ เราเป็นนักอ่านที่ polluted คือมีกรอบ มีอคติ มีความคาดหวังต่างๆ ผมในฐานะคนสอนวรรณกรรมจะบอกว่าดีที่สุดนั้นดีอย่างไร

มีศาสตราจารย์คนหนึ่งมาจากแคนาดา คนขับรถจากอีสานของเขาอ่านดอนกิโฆเต้ฯ อ่านอย่างชอบมาก อ่านได้เรื่อยๆ เขาอ่านหนังสือนี้ได้ในฐานะเป็นนักอ่านบริสุทธิ์ แสดงว่าหนังสือต้องดี ดีแม้กระทั่งนักอ่านที่ไม่ได้คาดหวังอะไร เสียดายที่คนทั่วๆ ไป เห็นหนังสือก็กลัวแล้ว

ที่หนังสือดีเพราะสำนักพิมพ์จัดทำหนังสือสวย ผมภูมิใจ ไปไหนก็ถือไปด้วย คืออย่างนี้ครับ หนังสือที่สามารถจะฉลองหนึ่งร้อยปีมาได้สี่ครั้ง ไม่ใช่หนังสือธรรมดาแน่ๆ ปีที่ดอนกิโฆเต้ฯ ตีพิมพ์คือปีเดียวกับที่เช็กสเปียร์นำบทละคร แฮมเล็ต มาแสดง พี่เบิ้มยักษ์ใหญ่ในวรรณกรรมตอนนั้นคือเช็กสเปียร์ ในปีนั้นโลกวรรณกรรมยังมีที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือดอนกิโฆเต้ ทำไมหนังสือเล่มนี้ยังฉลองมาได้สี่ร้อยปี และคงฉลองได้เรื่อยๆ

หนังสือเล่มนี้เมื่อแต่งแล้ว ผู้แต่งมอบให้คนอ่าน ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ วิธีที่มอบให้คนอ่านทำอย่างไร ข้อสังเกตส่วนตัวของผมคือคนแต่งไม่ได้แสดงตัวมากในบท ผู้เขียนกล่าวในคำนำว่าหนังสือเล่มนี้ถึงเป็นลูก ก็เป็นแต่เพียงลูกเลี้ยง เสมือนว่าตัวเองเป็นแต่เพียงผู้เรียบเรียงเรื่องที่มีผู้บันทึกไว้ในเอกสารที่แคว้นลามันช่า ในบทที่เก้า ดอนกิโฆเต้ออกผจญภัยไปพบชาวบาสก์ เงื้อดาบ แล้วท้ายบทก็บอกว่าต้นฉบับขาดเพียงเท่านี้ เหมือนดูดีวีดีหมดม้วน ไม่มีแล้ว บทที่สิบ ผู้เล่าบอกว่าไปเที่ยวตามหาต้นฉบับ จนวันหนึ่งไปเจอในเมืองโตเลโด้ ไปพบเอกสารตอนต่อจากเรื่องในบทที่เก้า ปรากฏว่าต้นฉบับเป็นภาษาอาหรับ เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ ต้องเอาต้นฉบับไปให้คนแปลเป็นภาษาสเปน แค่นี้ก็เป็นความสมัยใหม่ สำหรับผมนะฮะ ในที่สุดแล้ว เซร์บันเตสไม่แสดงตัวกับผู้อ่านเลยว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขา แต่เป็นงานใครไม่รู้ เซร์บันเตสถอนตัวจากผลงานเล่มนี้อย่างสิ้นเชิง อำพรางตัวเอง หนังสืออะไรก็ตามที่ผู้เล่าไม่ได้บอกว่าตัวเล่า ก็จะมีเสียงคนอื่น จนเราไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนเล่า เมื่อเราระบุไม่ได้ ความเข้าใจของเรา การตีความต่างๆ ก็จะเป็นของผู้อ่านอย่างเดียว ผู้อ่านจะเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

"ท่านย่อมมีอิสระเสรีเต็มที่ ปราศจากข้อบังคับหรือข้อกริ่งเกรงใดๆ
ท่านย่อมติชมความดีหรือไม่ดีของนิยายเรื่องนี้ได้ตามพึงพอใจ
มิพักต้องหวั่นเกรงว่าจะมีผู้ติฉินหากกล่าววิพากษ์ หรือจะมีผู้ยกย่อง
แม้นท่านกล่าวชมเชย"
-- อารัมภบท ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน



ในอารัมภบท เซร์บันเตสให้อิสระผู้อ่านว่าจะตัดสินนิยายเรื่องนี้อย่างไร เป็นอิสระของผู้อ่านที่จะตีความ คุณมกุฏอ่านแล้วมีความเห็นอย่างหนึ่ง อ. วัลยาอ่านแล้วมีความเห็นอย่างหนึ่ง ผมอ่านแล้วมีความเห็นอย่างหนึ่ง ไม่มีใครบอกว่าฉันชนะแล้วเพราะค้นพบความจริง ไม่มี ดังนั้น จะมีความหมายพอกพูนใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นความดีข้อแรกของนวนิยายเรื่องนี้ คือเป็นความเอื้อเฟื้อของผู้ประพันธ์ที่มอบงานให้ผู้อ่านตลอดเวลา

หนังสือว่าด้วยเรื่องอะไร คุณมกุฏบอกว่าเป็นเรื่องของคนบ้า หนังสือที่ว่าด้วยคนบ้า ไม่รู้ว่าบ้าหรือดี เป็นลักษณะประจำของดอนกิโฆเต้ พอเอ่ยชื่อดอนกิโฆเต้ ทุกคนรู้ว่าคือคนที่ไม่สามารถแยกความจริงจากความลวง เป็นตำนานที่คนรู้จักทั่วๆ ไป เช่นรู้จักดาวพระศุกร์ โกโบริ แม้จะไม่เคยอ่าน ถ้าถามผม ความสนุกคือการผจญภัยต่างๆ สู้กับสีลม มากมายก่ายกอง

เนื้อหาอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือดอนกิโฆเต้ฯ เป็นนวนิยายของนวนิยาย เป็นหนังสือที่ว่าด้วยนวนิยาย เอาปัญหาของนวนิยายขึ้นมาถก มาเล่า มาแรกสอดในตัว นวนิยายเล่มนี้เมื่อเปิดขึ้นมา พบว่าตัวเอกของเรื่องออกผจญภัยเพราะอ่านหนังสือมาก อะไรที่ทำให้ดอนกิโฆเต้แต่งชุดเกราะออกเป็นอัศวินพเนจร เพราะเขาอ่านหนังสือมากจนเสียสติไป ประเด็นนี้สำหรับผมน่าประทับใจมากๆ เอ๊ะ เราอ่านหนังสือจนเสียสติ หนังสือที่ใครบอกว่าทำให้มีสติปัญญา คุณมกุฏที่อ่านหนังสือมาก จะเป็นคนเสียสติเพราะหนังสือหรือเปล่า วรรณกรรมสมัยหลังๆ เอาปัญหานี้มาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับตัวละคร เช่น มาดามโบวารี อ่านแต่เรื่องรัก เรื่องรักต้องโรแมนติก ทรมานใจ โบวารีเป็นอย่างนั้นก็เพราะหนังสือ หรือเช่นในเรื่อง โรบินสัน ครูโซ คงจำได้ว่าครูโซออกไปเผชิญชีวิตในเกาะ ใช้ชีวิตตามลำพัง ในหนังสือ Serious Reflections of Crusoe เดอโฟ สมมติให้ครูโซเขียนหนังสือเล่มนี้ บ่นว่ามีคนตำหนิชีวิตเขาประหนึ่งว่าเขาได้ออกทะเลไปมีชีวิตอย่างที่เล่าในนั้น แต่ตัวจริงมีชีวิตบนบกมากกว่าทะเล ครูโซตอบว่าแน่นอน ตัวเขาไม่เคยเห็นทะเล แต่เวลาเราอยู่คนเดียว ถ้ามีชีวิตที่เข้ากับใครไม่ได้ ไม่สามารถมีที่อยู่อยางชัดเจน มีความสุขในสังคม อย่างนั้นไม่เหมือนเราติดเกาะหรอกรึ ในวรรณกรรมหลายเรื่อง ได้นำสิ่งที่มีอยู่จริงมาแทนที่อีกสิ่งหนึ่ง เพื่อแทนความหมายของสิ่งหนึ่ง จะแปลกอะไรถ้าเอาสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมาแสดงความคิดของเขา

เช่นดอนกิโฆเต้ สมมติสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง สมมติให้โลกของเขาเป็นโลกที่ตรงกับจินตนาการ ปัญหาของดอนกิโฆเต้เป็นปัญหาเจ็บแสบยิ่งกว่า เวลาอ่านหนังสือมากๆ จะคิดว่าโลกเราเป็นเหมือนหนังสือที่อ่านในห้องสมุด ครูโซเพียงแต่เอาแนวคิดที่ไม่มีจริงมาแทนสิ่งจริง ดอนกิโฆเต้บังคับให้โลกของเขาเป็นไปอย่างที่เขานึก ไม่ได้หลงในความจริงความลวง แต่บังคับให้โลกเป็นไป บังคับให้มีปิศาจ เป็นอัศวินมาโจมตี สีลมกลายเป็นอสุรกาย ปกติไม่มีใครทำได้ ความยิ่งใหญ่ของหนังสือคือ ถึงแม้จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนคนอื่น ก็ยังไม่มีใครให้ตัวละครบังคับให้โลกเป็นแบบที่เขาเป็น เมื่อดอนกิโฆเต้ออกเดินทางไปแล้ว เขาอ่านชีวิตของตัวเอง เพราะบทแรกๆ บอกว่าอ่านหนังสือบางเล่มค้างไว้ยังไม่จบ เขาปรารถนาจะเขียนต่อ แต่ยังไม่ได้เขียน สุดท้ายเขาไปใช้ชีวิต บังคับให้โลกเป็นอย่างที่เขาเป็น คนอย่างดอนกิโฆเต้อาจเป็นคนอย่างคุณมกุฏ ตอนแรกใช้ชีวิตด้วยการอ่าน แต่คุณมกุฏอาจเป็นบั้นปลายของดอนกิโฆเต้ ไม่ใช่ตอนเขาหามกลับมากะร่อกะแร่นะครับ ที่สุดแล้วดอนกิโฆเต้ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ แต่เขาอ่านชีวิตของตัวเอง วรรณกรรมเป็นชีวิตจริงๆ ของดอนกิโฆเต้ อยู่ด้วยกันแนบแน่นสนิท แยกจากกันไม่ได้ อินกับวรรณกรรม หนังสือทำให้ชีวิตเราเป็นอย่างดอนกิโฆเต้หรือเปล่า ถูกหรือผิด ใช่ไม่ใช่

คนอื่นก็มองวรรณกรรมเหมือนกัน เมื่อดอนกิโฆเต้ออกผจญภัยครั้งแรกสองวัน มีเพื่อนไม่กี่คน คือบาทหลวงและกัลบก แม่บ้านให้เอาหนังสือไปสำเร็จโทษ ทั้งคู่ทำหน้าที่เป็นนักวิจารณ์ เป็นยาม เป็นคณะกรรมการระแวดระวังทางวัฒนธรรมสำหรับดอนกิโฆเต้ ถ้าเรารักหนังสือจริงๆ อย่างผมไม่รู้จักหนังสือที่บาทหลวงยกขึ้นมาเลย รู้จักบางเล่มเท่านั้น แต่เราจะรู้สึกว่าถูกต้องหรือเปล่าที่เอาหนังสือไปเผา ตอนนี้เรามีคณะกรรมการเซ็นเซอร์ จัดเรทติ้ง เยอะไปหมด เจ็บแสบกว่านั้น หนังสือบอกว่าบาทหลวงจบจากมหาวิทยาลัยซีเกวนซ่า เป็นมหาวิทยาลัยไม่มีชื่อเสียง คนที่เอาหนังสือดอนกิโฆเต้ไปเผาคือบาทหลวงจากวัดบ้านนอก จบจากมหาวิทยาลัยบ้านนอก

ถ้าดอนกิโฆเต้อ่านหนังสือจนสติแตก ที่บาทหลวงตั้งตัว โดยปรึกษารองประธานคือกัลบก ถามว่าสิ่งที่บาทหลวงกระทำ ทำถูกหรือเปล่า นี่คือตอนต้น ตอนท้ายของหนังสือ บาทหลวงไปอภิปรายคุณค่าหนังสือกับท่านเจ้าวัด ตอนท้ายจบด้วยการวิจารณ์คุณค่าหนังสือ เจ้าวัดเริ่มลังเลกับความเห็นของบาทหลวง สุดท้ายผู้อ่านจะไม่รู้ว่าความเห็นใดถูก ดอนกิโฆเต้อาจจะถูกก็ได้ ชีวิตดอนกิโฆเต้อาจเป็นชีวิตที่ถูกก็ได้

บาทหลวงไปเจอหนังสือของเซร์บันเตสในห้องสมุดดอนกิโฆเต้ บอกว่าเขียนไม่ได้เรื่องเลย ชอบเสนอบางอย่างแต่ไม่สรุป นี่คือลักษณะสำคัญของเซร์บันเตส เซร์บันเตสจะเสนอบางอย่างไว้ แล้วเสนออีกอย่างมาโต้เถียงตลอดเวลา ทำให้ผู้อ่านลังเล ครุ่นคิด และหาคำตอบด้วยตัวเองตลอดเวลา ลักษณะหนังสือแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าตัววรรณกรรมมีแง่มุมอะไร ความประพฤติตัวละครมีแง่มุมที่จะชี้ว่าถูกผิดได้อย่างไร ใครจะเป็นคนเห็น คนตัดสินใจ ทฤษฎีวรรณกรรมถือว่าดอนกิโฆเต้ฯ เป็นนวนิยายเล่มแรกของโลก มีคนบอกว่าไม่แน่ แต่สรุปได้ว่า ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นนวนิยายสมัยใหม่เล่มแรกของโลก คือเป็นวรรณกรรมที่ตั้งคำถามตัวเอง วรรณกรรมสมัยใหม่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับตัววรรณกรรมเอง เช่นงานของ วินทร์ ของ ปราบดา หยุ่น ตั้งคำถามว่าจะเล่าเรื่อง จะเล่ายังไง เพราะคนเล่ากันหมดแล้ว ควรทดลองอย่างไร เล่าเรื่องให้คนอ่านปวดหัวยังไง แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ทำมาก่อนแล้ว ตั้งคำถามแล้ว

หนังสือนี้เป็นเรื่องของอัศวินพเนจร แต่ดอนกิโฆเต้ไม่ได้ไปไหนไกลเลย กว่าจะตั้งชื่อม้าตั้งหลายวัน แต่เดินทางไปสองวันก็แอ้งแม้งกลับมา เดินทางคราวที่สองก็ไม่ได้ออกจากแคว้นลามันช่า ผมเคยบอกว่าอย่างนี้ขอได้แค่ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ลองเทียบกับ ก็องดิด ของวอลแตร์ ออกไปทุกทวีปเลย จากเยอรมันไปคอนสแตนติโนเปิล แต่พ่อเจ้าประคุณของเราอยู่ใกล้ๆ นี้เอง ถึงอย่างไรก็ตาม หนังสือพาเราไปในโลกกว้าง ผู้ประพันธ์เล่าเรื่องมีตัวละครทุกรูปแบบ นิทาน คำกลอน บทเพลง นวนิยายท้องทุ่ง นวนิยายเสเพล มีเรื่องเล่าซ้อนมากมายก่ายกอง เรื่องย่อยเหล่านี้พาเราไป ให้ขอบฟ้าของหนังสือเล่มนี้กว้างไกลออกไป ทั้งๆ ที่อัศวินหน้าเศร้าของเราหน้าเศร้าแต่บริเวณบ้านนั่นเอง ขณะเล่าก็มีการคอมเมนต์ไปด้วย เล่าแบบไหนดี แบบนี้ดีกว่า เล่าๆ ไป ที่ว่าตัวเล่าดีกว่าก็ไม่ดี ตัวเอย่างเช่น ดอนกิโฆเต้พเนจรไปเรื่อยๆ ซานโช่ไม่อยากให้ดอนกิโฆเต้เดินทางต่อไป ก็เล่านิทานเรื่องแพะ ชายคนหนึ่งเลี้ยงแพะ ฯลฯ ดอนกิโฆเต้บอกว่าเล่าอย่างนี้ไม่ดี ไม่ลำดับความ จะเล่าอะไรต้องเล่าลำดับความ ซานโช่บอกว่านิทานบ้านผมเล่าแบบนี้ นอกจากว่าท่านจะมีวิธีไหนที่จะเสนอก็บอกสิ ดอนกิโฆเต้บอกว่าการเล่าต้องเป็นเหตุผลตามลำดับความถึงจะดี

ลองอ่านหนังสือเล่มนี้สิครับ มีแต่ข้าม ไม่เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์เลย เมื่อดอนกิโฆเต้พบทาสพายเรือ ดอนกิโฆเต้ชื่นชมว่าอัตชีวประวัติดีที่สุด เพราะจะต้องเล่าเรื่องจริง นัยว่าหนังสือที่ดีต้องเล่าเรื่องจริง แต่นิยายนี้ไม่ได้เล่าอะไรที่จริงเลย ดอนกิโฆเต้อยู่ในโลกที่ตัวสร้างขึ้น ด้วยความไม่จริง เป็นความลวง ดอนกิโฆเต้ประสบอะไรต่างๆ มากมาย มีเรื่องไหนไม่มีความบังเอิญบ้าง เรื่องไหนน่าเชื่อบ้าง ดูเป็นจริงได้บ้าง เรื่องอื่นๆ ล้วนแต่มหัศจรรย์เกินจริงมากไปกว่าเรื่องของดอนกิโฆเต้

เมื่อดอนกิโฆเต้เป็นคนบ้า เอาเครื่องแต่งตัวอัศวินสมมติมาใส่ ผู้หวังดีก็รักษาด้วยความบ้าเหมือนกัน พระปลอมตัวเป็นผู้หญิง การรักษาอาการบ้าของดอนกิโฆเต้ก็รักษาด้วยการต้องทำเป็นบ้าเหมือนกัน เต็มไปด้วยการพรางตัว ถ้าดอนกิโฆเต้บ้า อัศวินกะรุ่งกะริ่งไม่บ้าหรือ ทำไมไม่ไปว่าอัศวินกะรุ่งกะริ่งบ้าง นอกจากเนื้อหาแล้ว เทคนิควิธีบอกว่าอย่าอ่านอย่างนี้ อย่าเชื่ออย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างนี้เสมอไป อ่านแล้วอย่าอ่านเอาเรื่อง เซร์บันเตสเสนอแต่ไม่สรุป ไอ้ไม่สรุปนี่แหละครับคือความดี กลไกดำเนินเรื่อยไปตลอดเวลา ขณะนี้เราสนใจเรื่องสัมพันธบท เรื่องนี้ก็มี ใครสนใจปัญหาวาทกรรม หนังสือเล่มนี้ก็มี เรื่องของประเพณี วรรณกรรมมุขปาฐะ จดหมายที่สอดแทรกในวรรณกรรม มีหมด สำหรับผม น่าเสียดายที่ผมไม่ได้อ่านหนังสืออย่างคนขับรถของศาสตราจารย์ผู้นั้น ถ้าถามว่าหนังสือดีอย่างไร ถ้าผมต้องสอนวิลชาวรรณคดีศึกษา ไม่ว่าจะดูอะไร หนังสือเล่มนี้ก็มี

อ. วัลยา : ก่อนจะเริ่มเรื่อง สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาฟัง ชื่อเสวนานี้ไม่ได้มาจากเรา แต่ปีที่หนังสือครบรอบสี่ร้อยปี นักเขียนดังหนึ่งร้อยคนโหวตให้ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นหนังสือดีที่สุด อ. ปณิธิ เล่าเรื่องของคุณคนขับรถ คราวที่แล้วที่ผีเสื้อจัดงานนิทรรศการที่หอสมุดแห่งชาติ มีคนหนึ่งมางานทุกวัน เป็นยามบริษัทแห่งหนึ่ง เขาอ่านดอนกิโฆเต้

ดิฉันสนใจวิธีการเขียนของเซร์บันเตส คิดว่าวิธีการเขียนคือสิ่งที่ทำให้หนังสืออยู่มา และอยู่ต่อไป ดิฉันเคยได้ยินชื่อดอนกิโฆเต้มานมนาม รู้จักจริงๆ เมื่อทำงานกับ อ. สว่างวัน (ผู้แปล) อ่านไปหัวเราะไป เป็นวรรณคดีที่ผูกผู้อ่านไว้ ดึงผู้อ่านไว้ กระทบใจผู้อ่านด้วยการใช้อารมณ์ขัน คนอ่านรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ประพันธ์ เซร์บันเตสแทรกการเสียดสีไว้ตลอดเวลา ใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือ เราสอนวรรณคดี ดังนั้นไม่ใช่นักอ่านที่บริสุทธิ์ พอได้อ่านดอนกิโฆเต้ก็ อ้าว วอลแตร์ที่เคยสอน ที่เรารู้จักดี อ้าว วิธีเขียนของวอลแตร์ก็เหมือนดอนกิโฆเต้ฯ อารมณ์ขันของวอลแตร์ทำให้คนฝรั่งเศสยอมรับสิ่งที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ เป็นหนึ่งในนักคิดที่ทำให้เกิดความคิดปฏิวัติในฝรั่งเศส หลายวิธีที่วอลแตร์ใช้จะเจอในดอนกิโฆเต้ฯ วอลแตร์เป็นนักอ่านหนังสือ แน่ใจว่าวอลแตร์ต้องเคยอ่านดอนกิโฆเต้ เพราะมีแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1614

ตั้งแต่แรก ดอนกิโฆเต้ที่ดิฉันชอบคือเทคนิคการเขียน นวนิยายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีหมดแล้วในเล่มนี้ เรื่องความตายของนักเขียน สหบท การแปล การแต่งนวนิยาย ในนี้กล่าวถึงไว้หมด เรื่องตัวตนของผู้เล่าเป็นเรื่องที่มาศึกษากันจริงจังในศตวรรตที่ยี่สิบ ย้อนดูจะเห็นว่านักประพันธ์รู้มาตลอด จะปรากฏตัวตรงไหน จะสร้างความสมจริงอย่างไร

ดอนกิโฆเต้อ่านนิยายอัศวินจนเสียสติ มีใครไหมที่อ่านนิยายจนไม่เสียสติ ก็คือบาทหลวง ผู้อ่านหมดทุกเล่มเลยที่อยู่ในห้องสมุดของดอนกิโฆเต้ ทุกเรื่องวิจารณ์ได้หมด ดังนั้นบาทหลวงอ่านหนังสือที่ดอนกิโฆเต้อ่านทั้งหมด แต่ไม่ได้เป็นบ้า สำหรับ อ. ปณิธิ ดอนกิโฆเต้ไม่ใช่ตัวละคร แต่เป็นชีวิตจริงไปแล้ว เป็นบุคคลในตำนาน

อ. ปณิธิ : ไอ้นักประวัติศาสตร์คนเล่าเรื่องดอนกิโฆเต้นี้เป็นชาวมุสลิม และมุสลิมกับคริสเตียนไม่ถูกกัน เรื่องนี้มีประเด็นทางศาสนาตลอดเวลา บอกว่าเรื่องนี้ถูกบันทึกด้วยคนมุสลิม นี่คือเทคนิคที่ทำให้งุนงง แม้แต่ตัวนักประวัติศาสตร์เอง บางทีได้รับคำชมว่าละเอียด แต่บางทีบอกว่าไม่รู้บิดเบือนหรือเปล่า

อ. วัลยา : เซร์บันเตสบอกว่า เบเนงเฆลีเป็นคนอิสลาม ย่อมมีอคติกับดอนกิโฆเต้ แต่อ่านแล้วเขาชื่นชมดอนกิโฆเต้ ดังนั้นเชื่อถือได้แน่ เพราะแม้แต่นักประวัติศาสตร์มุสลิมยังไม่บิดเบือน

อ. ปณิธิ : หน้า 110 บอกว่า "หากในเรื่องมีสิ่งใดไม่เป็นจริง จะเป็นอื่นไปมิได้ นอกจากว่าผู้ประพันธ์เป็นคนอาหรับ แลรู้กันทั่วไปว่า ชนชาตินี้เป็นอริกับชนชาติเรา" มันพูดไม่ได้เลยว่าผู้ประพันธ์ไม่แม่น เพราะเป็นความตั้งใจของผู้ประพันธ์ที่ล้อเรา ดึงเราออกมา แล้วกลับมาตลอดเวลา ไม่แปลกที่ดอนกิโฆเต้จะสับสนความจริงลวง โลกของเราไม่ว่าจะอ่านเอกสารอะไร ก็ไม่อาจเชื่อได้ว่าจริงไม่จริง มีอคติอะไรตลอดเวลา

อ. วัลยา : ด้านแนวคิดทางวรรณกรรม เรื่องนี้อ้างถึงวรรณคดีตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน ตัวละครธรรมดารู้จักเวอร์จิล อิเนียด ใครต่อใคร เรื่องนี้มีตอนหนึ่งที่บรรยายว่า เดินทางไปถึงเจอเมืองหนึ่งแสนงาม มีเพชร มีหญิงพาไปอาบน้ำ แต่งตัวด้วยไหมแพรพรรณ เอาอาหารอย่างดีมาให้ ฉากนี้ก็พบในก็องดิด อันที่จริงความฝันของบุรุษที่ว่าจะเดินทางไปเจอเมืองที่มีทรัพย์สมบัติมากมาย เจอสาวงามมาปรนนิบัติ อาจเป็นความคิดของคนทุกสมัย อีกฉากหนึ่ง ดอนกิโฆเต้เล่าให้ซานโช่ฟัง อ่านแล้วนึกถึงยุคพระศรีอาริย์ ทุกอย่างจะงอกจากพื้นดิน จะอุดมสมบูรณ์ด้วยปลา จะมีผู้หญิงเต็มไปหมด ไม่สวมเสื้อผ้า ถ้าเราอ่านพระมาลัยคำหลวง บอกว่าถ้าทำอย่างนี้จะไปขึ้นสวรรค์ชั้นนี้ มีนางฟ้าดูแลกี่คน อย่างนี้ทำให้เกิดความเป็นสากลในหนังสือ คนชาติไหนก็รับได้ เป็นประสบการณ์สากล ในก็องดิดใช้คำคุณศัพท์บรรยายตัวละครตั้งแต่ A-Z ดอนกิโฆเต้ก็มีเหมือนกัน วอลแตร์พูดถึงสิ่งตรงกันข้ามที่เป็นข้อเสียดสี หรือ ปฏิวลี นี่เป็นวิธีเขียนของวอลแตร์ซึ่งเราเจอในดอนกิโฆเต้ฯ

อีกประเด็นคือเรื่องของมิติเวลาและมิติสถานที่ ตอนแรกดอนกิโฆเต้ผจญภัยสองวันหนึ่งคืน คราวที่สองนับได้ประมาณสิบเอ็ดวัน ไม่ได้ไปไกล แต่ระหว่างทางเจอคนโน้นคนนี้ เล่าเรื่องตัวเอง เรื่องแทรกเหล่านี้พาเราออกไปอีกสถานที่หนึ่ง มิติเวลาหนึ่ง เรื่องแทรกทุกเรื่องพาเราออกไปจากทุ่งม็อนเตียล อ. ปณิธิ ใช้คำว่า 'ขอบฟ้าออกไปไกลขึ้น' เรื่องแทรกส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องความรัก ความรักหลายๆ แบบ ทำไมต้องเป็นเรื่องรัก เพราะเรื่องรักคือเรื่องที่ดอนกิโฆเต้ไม่มีโอกาสจะมี เขาอายุห้าสิบปี ถือว่าชราแล้ว มีฟันสี่ซี่ ผอมโกรก ด้วยรูปลักษณ์รวมทั้งคำพูดคำจาที่ไม่มีใครเข้าใจ เจอสาวที่ไหนก็คงไม่มีใครอยากใกล้ชิดเขา และยังมีนางในดวงใจอีก ไปบอกนางมารีตอร์เนสว่าต้องซื่อสัตย์ต่อนางในดวงใจ แต่ละเรื่องรักมหัศจรรย์ทั้งนั้น

ภาคสองนั้นเรื่องแทรกเหลือนิดเดียว ดอนกิโฆเต้ไม่ต้องป่าวประกาศแล้วว่าคือใคร เพราะทุกคนรู้จักเขา เนื่องจากมีผู้ตีพิมพ์และเขียนเรื่องเขา

ในอารัมภบท ถ้าปัจจุบันอ่านวรรณกรรม ต้องถามว่าผู้เล่าเรื่องคือใคร รู้แจ้งหรือเปล่า รู้ความคิดจิตใจของตัวละคร หรือเพียงแต่เล่าแล้วให้ผู้อ่านตัดสิน ดอนกิโฆเต้บอกว่าพ่อมดคือผู้เขียนประวัติอัศวิน พ่อมดต้องเขียนเรื่องเขา และต้องรู้ซึ้งถึงจิตใจเขาด้วย เซร์บันเตสบอกว่าเขาเป็นพ่อมด เข้าถึงตัวละครได้ เขาวิจารณ์การเขียนอารัมภบทในสมัยนั้นอย่างคมคาย เซร์บันเตสเขียนสดุดีเรื่องของเขา โดยอ้างตัวละครในนวนิยายอัศวินอื่นๆ ให้มาเขียนชื่นชมดอนกิโฆเต้ เช่น อามาดีสแห่งเกาล่า แม่มดอูร์กันด้า แม่หญิงโอเรียน่าบอกว่าอยากเป็นดุลสิเนอามากกว่า มีม้าบาเบียก้า อัศวินสำรองชื่อกันดาลิน ยังมาชื่นชมและอิจฉาซานโช่ เซร์บันเตสเล่นกับขนบ เหมือนบ้านเราที่ต้องมีบทนำ กวีต้องถ่อมตัวว่าแต่งไม่เก่ง เซร์บันเตสบอกว่าไม่อ้างใครแล้ว จะแต่งเองโดยอ้างคนในนิยาย ผู้อ่านอ่านแล้วเชื่อว่าเรื่องนี้จริง ดอนกิโฆเต้จึงมีชีวิตจริงมาสี่ร้อยปี

มกุฏ : ขณะผมตรวจแก้ต้นฉบับ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นและเคยเสนอให้ อ. สว่างวัน ทำวิทยานิพนธ์ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ยอมให้หัวข้อนี้

อ. วัลยา : หรืออาจารย์ที่ปรึกษาไม่แน่ใจว่า อ. สว่างวัน จะทำได้

มกุฏ : คือเรื่องเซ็กส์ในดอนกิโฆเต้ อ. ปณิธิ เห็นว่ามีเซ็กส์ปรากฏเต็มไปหมด อ. ปณิธิ อ่านรอบเดียว ผมอ่านสิบสองรอบ บางบทอ่านร้อยเที่ยว นักเขียนคนหนึ่งสามารถเอาเซ็กส์ทุกแขนง ทุกประเภท ทุกชนิด เอาไปอยู่ในหนังสือได้ทั้งหมด ตอนทำต้นฉบับที่ตรวจแก้ ถึงตอนหนึ่ง ห้องทำงานเงียบๆ มีเสียงตะโกนว่า 'เสร็จมันแล้ว' นึกออกไหมว่าตอนไหน มีตอนหนึ่งผู้หญิงเสมือนหนึ่งถูกข่มขืน แต่ไม่บอกนะครับว่าถูกข่มขืน บอกแต่เสื้อผ้าฉีกขาด ผู้อ่านรู้ได้ว่าเสร็จแล้ว คนเขียนเรื่องโรแมนซ์ในสมัยหลังสู้เซร์บันเตสไม่ได้สักคน แกจับเอาพฤติกรรมต่างๆ แม้กระทั่งผู้ชายถ้ำมองก็ยังมี ให้เพื่อนแอบดู หรือตัวเองแอบดูเพื่อน ทำได้อัศจรรย์มาก

อ. ปณิธิ : ไม่ใช่ผมหมกมุ่นนะครับ พยายามชี้ว่าความสมัยใหม่ไม่น่าบังเอิญ เรื่องนี้สนองมุมมองของนักวิจารณ์สม้ยใหม่ได้ หนังสือเปิดมา ดอนกิโฆเต้อายุห้าสิบกว่า เป็นโสด ไอ้ที่อยู่มาเป็นโสดห้าสิบกว่าคืออะไร จำเป็นหรือว่าชอบ ดอนกิโฆเต้ได้ตั้งข้อผูกมัดของตัวเองว่าเมื่ออยู่ใกล้ผู้หญิงจะไม่ทำอะไร ถามว่าตั้งไว้ทำไม ตั้งนางดุลสิเนอาเป็นนางในดวงใจ แอบมองมานานแล้ว พอเล่าไปเล่ามา ก็โกรธซานโช่ บอกแล้วไงว่าเห็นผู้หญิงคนนี้สี่หน พอภาคสองบอกว่า บอกแล้วไงว่าไม่เคยเห็นผู้หญิงคนนี้เลย ไม่มีวันที่ดอนกิโฆเต้จะเข้าใกล้ผู้หญิงเลย มีผู้หญิงคนเดียวที่เข้าใกล้คือเจ้าหญิงมิโกมิโกน่า ทางวรรณกรรม ผู้หญิงคนนี้มีลักษณะสวย เป็นเจ้า ปรากฏต่อสายตาดอนกิโฆเต้ในฐานะผู้หญิง แต่ผู้หญิงคนนี้คือโดโรเตอา ถ้าถามว่าตั้งแต่ต้น รู้จักเธอมา โดโรเตอามีลักษณะอะไรบ้าง คือเคยปลอมตัวเป็นชาย ลักษณะประจำตัวคือเคยเป็นผู้ชายมาก่อน คนนี้ละครับที่ดอนกิโฆเต้เข้าไปใกล้ด้วย

เพื่อนสองคนรักกันมาก คนหนึ่งแต่งงาน ไปชวนเพื่อนมาอยู่กับเมียตัว อ้างว่าจะดูว่าผู้หญิงซื่อสัตย์หรือเปล่า นี่ถ้าไปอยู่กับจิตแพทย์ที่ไหน เขาก็ต้องบอกว่า มีความปรารถนาลับๆ ต่อผู้ชายด้วยกัน อยากแอบดู ในเรื่อง พ่อโกริโยต์ มีอะไรลับๆ เต็มไปหมด อย่าให้ผมเล่าเลย มันจริงๆ

แม้แต่วรรณกรรมสำหรับเด็ก เช่น เจ้าชายน้อยมองดูรูปลังกระดาษ เห็นแกะในลังกระดาษ เห็นหมวกเป็นงูกลืนช้าง กับคนที่เห็นสีลมเป็นยักษ์ มันต่างกันตรงไหน มุมมองที่มองโลกห้าสิบปี มันหายไปไหนในวันเดียว ถึงครองชีวิตอย่างนั้นได้ กิฆาน่าตายแล้วเกิดใหม่ เป็นคนใหม่ มองโลกด้วยสายตาบริสุทธิ์ ไม่เคลือบแคลงอะไรเลย

พฤติกรรมของดอนกิโฆเต้ไม่ต่างจากพฤติกรรมเด็ก เงินไม่ต้องใช้ ไม่เคยขอโทษ ไปฟันเขา เข้าที่ไหนป่วนที่นั่น ทะลายที่นั่น อยากทำอะไรก็ทำ หนังสือที่ดอนกิโฆเต้อ่าน รูปลักษณ์ก็เหมือนเทพนิยาย ดอนกิโฆเต้เหมือนเด็กที่อ่านเทพนิยาย ดูซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน วันหนึ่งเด็กคนนั้นเชื่อว่าตัวเองกระโดดตึกได้ ปีนกำแพงได้ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาวรรณกรรมเยาวชนจะวิเคราะห์ ทำไมเจ้าชายน้อย นักฝันผู้เห็นหมวกเป็นงูเหลือมกลืนช้าง เห็นแกะอยู่ในรูปที่วาดใส่กล่อง คำตอบเดียวกับสีลมกลายเป็นยักษ์ หญิงขี้ริ้วเป็นดุลสิเนอา ม้ากะหร่องเป็นโรสินันเต้ สถานที่ต่างๆ กลายเป็นปราสาท

ถ้าลุ่มหลงเจ้าชายน้อยด้วยสายตานี้ ดอนกิโฆเต้คือเด็กที่น่ารักคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ว่าจะอยากอ่านหนังสือแบบไหน ปรับจูนคลื่นนิดเดียว จะพบได้หมดเลย น่าอัศจรรย์จริงๆ นะครับ

วันดีคืนดี ถ้าความเป็นเด็กเกิดในตัวเขา นักบินรำลึกว่าเด็กๆ เคยเป็นเจ้าชายน้อย ดอนกิโฆเต้รักษามุมบริสุทธิ์ โลกต้องเป็นแบบนี้ ต้องมีคนดีแบบนี้ กว่าดอนกิโฆเต้จะยอมรับความจริงคือต้องเพ้อแล้ว

อ. วัลยา : อีกประเด็นเรื่องศิลปะการประพันธ์ คือการเผาหนังสือ เรื่องราวของอัศวินติรันเต้ผู้พิสุทธิ์ บาทหลวงบอกว่า "วิธีการประพันธ์ของหนังสือนี้นับว่าเลิศสุดในโลก ด้วยว่าอัศวินในเรื่องไม่เพียงกินอาหาร แลนอนหลับพักผ่อน อีกทั้งสิ้นชีพด้วยสงบบนเตียงตั่ง แลก่อนตายยังทำพินัยกรรมไว้ด้วย จักหานิยายอัศวินเล่มใดเอ่ยถึงภาระอันต้องทำประจำวันดังที่ข้ากล่าวเป็นไม่มี"

เรื่องของอัศวินคือออกไปโรมรัน ไปต่อสู้ ไม่เคยมีฉากอัศวินขับถ่ายหรือหิว เซร์บันเตสเขียนอัศวินในชีวิตประจำวัน มีฉากทำกิจส่วนตัวสิบกว่าแห่ง ฉากที่มหัศจรรย์ที่สุดคือซานโช่แอบเอาเชือกไปมัดขาโรสินันเต้ ซานโช่อยากขับถ่ายแต่ไปไหนไม่ได้ ก็ปลดกางเกงลงนั่ง ขับถ่าย ดอนกิโฆเต้ได้กลิ่น มีวรรณคดีไหนที่บรรยายฉากนี้ อ่านแล้วขำ หรือหน้า 537 ดอนกิโฆเต้แคะฟัน เคยเห็นไหมคะ พระเอกที่ไหนแคะฟัน ทำไมเซร์บันเตสเสนอตัวละครแบบนี้

อ. ปณิธิ : ถ้าเราเสนอภาพอัศวิน ไม่มีอะไรในเรื่องที่มีด้านเดียว เมื่อเสนอแล้วจะต้องมีสิ่งตรงกันข้ามตลอดเวลา เมื่อเป็นอัศวินแล้ว ข้าไม่จำเป็นต้องอธิบายยืดยาว ข้าเป็นคนองอาจ สุภาพ ใจโอบอ้อม นี่คืออัศวินในอุดมคติ แต่เซร์บันเตสจะบอกว่าไม่มีอัศวินในอุดมคติ อัศวินก็ต้องแคะฟันเหมือนกัน ดอนกิโฆเต้คนเดียวอยู่ไม่ได้ ออกไปสองวันก็กลับมา ต้องมีซานโช่ด้วย อ่านเล่มนี้ บางครั้งเราก็เป็นดอนกิโฆเต้ บางครั้งเราก็เป็นซานโช่ ต้องมีทั้งคู่ ในชีวิตทุกด้าน ต้องมีทั้งความจริงและความลวง มีคุณมกุฏก็ต้องมี Not มกุฏ ผีเสื้อจึงจะอยู่ได้

มกุฏ : แถมอีกนิด ผมไม่รู้สึกว่าจะมีฉากวรรณกรรมไหน ที่มีตัวเอกอึสองครั้งสองครา

อ. ปณิธิ : วรรณกรรมยุคกลางมีเรื่องอย่างนี้เป็นปกติ เรื่องมนุษย์ การขับถ่าย วรรณกรรมให้ชาวบ้านอ่านที่กล่าวถึงของสกปรกต่างๆ ในร่างกาย อาเจียน เศษอะไรต่างๆ มีมากในวรรณกรรมชาวบ้าน ถือว่ามนุษย์ขาดไม่ได้ที่จะเป็นอย่างนี้ เราเกิดจากดินก็ต้องกลับไปที่ดิน โดยเฉพาะละครตลกยุคกลางถือเป็นเรื่องปกติ แต่วรรณกรรมสูงส่งเรื่องไหนจะมีแบบนี้ ก็ไม่มี

มกุฏ : สรุปว่า ถ้าอยากอ่านหนังสือสักเล่มที่ได้ทุกรส ก็ลองอ่านดู อย่างหลังปกว่าไว้

ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว
จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้


เรามาที่นี่เพื่อจะบอกว่านี่เป็นหนังสือดี

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เซร์บันเตส นักฝันหลากวัฒนธรรม



เหตุใดดอนกิโฆเต้ฯ จึงเขียนขึ้นครั้งแรกด้วยภาษาอาหรับ ?

หรือพูดอีกอย่างคือ ทำไมเซร์บันเตสจึงเขียนหนังสือภาษาสเปน

โดยอ้างว่าแปลจากภาษาอาหรับ


ดอนกิโฆเต้ฯ ไม่เพียงเป็นวรรณกรรมเลื่องชื่อ แต่สะท้อนยุคสมัยที่วัฒนธรรมอิสลามในสเปนถูกกำจัด ลองดูจากบทล้อเรื่องที่มาของเนื้อเรื่องในหนังสือ เซร์บันเตสบอกว่าต้นฉบับวีรกรรมดอนกิโฆเต้ค้างไว้ที่การต่อสู้กับบุรุษชาวบาสก์ และตั้งแต่นั้น เซร์บันเตสเพียรเสาะหาตอนต่ออย่างขมักเขม้น จนวันหนึ่งในตลาดเมืองโตเลโด้ มีเด็กหนุ่มเอาปึกกระดาษเก่าเขียนด้วยภาษาอาหรับมาขาย เขาจึงเดินหาชาวมัวร์ที่พูดภาษาสเปนได้ เพื่อให้แปลปึกกระดาษเป็นภาษาสเปน “การหาฅนแปลดังว่าสักฅนหนึ่งมิใช่เรื่องยากเย็นแต่ประการใด” เซร์บันเตสถึงกับบอกว่า ขนาดให้หาฅนแปลจากภาษาฮีบรูก็ยังไม่ใช่เรื่องยากเย็น

ในเรื่อง ชายชาวมัวร์ผู้แปลบอกเซร์บันเตสว่า กระดาษปึกนี้เป็นเรื่องประวัติของดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ประพันธ์โดย ซีเด้ อาเมเต้ เบเนงเฆลี นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ เซร์บันเตสจึงพาชายชาวมัวร์นี้ไปยังระเบียงรอบมหาวิหาร และว่าจ้างให้แปลกระดาษปึกนั้น

เรารู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยั่วล้อให้ขำขัน ตั้งแต่ชื่อนักประวัติศาสตร์ ซีเด้ คือคำนำหน้าเพื่อการยกย่อง อาเมเต้ คือชื่อชาวอาหรับ เบเนงเฆลี เป็นคำอาหรับซึ่งเซร์บันเตสแผลงเสียงจาก เบเนงเฆน่า ที่แปลว่ามะเขือ นายมะเขือนักประวัติศาสตร์ผู้นี้เป็นเรื่องยั่วล้อไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ในนิยาย ดั่งการผจญภัยกังหันลมของดอนกิโฆเต้ หรือซานโช่ได้ครอบครองเกาะที่ไม่มีน้ำล้อมรอบ เบเนงเฆลีวางท่าจริงจังเหมือนอย่างดอนกิโฆเต้ แต่แสนแปลกประหลาด และเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการเข้าใจนิยายเล่มนี้

ตอนที่เซร์บันเตสเขียนเรื่องนี้ มุขตลกเหล่านี้ไม่อาจเป็นจริงได้เลย เราไม่อาจพบชาวมัวร์ที่พูดภาษาอาหรับ และชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรู ในตลาดเมืองโตเลโด้ ทั้งไม่มีชาวมัวร์ผู้ใดจะแปลหนังสือได้ที่ระเบียงรอบมหาวิหาร

ชาวยิวถูกขับออกจากสเปนตั้งแต่ ค.ศ. 1492 เหลือแต่ผู้ที่เปลี่ยนศาสนาแล้วเท่านั้น หนังสือภาษาอาหรับถูกเผาด้วยความลิงโลดไม่น้อยกว่าที่บาทหลวงเผาหนังสือของดอนกิโฆเต้ แม้ในตอนนั้นชาวมุสลิมยังไม่ถูกขับจากสเปน (เกิดขึ้นหลังจากดอนกิโฆเต้ฯ ภาคแรกตีพิมพ์เพียงไม่กี่ปี) แต่ชาวมุสลิมต้องเปลี่ยนศาสนาเช่นกัน สเปนเต็มไปด้วยคริสตังใหม่ ทั้งที่เปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาอิสลามและยูดา บ้างยังแอบถือปฏิบัติตามข้อกำหนดในศาสนาเดิมของตน เหตุที่เนื้อหมูเป็นอาหารยอดนิยมในสเปน เนื่องจากการกินเนื้อหมูคือการแสดงต่อสาธารณะว่า ผู้บริโภคมิได้ดำเนินตามกฏเกณฑ์ของอิสลามหรือยูดา ตรงข้ามกับมะเขือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหารของชาวมุสลิมและยิวมานาน ตั้งแต่สมัยโตเลโด้เป็นชุมชนชาวยิว

บทตอนเหล่านี้ของเซร์บันเตสจึงแสดงความเจ้าเล่ห์ วัฒนธรรมมุสลิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสเปนนาน 8 ศตวรรษถูกขับไล่ ชาวมุสลิมถูกกำจัดจากสเปนในช่วง ค.ศ. 1609-1614 เกิดการนองเลือดและเรื่องราวโศกนาฏกรรมจำนวนมาก ดอนกิโฆเต้ไม่อาจท่องไปทั่วแคว้นลามันช่าได้โดยไม่ประสบเรื่องราวอาดูรเหล่านี้ ชาวมัวร์และชาวมัวร์ที่เปลี่ยนศาสนามาถือคริสตัง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในฉากของดอนกิโฆเต้

เซร์บันเตสบรรยายตัวละคร มารีอา มากังเฆ โสไรยดา ว่า “นางเป็นชาวมัวร์แต่กายแลเครื่องนุ่งห่ม ทว่า จิตใจแลวิญญาณนางเป็นชาวคริสต์โดยแท้ นางมุ่งมาดจะเป็นชาวคริสต์แน่วแน่” ชาวมัวร์ในสเปนยังถูกจัดจำพวกด้วยว่าชาวถิ่นไหนเรียกว่าอย่างไร 'ตาการีโน' คือชื่อเรียกชาวมัวร์แห่งอาราก็อน ส่วนพวกอาศัยในเมืองกรานาด้า เรียกว่า 'มูเดฆาร์' ซึ่งเรียกกันในอาณาจักรเฟซ ว่า เอลเช่

ในภาคสองของนิยาย พิมพ์ ค.ศ. 1615 หลังจากมุสลิมถูกขับไปแล้ว มีตอนหนึ่ง ซานโช่เห็นเพื่อนบ้านชาวมัวร์แต่งกายปลอมตัว จึงถามว่า “ผีห่าตนใดจะจำเจ้าได้ ริโกเต้ ในชุดตัวตลกที่เจ้าสวมนี้” และ “บอกข้าสิว่าใครทำให้เจ้าแต่งเป็นฅนฝรั่งเศสเช่นนี้” ริโกเต้กล่าวถึงการขับไล่มุสลิมจากสเปนและความทุกข์เทวษนี้ เขาว่า “ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เราจักร่ำไห้ต่อสเปน ด้วยว่าเราเกิดที่นี้ นี่คือแผ่นดินแม่ของเรา”

เซร์บันเตสมีประสบการณ์เช่นนี้ ใน ค.ศ. 1571 เขาร่วมรบในฐานะคริสตังต่อสู้มุสลิมชาวเติร์กในสมรภูมิเลปันโต้ ได้ชัยชนะ เขาบาดเจ็บใช้แขนซ้ายไม่ได้จนตลอดชีวิต ต่อมาไม่นานถูกจับเป็นทาสจากกองเรือสลัดมุสลิม ประสบการณ์ช่วงนี้กลายเป็นเรื่องชาวมัวร์กับคริสตัง การลักพาตัว การเปลี่ยนศาสนา และการทรยศในเรื่อง เซร์บันเตสไม่ได้เขียนถึงเรื่องเหล่านี้ในฐานะนักรบ แต่เขียนจากมุมมองนักปรัชญา เรารู้สึกได้ถึงความเห็นอกเห็นใจต่อชาวมัวร์ของเขา ผู้รู้ยุคหลังเสนอแนวคิดว่าเซร์บันเตสอาจมาจากครอบครัวยิวที่เปลี่ยนศาสนา จึงอธิบายได้ว่าเหตุใดเขาจึงถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะเป็นวีรบุรุษสงคราม ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจเป็นได้ว่า ตำแหน่งที่เขาขอไปนั้นเป็นตำแหน่งราชการระดับสูง จึงถูกปฏิเสธ ชีวิตของเซร์บันเตสก็เหมือนกับผลงานของเขา มักตีความได้หลายด้าน และยังดึงดูดให้นักวิชาการศึกษาค้นคว้าต่อไป

ผู้รู้อื่นๆ เสนอว่านิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางศาสนายิว (Judaism) เราไม่อาจวางใจได้กระทั่งตัวละครเช่นซานโช่ ในนิยายเรื่องนี้ ซานโช่สวมบทบาทคริสตังเก่า ผู้ประกาศว่า เนื่องจากเขาเชื่อมั่นตามความเชื่อของโรมันคาทอลิก และเขาเป็น “ศัตรูของชาวยิว” นักประวัติศาสตร์จึงควรปฏิบัติต่อเขาอย่างดี


อันตัวข้าผู้ถือกำเนิดมาจากตระกูลคริสตังเก่า
ข้าว่าข้ามีคุณสมบัติเท่านี้ก็เพียงพอจะเป็นท่านเคานต์
-- ซานโช่ ปันซ่า (หน้า 222)



แต่ดอนกิโฆเต้ปฏิเสธความคิดเรื่องสายเลือดบริสุทธิ์ (จากอธิบายคำ 235 : เรื่องสายเลือดบริสุทธิ์มิมีผู้ถือศาสนาอื่นมาปนเป็นเรื่องสำคัญในสมัยนั้น โดยเฉพาะในการเป็นขุนนางหรือสมัครเป็นทหาร) ต้นฉบับของเบเนงเฆลีเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องอันจับต้องไม่ได้ของโลกที่สูญหาย ดอนกิโฆเต้ถือกำเนิดจากความคิดเปี่ยมด้วยการสิ้นสูญ เนื้อหาที่ถูกตำหนิ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาหรับหรือนิยายอัศวิน หลักการอันไม่คลอนแคลนของดอนกิโฆเต้ไม่อาจสู้รบกับโลกแห่งการหลอกลวง ต้องมนตรา และภาพฝันภาพหลอนต่างๆ ได้

สเปนของดอนกิโฆเต้คือโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อำนาจของหนังสือมาจากการแสวงหาอันดื้อดึงของดอนกิโฆเต้ เขาไม่ยอมให้เราเชื่อว่า จะมีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


* แปลและเรียบเรียงจาก ‘Regarding Cervantes, Multicultural Dreamer’ โดย Edward Rothstein นิวยอร์กไทมส์ 13 มิถุนายน 2005 ตีพิมพ์ครั้งแรกในสูจิบัตรงานนิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ที่ธรรมศาสตร์

ของที่ระลึก ดอนกิโฆเต้ที่ธรรมศาสตร์

เสื้อยืดพื้นสีแดง ร้อนแรง







หนังสือปกอ่อนฉบับธรรมศาสตร์ ราคาเล่มละ 499 บาท รายได้มอบให้ธรรมศาสตร์



หนังสือดอนกิโฆเต้ ฉบับหอสมุดธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550

วันเปิดงานนิทรรศการ ดอนกิโฆเต้ฯ ที่ธรรมศาสตร์

รายงานโดยเจ้าหญิงมิโกมิโกน่า





ในวันเปิดนิทรรศการดอนกิโฆเต้ฯ ที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (พุธที่ 27 มิถุนายน 2550) ผู้เข้าหอสมุดจะได้เห็นหุ่นดอนกิโฆเต้งดงามกำลังนั่งอ่านหนังสือ และตู้นิทรรศการต่างๆ จัดแต่งหน้าตาสะสวย ทำให้ผู้แวะผ่านมาสนใจหยุดชม งานนี้มีสูจิบัตรวางให้หยิบในราคาตามศรัทธา (10, 20, 50, 100 บาท) ซึ่งรายได้ทั้งหมดมอบให้หอสมุดธรรมศาสตร์ ภายในสูจิบัตรมีบทความต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือดอนกิโฆเต้ รวมทั้งเรื่องย่อ และแนะนำตัวละคร

ปกหนังสือฉบับขายในงาน, ปกหนังสือที่ผีเสื้อมอบให้หอสมุด มธ. และเสื้อยืดที่ระลึก


มีหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ หน้าปกพิเศษฉบับธรรมศาสตร์ สีเหลือง-แดง มีรูปดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า ชักม้าไปเยือนแม่โดม จำหน่ายเฉพาะงานนี้เท่านั้น ปกอ่อนราคาเล่มละ 499 บาท (ราคาปกอ่อนปกติคือ 494 บาท) ปกแข็งราคาเล่มละ 599 บาท (ราคาปกแข็งเล่มเล็กคือ 696 บาท) และเสื้อยืดที่ระลึกงานนิทรรศการครั้งนี้ มี 2 สีพื้นให้เลือก คือสีเหลืองและสีแดง ราคาตัวละ 200 บาท (ขนาด S, L, XL) รายได้มอบให้หอสมุดธรรมศาสตร์เช่นกัน ข้าพเจ้าทราบว่าหนังสือและเสื้อยืดเป็นที่นิยมไม่น้อย แถมใครๆ ยังสนใจสูจิบัตรอีกด้วย

สำนักพิมพ์ผีเสื้อจัดพิมพ์หนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ปกแข็ง ฉบับปกพิเศษของธรรมศาสตร์ ระบุว่าหนังสือนี้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 100 เล่ม เพื่อมอบให้ห้องสมุดสาขาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ในการกล่าวเปิดงาน คุณมกุฏ อรฤดี กล่าวว่าหลายสิบปีมาแล้ว คุณชวน หลีกภัย เคยให้ยืมเงิน บัดนี้ก็ยังไม่คืนและตั้งใจจะไม่คืน เนื่องจากเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่เคยยืมเงินนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

(จากซ้าย) ชวน หลีกภัย, มกุฏ อรฤดี,
ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ., ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผอ.สำนักหอสมุด


ดังนั้นเมื่อคุณชวนกล่าวเปิดงาน จึงเรียกคุณมกุฏว่า 'ลูกหนี้' และกล่าวว่าป่านนี้ก็ขาดอายุความไปแล้ว ถึงจะไม่ขาดอายุความ ก็ไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ เพราะไม่มีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และกล่าวว่าสมัยเป็นนักศึกษานั้น ตอนนี้ต้องยุ่ง เตรียมเล่นงิ้ว เล่นบทโขน บทลิเก สมัยโน้นเราไม่มีโอกาสแสดงออกทางอื่น ปีหนึ่งมีครั้งเดียวคือวันที่ 27 มิถุนายน (วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) สมัยนั้นเป็นคนเขียนบท ต้องไปขอคำปรึกษาผู้รู้เพื่อความสมจริง ให้สนุก ปัจจุบัน มีปรากฏการณ์นอกเหนือจากวันสถาปนา คือมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรภาษาสเปน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นความจำเป็นที่มีมาแต่เดิม เป็นภาษาที่ใช้ในสหประชาชาติ จำเป็นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และถึงอนาคต คงมีประโยชน์ ขอแสดงความชื่นชมด้วยความจริงใจ



คุณชวนกล่าวต่อว่า ผมขอเรียนว่าหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ นั้น ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยได้ยินเลย มาโตขึ้นได้ยิน หนังสือนี้เขียนไว้ตั้งแต่สี่ร้อยปีก่อน แต่กลับไม่มีอิทธิพลสู่เรา ซึ่งความจริงน่าจะมีอิทธิพลไม่มากก็น้อย มหาภารตะยังแพร่หลายกว่าดอนกิโฆเต้ฯ ผมเองยังดอนกิโฆเต้อ่านไม่จบ แต่สะดุดใจรูปก่อน เป็นภาพลายเส้น ฝีมือจิตรกรที่เขียนดีมาก ขอแถมว่านอกจากสาระของหนังสือ นอกจากจะเป็นหนังสือดีแล้ว ภาพลายเส้นนั้นเป็นฝีมือของศิลปินผู้เขียนที่สามารถมาก คนไทยอ่านหนังสือปีละสิบสองบรรทัด โครงการนี้น่าจะเพิ่มได้อีกสักหนึ่งบรรทัด อย่าไปโลภมากครับ ความยาวของหนังสือคงไม่จูงใจให้คนอ่าน แต่ผู้เรียนทุกคณะควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ให้ทุกคณะอ่าน ให้เวลาหกเดือนหรือหนึ่งปี อ่านให้จบ ก็จะเป็นประโยชน์ในการเสริมความรู้ทางวรรณกรรมให้นักศึกษาของเรา จะได้ไม่เถียงกันว่าจะทำหลักสูตรอย่างไร ให้คนจบการศึกษาเป็นคนมีคุณภาพ พยายามสร้างคนที่มีสำนึก ความรับผิดชอบ มีหลักของตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ขอให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

หลังจากนั้นเป็นรายการเสวนา 'ดอนกิโฆเต้กับการเมือง และธรรมศาสตร์' โดย อ. ทรงยศ แววหงษ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, อ. นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์, อ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งขอเรียบเรียงให้ฟังคร่าวๆ ดังนี้

(จากซ้าย) ทรงยศ แววหงษ์, นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ


อ. ทรงยศ แววหงษ์ ผู้ดำเนินรายการเริ่มด้วยการบอกว่า สังคมไทยได้ยินชื่อดอนกิโฆเต้ ครั้งแรกๆ จากละครที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผลักดัน ดอนกิโฆเต้เป็นคนล่าฝัน มีความฝันเกี่ยวกับอุดมคติบางอย่าง ธรรมศาสตร์ก็กำลังล่าฝัน ไม่รู้ว่าหลงไปที่ไหน ตามเจอบ้างหรือยัง นี่ก็ตามไปถึงรังสิต -- ขอแนะนำผู้ร่วมเสวนา เริ่มจากคนซึ่งไม่ค่อยร่วมสมัยเท่าไหร่ เพราะเกิดช้ากว่าเขาเพื่อน คือ อ. นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์ จบการศึกษาด้าน Latin American Studies จากเบิร์กลีย์ และบรรณาธิการเครางาม ตอนนี้ก็ยังงามอยู่ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้อยู่นอกเหนือคำแนะนำต่างๆ นานา เป็นผู้ผลักดันคณะละครที่สำคัญที่สุดในแง่ประวัติศาสตร์การละครในเมืองไทย คือคณะละคร 28 ละครเรื่อง 'สู่ฝันอันยิ่งใหญ่' เป็นละครซึ่งฮือฮามาก และ อ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์เรียนทางด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญาการเมือง เป็นผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกศึกษา ซึ่งจะพูดถึง ดอนกิโฆเต้ การเมือง และธรรมศาสตร์

อ. นุชธิดา พูดถึงเรื่องที่ว่า ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นกระจกสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ของสเปนได้อย่างไร

อ. นุชธิดา : อ่านครั้งแรกจะรู้สึกตลก ไม่ว่าดอนกิโฆเต้จะเผชิญกังหันลม ขโมยอ่างช่างตัดผม เห็นโรงเตี๊ยมเป็นปราสาท แต่เรื่องนี้ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง ดอนกิโฆเต้ทำทุกอย่างด้วยสำนึกของความดีงามในจิตใจ ทุกอย่างเป็นโลกของอุดมคติ การผจญภัยของดอนกิโฆเต้เป็นเหมือนการต่อสู้ระหว่างโลกฝันและโลกจริง ความขัดแย้งนี้ออกมาว่าโลกจริงเป็นฝ่ายชนะ แต่การมองโลกแง่ดีของดอนกิโฆเต้แสดงว่าเขาศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีงาม ผู้แต่งเป็นคนนำเสนอการมองโลกแง่ดี ให้เรายิ้มและหัวเราะกับตัวละครแทนที่จะมองโลกแง่ร้าย

ดอนกิโฆเต้ไล่ตามความฝัน ในขณะที่โลกความจริงเป็นของซานโช่ ปันซ่า ซึ่งสะท้อนสังคมสเปนยุคนั้นว่ามีทั้งความฝันและความจริง เซร์บันเตสผ่านร้อนผ่านหนาวมากมายในชีวิต ได้เห็นสเปนทั้งในยุครุ่งโรจน์และร่วงโรย สเปนเคยทำตัวเป็นพี่ใหญ่ของยุโรป ออกไปรบรา แต่ความจริงคือต้องกู้หนี้ยืมสินคนอื่น ยืมเงินประเทศน้องๆ เพื่อการรบต่างๆ และมาพ่ายแพ้ยับเยิบต่ออังกฤษ ดอนกิโฆเต้คือคนที่เตือนสติว่าอะไรคือมายา อะไรคือความจริง อาจสะกิดเตือนเล็กๆ ว่าให้สเปนเลิกคิดทีเถอะว่าสเปนเป็นจักรวรรดิ สเปนไม่มีเงิน ไม่มีคน ให้ใช้เงินถูกทางหน่อย น่าจะกลับมาแก้ไขปัญหาในประเทศ



อ. ทรงยศถามคุณสุชาติว่า ดอนกิโฆเต้ฯ สำคัญอย่างไรในแง่วรรณกรรม

คุณสุชาติ : ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ตอบ ผมในฐานะสนใจวรรณกรรมโดยทั่วไป คิดว่าวรรณกรรมสำคัญต้องมีองค์ประกอบของมัน นักเขียนดังๆ เช่น ดอสตอยเยฟสกี้ โฟลก์เนอร์ เฮมิงเวย์ นาโบคอฟ ล้วนให้แต้มหนังสือเล่มนี้ ดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า เหมือนคนคนเดียวกัน เป็นเหรียญเดียวกันที่อยู่ละด้าน สิ่งเหล่านี้ฝังตัวในมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ที่หนังสือได้รับการยกย่อง ผมคิดว่าเป็นเพราะสามารถสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ในหลายลักษณะ

เราทำละคร สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ผ่านบทละครเพลง เอาแก่นของนิยายมาย่อยและแต่งเป็นเพลง ตอนนั้นสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ นานา หลังเหตุการณ์สิบสี่ตุลา หกตุลา มีหนังของปีเตอร์ โอทูล ซึ่งคนรุ่นสิบสี่ตุลาชอบมากๆ ทำนอง จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ดอนกิโฆเต้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อผู้ถูกกดขี่ มีตอนหนึ่งในละครที่มีคนบอกว่า 'ให้มองชีวิตอย่างที่มันเป็น' แต่ดอนกิโฆเต้บอกว่า 'ให้เรามองชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น' ผมว่าเป็นสิ่งที่ต่อสู้กันในใจคน

ถ้าอำนาจวรรณกรรมมีจริง จะต้องมีผลชีวิตจิตใจของเรา ดอนกิโฆเต้นั้นเปลี่ยนตัวเขาจากคนธรรมดาเป็นคนบ้า การต่อสู้ระหว่างอุดมคติและความจริง ความใฝ่ฝันและโลกจริง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของงานวรรณกรรมต่อมาในยุโรป ถ้าถามว่าดอนกิโฆเต้ฯ สำคัญอย่างไร ประการแรกคือตัวละครคู่หูสองคน มีนัยยะทำให้คนรู้สึกว่าคือตัวเราเอง มีการต่อสู้ ท้อถอย แล้วกลับไปสู้ใหม่ ตัวละครทั้งสองตัวมีอะไรสุดขั้วคนละแบบ แต่ค่อยๆ เคลื่อนเข้าหากัน ระหว่างนั้นมีการพูดคุยถกเถียง สร้างให้เกิดความต่อเนื่อง ซานโช่ ปันซ่าคือคนระดับที่เรียกว่ารากหญ้า (อ. ทรงยศ เสริมว่า PTV) ติดสินบนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็เอา แต่ขณะเดินทางไปด้วยกันก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ้าเซร์บันเตสเขียนดอนกิโฆเต้เพียงภาคเดียว เราคงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของซานโช่ ในช่วงหลัง ดอนกิโฆเต้รับสภาพตัวเอง แต่ซานโช่ไม่ยอม

ดอนกิโฆเต้ฯ สะท้อนสัญลักษณ์ของการต่อต้านทรราชย์และผู้กดขี่ นาโบคอฟเคยกล่าวว่า เมื่อดอนกิโฆเต้ก้าวออกจากหมู่บ้าน สิ่งที่เรียกว่าโลกสมัยใหม่ (modern world) เริ่มปรากฏขึ้น

อ. ทรงยศ : กษัตริย์ ฆวน การ์ลอส อยู่ฝ่ายฟรังโก ซึ่งฆ่าคนเยอะในสงครามกลางเมือง หนังสือนี้พิมพ์ด้วยเจตนาดี กษัตริย์สเปนมอบให้เจ้าไทย สามารถเขมือบฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกตัวเองได้ ขอจบกะทันหันเพียงเท่านี้

อ. ทรงยศถามคุณสุชาติต่อว่าทำไมนักเขียนซ้ายไทย เช่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์, ม.จ. อากาศดำเกิง, จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่พูดถึงหนังสือเล่มนี้ ทำไมสี่ร้อยปี ดอนกิโฆเต้ฯ ยังเดินทางไม่ถึงเมืองไทย จะอธิบายอย่างไร

คุณสุชาติ : เป็นความอาภัพของบ้านเรา หนังสือเล่มนี้น่าจะมาถึงห้าสิบปีหรือร้อยปีก่อน ตั้งแต่เริ่มต้น เราส่งนักเรียนไปรับความคิดฝรั่งมา ไปเรียน กลับมาไทยและเขียนหรือแปลหนังสือ เราได้แต่งานเช่น ความพยาบาท ของแมรี่ คอลเรลลี ซึ่งถือเป็นงานชั้นสอง ทำไมงานของโจเซฟ คอนราด, ดอสตอยเยฟสกี้ ไม่ถูกส่งผ่านมาในสังคมไทย เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีสถาบันการแปลที่นำงานคลาสสิกและโมเดิร์นคลาสสิกมาแปลหมดแล้ว แม้แต่เช็กเปียร์เราก็ได้บางเรื่อง ไม่ได้แฮมเล็ต ไม่ได้แม็คเบ็ธ เราไม่ได้งานที่เป็นกล่องดวงใจของเขา อยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เขาไปศึกษาเรื่องนี้ดู รวมถึงงานแปลต่างๆ ที่มาถึงสังคมบ้านเรา พวกเจบุ๊คส์ เคบุ๊คส์ งานแปลจากญี่ปุ่น-เกาหลี คนรุ่นใหม่อ่านเรื่องแปลของดอนกิโฆเต้ไหม อ่านแล้วรู้สึกลิเกไหม



อ. ธเนศ : หนังสืออันดับสองรองจากไบเบิ้ล หนังสือใหญ่ขนาดนี้ ไม่ต้องพูดนะ กลับไปอ่านดีกว่า

ผมเคยแปลบทความของ มิลาน คุนเดอร่า ให้คุณสุชาติ ในเรื่อง ทำไมต้องอ่านหนังสือคลาสสิก นักเขียนคนนี้ฝีปากจัดจ้าน สรุปบทความง่ายๆ ได้ว่าเป็นหนังสือที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อ่านกัน แต่รู้ว่าดี ทุกคนบอกว่าดี แต่ยังอ่านไม่จบ ผมก็บอกว่าอ่านหนังสือพวกนี้ แต่ไม่บอกว่าอ่านไปสามหน้า-ห้าหน้า นี่คือหนังสือคลาสสิก ถ้าถามว่าใครอ่านจบบ้าง--อย่าถามเลยนะครับ เสียบรรยากาศ ผมเห็นภาษาไทยก็นึกว่าเคยเห็นมาก่อนไหม เคยเห็นฉบับย่อ แสดงว่ารุ่นเก่าๆ มีคนแนะนำ แต่ไม่ออกฉบับเต็มๆ ทำไมหนังสือดีๆ ไม่เข้ามาไทย คุณสุชาติแขวะพวกนักเรียนนอก คุณสุชาติไม่ได้เรียนจบเมืองนอกเลยเล่นงานได้เรื่อยๆ ผมพยายามไม่พูดแก้ต่าง (defend) แต่ประเทศอาณานิคมจะได้คลาสสิกเร็วกว่าเรา เช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ปัจจุบัน จะตอบคำถามนี้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าตอบแบบโพสต์โมเดิร์น มันไม่ใช่ พอเกิดการเขียนนิยายสมัยใหม่ขึ้นมา ก็เกิดการ localization เช่น ดอนกิโฆเต้กลายเป็นพระอภัยมณี งานคลาสสิกอาจจะมาถึงและเห็นได้ในงานของไทย แต่ในลักษณะอื่น

ในอเมริกา เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ชอบหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ รู้จักไหมครับ คนนี้เป็นหัวหน้าใหญ่ซีไอเอ ยุคไอเซนฮาวร์ คนที่เราไม่ค่อยชอบทำไมชอบหนังสือเล่มนี้ คนอื่นที่ชอบมีเช่น ซัมเมอร์เซ็ต มอห์ม, ซามูเอล จอห์นสัน กล่าวว่ามีหนังสือสามเล่มที่น่าจะยาวกว่านี้ คือ ดอนกิโฆเต้, โรบินสัน ครูโซ และ The Pilgrim's Progress

วิลเลี่ยม บัตเลอร์ ยีตส์ กล่าวว่าไม่มีบทละครใดที่หลังจากอ่านจบแล้ว ที่ตัวละครจะตามเราออกมา ดังที่ดอนกิโฆเต้ตามเราออกมาจากหนังสือ ซาบซึ้งมากครับ

การเมืองปัจจุบันไม่มีดุลยภาพ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่ไม่มีจินตนาการเลย ยิ่งร่างมากขนาดนี้ยิ่งไม่มีจินตนาการ ซึ่งจะทำให้ไม่มีพลัง และจะต้องพังและล้มไป ผมมีเอกสารติดตัวมาด้วย มีสติกเกอร์ 'ไม่ร่วม ไม่ร่าง ไม่รับ รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร' แต่มีชุดเดียวนะครับ การเมืองสมัยใหม่เขาค้นพบระบบประชาธิปไตย พวกเรารับมา ผมว่าอุปสรรคใหญ่ของระบบประชาธิปไตยคือการคิดว่าเหตุผลแก้ปัญหาได้ วิกฤติของเรานั้น เรามีระบบการเมืองที่มีแต่เหตุผล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีบริบทด้วย แต่ไม่มีจินตนาการ มีแต่จุดหมายที่ต้องการ

คำถามตอนแรกว่าธรรมศาสตร์จะไปไหน ผมว่ายังไม่เจอเป้าหมาย เพราะมันเริ่มต้นด้วยการไม่มีจินตนาการของความเป็นธรรมศาสตร์ ยุคหนึ่งธรรมศาสตร์มีจุดหมายคือการเมือง คนเข้ามาคือชาวบ้าน เริ่มต้นด้วยการเป็นตลาดวิชา นี่คือสิ่งที่ดอนกิโฆเต้ทำ ตัวละครในเรื่องเป็นชาวบ้านหมดเลย เป็นคนเลี้ยงแกะ เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมู ช่างตัดผม มีบาทหลวงก็เป็นบาทหลวงชาวบ้าน

ธรรมศาสตร์กลายจากตลาดวิชาเป็นมหาวิทยาลัยปิด ช่วงหนึ่งของการปิดมหาวิทยาลัยมีแสงสว่างอันใหม่เกิดขึ้น คือการเกิดคณะศิลปศาสตร์ ผมคิดว่าแนวคิดคือความคิดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ผมประทับใจมาก แต่ก่อนอาจารย์ผู้ก่อตั้งคอยมาเดินดู ผมเห็นคนใส่เสื้อนอกก็ต้องสยบแล้ว คณะนี้ศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ เรียนจินตนาการทั้งนั้น เป็นความคิด คิดฝัน อย่างคุณสุชาติก็เป็นรุ่นหนึ่งของคณะศิลปศาสตร์ ผ่านมาสามสิบปี เรากำลังนั่งมองว่าความฝันจะจุดไฟได้อีกไหม ความฝันไม่ใช่การจัดการ ตอนนี้อยู่ในยุคโครงการพิเศษ จ่ายแพงก็ได้ จ่ายถูกก็ได้...แบบถูกๆ... ผมนึกไม่ออกว่าจะไปหาจินตนาการมาจากที่ไหนในระบบแบบนี้ ผมก็อยากเป็นซานโช่ ปันซ่า เงินเดือนอาจารย์ก็น้อยๆ แต่แล้วเขาจะให้เราจุดไฟให้คนรุ่นใหม่ ผมสอนวิชาสหวิทยาการมนุษยศาสตร์ มีความเห็นจากนักศึกษาว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม แต่พอจบแล้วเขาก็เห็นคุณค่านะครับ

ด้านดีของความเป็นคนมันต้องมี ต้องออกมา มีความหวัง ผมได้คุยกับคุณมกุฏ เห็นว่าจะพิมพ์หนังสือดีหนังสือคลาสสิกออกมา ผมว่ายังจะมีคนอ่าน เป็นแรงบันดาลใจต่อไป ของดีทุกอย่างต้องเริ่มที่ปริมาณน้อย ถ้าบังคับให้ทุกคนอ่าน จะเป็นการฆาตกรรม เพราะเขาจะไม่อยากอ่านหนังสืออีกเลย กลับบ้านไม่ต้องไปบอกให้ลูกหลานอ่านนะครับ ซื้อมาวางไห้เขาเห็นทุกวัน แล้วให้เขามาดูละครเพลงอาทิตย์หน้าดีกว่า

อ. ทรงยศ : ในเรื่องนี้ ซานโช่ ปันซ่า หิวมาก อยากกิน ดอนกิโฆเต้บอกว่าไม่มีตอนไหนในนิยายอัศวินที่เขาจะกินข้าวกัน เมื่อเช้าผมเห็นข่าวการแจกเงิน ที่หัวคะแนนเอาคนมาแจกเงิน เขาบอกว่าเอาเสื้อไปด้วย เปลี่ยนเสื้อแล้วจะได้กลับมาเอาเงินรอบสองได้ นี่เป็นซานโช่ ปันซ่าจริงๆ

เสน่ห์ของหนังสือที่อยู่ได้ถึงสี่ร้อยปี ก็เพราะอ่านในยุคสมัยต่างๆ ในบริบทที่แตกต่างกัน ก็จะได้ความหมายที่หลากหลายไปเรื่อยๆ

คุณสุชาติทิ้งท้ายว่า วรรณกรรมที่มีคนพูดถึง เป็นเพราะมันมีชีวิต สร้างฐานทางจินตนาการให้วัฒนธรรมการอ่าน-วัฒนธรรมหนังสือ ในเรื่อง Zorba the Greek ของ Nikos Kazantzakis ซอร์บากล่าวว่า "I hope for nothing. I fear for nothing. I am free." เขาเป็นอิสรชน ดอนกิโฆเต้ก็คืออิสรชน

อ. ธเนศ ยกวาทะบางตอนจากหนังสือมาเล่าฟัง เช่นตอนที่ดอนกิโฆเต้ทำตัวเป็นบ้า ซานโช่ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำตัวเป็นบ้า จึงถามว่า "ข้าเข้าใจว่า อัศวินที่ทำดังนั้นก็ด้วยมีเหตุกระตุ้น แล้วนายท่านเล่าขอรับ อะไรคือเหตุให้ท่านต้องกลายเป็นบ้า" ดอนกิโฆเต้ตอบว่า

"นี้แลคือข้อหมายสำคัญ นี้คือความละเอียดอ่อนของสิ่งที่ข้าจะกระทำ
การที่อัศวินพเนจรบ้าคลั่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ย่อมไม่มีคุณค่าอันใด
ความวิเศษของมันอยู่ที่ว่า ไม่มีมูลเหตุอันใดต่างหากเล่า เช่นนี้
แม่หญิงของข้าจักเข้าใจได้ว่า แม้มิมีมูลเหตุข้าก็ยังกระทำปานนี้
หากมีมูลเหตุประกอบด้วยจักลุกลามถึงเพียงไหน"


บทตอนนี้เรียกเสียงฮาและเสียงผิวปากหวือจากผู้ชมในห้องประชุม

อ. ธเนศ ยกตัวอย่างต่อไปว่า ตอนหนึ่งดอนกิโฆเต้กล่าวถึงยุคทอง ดังนี้ "ได้ชื่อว่ายุคทองก็เนื่องแต่เป็นยุคที่มิแบ่งเขาแบ่งเรา สรรพสิ่งในศานติสมัยล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้น มนุษย์ทุกผู้เมื่อปรารถนาสิ่งใดเพื่อดำรงชีพ ลำบากก็เพียงยื่นมือคว้าจากต้นโอ๊ค" นี่คล้าย ยูโทเปีย ของโทมัส มอร์ แนวคิดการมองคนเท่าเทียมกันเริ่มเกิดแล้ว เกิดในคนระดับล่าง ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าวรรณคดีไทยจะมีบ้างไหมที่คนอยากเป็นอิสระ เป็นไพร่ที่อยากหลุดพ้น ส่วนใหญ่เห็นแต่ไพร่ที่อยากมีเจ้านาย อันนี้ก็ต้องศึกษาดูนะครับ