วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550

การประมูล

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

ข้าพเจ้าขอรายงานการประมูลข้าวของแสดงในงานนิทรรศการวันสุดท้าย เพื่อนำรายได้มอบให้หอสมุดแห่งชาติ เริ่มต้นการประมูลด้วยหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ เล่มจิ๋ว ความสูงประมาณ 1 เซ็นติเมตรเท่านั้น เป็นหนังสือปกหนังน่ารักจริงๆ ข้างในมีเนื้อความภาษาสเปน แถมมีภาพประกอบด้วย ข้าพเจ้าตั้งใจจะขโมยจากตู้นิทรรศการเป็นหลายหน ยังไม่มีโอกาสทำสำเร็จก็ถูกประมูลไปเสียแล้ว ดูรูปได้จากหนังสือปกแดงข้างล่างนี้ น่ารักเสียจนอดใจไม่ไหว ใครต่อใครต่างพากันถามไถ่ว่าหนังสือเล่มนี้ข้างในเป็นอย่างไรนะ หนังสือถูกประมูลไปด้วยราคา 500 บาท



ในรูปเดียวกันจะเห็นชุดแก้วน้ำ มี 3 แก้วคือแก้วน้ำใหญ่ 1 แก้ว และแก้วน้ำเล็กจิ๋ว 2 แก้ว (มีผู้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่าแก้วเล็กนั้นเอาไว้สำหรับกินเหล้าขาว) ข้าพเจ้าพยายามประมูลแข่ง แต่ไม่สำเร็จ ที่จริงอยากได้แต่แก้วใบใหญ่เท่านั้นเอง เนื่องจากคิดว่าแก้วใบเล็กจะไม่ได้ใช้ (ข้าพเจ้าเสพสารเสพติดชนิดอื่น) ราคาเริ่มต้นที่ 500 ประมูลไปได้ในราคา 1,600 บาท และน่าเจ็บใจไปกว่านั้น เพราะผู้ประมูลไปคือคนจากผีเสื้อนั่นเอง

หากสังเกตผ้าสีดำลายขาวที่รองพื้นอยู่ นั่นคือเสื้อยืดดอนกิโฆเต้ มีผู้ประมูลไปในราคา 900 บาท




สแตมป์น่ารักชุดนี้ประกอบด้วยชุดของดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า ชุดของซานโช่น่ารักที่สุดตรงรูปซานโช่กอดลาของตัวเองด้วยอาการรักใคร่จับใจ ชุดนี้ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 3,000 บาท และมีผู้ได้ไปในราคา 4,500 บาท

ตุ๊กตาดอนกิโฆเต้และซานโช่คู่นี้ราคาเริ่มต้น 3,000 บาท ประมูลไปโดยคุณผกาวดีจากผีเสื้อในราคา 4,000 อันที่จริงขณะการประมูลดำเนินต่อไป ผู้ดำเนินรายการพยายามร้องห้ามคุณผกาวดีตลอดเวลาว่า อาจารย์ครับ หยุดได้แล้วครับ แต่ไม่เป็นผลอันใด


ตุ๊กตาโลหะดอนกิโฆเต้นั่งบนหนังสือ ราคาเริ่มต้น 4,500 บาท มีผู้ประมูลไปด้วยราคา 5,500 บาท

ในกล่องดำคือไพ่ทาโรต์ดอนกิโฆเต้ ราคาเริ่มต้น 1,500 บาท มีผู้ประมูลไปในราคา 5,000 บาท ส่วนที่วางข้างใต้คือโปสการ์ดต่างๆ โปสการ์ดชุด 16 แผ่น ราคาเริ่มต้น 600 บาท มีผู้ประมูลไปในราคา 2,100 บาท


มุมขวาบนของชั้นวางของแสดงนี้คือกระปุกพริกไทยและเกลือสีขาว มีลวดลายจากเรื่องดอนกิโฆเต้ฯ ราคาเริ่มต้น 1,500 บาท มีผู้ประมูลไปด้วยราคา 2,100 บาท

ยังมีของประมูลอีกหลายอย่าง แต่ไม่ค่อยอยากเล่าเพราะเล่าแล้วอิจฉา

หลังจากงานครั้งนี้ ธรรมศาสตร์ติดต่อขอนำงานนิทรรศการดอนกิโฆเต้ฯ ไปจัดที่มหาวิทยาลัยในโอกาสหน้า ราวกลางปีนี้ หากเป็นไปได้ข้าพเจ้าอยากเห็นงานนิทรรศการครั้งนี้สัญจรไปทั่วเช่นกัน ดอนกิโฆเต้ของเราจะได้มีโอกาสได้บัตรมัคคุเทศก์ทั่วไปสักที

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่แปด วันสุดท้าย

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

เริ่มงานวันนี้โดยการมอบเงินรายได้จากงานนี้ให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นเงินทั้งสิ้นเท่าไรข้าพเจ้าจำไม่ได้ ประมาณหนี่งแสนกว่าบาท ที่จำไม่ได้เพราะมัวสนใจหมกมุ่นเรื่องอื่นอยู่ แต่จะเป็นเรื่องอะไรนั้นข้าพเจ้าไม่อาจบอกได้ (ขออภัยด้วยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รายงานข่าวที่แย่จริงๆ ปกติแล้วเคยชินกับชีวิตเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรมิโกมิก็อน มากกว่าเป็นนักข่าว) งานนี้มีการขายหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ เพื่อนำรายได้มอบให้หอสมุดแห่งชาติ ผีเสื้อขายหนังสือได้เท่ากับจำนวนที่เซร์บันเตสกล่าวไว้ในเล่มสอง คือประมาณ 18,000 เล่ม

ต่อมาเป็นการมอบของขวัญที่ระลึกให้ผู้เกี่ยวข้องในงาน ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่นักการจากหอสมุดแห่งชาติทุกท่านที่ช่วยเหลือร่วมมือในงานอย่างดียิ่ง รวมถึงน้องๆ นักศึกษาภาควิชาภาษาสเปนจากรามคำแหงทุกท่าน ที่ทั้งน่ารักและมาช่วยด้วยหัวใจเกินร้อย หลังจากนั้นเป็นการมอบเหรียญที่ระลึกดอนกิโฆเต้ฯ แก่ผู้ร่วมงาน

จากนั้นเป็นการเสวนา 'ก่อนจะถึงดอนกิโฆเต้ฯ เล่มสอง ตอนจบ' โดย อ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล และ อ. วัลยา วิวัฒน์ศร

อ. วัลยา : วันนี้เป็นการจัดงานวันที่ 8 ขอสรุปคร่าวๆ เรื่องการทำงานดอนกิโฆเต้ฯ ภาคแรก ก่อนแปลภาคแรก อ. สว่างวันศึกษาเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง อ่านหนังสือแปลเก่าๆ หลายเล่มเพื่อศึกษาภาษาไทยเก่า สะสมคลังคำก่อนแปล 2 ปี ได้รับอนุญาตให้ลางาน (สอนเพียง 1 วิชา) เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ตามคำขอของเอกอัครราชทูตสเปน อ. สว่างวันใช้เวลาตรวจแก้ต้นฉบับกับดิฉันครึ่งปี แล้วต้นฉบับไปอยู่กับผีเสื้อ ครึ่งปีแรกคุณมกุฏหาตัวตนเซร์บันเตสไม่เจอ อ่านแล้วมองไม่เห็นเซร์บันเตสเลย ดิฉันลืมว่าผู้เขียนคือใคร ถ้าหาตัวผู้เขียนไม่เจอ ไม่แน่ใจว่าพอไปตรวจแก้จะเข้าใจหนังสือได้อย่างไร จากประสบการณ์งานแปลอื่นๆ คุณมกุฏใช้เวลาไม่นาน อ่านเพียง 4-5 รอบก็เจอตัวผู้เขียนเจอแล้ว แต่ดอนกิโฆเต้นี่ 12 รอบ บางบทเป็น 100 รอบ จึงช้า ถ้าถึงภาค 2 เมื่อไรผู้แปลเรียนจบปริญญาเอก ทั้งดิฉันและคุณมกุฏคงไม่ต้องใช้เวลานาน ด้วยเข้าถึงนักประพันธ์ได้ดีขึ้น อ. สว่างวันเตรียมตัวอย่างไรบ้างสำหรับการแปลภาค 2

อ. สว่างวัน : ยังไม่มีโอกาสขอบคุณผีเสื้ออย่างเป็นทางการ มีแต่การทะเลาะกันอย่างไม่เป็นทางการหลายยก อยากขอขอบคุณทุกท่านในสำนักพิมพ์ ได้เดินทางไปบ้านเกิดเซร์บันเตส เห็นว่าหนังสือฉบับภาษาไทยจัดว่าสวยที่สุดฉบับหนึ่ง การเตรียมงานทั้งหมด เวลาทำภาค 1 ต้องอ่านภาค 2 ไปด้วย ปัจจุบันไปเรียนที่มาดริด มีวิชาวรรณคดีที่ดีมาก มีอาจารย์ปรมาจารย์ด้านเซร์บันเตสและงานประพันธ์ 2 ท่าน คนแรกมีวิธีการสอนที่แปลกมาก เก่งมาก เดินเข้ามาบอกว่าใครมีอะไรจะถามบ้าง อาจารย์ตอบได้ทุกอย่าง นักศึกษาต้องไปทำการบ้านมาว่าจะถามอะไร แม้คำถามว่าเซร์บันเตสเป็นเกย์หรือเปล่า เพราะเขาติดคุกนานตั้ง 5 ปี อาจารย์ตอบว่าไม่มีทาง เพราะอะไร เมื่อนักโทษหรือผู้เคยเป็นเชลยกลับสเปน ต้องรายงานตัวว่ามีชีวิตยังไง ฝักใฝ่ศาสนาอื่นหรือเปล่า ทุกคนไม่มีใครกล่าวถึงเซร์บันเตสในแง่ลบเลย ทุกคนบอกถึงความกล้าหาญ เสียสละ ความเป็นชายผู้ดีของเขา ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องเกย์ไม่เกย์ของเซร์บันเตส พออาจารย์ทราบว่าแปลดอนกิโฆเต้ฯ อยู่ อาจารย์ปวารณาตัวว่ามีข้อสงสัยให้ปรึกษาได้ทุกเมื่อ อาจารย์อีกท่านให้ไปอ่านหนังสือพันกว่าหน้า อ่านเดือนหนึ่งเต็มๆ เป็นหนังสือขายดีก่อนหน้าดอนกิโฆเต้ฯ คนสเปนบอกว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่อ่านเล่มนี้ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจเซร์บันเตสลึกซึ้งขึ้น เซร์บันเตสบอกว่าหนังสือดีควรอ่านสนุก แต่เล่มนี้อ่านไม่สนุกเลย นี่เป็นวิธีเตรียมการอย่างหนึ่ง ได้รู้บริบทว่าวรรณกรรมสเปนยุคนั้นเป็นอย่างไร คือเซร์บันเตสเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่ง

อ. วัลยา : อาจารย์ได้ไปเรียนที่สเปน มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายินดีช่วยเหลือ อาจารย์เคยตั้งคำถามถึงภาค 2 บ้างไหม

อ. สว่างวัน : ถามว่าองค์รวมเป็นอย่างไร เซร์บันเตสสร้างเขาวงกต 1 ลูก ปากทางเข้าง่าย เซร์บันเตสใช้คำศัพท์อ่านง่าย สละสลวย พอเหมาะควร ไม่ได้ใช้คำหรูๆ มาแทรก แต่พอเดินเข้าไปข้างใน อ่านแล้วมีอะไรให้เราต้องคิดสลับซับซ้อน เราต้องเข้าใจบริบททั้งหมดจึงจะสื่อความหมายได้หลายๆ ชั้น

อ. วัลยา : ดอนกิโฆเต้ภาค 2 พิมพ์ห่างภาคแรก 10 ปี เซร์บันเตสมีชื่อเสียงในช่วง 10 ปีนั้น อยากให้อาจารย์พูดว่าทำไมต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เราเห็นความแตกต่างของเทคนิคการเขียนหรือไม่ หรือตอนท้ายภาคแรกเซร์บันเตสเขียนว่ามีการจารึกของอัศวินต่างๆ ปราชญ์ต่างๆ บันทึกที่หลุมศพตัวละคร ทำไมเขาจบโดยมาจารึกให้คนเหล่านี้เสียชีวิตไปหมดแล้ว ทำไมภาค 2 จึงกลับมา

อ. สว่างวัน : 10 ปีเซร์บันเตสทำอะไร อันที่จริงน่าจะรวยแต่ไม่รวย เพราะอาภัพมาก เกิดมาจน เป็นทหารก็ไม่ดัง ติดคุกหลายครั้ง เป็นข้าราชการ ตอนแรกเขาไม่ค่อยชอบเขียนร้อยแก้ว สมัยนั้นนักประพันธ์มีฝีมือมีสตางค์ต้องเขียนบทละคร เซร์บันเตสมีฝีมือแต่ไม่ใช่ฝีมือตามขนบในยุคนั้น ทดลองเขียนแบบอื่น เขียนบทละครออกมา 8 เรื่อง ถือว่าเป็นละครสลับฉากดีที่สุดของสเปนในสมัยนั้น แต่ไม่มีใครเอาขึ้นแสดง เขาตัดพ้อไว้ในหนังสือ พอเขียนภาค 1 จบต่อภาค 2 เลย เขียนไปๆ ในยุคนั้นมีนักเขียนดีๆ เกิดขึ้นเยอะ เซร์บันเตสไปอ่านงานก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของคนอื่น คิดว่าเรื่องแทรกทำให้โครงเรื่องหลักเสียไป จึงตัดใจยกออกจากภาค 2 ได้เป็นหนังสืออีกเล่ม เขียนไปๆ ไม่จบสักที ปี 1614 มีนักเขียนผู้หนึ่งอดรนทนไม่ได้ เขียนดอนกิโฆเต้ภาค 2 ต่อให้ ถือเป็นฉบับปลอม ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าใครเขียน มีแต่นามปากกาและการสันนิษฐานไปต่างๆ ฉบับปลอมทำให้ดอนกิโฆเต้เป็นตัวตลก เซร์บันเตสเจ็บช้ำมาก ถ้าไม่มีฉบับปลอม เราอาจไม่ได้อ่านดอนกิโฆเต้ภาค 2

อ. วัลยา : เล่มแรกมีการเดินทาง 2 ครั้ง มีเรื่องแทรก แล้วเล่ม 2 ?

อ. สว่างวัน : เล่ม 2 เดินทางครั้งเดียว เรื่องแทรกน้อยมาก แต่เรื่องแทรกเหล่านี้ถักทอเป็นผืนเดียวกับโครงเรื่องหลัก

อ. วัลยา : ในเล่ม 2 ตัวละครในเรื่องแทรกออกมาเจอดอนกิโฆเต้และซานโช่ด้วยไหม

อ. สว่างวัน : เจอค่ะ ไม่มีเรื่องที่ตัดออกไปได้เลย

อ. วัลยา : ดอนกิโฆเต้ฝันอยากได้ครอบครองอาณาจักร ซานโช่อยากได้ครอบครองดินแดนมีน้ำล้อมรอบ ความฟุ้งฝันนี้เป็นจริงไหม

อ. สว่างวัน : ได้ครอบครองดินแดน บาราตาเรีย (มาจาก บาราโต้ แปลว่าถูกๆ) ซานโช่ร่วมเดินทางกับดอนกิโฆเต้ เข้าไปอยู่ในปราสาทแห่งหนึ่ง เจอวังจริงของดยุคและดัทเชส ทั้งคู่เคยอ่านงานเขียนเล่มแรก รู้ว่าสองคนนี้อยากครอบครองดินแดน เลยให้ไปครอบครอง และสร้างเรื่องกลั่นแกล้งซานโช่ต่างๆ เป็นตลกที่ทำให้สงสารดอนกิโฆเต้และซานโช่ แต่ดอนกิโฆเต้ไม่ได้เป็นจักรพรรดิ ไม่ได้เป็นอัศวินเก่งที่สุดในโลก

เซร์บันเตสสร้างตัวละคร 1 ตัวคือ เบเนงเฆลี มาโผล่ในภาคแรก บทที่ 9 เป็นศิลปะการประพันธ์อย่างหนึ่ง ภาค 2 เปลี่ยนวิธีดำเนินเรื่อง ตัวละครมาวิจารณ์งานในภาคแรก ตัวละครซานซอน การัสโก้ มาบอกซานโช่ว่ามีหนังสือที่เล่าเรื่องราวของเธอกับดอนกิโฆเต้ ซานโช่ฟังแล้วผึ่ง ถามว่าเป็นอย่างไร ซานซอนล้อเลียนซานโช่เล็กน้อย เขาว่าเธออย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเหรียญทองคำ 100 เอสกูโด้หายไปไหน ซานโช่แอบมุบมิบไป หรือทำไมลาหายไปหายมา เซร์บันเตสมีวิธีแก้ไขที่สนุกมาก เช่นเมื่อซานโช่ถูกซักไซ้จึงบอกให้เล่าเรื่องให้ฟัง พอซานโช่ได้ยินคำว่า ดอนญาดุลสิเนอา ซานโช่ว่าเรื่องนี้ไม่จริง เพราะตลอดการเดินทางไม่เคยเรียก ดอนญา เรียกแต่ว่าแม่หญิง เรื่องนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลย สมัยนั้นเทคนิคการประพันธ์แบบนี้ไม่มี

อ. วัลยา : ในเล่ม 2 ผู้ประพันธ์สร้างตัวละคร 2 ชุด คือดยุคและดัทเชส และซานซอน ดังนั้นตัวละครในเล่ม 1 ไม่ใช่ตัวละคร แต่เป็นชีวิตจริง 2 คน เป็นวีรกรรมลือลั่นรู้กันไปทั่ว เกิดขึ้นจริง ซานโช่มีตัวจริง เหมือนการเขียนซ้อนๆ ซึ่งในภาคแรกมี แต่น้อยกว่า

อ. สว่างวัน : ภาคแรกไม่ลึกลับเท่านี้ เขาเชื่อมั่นแล้วว่าศิลปะเขาไปถูกทาง

อ. วัลยา : ตอนท้ายที่มีจารึกว่าตัวละครตายหมด แล้วภาค 2 เขาทำอย่างไร

อ. สว่างวัน : ตอนท้ายมีบทกลอน 10 กว่าหน้า เป็นบทกลอนสนุกมาก ตลกเสียส่วนใหญ่ จารึก ณ หลุมฝังศพดอนกิโฆเต้ เขาตายไปแล้ว (อ. วัลยาเสริมว่าจะเห็นว่าเขามีตัวตนจริง มีหลุมศพ) ใครย้อนไปก่อนหน้านั้น หนังสือบอกว่าแม้ผู้เรียบเรียงจะพยายามสืบเสาะหาเรื่องการออกผจญภัยครั้งที่ 3 ของดอนกิโฆเต้สักเท่าใด ก็ไม่ปรากฏพบ หนังสือบอกว่าการเดินทางครั้งที่ 3 ไปเมืองซาราโกซ่า การัสโก้บอกว่าตอนท้ายผู้เขียนสัญญาจะเขียนเล่ม 2 แต่หาต้นฉบับไม่พบ และไม่แน่ใจว่าจะเขียนไหม เพราะตามปกติภาค 2 จะไม่ดีเท่าภาคแรก แต่สุดท้ายไม่ได้เดินทางไปซาราโกซ่า เพราะฉบับปลอมไปซาราโกซ่า เซร์บันเตสแค้นใจเลยเปลี่ยนเส้นทาง

อ. วัลยา : อ. สว่างวันบอกว่าหนังสืออ่านสนุก เราน่าจะลองอ่านให้ฟังว่าอารมณ์ขันที่ว่าเป็นอย่างไร ต่อไปนี้เป็นคำพูดระหว่างดอนกิโฆเต้และซานโช่ ดอนกิโฆเต้ฝากจดหมายรักให้ซานโช่นำไปมอบแก่ดุลสิเนอา ซานโช่ไม่ได้เอาไปให้ แต่บอกว่ามอบให้แล้ว ดอนกิโฆเต้ซักว่าแม่นางเป็นอย่างไรบ้าง โดยเริ่มถามว่า

"เมื่อเจ้าไปถึง ราชินีแห่งความงามพิลาสทำสิ่งใดอยู่รึ ข้าเชื่อว่านางคงร้อยสร้อยไข่มุกหรือปักตราอัศวินด้วยดิ้นทองคำให้ผู้จงรักของนางอยู่"

"หามิได้ขอรับ นางกำลังฝัดข้าวสาลีอยู่ที่ลานบ้าน"

"ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงแน่แก่ใจได้ทีเดียวว่า เมล็ดข้าวสาลีทั้งนั้นจักกลายเป็นไข่มุกยามต้องมือนาง เจ้าได้สังเกตหรือไม่ว่าข้าวสาลีดังว่านั้นเป็นสีขาวพิสุทธิ์หรือสีน้ำตาล"

"สีแดงขอรับ"

"ข้าประกันได้ทีเดียวว่าเมื่อเมล็ดข้าวผ่านมือนางแล้ว ย่อมกลายเป็นขนมปังข้าวสาลีขาวละมุน แลเมื่อเจ้ามอบสาส์นรักของข้าแด่นาง นางจุมพิตสาส์นนั้นหรือวางไว้เหนือหัวของนางหรือไม่ หรือมีอากัปกิริยาเช่นใด นางทำฉันใดบ้าง"

"เมื่อข้าจะส่งจดหมายให้นั้น นางออกแรงฝัดข้าวเต็มกระด้งอยู่ นางจึงกล่าวว่า 'วางจดหมายไว้บนถุงแป้งนั้นเถิด เพื่อนเอ๋ย ข้ายังอ่านมิได้ถ้าไม่เป็นธุระข้าวในกระด้งให้เสร็จก่อน'"

"ช่างชาญฉลาดเสียนี่กระไร นี้คงด้วยว่านางประสงค์จะอ่านและดื่มด่ำสาส์นรักของข้าช้าๆ แล้วอย่างไรอีกซานโช่ เมื่อทำงานอยู่นั้น นางกล่าวสิ่งใดแก่เจ้า ไต่ถามถึงข้าบ้างหรือไม่
แลเจ้าตอบว่ากระไร จงเล่าทุกถ้อยทุกคำให้ข้ารู้ถี่ถ้วนเถิด"

"นางมิได้ถามสิ่งใด แต่ข้าเลช่าให้ฟังว่าท่านมาลำบากลำบนทรมานตนเพื่อนาง เปลือยร่างท่อนบน นอนกลางดิน ไม่ดื่มกินบนโต๊ะอาหาร ปล่อยให้หนวดเครารุงรัง ใช้ชีวิตในเทือกเขาแห่งนี้ดังสัตว์เถื่อนตัวหนึ่ง แลเฝ้าคร่ำครวญสาปแช่งโชคชะตาของตน"

"ที่เจ้าพูดว่าข้าสาปแช่งโชคชะตาของตนนั้น เจ้ากล่าวผิด ตรงข้าม ข้านึกนิยมยินดีโชควาสนาของตนแลจักเป็นเช่นนี้ชั่วอายุขัยของข้า ด้วยว่าชะตาดลให้ข้าคู่ควรแก่การได้รักหญิงผู้สูงส่งเช่นแม่หญิงดุลสิเนอาแห่งโตโบโซ่"

"สูงจริงแท้ขอรับ สูงกว่าข้าราวหนึ่งฝ่ามือเห็นจะได้"

"เจ้ารู้ได้ฉันใด ซานโช่ เจ้าลองเทียบส่วนสูงของเจ้ากับนางกระนั้นหรือ"

"ข้าเผอิญวัดดู ด้วยว่าเมื่อข้าช่วยนางขนถุงข้าวสาลีขึ้นหลังฬา ข้าเข้าใกล้นางจนสังเกตว่านางสูงกว่าข้าราวหนึ่งฝ่ามือ"

"แม้ความข้อนี้จะเป็นจริง แต่นางก็เป็นกุลนารีผู้เพียบพร้อมคุณความดีสูงส่ง ว่าแต่ซานโช่ เจ้าคงไม่ปฏิเสธว่า เมื่อเจ้าเดินเคียงข้างนางนั้น เจ้าได้กลิ่นหอมกรุ่นกำจายของเครื่องหอม กลิ่นน้ำหอมชั้นเลิศที่ข้าเองก็มิรู้จักชื่อ หอมตรลบอบอวลดั่งหลุดเข้าไปในร้านขายถุงมือหนังชั้นดีใช่หรือไม่"

"ข้าบอกได้เพียงว่า ข้าได้กลิ่นสาบๆ เยี่ยงบุรุษ คงด้วยเหตุงานหนัก เหงื่อออกเหนียวเหนอะหนะ"

"มิใช่ดังนั้นหรอก เจ้าคงเป็นหวัด หรือว่าได้กลิ่นตัวเจ้าเองกระมัง ข้าแน่แก่ใจทีเดียวว่ากลิ่นกายนางเปรียบได้ดุจกลิ่นกุหลาบกลางดงหนาม ดอกลิลลี่กลางทุ่งกว้าง แลกลิ่นน้ำมันหอมระเหยกรุ่น"

"คงดังนั้นแลขอรับ ข้าได้กลิ่นที่คิดว่าลอยจากร่างแม่หญิงดุลสิเนอาอยู่หลายครา ที่จริงคงระเหยมาจากตัวข้าเอง ไม่มีสิ่งใดต้องฉงนดอก ด้วยว่าปิศาจทุกตัวย่อมมีกลิ่นคล้ายคลึงกัน"

"จากนั้น เมื่อฝัดข้าวสาลีเพื่อส่งไปโรงสีแล้ว นางทำเช่นไรยามอ่านสาส์นรัก"

"จดหมายนั้นหรือ นางหาได้อ่านไม่ดอก นางบอกว่านางไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น
นางฉีกจดหมายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พลางแจงว่านางไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดได้อ่านได้ฟัง
ด้วยเกรงว่าจะทำให้ความลับฉาวไปทั้งหมู่บ้าน นางบอกอีกว่า ให้เล่าเรื่งอความรักที่นายท่านมีต่อนาง แลการทรมานตนแปลกๆ ที่ท่านกระทำเพื่อนางก็พอแล้ว สุดท้าย นางกล่าวแก่ข้าว่าขอให้แจ้งนางท่านด้วยว่า นางฝากจูบมือท่าน แลใคร่พบหน้าท่านยิ่งกว่าจะเขียนจดหมายตอบ"



อ. วัลยา

: ในภาคแรกดุลสิเนอาไม่เคยปรากฏตัว นางปรากฏตัวในเล่ม 2 หรือไม่

อ. สว่างวัน : มีค่ะ มีฉากที่ดอนกิโฆเต้ไปถ้ำแล้วยืนยันว่าเจอดุลสิเนอา แต่ไม่มีคนอื่นรู้ว่าเจอหรือไม่เจอ

คำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนา : อ. สว่างวันจะแปลภาค 2 เมื่อเรียนจบปริญญาเอก จึงอยากทราบจะใช้เวลาเรียนประมาณกี่ปี เพื่อจะประมาณได้ว่าเมื่อไรเราจะได้อ่านภาค 2

อ. วัลยา : ตอนนี้ อ. สว่างวันลงวิชาหมดแล้ว กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ มีเวลาเรียน 5 ปี ตอนนี้ผ่านไปปีเศษ หัวข้อวิทยานิพนธ์คือเซร์บันเตสในบทประพันธ์ของมัสเอา ซึ่งเป็นนักเขียนร่วมสมัยกับเรา เสียชีวิตปี 1972
เขาได้รับอิทธิพลจากเซร์บันเตสเยอะ



หลังการเสวนาเป็นการประมูลข้าวของที่นำมาแสดงในงานนิทรรศการด้วยความสนุกสนานยิ่ง ทั้งสแตมป์ รูปปั้นหุ่นดอนกิโฆเต้ตัวเล็ก ตุ๊กตาดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า กระปุกพริกไทยเกลือ แก้วน้ำ ไพ่ โปสการ์ด มีการตัดราคาและเชือดเฉือนกันอย่างน่าติดตามยิ่ง

ข้าพเจ้าเป็นนักข่าวที่เลวอีกเช่นเคย มิได้จดราคาไว้ หากใครอยากทราบขอให้แจ้งไว้ แล้วข้าพเจ้าจะมารายงานในภายภาคหน้า

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่หก


รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

ข้าพเจ้าเคยบอกหรือยังว่า เปอะเปี๊ยะดอนฯ อร่อยมากแค่ไหน อร่อยจนติดใจและเสียดายจริงๆ ว่าบัดเดี๋ยวนี้หายสาบสูญไปเสียแล้ว คิดแล้วยังอยากกินอยู่ไม่วาย เซร์บันเตสคงส่งเปอะเปี๊ยะนั้นมาเพื่อผีเสื้อจริงๆ

งานวันที่ห้า มีเสวนาเรื่อง 'ความประทับใจหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ' โดย อ. คารินา โชติระวี อาจารย์ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล และคุณสุวัฒน์ หลีเหม

อ. สว่างวัน : ข่าวหนึ่งของ อ. คารินา โด่งดังถึงประเทศสเปน เมื่อแนะนำหนังสือดี 10 เล่มสำหรับท่านผู้นำประเทศ หนึ่งในนั้นคือดอนกิโฆเต้ฯ อยากให้เล่าว่า อ. คารินา ประทับใจอะไรในหนังสือเล่มนี้ จึงแนะนำ

อ. คารินา : ปีที่แล้ว อยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศ หลายเรื่องพูดถึงคุณธรรม จึงอาสาจะพูดหัวข้อนี้ มีเวลาเตรียมรายการหนังสือเพียง 24 ชั่วโมง นึกเรื่องที่ 10 ไม่ออก ได้เห็นโฆษณาหนังสือเล่มนี้ว่า "ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้"

คุณสุวัฒน์ : ขึ้นเวทีเป็นครั้งที่ 3 ในฐานะผู้อ่าน วันนี้พูดหัวข้อความประทับใจ หนังสือเล่มนี้เปิดกว้างต่อการตีความ ความประทับใจเป็นเรื่องส่วนบุคคล อ่านแล้วได้ความสนุก ไม่ใช่อ่านแล้วขำอย่างเดียว สนุกคือที่ดูตั้งแต่ต้นจนจบแล้วมีความสุขกับมัน เป็นวรรณกรรมยุคใหม่ หนังสือเล่มนี้น่าจะให้อะไรมากกว่าความสนุกเพียงอย่างเดียว อย่าตั้งแง่ ควรเปิดใจกว้าง พอเห็นหนังสือเล่มนี้หนามาก หลายท่านอาจถอดใจแต่แรก หรือข้อมูลว่าหนังสือดีที่สุดในโลก อาจรู้สึกไม่น่าอ่าน แต่ให้อ่านเพื่อความสนุกสนาน การผจญภัยของดอนกิโฆเต้จะบอกว่าท่านจะได้รับอะไร เซร์บันเตสทำให้เราเห็นแง่งามของชีวิต มีด้านมืด ด้านสว่าง ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกมองด้านไหน

อ. คารินา : ความประทับใจต่อดอนกิโฆเต้ฯ นั้น เคยเรียนสมัยอยู่อักษรศาสตร์ เรียนโทวิชาภาษาสเปน ปัจจุบันลืมไปหมดแล้ว จำได้แต่ดอนกิโฆเต้ แต่ได้อ่านตอนที่สำคัญๆ บ้าง จำได้ว่าประทับใจวิธีการเสนอเรื่องและความสนุกสนาน ธีมจากดอนกิโฆเต้แฝงอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ เช่นโฟล์กเนอร์ ฮักเกิลเบอร์รี่ฟินน์ เราทำงานแปลเอกสารต่างๆ ของศูนย์การแปล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ วันหนึ่งเห็นเอกสารแปลกๆ อ. สว่างวันขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยพิมพ์จากลายมือต้นฉบับ ก็รู้สึกตื่นเต้น เหมือนได้เห็นตั้งแต่ยังไม่คลอด
สังคมเราให้ความสำคัญกับงานจากจินตนาการค่อนข้างน้อย การตีความที่ไม่มีคำตอบตายตัว ดอนกิโฆเต้เป็นตัวละครที่ไม่เคยมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเป็นแค่นั้น ทุกอย่างมองมากไปกว่านั้น มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ได้ ตอนนี้เรามักมองทุกอย่างในเชิงฟังก์ชันว่าใช้ประโยชน์อย่างไร เห็นเรือนแรมเป็นปราสาท

อ. สว่างวัน : ดูหนังลอร์ดออฟเดอะริงส์ แล้วเห็นดอนกิโฆเต้กับซานโช่ โฟรโด้คือดอนกิโฆเต้ แซมอ้วนๆ ชอบกิน เก็บอาหารไปตลอดทางคือซานโช่

อ. คารินา : ตีความได้เยอะแยะมากมาย ตีความเชิงศาสนาได้ จะเจอดอนกิโฆเต้ในวรรณกรรมตะวันตกหลายเรื่อง มีตัวละครที่จำลองจากพระเยซู แม้กระทั่งดอนกิโฆเต้ก็เป็นลักษณะเปรียบพระเยซูอย่างหนึ่งได้ คนที่เพียรพยายาม เอาชนะสิ่งที่คนคิดว่าเอาชนะไม่ได้ เช่นความตาย ความบาป แต่ถูกคนรอบๆ ข้างตัวมองด้วยความเยาะเย้ย ถากถาง หัวเราะเยาะ บอกว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ King of the Jews เซร์บันเตสพยายามเสนอภาพนี้หลายตอน มีอะไรที่แฝงนัยยะในไบเบิล ใกล้จบเล่ม 1 มีงานเลี้ยง มีคนมาร่วมรับประทาน 12 คน ภาพคล้าย The Last Supper ตอนดอนกิโฆเต้ผจญภัย ปลดปล่อยผู้เป็นทาส ผลการปลดปล่อย นอกจากไม่สำนึกยังเป็นอันตราย คล้ายๆ ที่พระเยซูเจอมา ทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้อง ต้องบอบช้ำ ถูกอิฐเขวี้ยง แต่ดอนกิโฆเต้เชื่อในหลักอัศวิน พึงปราบภัยพาล พระเยซูเกิดมาไม่ใช่เฉพาะคนดี คนมั่งมี ดอนกิโฆเต้ไปเจอคนชายขอบ มีทั้งคนคุก โสเภณี เป็นคนแบบเดียวกันกับที่พระเยซูให้ความสำคัญ

คุณสุวัฒน์ : ผู้อ่านดอนกิโฆเต้น่าจะได้รับความหวัง แม้ชีวิตจะอยู่ในสถานการณ์มืดริบหรี่เพียงใด ถ้ายึดความหวังไว้ วันหนึ่งความสว่างจะฉายลงมา คนคิดดับชีวิตตนเองดังที่เราพบจากข่าวปัจจุบัน คือผู้ไม่มีความหวังใดๆ หลงเหลือ เซร์บันเตสสอนเราผ่านดอนกิโฆเต้ว่าชีวิตต้องมีความหวัง และต้องบำรุงเลี้ยงความหวังอยู่เสมอ

อ. สว่างวัน : ดอนกิโฆเต้มีความเป็นสเปนมาก สเปนช่วงที่เซร์บันเตสเป็นเด็กๆ มีศาสนาคริสต์คาทอลิก โลกเปิดมาก ประมาณศตวรรษที่ 8 ต่อมาถูกครอบครองโดยอาหรับ แต่มียิวอยู่ด้วย อยู่อย่างผสมกลมกลืนพอสมควร ใครอยากนับถือต่างศาสนาก็อยู่ได้โดยการจ่ายส่วย ทางใต้เป็นมุสลิม ทางเหนือเป็นคาทอลิก มีศิลปะของทั้ง 3 ชนชาติในแผ่นดินสเปน ต่อมาความขัดแย้งมากขึ้นๆ มีการขับไล่ชาวอาหรับออกจากประเทศ ทำให้สเปนตกต่ำ เพราะอาหรับและยิวเก่งด้านธุรกิจการเงิน ศาสนาแยกกัน เริ่มมีนิกายโปรแตสแตนท์ เพื่อป้องกันความคิดแปลกแยก สเปนจึงปิดประเทศ เซร์บันเตสขัดแย้งมาก ตอนเด็กโลกเสรี พอวัยกลางคนกลับถูกปิดกั้นทางความคิด ไม่มีใครตอบได้ว่าเซร์บันเตสเป็นคาทอลิก โปรแตสแตนท์ หรือยิวกันแน่

ฉากเรือนแรมช่วงท้ายๆ แสดงสังคมสเปนไว้ดียิ่ง มีตัวละครมาพบกัน ทั้งลูกดยุค ขุนนางต่ำศักดิ์ ชาวนา โดโรเตอา-หญิงชาวบ้านมั่งคั่ง บาทหลวง กัลบก ตำรวจหลวง คนต้อนล่อ คนรับใช้ ผู้พิพากษา ทหาร แขกมัวร์ รวมประมาณ 32 คน ทุกคนเคลื่อนไหว ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ตรงนี้คือเรื่องนี้เป็นสเปนในความรู้สึก

อ. คารินา : การอ่านวรรณกรรมเพื่อให้รู้เขารู้เรา เรียนภาษาเขา เรียนวรรณคดี ควรรู้จักภาษา ความคิด และประวัติศาสตร์

คุณสุวัฒน์ : ความแตกต่างในความสภาพความเป็นจริงของสังคมไม่ใช่ปัญหา ปัญหาที่แท้จริงคือการไม่ยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน

อ. สว่างวัน : มีคนกล่าวว่าห้องสมุดของดอนกิโฆเต้ อาจเป็นห้องสมุดของเซร์บันเตส เขารักหนังสือ มีหนังสือ 300 กว่าเล่ม สมัยนั้นเนื้อวัวเนื้อแกะราคา 15 มาราเบดิ หนังสือเล่มนี้ราคา 290 มาราเบดิกึ่งในยุคนั้น แปลว่าแพง ตอนนี้เนื้อหมูกิโลละ 100 หนังสือ 600 บาท ไม่แพงนะคะ (หัวเราะ) ดอนกิโฆเต้มีหนังสือ 300 กว่าเล่ม มีหนังสือบางเล่มรอดจากถูกทำลายไปเพราะอ่านสนุก เซร์บันเตสคิดว่างานประพันธ์ต้องมีศิลปะด้วย งดงามด้วย อ่านสนุกด้วย

อ. คารินา : ยุคโบราณก็มีการเล่นเส้นแล้ว คนนี้จำชื่อนักเขียนได้ จึงเก็บหนังสือไว้

อ. สว่างวัน : ชอบตัวละครผู้หญิงของเขา เรื่องนี้มีตัวละครหญิงเยอะมาก ต้องนึกถึงผู้หญิงเมื่อ 400 ปีที่แล้ว (อ. คารินาเสริมว่าวันนี้เป็นวันสตรีสากล) ชอบโดโรเตอา ลูกชาวนา ฐานะมั่งคั่ง พ่อมอบหมายให้ดูแลเรือกสวนไร่นา คุมคนงาน เป็นผู้หญิงเก่ง สวยมาก ถ้าเราเป็นโดโรเตอาจะทำอย่างไร ผู้ชายเข้ามาหาถึงในห้องนอน อย่างไรก็เสียหายไปแล้ว จึงให้สัญญาจะแต่งงาน ผู้ชายไปหา ได้แล้วก็จบกัน หนีด้วย โดโรเตอาต้องปลอมตัวเป็นชายตามไป อยากได้สามีคืน ในที่สุดไปเจอ โดโรเตอาให้เหตุผลดีมากว่าทำไมจึงควรแต่งงานกับเธอ ดังนี้

จงใคร่ครวญเถิดว่า ความรักแลภักดีที่ข้ามีต่อท่าน
จักมีค่าเสมอความงามแลศักดิ์ตระกูลของหญิงนางนี้ผู้ที่ท่านหมายปองจนสลัดข้าไปหรือไม่
... หากท่านไม่ประสงค์ให้ข้าเป็นภริยาด้วยชอบแลแท้จริงดังที่ข้าสมควรเป็น
ก็ขอโปรดรับข้าไว้เป็นนางทาสของท่านด้วยเถิด เพียงได้อยู่ร่วมชายคากับท่าน
ข้าก็พึงใจแลเปี่ยมสุขยิ่งแล้ว ... ท่านจะไม่ยึดถือว่าถ้อยคำตนเป็นสัจจะกระนั้นหรือ
ก็เมื่อท่านทระนงในศักดิ์ตระกูลแลถือเป็นเรื่องหมิ่นแคลนตัวข้า
คำมั่นของท่านย่อมเป็นดั่งพยานแลสวรรค์เบื้องบนก็ดุจกัน
สวรรค์อันท่านกล่าวอ้างยามให้คำมั่นแก่ข้า
แม้นถ้อยคำที่ข้ากล่าวมามิบังเกิดผลใดต่อจิตใจท่าน
เสียงแห่งมโนสำนึกย่อมแว่วเตือนท่าน


ผู้หญิงอีกคนคือนางมาร์เซล่า ผู้ชายที่หลงรักเธอฆ่าตัวตาย เมื่อนางปรากฏตัว คนเรียกเธอว่านางอสรพิษ แต่เธอบอกว่าเกิดมาสวยแล้วทำไมเหรอ คุณมาบอกรักคนสวยแล้วฉันต้องรักตอบด้วยหรือ ถ้าไม่สวยขึ้นมาล่ะ ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้สวยด้วยแพทย์นะคะ เกิดมาสวยเอง จะมาว่าเขาได้อย่างไร ปณิธานของเจ้าหล่อนคือข้าเกิดมาเยี่ยงเสรีชน แลดำรงตนอิสระ เมื่อตายไป ความงามที่เหลืออยู่จะเป็นของผืนดินที่ฝังตัวนาง ตอบเฉียบขาดมาก ชอบค่ะ

งานวันที่ห้า


รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

งานเสวนาเรื่อง 'บรรณาธิการต้นฉบับแปล กับการตรวจแก้วรรณกรรมสำคัญ' มีผู้เสวนาบนเวทีคือ อ. วัลยา วิวัฒน์ศร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ทั้งสองเป็นบรรณาธิการต้นฉบับแปล ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน และคุณสุวัฒน์ หลีเหม ผู้เคยอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับแปล ปัจจุบันมีอาชีพเป็น บ.ก. ต้นฉบับแปล

อ. วัลยา : ขอต้อนรับท่านผู้ฟังทุกท่าน ในแง่การแปลและการตรวจแก้ต้นฉบับงานแปล คุณมกุฏถือเป็นอาจารย์ของดิฉัน ก็องดิด งานแปลเรื่องแรกทำให้ดิฉันเห็นว่าผิดพลาดอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร คุณมกุฏมุ่งมั่นมากในการตรวจแก้เพราะเป็นนักประพันธ์ และทำงานทางวรรณกรรมมาเป็นเวลานาน มีประสบการณ์กว่า 30 ปี มากกว่าดิฉัน คุณมกุฏอยากให้สอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาวิชาแปล มีวิชาการตรวจแก้ต้นฉบับ คณะอักษรศาสตร์กับผีเสื้อจัดอบรมเรื่องบรรณาธิการต้นฉบับแปลแก่บุคคลภายนอก ขณะนี้จัดแล้ว 5 ครั้ง ใช่ไหมคะ (หันไปถามคุณมกุฏ) จะจัดอีกครั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ คงเป็นครั้งสุดท้าย (คุณมกุฏแย้ง) ดิฉันไม่ประสงค์จะทำงานต่อหลังจากทำงานมาระยะเวลายาวนาน (คุณมกุฏทำสีหน้าเซ็ง) ไม่ต้องมาทำหน้า... (หัวเราะ)

คุณมกุฏติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยอื่น ที่มหาสารคาม การตรวจแก้เป็นสาขาวิชา และล่าสุดคือ ม.บูรพา จะเป็นสาขาวิชาเอก คุณมกุฏไปดูเรื่องการคัดนิสิตเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คุณมกุฏ
: นักศึกษาปี 1 ต้องเลือกวิชาเอกในปี 2 มีวิชาเอก 3 สาขาให้เลือกคือ บรรณารักษ์, สารสนเทศและบ.ก. ต้นฉบับ นิสิต 39 คนมีเด็กเลือกวิชานี้ 21 คน หลังสัมภาษณ์แล้ว วันนั้นยกโขยงไปหลายคน แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะรับทั้ง 21 คนหรือไม่ เมื่อถามว่าหนังสือเล่มสุดท้ายที่คุณอ่านคืออะไร เมื่อใด ตอบว่าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร คำถามว่าชอบอ่านหนังสือไหม ตอบว่าไม่ค่อยชอบ อย่างนี้ก็คงจะไม่ได้

เมื่อคืนผมนอนไม่หลับ ลุกมาจด เราเริ่มงานนี้มาตั้งแต่วันเสาร์จนถึงวันนี้ มีบุคคลหนึ่งมาที่นี่ทุกวัน มาดูงาน มานิทรรศการ ตอนแรกไม่ทราบว่าเป็นใคร ได้แต่ทักทาย เมื่อวาน อ. วัลยาบอกว่ารู้ไหม คนที่มาคือ รปภ. ผมดีใจ คิดว่าเขาคงเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง คือ รปภ. คล้ายๆ รมต. วันแรกมีข้าราชการระดับสูงมาหลายคน คนหนึ่งขอหนังสือ นิสัยผมใครอยากได้อะไรผมให้ แต่ 'อยากได้' กับ 'ขอ' ไม่เหมือนกัน ตอนแรกผมตัดสินใจส่งไปให้ แต่เมื่อคืนผมเปลี่ยนใจแล้ว ผมจะส่งหนังสือของผีเสื้อทุกเล่มไปให้ รปภ. ผู้นี้เป็นเวลา 3 ชั่วอายุคน คือรุ่นเขา รุ่นลูกเขา และหลานเขา ที่เล่าเรื่องนี้แสดงอะไรให้เห็น คนบางคนบางพวกอยู่ผิดที่ผิดทาง เมื่อเช้านั่งรถมาผมหวังว่าหากเขาปรารถนาจะทำงานกับสำนักพิมพ์ผม ผมจะเชิญ และเขาจะมีเงินเดือนเท่าบรรณาธิการ

ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญเรื่องหนังสือ เราจะหวังอะไรได้ล่ะครับ ตั้งแต่ผมทำดอนกิโฆเต้ฯ อ. วัลยาบอกว่าผมเริ่มเสียสติมากขึ้นทุกทีๆ ผมอยากเป็นอัศวิน อัศวินที่ได้ทำอะไรดีๆ กับหนังสือ วิชาบรรณาธิการต้นฉบับสำคัญ ขาดไม่ได้ วันที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีมา บอกว่าญี่ปุ่นมีหน่วยงานดูแลเรื่องแปลมาเป็นร้อยปีแล้วมั้ง ดังนั้นวรรณกรรมคลาสสิกทั้งหลายมีอยู่ในภาษาญี่ปุ่นหมดแล้ว แต่ในไทย มีเล่มไหนบ้างที่แปลอย่างเป็นทางการโดยการรับรองของรัฐบาล ไม่มี ลูกหลานเหลนโหลนเราจะล้าหลังต่อไป ถ้าไม่มีวิชาการตรวจแก้ จะหวังอะไรได้

อ. วัลยา : ตอนแรกคนบอกว่าจะไปสอนอะไรได้ ทำไมต้องมีวิชา บ.ก. ต้นฉบับ เวลาที่เราแปลหนังสือ เราเข้าใจความหมายในภาษาต้นฉบับ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เมื่ออ่านภาษาไทย ความเข้าใจภาษาต้นฉบับยังอยู่ในสมองเรา เราคิดว่าภาษาแปลนั้นถ่ายทอดอรรถรส ภาพ เสียง กลิ่น หมดแล้ว เราก็มองไม่เห็นข้อบกพร่องในการแปลของเรา ดังนั้นความเข้าใจเดิมยังคงอยู่

หากใครเก่งภาษาไทยโดยรู้เรื่องวรรณศิลป์ เป็นคนอ่านหนังสือแล้วเห็นภาพพจน์ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้สัมผัส เขามาคุยกับเรา เขาอาจอธิบายให้เราได้ว่าภาพพจน์ไม่แจ่มชัด นี่คือความสำคัญของการมี บ.ก. ต้นฉบับ เช่น "เขาตะเกียกตะกายลงจากหน้าผา" ดิฉันจะมองไม่เห็นภาพ สำหรับดิฉัน การตะเกียกตะกายคือการไต่ขึ้น คำนี้ทำให้นึกภาพตัวละครไม่ออก ผู้แปลอาจเห็นภาพอีกอย่าง คำเหล่านี้เป็นคำที่ดิฉันสะดุด คำว่า 'ไต่' ใช้ได้ทั้งขึ้นและลง แต่ ตะเกียกตะกาย ขึ้นอย่างเดียว

เมื่อวานนี้คุณสุวัฒน์ขึ้นเวทีในฐานะนักอ่าน ขณะอ่าน เขาบอกว่ามีโมหะจริต อยากจับผิดอาจารย์เพราะอาจารย์มาจับผิดเขา แต่การเขียนของเซร์บันเตส สาระในนั้นทำให้คุณสุวัฒน์ลืมจับผิดอาจารย์

คุณมกุฏ : เขาจับผิดเก่งนะ ตอนหลังได้รับเชิญไปสอนวิชาการตรวจแก้ต้นฉบับที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพา เขาเป็นความหวังหนึ่งของวิชาตรวจแก้ต้นฉบับ จากการอบรมที่ผ่านมา 5-6 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมบอกว่า คนที่ทำงานเป็น บ.ก. ต้นฉบับต้องมีลักษณะ ปากหมา ตาผี หูปีศาจ ผมวิตกที่ อ. วัลยาจะหยุดสอน เพราะวิชานี้สอนคนเดียวไม่ได้ สังขารอย่างนี้จะไปสอนได้อย่างไร 50-60 ชั่วโมง อยากให้อ. วัลยาเห็นว่าคนมันเยอะนะ พลังมันเยอะ ช่วยบอกอาจารย์ว่าอย่าเกษียณเถอะ ขอให้ช่วยสอน

มีรุ่นหนึ่งตอนสอน ผมย้อมผม ย้อมผมสีดำ อุตส่าห์ย้อมเข้ามาในห้อง ตั้ง 40 ชั่วโมงไม่มีใครถามผมสักคนว่าทำไมผมจึงดำ ย้อมคิ้วด้วย ย้อมอย่างดี ไม่มีใครถาม ในที่สุดต้องบอกว่าที่ย้อมผมนี้คือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ถ้าหัวเบ้อเร่อเบ้อร่ายังไม่สังเกต แล้วจะไปสังเกตตัวอักษรเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างไร (คุณสุวัฒน์เสริมว่าควรย้อมครึ่งหัวเฉพาะซีกซ้ายหรือขวา) อย่างวันนี้เหรียญที่ผมติดเสื้อมา ไม่มีใครถามเลยว่าเหรียญอะไร

วันดีคืนดี หน้าสำนักพิมพ์ผีเสื้อมีคนมากดกริ่ง พอเดินออกมาเช้าวันหนึ่ง มีลังกระดาษ 10 ลังวางที่ประตู ปราศจากผู้คน คุณรู้ไหมว่าในนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่ระเบิด ไม่ใช่ขนม ในนั้นมีหนังสือวัดเกาะประมาณ 2 พันเล่ม

อ. วัลยา : หนังสือวัดเกาะคือบทกลอนสมัย 70 ปีที่แล้ว เล่มเล็กๆ บางๆ เป็นกลอนเช่นของสุนทรภู่ ปัจจุบันเป็นหนังสือหายาก


(ภาพจาก ผู้จัดการ)

คุณมกุฏ : แต่อยู่ในลังนี้ครบถ้วนทั้งหมด ผมงงจนบัดนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเมื่อวานซืนเราพูดเรื่องเปอะเปี๊ยะดอนฯ ทำไมเจ้าของร้านจึงมาเปิดที่หน้าปากซอย เฉพาะช่วงที่เราทำหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ แต่พอดอนกิโฆเต้ฯ ปิดเล่มพิมพ์เสร็จ ร้านนี้หายไปเลย เราคิดว่าเซร์บันเตสส่งเขามา

คุณณรรฐ ไม่เคยทำหนังสือ มาช่วยเรา การแก้ต้นฉบับมีการโยงเยอะมาก ใช้หมึกสีเขียว การตรวจแก้ไม่ใช่หมึกแดง เพราะครูใช้หมึกสีแดงกับเราตั้งแต่เด็กและเรารู้สึกเจ็บปวด หากใช้หมึกสีแดงแม้แต่ตัวเดียว เจ้าของจะรู้สึกไม่ดี คุณณรรฐมาช่วย คุณคิดดู หนังสือ 600 หน้า จะต้องทำต้นฉบับทั้งหมด 12 ชุด ตรวจแก้ 12 ครั้ง แก้ครั้งที่ 1 คุณณรรฐต้องนั่งหน้าจอ จิ้มๆ พิมพ์ใหม่ แก้ครั้งที่ 1 คุณณรรฐจิ้มๆ ลายมือผมยุ่งอีรุงตุงนัง อ. ปณิธิบอกว่าต้นฉบับมันเหม็นเพราะเอาไปนอนด้วย พอคุณณรรฐทำเสร็จแล้ว เขาขี่รถยนต์โฟล์คสวาเกนเก่าๆ หายไปเลย

อ. วัลยา : เรียมเหลือทนแล้วนั่น

คุณมกุฏ : ถ้าไม่มีณรรฐ ต้นฉบับนี้ไม่เสร็จ ผมเพิ่งทำหัวใจออกจากโรงพยาบาล ณรรฐเป็นคนช่วยผมอย่างมาก ผมพยายามติดต่อเขา แต่ติดต่อไม่ได้ ไม่รู้เขาอยู่ไหน ใครเจอณรรฐช่วยบอกให้มารับเหรียญหน่อย ผมอยากมอบเหรียญให้เขา

อ. วัลยา : ก่อนคุณมกุฏถูกเซร์บันเตสครอบงำ ได้ถูกบัลซัคครองงำมาก่อน แก้ 12-17 ครั้ง

(ในการเสวนา อ. วัลยามีตัวอย่างต้นฉบับมาให้ดู ขอให้ผู้เข้าร่วมเสวนาลองอ่านว่าสะดุดติดขัดอะไรไหม อ่านตรงไหนไม่เข้าใจ ไม่เห็นภาพ การสะกดผิด การใช้คำซ้ำ ตัวอย่างเหล่านี้ใช้เพื่อเป็นประเด็นว่าในการตรวจแก้ต้นฉบับ เราดูอะไรบ้าง)

คุณมกุฏ : การตัดคำต้องคิดด้วยว่าทำไม คำว่า 'ที่อยู่' ทำให้คิดไปถึง address จึงตัดออกได้ แต่ต้องดูว่าไม่ทำให้ภาษาเดิมเสียไป ผู้ตรวจแก้ต้นฉบับต้องทำงานร่วมกับผู้แปล ไม่ต้องมาตบตีกันทีหลัง

คุณสุวัฒน์ : ต้นฉบับที่ใช้ตัวเลขและตัวหนังสือ เมื่อใดที่ตัวเลขอยู่ในเครื่องหมายคำพูด ให้ใช้คำอ่านแทนตัวเลข เมื่ออยู่นอกคำพูด ให้ใช้ตัวเลข

อ. วัลยา : ถ้าสำนักพิมพ์แต่ละแห่งมีการตรวจแก้ ผู้อ่านจะไม่เกิดภาพสะดุด และมีการเกลาภาษา การดูคำสะกด

คุณมกุฏ : การสะกดสมัยนี้เรียกพิสูจน์อักษร ผมชอบใช้คำเดิมใน ร. 6 ว่าตรวจทานมากกว่า เพราะเห็นคำนี้แล้วนึกถึงตำรวจต้องไปพิสูจน์หลักฐาน พิสูจน์ศพ คืออยากใช้คำว่าตรวจทาน ก็อยากให้ลองคิดดู

อ. วัลยา : จากแบบฝึกหัด เมื่อไรภาพไม่ชัด ผู้แปลต้องบอกว่าเราแปลผิด ตาผีคืออ่านแล้วต้องสะดุด ตรรกะในแง่ความเป็นเหตุผลดูแล้วเป็นไปไม่ได้

คุณสุวัฒน์ : ถ้าเราไม่มีต้นฉบับของประโยค

อ. วัลยา : ต้องถามผู้แปลทันทีว่าทำไม ผู้แปลควรจะไปค้น

คุณมกุฏ : การตรวจแก้ต้นฉบับ นักเขียนบางคนไม่ใช้ความหมายแรกของคำศัพท์เลย ถ้าแปลโดยใช้ความหมายแรก เรื่องจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในการตรวจแก้ต้นฉบับครั้งหนึ่ง ของนักเขียนที่ไม่ชอบใช้ความหมายที่หนึ่งหรือสองเลย แต่ชอบใช้ความหมายไกลๆ ออกไป คำพวกนี้ทำให้เราหลงกล สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาตัวนักเขียนให้เจอ หาจากไหน จากประวัติหรือก็ใช่ แต่ลึกไปกว่านั้นคือเรื่องที่คุณอ่านอยู่นั่นเอง นักแปลบางคนสามารถแปลเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างแยบยลมาก นักแปลอาจเผลอมองเห็นคำว่า กรวดทราย เป็น ช้าง ได้ ชีวิตของเราดั่งหนึ่งช้างที่อยู่บนหาดทราย ถ้าไม่เฉลียวใจไม่สงสัย ก็ได้ แต่ตาผีต้องเห็นว่าทำไมช้างไปอยู่บนหาดทราย ไม่ปกติ ต้องดูต้นฉบับ แก้ได้ทันที ไม่ต้องถามผู้แปลได้

บ.ก. ที่ตรวจแก้ต้นฉบับภาษาที่ 1 ได้จะต้องรู้ภาษานั้นอย่างดี แต่ถ้าไม่มีก็ต้องหาคน บางครั้ง บ.ก. ต้นฉบับที่ทำงานมานานอาจพลาดได้ จึงต้องมีมือที่ 2 คอยดูว่า บ.ก. คนแรกพลาดอะไรมา คนนี้จะสนุกที่จับได้ว่าผิด จะสนุกที่สุด ผมยินดีเป็น บ.ก. มือสองตลอดชีวิต ทุกครั้งที่ผมเจออะไรก็ตามที่ อ. วัลยา ผิด ผมจะมีความสุขมาก 4 ทุ่ม-5 ทุ่มโทรไปหา อ. วัลยา อาจารย์ครับผิดตรงนี้ครับ ผมจะ โอ๊ย... (สีหน้าปลาบปลื้ม)
เมื่อคุณฝันเป็นภาษาฝรั่งเศส อย่าได้หวังว่าจะตรวจแก้ต้นฉบับฝรั่งเศส-ไทยได้ 100% ต้องมีคนคอยจับผิด คนนั้นไม่ต้องจบปริญญาเอกภาษาไทย ผู้ที่จบปริญญาเอกภาษาไทยเขาคิดเป็นภาษาอังกฤษ ดร.ท่านหนึ่งใช้ภาษาไทยคำว่า งานครั้งนี้ให้การสนับสนุนโดย ... งานนี้มันขึ้นศาลหรือครับ ถึงใช้คำว่า 'ให้การ' เพราะเขาคิดประโยคนี้เป็นภาษาอังกฤษ

เรากลัวว่าอ่านดอนกิโฆเต้ฯ ภาษาไทยจบ ไปคุยกับฝรั่งปรากฏว่านักอ่านไทยบอกว่าดอนกิโฆเต้ฯ ดีมาก ใช้ภาษาทันสมัยเปี๊ยบ ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากความละอายที่เราจะได้รับ เพราะหนังสือเขียนมา 400 ปีแล้ว

อ. วัลยา : บ.ก. ต้องอ่านแล้วเห็นภาพ แล้วคิดว่าภาพไปด้วยกันได้ไหม และขอให้เชื่อความสามารถของนักประพันธ์ ว่าเขาจะไม่เขียนอะไรไม่เข้าท่า ดังนั้นต้องสะดุด ในการสลับประโยค อย่าเริ่มแปลด้วยการสลับตำแหน่ง อย่าสลับวลีข้างต้นข้างท้ายในทันที ควรคงไว้ถ้าโครงสร้างยังเป็นไทย เพราะนักเขียนเรียงตามความสำคัญ จะสลับเฉพาะเมื่อโครงสร้างประโยคไม่เป็นภาษาไทย

คุณมกุฏ : ถ้าอ่านดอนกิโฆเต้ฯ จะมีข้อสงสัยเยอะ อย่างเรื่องคำโบราณ อ่านแล้วรู้สึกไหม ผู้บรรยายกล่าวถึงคำว่าวิสัยทัศน์ จินตนาการ อ่านแล้วรู้ว่าตัวละครจินตนาการ แต่ไม่เคยมีคำว่าจินตนาการในยุคนั้น สุดท้ายเราใช้คำว่า คิดฝัน หรือคำว่าสุภาพบุรุษ ใช้คำว่า ชายผู้ดี คำว่าวิสัยทัศน์เป็นคำใหม่ เราไม่ใช้ จะบอกว่าสมเด็จพระนเรศวรมีวิสัยทัศน์กว้างไกลนั้นใช้ไม่ได้ จึงใช้คำอื่นแทน เหมือนอัศวินสมเด็จพระนเรศวรจ๊าบมาก ใช้ไม่ได้ ไม่ถามหรือครับว่าผมเอาคำเหล่านี้มาจากไหน

ตอนตรวจเรื่องของวอลแตร์ หรือบัลซัค ผมคือวอลแตร์ ผมคือบัลซัค ได้ผลนะครับที่สมมติตัวเองเป็นนักเขียน เหมือนคนที่ทรงเจ้าเข้าผี และทำได้ แต่เซร์บันเตสไกลเกินไป ผมอ่านต้นฉบับ 6 เดือน ยังไม่รู้เลยว่าเซร์บันเตสเป็นใคร เป็นการหายไปของนักเขียน

อ. วัลยา : นักประพันธ์ซ่อนตัวสนิทมาก ที่เด่นคือตัวละคร เพราะเขาซ่อนตัวสนิทมาก ช่วงหลังนักเขียนหลายคนพยายามซ่อนตัว แต่ซ่อนไม่สนิท บัลซัคแม้รูปชั่วตัวดำแต่มีเสน่ห์ มีรูปหนึ่งหน้าเหมือนคุณมกุฏ

คุณมกุฏ : โปรดอย่าบอกเช่นนั้น เพราะบัลซัคได้รับชื่อว่าเป็นชายผู้อัปลักษณ์ที่สุดคนหนึ่ง

อ. วัลยา : แท้จริง เซร์บันเตสกล่าวชื่อตัวเองไว้ในหนังสือ แต่เราไม่รู้เลยว่าเป็นเขา

คุณมกุฏ : ผมทะเลาะกับ อ. สว่างวัน (ผู้แปล) วันหนึ่งเขาเขียนจดหมายมาต่อว่าผมต่างๆ นานา

อ. สว่างวัน : ตอนนั้นคับแค้นใจ ถ้ามีกำหนดเวลาจะประสาทเสียมาก ต้องทำส่งประเทศสเปน เนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง (คุณมกุฏแก้ว่า ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง นิดหนึ่ง) มีการขอยืมตัวไปปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ทูตตอนนั้นบอกว่านึกว่ามาขอลูกสาว ต้องไปขอตัวที่มหาวิทยาลัย ส่งงานยก 1 ส่วนยก 2 คือรอสำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือ เงื่อนตายคือปี 2005 จนเดือนกันยายนยังมีคำถามแปลกๆ เช่น จะแยกชื่อกับนามสกุลดีไหม ก็ร้อนใจว่ายังอยู่ตรงนี้ มีคนถามว่าไม่เห็นมีผลงานออกมาเลย แปลจริงหรือ จึงไปตัดพ้อต่อว่าทำไมไม่ทำสักที คุณมกุฏบอกว่านักเขียนซ่อนตัวสนิท

คุณมกุฏ : เวลาตรวจแก้ต้นฉบับ เราปกป้องนักเขียน เราต้องเป็นศัตรูกับผู้แปล เราตั้งสมมติฐานว่าผู้แปลจะแปลผิด แปลผิด แปลผิด แปลผิด เมื่อใดที่เราตรวจโดยคิดว่าตนเองเป็นนักเขียน เราจะตรวจแก้ได้ดี ถ้าเราคิดว่าเป็นสมบัติของเรา เราจะปกป้องอย่างยิ่ง ต้นฉบับผ่าน อ. วัลยามาแล้วอย่างดี ที่ไม่ต้องแก้เลยคือกวีนิพนธ์ ทั้งที่เรามีกวีประจำสำนักพิมพ์ คนหนึ่งอายุ 85 อีกคนอายุ 58 ไม่ต้องแก้เพราะอ. วัลยาเป็นนักกลอนเก่า คุณพ่อก็เป็นนักเขียน อาจารย์ทำงานส่วนนี้ได้ดีวิเศษ

เรื่องที่ว่าศัพท์ภาษาโบราณมาจากไหน ผมสมมติว่าตัวเองเป็นคนยุคนั้น ต้องไม่อ่านข่าว ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่อ่านหนังสือสมัยใหม่ สมมติตัวเองว่าอยู่ยุคนั้น ผมมีพจนานุกรมโบราณชุดหนึ่ง 5 เล่ม ปกสีชมพูเชยมาก ผมเกลียดมาก

อ. วัลยา : ขอโทษนะคะ สีของจุฬา พิมพ์โดยโรงพิมพ์จุฬาฯ

คุณมกุฏ : พจนานุกรมของหมอสมิท อะไรสักอย่าง พิมพ์ใหม่ ผมซื้อมา 2 ชุด เห็นสีไม่สวยผมเอาไปเก็บ ถือก็เจ็บมือ ผมเก็บในตู้ไม่ได้ใช้ พอเจอคำที่ใช้ศัพท์เก่าก็งุ่นง่าน ผมเดินเข้าห้องน้ำวันละ 100 หน เวลาผมคิดอะไรไม่ออก เดินเข้าห้องน้ำจะคิดออก จะมีสถานที่แห่งหนึ่งสำหรับแต่ละคน ที่พอเราเดินไปแล้วจะคิดออก ผมแค่เดินไปห้องน้ำ ไปล้างมือจะคิดออก วันหนึ่งเกิดคิดได้ว่ามีพจนานุกรม ทำไมไม่เอามาเปิด คำใดก็ตามผ่าน อ. วัลยามาแล้วยังใหม่อยู่ เอาคำนั้นมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ จะออกมาเป็นคำแปล เช่นสุภาพบุรุษ คือ gentleman ในพจนานุกรมใช้คำว่า ชายผู้ดี

อ. สว่างวัน : มีปัญหามากด้านภาษา จะเอาสมัยไหนดี จึงขอเลือกภาษาในร. 6 เพราะคุ้นเคยอ่านพระราชนิพนธ์แปลหลายเรื่อง แต่รู้สึกยังเก่าไม่พอ ต้องขอบคุณท่านทั้งสองที่ปรับให้เข้าใกล้ภาษาของเซร์บันเตสมากขึ้น

คุณมกุฏ : คำว่า เรือนพักแรม ยังคงอยู่ถึงคราวที่เราแก้ฉบับครั้งที่ 10 ทุกคืนต้องอ่านหนังสือสาส์นสมเด็จ อ่านพระราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสืออ่านสนุก ภาษาเราจะได้มา คืนหนึ่งผมอ่านสาส์นสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพลี้ภัยไปอยู่ชวา เขียนจดหมายถึงกรมนริศฯ ว่าวันนี้ฉันไปพักที่เรือนแรมแห่งหนึ่ง ผมลุกมาตีห้า ดูว่ามีเรือนพักแรมอยู่กี่แห่ง ปรากฏว่าต้องทำอาร์ตเวิร์กใหม่ ในการจัดหน้านั้นคนทำหนังสือจะรู้ ตัววิ่งไปหมด ผีเสื้อจัดหน้าประหลาด โดยทำให้วรรคเท่ากันทุกวรรค จะใช้ระบบอัตโนมัติของฝรั่งไม่ได้ ซึ่งจะทำให้มีบางวรรคห่างนิดนึง บางวรรคห่างคืบหนึ่ง เราอยากให้เท่ากัน ทุกวรรคในหนังสือต้องนั่งเคาะห้าครั้ง 600 หน้า จะเคาะกี่เที่ยว

อ. วัลยา : เขาถึงขับรถโฟล์คเต่าหายไป

คุณมกุฏ : แต่ขอบคุณว่าในที่สุดเราไม่ผิด อ. สว่างวันอีเมลถามจากสเปน รู้ได้อย่างไรว่าต้องแก้อย่างนี้ ผมจำได้หมด ผมเป็นคนอาฆาตแค้นนะ (หัวเราะ)

ทำไมต้องเป็น เรือนแรม ภาษาสมัยหลังแปลว่าโรงเตี๊ยม อัศวินขี่ม้าไปโรงเตี๊ยม นึกถึงหนังกำลังภายในทันที ร. 5 ใช้ทับศัพท์ว่าโฮเตล แต่จะใช้โฮเตลก็ใช้ไม่ได้ เพราะลักษณะโฮเตลกับเรือนแรมต่างกัน

ทำไมต้องแก้ 12 รอบ เพราะรอบหนึ่งเจอคำผิดคำหนึ่ง ครั้งที่ 10 แก้เรือนพักแรม คุณณรรฐ อัศวินที่สูญหายไปแล้ว ต้องนั่งเคาะตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย นักข่าวผู้หนึ่งถามว่าผมอ่านดอนกิโฆเต้ฯ กี่ครั้ง อ่านแต่ต้นจนจบ 12 ครั้ง แต่บางบทอ่านถึง 100 ครั้ง คือบทที่ 1 ถ้าคุณพลาดตั้งแต่บทเริ่มต้น จบเลย เพราะแกเล่นอะไรไว้เยอะ ขายได้เท่าไร เจ็ดแสนแปดหมื่นเล่มในประเทศไทย วันนี้มีคนมาฟังสองหมื่นกว่าคน
บทแรกต้องดูเป็นพิเศษ ผมสงสัยจนวันนี้ว่าบุคคลที่อุทิศให้ มีตัวตนจริงไหม

อ. สว่างวัน : ดยุคมีตัวตนจริง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจริง ก่อนลงมือแปลเคยคุยกับคุณมกุฏเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งไปเรียน บ.ก. ต้นฉบับรุ่น 2 ได้เรียนคุณมกุฏว่าอยากแปลเรื่องนี้ คุณมกุฏบอกว่าเคยมีคนตั้งใจจะแปลเหมือนกัน แต่พอจะทำก็เสียชีวิตไป (สุริยฉัตร ไชยมงคล เริ่มแปลไว้ส่วนหนึ่ง) อาศัยความเชื่อศรัทธา คือว่ามีเจตนาดี คิดว่าชีวิตเซร์บันเตสลำเค็ญ เขียนภาคแรกก็ยังไม่รวย เขียนภาคสองเสร็จก็เสียชีวิต อาภัพคับแค้น หลุมฝังศพอยู่ไหนก็ไม่รู้ ไปพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของเซร์บันเตส ไปคุยกับแผ่นป้ายว่าดิฉันตั้งใจยิ่งยวดจะแปลหนังสือท่าน เพราะอ่านแล้วสนุก ได้รับความรู้มากมาย อยากให้คนไทยได้อ่านในภาษาไทย ตอนทำก็อธิษฐานให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ระหว่างทำงานมีปัญหา ดิฉันต้องทำงานตามร้านกาแฟเงียบๆ ทำจนปิดไป 2 ร้าน ทำงานไปฝากหนังสือไป ออกไปเดินเล่น คิดว่าเซร์บันเตสส่งร้านกาแฟมาให้

คุณมกุฏ : ผีเสื้อบวงสรวงกันเยอะ คุณวิกรัยบวงสรวงเรื่องทำปก อุปสรรคเยอะมาก 2,000 เล่มแรกเสีย สถานทูตให้พิมพ์ 2 เล่มถวายเป็นปกหนัง, 200 เล่มพิมพ์กระดาษอาร์ตมอบให้สถานทูต และมีเงื่อนไขให้ขาย 2,000 เล่ม พิมพ์เสร็จเย็บเชือกเสร็จ เคาะสันโค้ง ขึ้นตัวอย่างมาให้ดู ก็ดีใจว่าหนังสือสวยที่สุดในโลก ล้อตัวเองว่าเอ๊ะ ลูกใครนะ ทำงานเก่งจัง นอนกอดได้ไม่กี่คืน ไปเห็นว่ามีหน้าหนึ่งรูปไม่ชัด เปิดไปทีละหน้า มือไม้สั่น ทุกกรอบมีตำหนิ (1 กรอบมี 8 หน้า) จะทำอย่างไร มันจะแย่แล้วละ คุณลองคิดดูว่า 2,000 เล่มเป็นเงินเท่าไร ไม่อยากคิด หัวใจอัศวิน

อ. วัลยา : ชรา

คุณมกุฏ : จึงบอกร้านเพลทให้ทำเพลทอีกชุด หาโรงพิมพ์ใหม่จึงได้ออกมา 2,000 เล่มแรกอยู่ที่เราประมาณ 8 เล่ม นอกนั้นเอาไปตัดขายเป็นเศษกระดาษ มีคนถามว่าทำไมไม่เอาไปบริจาค เวลาเราให้ของใครจะให้ของดีที่สุด ของบูดของเสียจะอยากเอาไปให้เขาหรือ เวลาให้หนังสือใคร จะเลือกหนังสือที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด เพราะมันอยู่ไปอีกหลายปี ถ้าเอาหนังสือชำรุดไปให้เขา เขาจะรู้สึกอยางไร เงินหาได้ ความรู้สึกที่จะทดแทน มันคืนมาไม่ได้ นี่คือเซร์บันเตส มีอะไรมาเล่นตลอดเวลา

อ. สว่างวัน : ท่านช่วยเรา เลื่อนกำหนดเวลาเสด็จของกษัตริย์สเปน จากเดิมวันที่ 5 ธันวาคม

คุณมกุฏ : เราทำเสร็จตามกำหนดเดิม มีฉบับพร้อมมอบให้ แต่ไม่ดีเท่า

อ. สว่างวัน : ฉากหนึ่งที่แปลคือฉากซานโช่ถูกโยนขึ้นลง เราไม่รู้ว่าเรือนแรมยุคนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีเล่มที่มีภาพประกอบ นึกภาพไม่ออกว่าโยนซานโช่ในบ้านหรือนอกบ้าน อ. วัลยาบอกว่าต้องหาให้เจอว่าเรือนแรมเป็นอย่างไร พบเล่มที่มีรูปประกอบ จีงรู้ว่ามีประตูใหญ่ มีรั้วเตี้ยๆ ล้อม มีอาคารสองชั้น ไม่ใช่โยนในอาคารแต่โยนข้างนอก

คุณมกุฏ : ตลอดเวลาที่ผ่านม ผมโมโห อ. สว่างวันมาก แต่พูดอะไรไม่ออก ผมพยายามนึกว่าเกิดสมัยเซร์บันเตส แต่พอไม่มีภาพ คุณนะคุณเอ๋ย มันยาก เซร์บันเตสเล่นกับเราตลอดเวลา ให้ อ. สว่างวันหาฉบับมีรูปประกอบให้จากสเปน ก็มีแต่รูปไม่ดี คุณภาพไม่ดี ไม่คม กระดาษปรูฟราคาถูก

ตอนกำลังกลุ้ม เพิ่งออกจากโรงพยาบาลคนที่หัวใจสลายเนี่ย ต้องมาปวดหัวจัดอาร์ตเวิร์ก จัดไปๆ จัดเผื่อมาแทรกรูป บ่นกับคุณอภิชัย (บรรณาธิการฝ่ายศิลป์) ว่าแย่แล้ว เกียรติยศในการทำหนังสือคงไม่เหลือ เพราะหารูปประกอบที่ดีไม่ได้ เขาฟังแล้วก็เฉยเป็นเดือน วันหนึ่งเขามาบอกว่ามีรูปประกอบของดอเร่ชุดหนึ่ง เกี่ยวกับดอนกิโฆเต้ คุณอภิชัยไปดูเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ แล้วไปเที่ยวร้านหนังสือ เป็นหนังสือรวมรูปเฉพาะภาคแรก เป็นภาพสุดวิเศษ คมชัดมาก ไปซื้อที่พัฒน์พงษ์ (ตอนกลางวัน ตอนนั้นมีร้านหนังสือชื่อ Bookseller ที่คุณอภิชัยมักไปเดินหาหนังสือศิลปะมาสะสมบ่อยๆ) รูปประกอบผีเสื้อจะดีมาก พอหนังสือเสร็จก็มาคิดว่าเล่มสองจะทำอย่างไร วันหนึ่งอะไรดลใจให้จัดนิทรรศการ ที่จริงงานอย่างนี้ไม่เคยอยู่ในหัวผม ผมไม่เคยอยากเจอผู้คนมากกว่า 5 คน แต่มีอะไรดลใจให้จัดงาน และจัดที่หอสมุดแห่งชาติ จึงโทรหา อ. วัลยา ขอให้ใครช่วยหาหนังสือดอนกิโฆเต้ฉบับภาษาต่างๆ

อ. วัลยา : คุณปอลอายุ 82 ปี แต่งงานกับ อ. สอนภาษาฝรั่งเศสคนไทย จึงบอกให้คุณปอลช่วยจัดหาดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับฝรั่งเศสที่มีภาพประกอบของดอเร่ คุณมกุฏต้องการฉบับพิมพ์ครั้งแรก คุณปอลไปร้านขายของเก่าอยู่ 4 ครั้งจึงได้มา

คุณมกุฏ : ได้ภาพประกอบหนังสือเล่ม 2 อย่างสมบูรณ์ในตู้ (งานนิทรรศการ) เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ชุดที่หลงเหลือในโลกนี้

อ. วัลยา : ภาพประกอบไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว แต่ค่าถ่ายภาพของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสคิดแพงมาก เลยขอจากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสไม่ได้

คุณมกุฏ : ทั้งหมดประมาณ 300 รูป

อ. วัลยา : ภาพประกอบช่วยมากในการแปล ใน เออเฌนี บรรยายผู้หญิงตอนเจอคนรัก มีความสุขมาก เธอหวีผม นึกไม่ออกว่าผมจะเป็นอย่างไร มีภาพประกอบสมัยเดียวกับที่บัลซัคเขียน เมื่อเห็นภาพก็อ๋อๆๆ แปลได้ อย่าเลือกภาพประกอบจากสมัยหลัง การแต่งกายจะเปลี่ยนไป ใน สาวสามสิบ บัลซัคพูดถึงนโปเลียนมาสวนสนาม บรรยายกองทัพ ทหารแต่ละกองแต่งตัวอย่างไร ฝรั่งเศสมีหนังสือภาพทหารและการแต่งกาย หนังสือภาพช่วยนักแปลค่ะ ช่วยในการแปล

คุณสุวัฒน์ : ดอนกิโฆเต้ฯ ภาค 2 มีกำหนดแล้วเสร็จเมื่อไหร่

คุณมกุฏ : ชั่วชีวิตนี้ ผมคิดว่า อ. สว่างวันจะทำเล่ม 2

อ. สว่างวัน : จะไปบนใหม่ที่บ้านเกิดเซร์บันเตส

คุณมกุฏ : ขอให้ทำในเวลาปีสองปีนี้ ยังแข็งแรง

อ. สว่างวัน : ต้องทำปริญญาเอก อยากแปลเรื่องสั้น 12 เรื่องของเซร์บันเตส เพราะสนุกเหมือนกัน เรียกปริญญาเอกพร้อมแปลเรื่องสั้นยังพอเห็นภาพ

อ. วัลยา : อย่าเอาเวลาไปแปลเรื่องสั้น ทำปริญญาเอกให้เร็วที่สุดแล้วค่อยทำเรื่องสั้น

คุณมกุฏ : ยังไงก็รีบๆ หน่อยแล้วกัน

คุณสุวัฒน์ : บางท่านไม่เคยเข้ารับอบรมการตรวจแก้ต้นฉบับ บทบาทผู้แปลกับ บ.ก. เป็นอย่างไร

อ. วัลยา : ต้องมีใครสักคนมาอ่านก่อน ตั้งคำถาม ผู้แปลคิดว่าตัวเองถ่ายทอดความหมายถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ใช่ บรรณาธิการมาอ่านก่อนตีพิมพ์จะเห็น ดังที่คุณมกุฏบอก เพื่อปกป้องวรรณกรรม ปกป้องนักเขียน เพื่อให้ได้อ่านงานที่มีคุณภาพ

คุณมกุฏ : เสียดายคุณณรรฐ เขารู้ว่าคำๆ นี้อยู่หน้าไหน คำๆ นี้มีกี่คำ ผมว่าเขาไม่ใช่คน เขาเป็นอะไรก็ไม่รู้ เช่น แก้วน้ำ เขาบอกได้ว่าอยู่หน้า 83 บรรทัดที่ 6 มันถึงขนาดนี้เลยนะ จะไม่ให้ผมแปลกใจได้อย่างไรว่าวันหนึ่งเขาจะขับรถออกไปแล้วหายไปเลย

คุณสุวัฒน์ : พูดถึงหนังสือแปล จะเห็นภาพผู้แปลชัดเจนกว่าบรรณาธิการ

อ. วัลยา : สำนักพิมพ์ที่บอกว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้แปลพอแล้ว คิดผิด เข้าใจผิด เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ ในที่นี้น่าจะมีคนจากสำนักพิมพ์ นี่เป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์ งานแปลที่คุณตีพิมพ์ออกไป สำนักพิมพ์รับผิดชอบมากกว่านักแปล

คุณมกุฏ : ประเทศชาติรับผิดชอบ เคยเห็นข่าวช้างตกหล่ม นักแปลเหมือนช้าง ต้องมีสักวันที่ช้างพลาด สะดุดขาตัวเอง วันนี้พูดโดยเฉพาะเรื่องงานใหญ่ ต้องรีบขาย ปลายเดือนนี้ต้องรีบทำ รีบเอามาลดราคากระหน่ำที่ศูนย์สิริกิติ์ ถ้าเรามัวรอให้เอกชนทำ งานแปลอยางนี้ต้องลงทุนมาก ทูตต้องขอให้นักแปลหยุดงานสอน ค่าใช้จ่ายเยอะ สำนักพิมพ์ผีเสื้อปิดสำนักพิมพ์ 1 ปี ไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อทำดอนกิโฆเต้ฯ อย่างเดียว ปีด 2 ปีตอนทำสถาบันหนังสือแห่งชาติ ถ้าไม่มีใครเริ่ม จะมีใครทำ 12-13 ปีที่แล้ว ผมไปพบ อ. วัลยาที่ห้องทำงาน คุยกัน ผมแปลกใจทำไมผมไป ปกติผมไม่เจอคนแปลกหน้า ผมป่วยอยู่ ผมกลัว กลัวคน ไม่ค่อยอยากเจอคน คงเพราะหนังสือทำให้ไม่อยากเจอคน ผมพูดเร็วกว่านี้เยอะ ผมพูดไม่รู้เรื่อง อยู่ยาวมาก 4 ชั่วโมง

อ. วัลยา : พารานอยด์มาก พูดเสียงดัง พูดแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่มองหน้าผู้พูด มองหน้าต่าง พูดดังมาก พอคุณมกุฏไปแล้วต้องไปขอโทษเพื่อนร่วมห้องทำงาน

คุณมกุฏ : มาคุย ระบายความอึดอัดในใจให้ฟัง ผมเรียนน้อย รู้น้อย ทำอย่างไรจะอ่านหนังสือวิชาการรู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อ. ช่วยหน่อย

อ. วัลยา : เพราะใช้ภาษาไทยโครงสร้างภาษาต่างประเทศ

คุณมกุฏ : อาจารย์ช่วยสอนวิชาตรวจต้นฉบับในมหาวิทยาลัยหน่อยได้ไหม คนอย่างผมจะได้อ่านรู้เรื่อง จนวันหนึ่ง ผมตื้นตันมาก อ. ส่งต้นฉบับ ก็องดิด มาให้ บอกว่ากำลังแปลหนังสือ ผมอ่านเสร็จโทรบอกว่า มันดีแต่มือไม้ผมไม่สุข ขอทำอะไรกับต้นฉบับ อ. อนุญาต เท่านั้นแหละ ผมแก้เลย แก้ไปเยอะเลย

อ. วัลยา : ตอนแปลหนังสือโง่ 100% ใช้สรรพนามผิด ศตวรรษ 18 ใช้ผม-คุณ คุณมกุฏสุภาพมาก ถามว่าควรใช้คำนี้หรือ

คุณมกุฏ : ตอนแรกสุภาพมากเพราะกลัวเขาจะด่า ผมไปคุยให้ใครฟัง เขาบอกว่าไปตรวจแก้ของแกได้ยังไง แกดุจะตาย

อ. วัลยา : ตรวจแก้ต้นฉบับต้องอธิบายได้ ถ้าอธิบายได้ก็รับการตรวจแก้กันได้ ดิฉันกับ อ. สว่างวันสนิทกันได้เพราะการทำงาน

คุณมกุฏ : บรรณาธิการห้ามเอาข้อบกพร่องของนักแปลที่คุณตรวจแก้มาบอกในที่สาธารณะ ผิด ทำไม่ได้ ชีทที่สอนจะไม่มีชื่อผู้แปล ไม่มีชื่อเรื่อง บางครั้งต้องเปลี่ยนชื่อตัวละคร นักแปลต้องไม่มีสำนวนเป็นของตัวเอง

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่เจ็ด กับเทพศิริ สุขโสภา

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า



งานเมื่อวานนี้จัดเป็นวันที่ 7 แล้ว มีผู้ร่วมงานทั้งสิ้น 82,526 คน เฉพาะเมื่อวานนี้มีผู้ชมกว่า 8 พันท่าน เนื่องจากเชิญศิลปินมีชื่อเสียงมาวาดรูปดอนกิโฆเต้ ในงาน 'วาดรูปตามดอนฯ' โดยคุณเทพศิริ สุขโสภา ซึ่งเป็นนักเขียนเรื่องสำหรับเด็ก นักวาดรูป นักผจญภัย นักมวย อาจารย์สอนหนังสือม. เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญไปญี่ปุ่น ต้องทำหนังสือเดินทาง เขากรอกในช่องอาชีพว่า ไม่มีอาชีพ เขาเลยไม่ให้ไป ต้องสอบสวนอยู่นาน บุคคลผู้นี้สำคัญที่สุดคนหนึ่งในวงการหนังสือ เป็นผู้อุทิศตนเพื่องานศิิลปะ

งาน 'วาดรูปตามดอนฯ' วันนี้ รูปที่วาดจะนำมาประมูลหารายได้แก่หอสมุดแห่งชาติ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย (เพราะถ้าหักแล้ว รายได้ที่มอบให้หอสมุดแห่งชาติจะเป็นลบ ซึ่งรายได้ที่เป็นลบเขาไม่เรียกกันว่ารายได้) งานนี้มีคุณคมสัน นันทจิต เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณเทพศิริคุยสนุกมากๆ งานวันนี้จึงมีรสชาติอย่างยิ่ง ฟังการเล่าและการแสดงท่าทีก็เพลินไม่รู้จบ ก่อนจะเริ่มวาดรูป คุณเทพศิริคุยอยู่นานและบอกว่ากำลังวาดรูปโดยใช้ 'สีน้ำลาย' อยู่เนี่ย ตอนหนึ่งเขาบอกว่าอ่านดอนกิโฆเต้แล้วภาษาสวยมาก ถ้าเป็นรูปเขียนถือว่าเป็นรูปที่มีสีสันทุกอย่าง

ถึงตอนวาดรูป คุณเทพศิริวาดทั้งหมด 4 รูป ด้วยลีลาแพรวพราว งานนี้มีเสน่ห์และใครๆ ก็ต้องค่อยขยับเก้าอี้เข้าใกล้เวทีมากขึ้น ก็อยากเห็นลีลาการวาดชัดๆ นี่นะ มองแววตาผู้เข้าชมแล้วจะเห็นประกายชนิดหนึ่ง ที่เป็นความทึ่งบวกความอัศจรรย์ งานวันนี้จึงมีความสุขมาก หลังวาดภาพแรก คุณเทพศิริอยากลงมาวาดรูปข้างล่าง ให้ใกล้ชิดผู้เข้าร่วมงานยิ่งขึ้น จึงย้ายอุปกรณ์ลงจากเวที

ข้าพเจ้าทึ่งความสามารถของคุณเทพศิริยิ่งนัก ดูเขาวาดรูปแล้วสนุก อยากจะบรรยายเป็นถ้อยคำได้ว่าสนุกอย่างไร แต่ข้าพเจ้าอับจนถ้อยคำจะสรรหามาเล่า เพราะตัวอักษรสองมิติไม่อาจถ่ายทอดรสชาติทั้งภาพ เสียง และการแสดงออกของคุณเทพศิริได้ มือไม้ที่ตวัดพู่กันหรือดินสอสีไปมา เสียงประกอบ (นึกถึงบรูซ ลีตอนฉากต่อสู้ ที่มีเสียงประจำตัว คุณเทพศิริมีน้ำเสียงประจำตัวตอนวาดรูปเช่นกัน) ขอแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ ลองหาโอกาสไปดูคุณเทพศิริวาดรูป จะประทับใจเป็นอันมาก

ตอนหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ๆ ได้บอกคุณเทพศิริเบาๆ ว่าวาดรูปเก่งจังค่ะ เขาหันมองข้าพเจ้าแล้วบอกว่า "ใช่ไหมล่ะ" แล้วประกาศต่อด้วยเสียงอันดังว่า "อิจฉาละสิ" แล้วหัวเราะลั่น

ข้าพเจ้าเพิ่งได้รู้ว่าวลีหลังนี้ นำมาใช้อย่างน่ารักก็ได้เหมือนกัน

ชักจะเล่าบรรยากาศงานไม่เป็นไปตามลำดับ เหมือนเวลาซานโช่เล่านิทานเสียแล้ว ในงานนี้ คุณเทพศิรินำภาพซ้อมมือในกระดาษเล็กๆ มาปึกหนึ่ง ผู้ร่วมงานคนใดอยากได้ ให้เอาหนังสือดอนกิโฆเต้หนึ่งเล่มมาแลกเอาไปได้

หลายต่อหลายคนจึงได้รูปสวยกลับบ้านด้วยความสุขใจ

(งานวันอื่นที่ยังไม่ได้เล่า จะกลับมาเล่าเพิ่มเติมในวันหน้า โปรดติดตาม)

ข่าวงานนิทรรศการจาก ผู้จัดการ

“ดอนกิโฆเต้” วรรณกรรมแปล...ตามพระบัญชากษัตริย์ จากผู้จัดการ

http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9500000026651

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550

ภาพบรรยากาศงานนิทรรศการ

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า


ข้าพเจ้าขอนำภาพบรรยากาศงานนิทรรศการมาฝากท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จำนวนผู้ชมงานทั้งหมดจนวานนี้ มีผู้ร่วมงานแล้วสองหมื่นแปดพันกว่าคน (จำตัวเลขแน่นอนไม่ได้) เฉพาะเมื่อวานมีผู้เข้าฟังสามพันกว่าท่าน ผู้จัดทำขอขอบคุณด้วยความยินดียิ่ง


ขณะเลือกรูปมาฝาก ข้าพเจ้าฟังเพลง Clair de Lune ไปด้วย เพลงไพเราะขาดใจนี้ทำให้จิตใจดีงาม เหมาะกับการเลือกภาพงดงามเหล่านี้ ขอเชิญชม




ภาพทางเข้างาน ข้าพเจ้าเล่าไปแล้วว่าเข้าไปจะเจอพัดลมต้อนรับเป็นอันดับแรก


ภาพห้องโถงทางเข้า ภาพวาดบนผ้าวาดโดยฝ่ายศิลป์ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ กดที่ภาพได้เพื่อดูรูปใหญ่



พระเอกของงาน



บรรยากาศทั่วไป


ตัวอย่างของแสดงในงานนิทรรศการ เป็นสแตมป์ดอนกิโฆเต้


หนังสือดอนกิโฆเต้ในภาษาต่างๆ


หนังสือดอนกิโฆเต้ฉบับภาษาฝรั่งเศส ปี 1863 ที่มีภาพประกอบโดย กุสตาฟ ดอเร่ เป็นครั้งแรก


ตัวอย่างหนังสือฉบับพิมพ์จำหน่ายสาธารณะครั้งแรกจำนวน 2,000 เล่ม ที่ถูกทำลาย เพราะคุณภาพการพิมพ์ไม่ได้มาตรฐาน (พูดจาภาษาซานโช่คือพิมพ์ห่วย) เชิญทัศนาได้ด้วยตนเอง


ตู้งานนิทรรศการนี้ แสดงรูปปั้นหุ่นดอนกิโฆเต้โดยฝ่ายศิลป์ของสำนักพิมพ์ และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกต่างๆ


"ขุนนางผู้นี้จ่อมจมอยู่แต่นิยายอัศวิน เขาอ่านตั้งแต่ย่ำค่ำจวบจนย่ำรุ่ง จากฟ้าสว่างจนฟ้ามืด เมื่อนอนน้อยแต่อ่านมาก สมองก็พลันเหือดแห้งถึงแก่เสียจริต" (หน้า 44)


รูปปั้นโดยผีเสื้อ พร้อมเหรียญกษาปณ์ต่างๆ ที่ผู้แปลนำมาฝากจากสเปน เรียกว่าแลกเงินไปจนหมดเนื้อหมดตัว ได้มาให้ชมอย่างที่เห็น

อดใจนำภาพจากละครเพลงสู่ฝันอันยิ่งใหญ่มาให้ดูไม่ได้ นี่คือภาพดอนกิโฆเต้ (คุณศรัณยู) และซานโช่

ขอปิดท้ายด้วยวาทะของดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า เมื่อจบการเดินทางในภาคแรก เขาว่าไว้เช่นนี้

เมื่อเป็นอัศวินพเนจรแล้ว ข้ากลายเป็นคนกล้า อ่อนโยน ใจกว้าง
กิริยาดี เอื้อเฟื้อ สุภาพ องอาจ นุ่มนวล รู้จักอดกลั้น และทนยากลำบากได้

-- ดอนกิโฆเต้

ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้น่าพอใจยิ่งกว่าการที่ชายซื่อสัตย์คนหนึ่งได้เป็นอัศวินสำรองของอัศวินพเนจรผู้ออกเดินทางผจญภัย
จริงอยู่ ผลของการผจญภัยส่วนมากไม่เป็นดังประสงค์ ... บางคราต้องเจ็บตัว
แต่ก็เป็นสิ่งงดงามอยู่หนา ทั้งการแสวงหา การผจญภัย ลัดเขาเข้าป่า ปีนผาขมปราสาท
ค้างคืนในเรือนแรมตามแต่ใจปรารถนา ไม่ต้องจ่ายเงิน

-- ซานโช่

งานวันที่สี่ ฉบับเนื้อหา

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

งานเสวนาหัวข้อ 'ในฐานะคนอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ' มีผู้ร่วมเสวนาบเวทีได้แก่ อ. ปณิธิ หุ่นแสวง อาจารย์ภาควิชาภาษาฝรั่งเศสจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสุวัฒน์ หลีเหม, อ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ดำเนินรายการโดย อ. ภาสุรี ลือสกุล อาจารย์ภาควิชาภาษาสเปน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะที่ อ. ปณิธิ สอนวรรณคดี อ่านแล้วมีมุมมองอย่างไร

เล่มนี้คงเป็นวรรณกรรมสเปนเล่ม 3 ที่อ่านแต่เป็นเล่มขนาดใหญ่สุด ที่จริงเป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดที่ผมอ่าน รองจากพระอภัยมณีตอนอยู่ปี 1 ถ้าถามความรู้สึกคงเป็นความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป คือรู้สึกภูมิใจที่อ่านจบ แต่ความภูมิใจอีกอันคือได้อ่านหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งของโลก อ. ภาสุรีบอกว่าผมเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีฝรั่งเศส แต่เวลาอ่านหนังสือ เราพอจะรู้ว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือสำคัญที่สุดของโลก ผมเคยเห็นหนังสือที่พูดถึงหนังสือสำคัญของโลก เขาบอกว่า 3 เล่มสำคัญที่สุดคือ Divine Comedy ของดังเต้ บทละครของเช็คสเปียร์ และดอนกิโฆเต้ ของเซร์บันเตส บังเอิญผมถูกบังคับให้เรียนงานของดังเต้กับเช็คสเปียร์มาแล้ว ดังนั้นพออ่านเล่มนี้จบก็เท่ากับได้อ่านหนังสือของนักประพันธ์ยิ่งใหญ่ 3 เล่ม 3 คนพอดี ก็ตายได้แล้วนะฮะ ตาหลับแล้ว ไม่มีอะไรค้างคาในชีวิตอีกต่อไป

อีกอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส ที่จริงชื่อดอนกิโฆเต้ หรือที่คนฝรั่งเศสออกเสียงว่า ดอนกิชอด เป็นชื่อที่กลับมาเสมอในภาษาฝรั่งเศส ดังนั้นแม้จะสอนภาษาฝรั่งเศส ก็น่าจะต้องรู้จักชื่อนี้ไว้ว่าหมายถึงอะไร เร็วๆ นี้หนังสือพิมพ์ข่าวประเภทไทม์หรือนิวสวีคของฝรั่งเศส ลงข่าวไล่เลี่ยกัน 2 ข่าว เช่นข่าวจากฉบับเดือนมกราคม ต้นปีนี้เอง เขาพูดถึงขบวนการหนึ่งเรียกว่าขบวนการลูกหลานดอนกิโฆเต้ เป็นขบวนการต่อสู้เพื่อคนที่ได้รับความอยุติธรรมในสังคม หรือพวกด้อยโอกาสเช่นไม่มีที่อยู่ ยากจน ชื่อขบวนการเหมือนกับคำสารภาพของผู้เข้าร่วมว่าเขามีความกล้า แต่การต่อสู้เพื่อคนด้อยโอกาสนี้เสมือนการต่อสู้กับสีลม เขาว่าอย่างนั้น ก็แล้วแต่เราจะเข้าใจว่าการต่อสู้กับสีลมหมายความว่าอย่างไร บทความอีกอันกล่าวถึงบาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อาเบ้ ปิแอร์ เป็นคนก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนยากจนด้อยโอกาสเหมือนกัน โดยเฉพาะคนไม่มีที่อยู่อาศัย กิจกรรมของสมาคมคือไปเก็บของเก่าๆ เอามาปรับปรุงตกแต่งแล้วขายใหม่ นำเงินไปการกุศล ทำคล้ายๆ พระพยอมนะฮะแต่ทำมาก่อนนานมาก บาทหลวงเพิ่งมรณภาพไปไม่นาน บทความนี้เป็นบทความเดือนมกราคมเช่นกัน ชื่อบทความว่า 'กำลังคอยดอนกิโฆเต้คนใหม่' เขาให้คำอธิบายสั้นๆ ว่าเมื่อไหร่คุณความดีที่เคยมีอยู่ในอดีต จึงจะกลับคืนมาอีก เหมือนกับว่าจะมีดอนกิโฆเต้คนใหม่กลับมา นี่คือความสำคัญของดอนกิโฆเต้ในวัฒนธรรมที่ผมทำงาน อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ เวลาคนฝรั่งเศสหรือคนยุโรปเอ่ยถึงดอนกิโฆเต้ จะพบว่าให้ความสำคัญหรือตีความหมายต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอ่านหรือรู้จักดอนกิโฆเต้มาแล้วคงพอเข้าใจ

ปี 1605 ดอนกิโฆเต้ตีพิมพ์ เป็นปีที่เช็คสเปียร์แสดงเรื่องแฮมเล็ต ปีซึ่งเซร์บันเตสตาย เช็คสเปียร์ก็ตายพร้อมกัน

ที่สำคัญคือได้อ่านดอนกิโฆเต้แล้ว ได้อ่านนิยายที่นักเขียนทั่วโลกลงมติว่าดีที่สุด นี่เป็นนวนิยายดีที่สุดนะครับ ไม่ถูกใจก็แย่แล้ว ต้องขอบคุณผู้แปล ผู้พิมพ์ และขอบคุณตัวเองด้วยที่มีกำลังใจถือหนังสืออ่านไม่ให้ตกใส่หน้าอกนะฮะ

อ. ภาสุรีเสริมว่า คำ ดอนกิโฆเต้ ปรากฏในเอกสารวิชาการเกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเปิดสารานุกรมดูจึงพบว่าถ้าใช้ในแวดวงวิชาการสายวิทย์ ดอนกิโฆเต้หมายถึงคนที่อ่านอะไรมากๆ แล้วอิน คิดว่าตัวเองเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

มุมมองคุณสุวัฒน์

นี่คือหนังสือที่ว่ากันว่าดีที่สุดเล่มหนึ่ง ได้อ่านดอนกิโฆเต้ฯ แล้วเป็นความภาคภูมิใจ เมื่ออ่านจบอยากรู้ว่าโลกพูดถึงหนังสือเล่มนี้อย่างไร พบว่าข้อความในหนังสือส่งผลต่อคนแทบทุกมุมโลก หลากหลายสาขาวิชาชีพ อ่านผิวๆ คืออ่านสนุกมากถึงมากที่สุด

อ. ปณิธิ อ่านหนังสือแล้วสนุกไหม

สนุกครับ แต่มันสนุกเพราะต้องกับรสนิยมในการอ่าน ต้องกับวิถีทางการอ่านของผม ผมชอบมากเลยนะครับ มีความมหัศจรรย์มากมายในหนังสือเล่มนี้ ผมได้หนังสือฉบับเล่มใหญ่มา มีเอกสารเล่มบางๆ อธิบายคำ และอีกส่วนสัก 3-4 หน้าเป็นกระดาษว่างๆ สำหรับให้ผู้อ่านบันทึก ไม่พอครับ ต้องขนาดนี้นะครับ (ชูสมุดบันทึกหนาประมาณ 200 หน้า) อ่านไปก็จดไป จดข้ามไปข้ามมา ผมอยากเรียนว่าทำไมชอบหนังสือเล่มนี้มาก อ้อ ผมขอเปิดวงเล็บว่าผมอ่านหนังสือเล่มนี้เที่ยวเดียว อ่านไปจดไป ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งนะครับ คือควรอ่านอย่างที่คุณมกุฏอ่าน คืออ่าน 100 เที่ยวแล้วอยู่กับเขา 24 ชั่วโมงจนหนังสือเหม็นนะฮะ ของผมยังหอมอยู่ดีนะฮะ ยังไม่มีกลิ่นอะไรเลยนะฮะ

ความมหัศจรรย์แรกที่พบคือในอารัมภบท สะดุดใจผมมาก ผู้ประพันธ์เขียนว่า "แม้ข้าพเจ้าจักเปรียบได้ดั่งบิดาของดอนกิโฆเต้ ทว่า ข้าพเจ้าก็เป็นเพียงบิดาเลี้ยงเท่านั้น" ทีนี้ทำไมผู้ประพันธ์ถึงเขียนอย่างนี้ พออ่านจะพบว่าผู้ประพันธ์ทำเหมือนกับว่าไปเอาเอกสารที่พบ ซึ่งเป็นชีวประวัติที่เขียนในบันทึกประจำปีของแคว้นลามันช่าเอามาเล่าใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เล่าไม่เชิงเป็นของเขา แต่เซร์บันเตสเอาเรื่องคนอื่นมาเล่าใหม่ อ่านไปถึงบทที่ 9 ดอนกิโฆเต้กำลังเงื้ออาวุธต่อสู้กับชาวบาสก์ แล้วเรื่องหยุดแค่นั้น เพราะต้นฉบับเล่าจบลงเพียงนั้น หยุดค้างไว้แล้วต้องออกหาต้นฉบับ ไปได้ต้นฉบับที่ตลาดเมืองโตเลโด้ ต้นฉบับกลับกลายเป็นบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ เขียนเป็นภาษาอาหรับ ดังนั้นต้องแปลด้วย

เรื่องดอนกิโฆเต้ซึ่งมีนัยยะทางคริสต์ศาสนา กลับกลายเป็นว่าเขียนโดยชาวอาหรับ ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่คริสเตียนที่ดี แล้วยังต้องหาคนมาแปลอีกต่างหาก แล้วเอามาเล่าต่อโดยเซร์บันเตส แสดงว่าคนเล่าจริงๆ ไม่รู้ใคร คนเขียนพยายามกลบเสียงผู้เล่าหมด จนเราไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นผู้เล่า เช่นมีประโยค "โชคชะตาย่อมจักนำสิ่งดีๆ ไปสู่สิ่งที่ประเสริฐขึ้นอีกครา" นี่เป็นความคิดของเซร์บันเตส หรือความคิดนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ หรือผู้แปลแปลขึ้นมา ซึ่งอาจแปลผิดก็ได้ ดังนั้นผู้เขียนคือใคร หาไม่ได้ ถ้าพูดตามหลักการของนักอ่านสมัยใหม่ ต้องเรียกว่าผู้ประพันธ์ตายสนิท เพราะตกลงไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ ว่าหลังจากอ่านไม่ทราบเที่ยวที่เท่าไร คุณมกุฏโทรไปถาม อ. วัลยาว่าใครแต่งหนังสือเล่มนี้ จำไม่ได้ อ. วัลยาบอกว่าจำไม่ได้เหมือนกัน เพราะอ่านแล้วลืมผู้แต่งไปเลย

ผมคิดว่าถ้าเซร์บันเตสรู้เรื่องนี้จะต้องบอกว่า แหม! จริงๆ เลยนะนี่ อย่างที่อยากได้เลย คือเวลาอ่านเล่มนี้ไม่ต้องคำนึงผู้แต่ง ไม่มีใครคอยควบคุมเราว่าควรอ่านอย่างไร เพราะมีแต่ตัวหนังสือเล่มอ้วนๆ ต่อหน้าเรา ให้เราอ่านโดยไม่มีเซร์บันเตสควบคุมว่าอ่านอย่างนี้นะ ความหมายอย่างนี้นะ เพราะถ้ามีผู้แต่งมาควบคุม ผมเข้าใจว่ากลไกของหนังสือมันเหมือนถูกบล็อคหรือถูกหยุด จะมีความหมายอันเดียว แต่เซร์บันเตสพยายามถอยห่างออกไป หลบไปให้ไกล จนกระทั่งเหลือแต่ตัวหนังสือ ทีนี้ตัวหนังสือจะอยู่ลำพังไม่ได้ ต้องมีผู้อ่านที่จะอ่านหนังสือนั้นเอง ตามที่เราจะพบความหมายหรือตีความในฐานะผู้อ่าน

เวลาผมอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ บางทีก่อนอ่าน โดยเฉพาะหนังสือที่มีความสำคัญเช่นนี้ เราจะรู้สึกว่า เอ๊ จะอ่านได้ไหม เซร์บันเตสก็ไม่รู้จัก ประวัติศาสตร์สเปนก็ไม่รู้จัก ปี 1605 ที่หนังสือเขียนขึ้น เกิดอะไรในสเปนก็ไม่รู้ พระเจ้าเฟลิเป้ที่ 3 คือใครไม่รู้ ใหญ่สำคัญอย่างไรไม่ทราบ ไม่รู้จักภูมิหลังประวัติศาสตร์สเปน แต่พอมาเจอหนังสืออย่างนี้ ที่ปล่อยให้หนังสืออยู่กับเรา ให้เราโต้ตอบกับหนังสือ คุยกับหนังสือตามลำพัง มันเป็นความสุข ไม่มีเงาของผู้เขียนมากำกับ ไม่มีใครมาบอกว่าต้องอ่านแบบนี้ อ่านวันนี้ได้อย่างนี้ อ่านอีกวันได้อีกวัน อ่านตอนหน้าว่าอย่างนี้ อ่านตอนหลังมาแย้งตอนหน้า

แล้วหนังสือเล่มนี้นะครับ ตัวหนังสือมันเหมือนแมว แล้วผู้อ่านเป็นหนู มันจะคอยตบแล้วปล่อยให้เราวิ่งๆ ไป แล้วตามตะปบบอกอีกที ตรงนี้ว่าอยางนี้ เอ๊ะ ชักสงสัยทำไมมันเป็นแบบนี้ มันปล่อยให้เราหาปริศนาตอนปลายตอนต้น น่าสนุก น่าสนุกมาก เสียดายได้อ่านหนเดียวนะครับ ถ้าได้อ่าน 100 หนคงสนุกมากกว่านี้เยอะ ถ้ามีโอกาสแล้วผมจะบอกว่าผมพบอะไรในการอ่านแบบไปโลดๆ ของผม โดยปล่อยให้ อ. สว่างวัน อธิบายไปว่าเซร์บันเตสเป็นใคร มีเมียกี่คน ไปรบที่ไหน มีแผลเป็นที่ไหนบ้าง ถูกจับกี่หน ผมว่าสนุกมากเลยนะครับ ผมก็สนใจนะฮะ แต่เอาไว้ก่อน ขอผมกับหนังสือดวลกันตัวต่อตัวก่อน ผมรู้สึกมันมากเลยครับ

อ่านดอนกิโฆเต้ฯ แล้ว คุณสุวัฒน์ คิดอย่างไร

ผมชอบมากจนถึงมากที่สุด อ่านไปหัวเราะไป ขณะอ่านต้องตั้งคำถามว่าตกลงดอนกิโฆเต้เสียจริตจริงหรือ คนฟั่นเฟือนใช้เหตุผลได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ โดยเฉพาะช่วงที่เขาปลอบประโลม พูดคุย ให้เหตุผลแก่อัศวินสำรองของเขาในหลายๆ เรื่อง ผมเคยอ่านบทวิจารณ์หนึ่งที่บอกว่าดอนกิโฆเต้ฟั่นเฟือน เนื่องจากเขายึดมั่นในเหตุและผลของเขา สิ่งที่ดอนกิโฆเต้มีเสมอคือเหตุและผล เพียงแต่เหตุผลเขาเป็นสิ่งแปลกประหลาดและพิกลสำหรับโลกรอบข้าง ความรู้สึกผู้อ่านคือหนังสือเรื่องนี้ทำให้เราได้คิด

ถาม อ. ปณิธิ ว่าสถานภาพอาจารย์ มีผลอย่างไรกับการอ่านหรือไม่

มีผลครับ เป็นอาจารย์คือมันหลีกเลี่ยงตัวเองไม่ได้ แต่ก็อ่านแบบคนทั่วไป มีสัมภาระ มีต้นทุนบ้างเล็กน้อย เรื่องบ้าไม่บ้าเราก็ตั้งคำถาม แต่บางทีแว่นตาของคนสอนวรรณคดีมันถอดออกไม่ได้ หรือถอดออกก็ยังเห็นวรรณคดีอยู่ตรงหน้า ฉะนั้น เวลาอ่านหนังสือ อาจจะแตกต่างจากคุณสุวัฒน์ ผมเป็นนักอ่านที่ไม่ได้เรื่อง คำว่าไม่ได้เรื่องคือจำเรื่องไม่ได้ แต่สิ่งที่เห็นคือ นี่เป็นหนังสือวรรณคดีที่ว่าด้วยวรรณคดี และเป็นวรรณคดีที่วิจารณ์วรรณคดี และวิจารณ์ด้วยวิธีแยบยลและฉลาดมาก เป็นหนังสือที่มีข้อความโต้ตอบกัน คือผมนึกเอาว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คล้ายๆ กับผมเห็นชายชราคนหนี่ง ไม่รู้ว่าเป็นใคร แข็งแรงมาก มาจากดินแดนไกล แล้วเล่าเรื่องให้ฟัง พอเล่าเสร็จผมบอกว่าคุณปู่หรือคุณทวดครับ หนังสือคุณทวดสนุกจังเลยครับ มีข้อคิดต่างๆ เห็นเลยว่าเป็นเรื่องของความบ้า ก็ได้ยินเสียงคุณปู่หัวเราะว่า เฮอะ! แล้วก็ไป นี่ทำให้ผมคิดว่าคุณปู่หัวเราะแปลกๆ

คำว่า อัศวินพเนจร ใช้มากในหนังสือ ตั้งแต่ตอนต้นๆ ที่ดอนจะออกผจญภัยในโลกกว้าง อาจนึกถึงเรื่อง 80 วันรอบโลก ของ จูลส์ เวิร์น ก่อนออกเดินทางเขาตั้งชื่อม้า 4 วัน ตั้งชื่อตัวเอง 8 วัน ยังไม่ไปไหนเลยนะฮะ 12 วันแล้ว ออกเดินทางครั้งที่หนึ่ง 2 วัน ไปช่วยเด็กหนุ่มอันเดร็สแล้ววิวาทกับพ่อค้าจนแอ้งแม้ง จนเขาต้องพากลับมา 2 วันหลังจากเตรียมตัว 12 วัน ยังอยู่แถวเมืองลามันช่า เดินทางครั้งที่สองไปกับซานโช่ นับคร่าวๆ ไม่รู้นับถูกไหม ผมนับได้ 18 วัน ไม่ได้ไปไหน อยู่รอบๆ แล้วเขาหิ้วปีกกลับเหมือนกัน เขาไปไม่ไกล ผมเคยอบรมมัคคุเทศก์ที่คณะอักษรศาสตร์ อย่างดอนกิโฆเต้ได้บัตรมัคคุเทศก์ทั่วไป--ซึ่งพาไปทั่วประเทศไทย--ไม่ได้นะครับ ได้อย่างดีก็แค่มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ก็คืออยู่ในนั้นน่ะ คำว่า พเนจร ของหนังสือไม่ใช่พเนจรทางร่างกาย แต่เป็นการเดินทางในจิตใจ ในแง่วรรณคดี หนังสือเล่มนี้กินความกว้างขวางมาก กินเนื้อที่กว้างขวางมาก เพราะเรื่องแทรก เรื่องแทรกจำนวนมากที่แทรกเอาๆ ทำให้จักรวาลของดอนกิโฆเต้ออกไปไกล ไปไกลถึงคนที่พายเรือ ไกลถึงโลกของชาวมุสลิม ไกลถึงคนคุก เรื่องแทรกที่เล่ามาต่างตั้งปัญหา ชวนให้เรื่องของดอนกิโฆเต้มีปมน่าสนใจ น่าตั้งคำถามมากขึ้น

ที่คุณสุวัฒน์บอกว่าดอนกิโฆเต้เป็นเรื่องของคนบ้า สมมติเราตกลงกันอย่างนั้น ดอนกิโฆเต้บ้าเพราะอ่านนิยายอัศวิน แต่เรื่องนี้บอกว่ามันไม่ได้มีแต่คนบ้าอ่านหนังสือเท่านั้น มีคนบ้าคนอื่นด้วย คนถ้าจะบ้า บ้าด้วยเรื่องอื่นก็ได้ อย่างอัลเซลโม่คงไม่ดีนัก ที่อยู่ดีๆ แต่งงานแล้ว รักเมีย อยากดูว่าเมียซื่อสัตย์ไหม สมมติคุณสุวัฒน์กับผมเป็นเพื่อนรักกันมาก แล้วผมแต่งงาน อยู่ดีๆ ผมอยากพิสูจน์ว่าเมียซื่อสัตย์หรือเปล่า ผมชวนคุณสุวัฒน์มาบ้านบ่อยๆ แล้วผมหลบฉาก อย่างนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวผม...บ้าหรือเปล่า ต่อมาต้องไม่ลืมว่าบาทหลวงกับกัลบก ที่ต้องการรักษาอาการยึดถือความลวงของดอนกิโฆเต้ วิธีรักษาคือแก้ไขด้วยความลวงเช่นกัน บาทหลวงปลอมตัวเป็นผู้หญิง เอาหางวัวมาคลุมหน้า กัลบกปลอมเป็นคนรับใช้ เพราะฉะนั้นบ้าหรือเปล่า ใครบ้ากว่ากัน บ้าก็ต้องรักษาด้วยบ้าเหมือนกัน

หนังสือที่ดอนกิโฆเต้อ่าน ขอโทษนะครับ ผมไปไกล ผมเริ่มออกชเลจรแล้วนะครับ หนังสือที่ดอนกิโฆเต้อ่านถูกวิจารณ์ว่าเป็นหนังสือไม่สมจริง เป็นเรื่องกึ่งบังเอิญ เต็มไปด้วยความบังเอิญ แล้วเราบอกว่าดอนกิโฆเต้อ่านหนังสือจนสติแตก เป็นหนังสือไม่สมควรอ่าน เรื่องเล่าต่างๆ ที่เอามาแทรก เอามาอ่าน ซึ่งคนอ่านก็เพลิน คนฟังก็เพลิน ก็เต็มไปด้วยเรื่องไม่ดีทั้งนั้น เป็นเรื่องไม่คาดฝัน หรือเป็นไปไม่ได้ มีแต่เรื่องไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครว่าอะไรนี่ ทุกคนก็นั่งฟัง บาทหลวงซึ่งเผาหนังสือของดอนกิโฆเต้เกือบหมดห้องสมุดไม่เห็นว่าอะไร นั่งฟังว่าเรื่องนี้ดี เขาอาจติบ้างว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้ แต่อดทนด้วยดี เอ๊ะ แล้วตกลงเราจะไปว่าดอนกิโฆเต้อ่านหนังสือไม่เข้าท่า ไปเผาหนังสือดอนกิโฆเต้ ก็ชอบกล

พวกที่เผาหนังสือดอนกิโฆเต้คือใครนะฮะ คือกัลบกกับบาทหลวง กัลบกวิจารณ์กับบาทหลวงว่าหนังสือเล่มนี้ดี เล่มนั้นไม่ดี เล่มนี้ควรเผา เล่มนั้นไม่ควรเผา หนังสือระบุว่าบาทหลวงเป็นผู้ทรงภูมิรู้จากมหาวิทยาลัยซีเกวนซ่า เป็นมหาวิทยาลัยในเมืองเล็กๆ เป็นมหาวิทยาลัยไม่มีชื่อเสียง แล้วคนที่เอาหนังสือเขาไปเผาเนี่ยเป็นคนอย่างนี้ฮะ เป็นบาทหลวงบ้านนอก จบจากมหาวิทยาลัยเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียง แล้วเราจะเอาอะไรไปเชื่อว่าหนังสือที่ท่านทั้งหลายเอาไปสำเร็จโทษในกองเพลิง มันตัดสินด้วยความเที่ยงธรรมถูกต้อง ตัวบาทหลวงเองเคยคุยอย่างออกรสในเรื่องหนังสือกับดอนกิโฆเต้ แสดงว่าความจริงไม่ใช่เกณฑ์สำหรับตัดสินเลย ไม่ว่าความจริงในหนังสือหรือความจริงในชีวิต ไม่ใช่เกณฑ์จะมาบอกว่า ที่เราบอกหนังสือเล่มนี้ไม่ดี เพราะเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์หรือความลวง ที่จริงแล้ว หนังสือเรื่องนี้จะบอกว่านั่นไม่ใช่เกณฑ์ มีเกณฑ์อื่น ซึ่งอ่านเองนะฮะ หนังสือมีบอกไว้ ในคำพูดของเจ้าวัดว่าที่จริงไม่น่าเผาหนังสือเล่มนั้นเพราะดีอย่างนี้ ทั้งที่เกี่ยวกับนิยายอัศวินเหมือนกัน

เหมือนหนังสือเล่มนี้ตั้งโจทย์ไว้ข้างหน้า แล้วเอามาตอบไว้ข้างหลัง มีทาสฝีพายคนหนึ่งบอกว่าเขียนบันทึกประวัติจากชีวิตจริง และบอกว่าหนังสือเขาต้องดีกว่าคนอื่น เพราะเป็นเรื่องจริง และที่ยังไม่จบเพราะเขายังไม่ตาย เขาต้องดีกว่า แล้วดอนกิโฆเต้บอกว่าท่านต้องเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาแน่ๆ กลายเป็นว่าหนังสือดีต้องจริง ย้อนกลับไปหน่อยหนึ่ง จำนิทานที่ซานโช่เล่าให้ดอนกิโฆเต้ฟังได้ไหม ที่ว่าชายคนหนึ่งมีแพะ ย้อนไปเล่ารายละเอียดเจ้าของแพะ ดอนกิโฆเต้บอกให้เล่าเรื่องตามลำดับเวลาสิ เล่าเรื่องไหนต้องเล่าเรื่องนั้น ไปมุ่งเรื่องนั้นเลย ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องเล่าที่ดีได้อย่างไร ข้อแรกนะครับ แต่หนังสือเล่มนี้หยุดและเล่าเรื่องอื่นตลอดเวลา มันมีเยอะ เรื่องเล่าแล้วหยุด ทิ้งเอาไว้ ปล่อยให้เราอ้าปากค้างตลอดเวลา แต่ตัวดอนกิโฆเต้ให้ข้อคิดว่าหนังสือที่ดีต้องรู้จักลำดับความ ไม่หยุดชะงักไม่ออกนอกเรื่อง ข้อสอง มีชายคนหนึ่งหนีหญิงที่ตัวรัก พาแพะหนีมาด้วยหลายตัว ฟังให้ดีนะครับ เดี๋ยวต้องนับให้ได้นะครับว่าแพะมีเท่าไหร่ ชายผู้นี้พาแพะมาถึงแม่น้ำ เอาแพะลงเรือข้ามไป แพะตัวที่หนึ่งลงเรือข้ามไป แพะตัวที่สองลงเรือข้ามไป เล่าไปเล่ามา มีแพะกี่ตัวแล้วครับ จำไม่ได้แล้ว เล่าต่อไม่ได้ จบ ก็บอกแล้วไง บอกแล้วให้จำให้ได้ว่าแพะมีกี่ตัว

เรื่องอย่างนี้ฟังดูก็เรื่องแพะๆ แต่เหมือนสิ่งที่ซานโช่เล่าคือ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ คือเอาแพะลงเรือกี่ตัว ต้องบอกให้ได้ว่ากี่ตัว เรื่องเล่าที่เลียนแบบความจริงดังที่ซานโช่เล่า คล้ายกับหลักการของทาสฝีพาย แต่เอาเข้าจริงแล้วเล่าไม่ได้ เพราะมันจริงเกินไป นี่เป็นตัวอย่างการโต้ตอบทางความคิด ประเด็นปัญหาที่ตบให้เราคิดอย่างนี้ แล้วอ่านๆ ไป ตบว่าความคิดนี้ไม่ใช่ เป็นอย่างนี้ทั้งเรื่อง

อ. สว่างวันเสริมว่า จนวันนี้นักวิจารณ์ยุคปัจจุบันยังไม่ทราบว่า เซร์บันเตสคิดอย่างไรกับวรรณคดียุคนั้น คือเขาเป็นเสียงของกัลบก เป็นเสียงของบาทหลวง หรือเห็นด้วยกับดอนกิโฆเต้ 100% หรือเขาเห็นด้วยกับเจ้าวัด ยังหาบทสรุปไม่ได้

อ. ปณิธิ เสริมว่า ประเด็นต่างๆ ที่พบในหนังสือทันสมัยมาก เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันในปลายศตวรรษที่ 20 เช่นเรื่องความตายของผู้ประพันธ์ ปี 1968 มีบทความก้องโลกที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องความตายของผู้ประพันธ์ คือตายมาตั้งแต่ตอนต้นแล้วนะฮะ แล้วในอารัมภบท เซร์บันเตสมอบอาณาจักรแห่งนักประพันธ์ให้ผู้อ่าน เซร์บันเตสเป็นคนแรกๆ ผมไม่รู้นะครับก่อนหน้าเซร์บันเตส แต่เขาเป็นคนแรกๆ ผู้นึกถึงทฤษฎีที่เรียกว่า Regression คือคิดถึงผู้อ่าน ผู้อ่านเป็นคนให้ความหมาย หนังสืออยู่ของมัน ผู้อ่านต่างหากเป็นผู้เข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้นมันทันสมัย มีอะไรให้ต้องคิดต้องตอบคำถาม ที่ตลบท้ายตลบหน้าเราอยู่ตลอดเวลา

อ. สว่างวันเสริมว่าวรรณคดีสเปนจะเอาฉากมาเรียงๆ กัน ต้องเล่าเรื่องให้สนุกเข้าไว้ มีนิยายเชิงเสเพล ตัวเอกต้องหลอกลวงและเล่าประวัติตัวเอง ซึ่งในยุคนั้นบอกกันว่าเป็นงานเขียนเลอเลิศมาก เพราะเล่าประวัติชีวิตตนเองจริงๆ แต่เซร์บันเตสบอกว่าไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะเล่าชีวิตจริงๆ จะต้องมีตกแต่งเพิ่มเติม สิ่งที่เซร์บันเตสให้คุณค่าคือความสมจริงต่างหาก

อ. ปณิธิ กับประเด็น ดอนกิโฆเต้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ ใครในนี้อาจเคยได้ยินปรัชญา มนุษย์คือสิ่งที่ตัวกระทำ ทุกวันนี้แทบไม่มีใครรู้จัก กิฆาน่า แต่กิโฆเต้เป็นอัศวิน จะอย่างไรก็ตาม เขาเป็นอัศวินเพราะสิ่งที่เขากระทำ ทุกอย่างเป็นไปได้สำหรับใครคนหนึ่ง ถ้าพิจารณาในแง่นี้ ไม่แปลกเลยที่อ่างของกัลบกจะเป็นหมวกเกราะ สรรพสิ่งในโลกนี้ โดยตัวเองไม่เป็นอะไร แต่มันเป็นอะไรสำหรับใคร มนุษย์เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่ตัว

อ. ปณิธิ เห็นว่าดอนกิโฆเต้ซึ่งเป็นตัวละครสากล มีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรต่อสังคมไทย

ปี 2530 เรามีละครสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ทุกคนไม่ว่านักวิชาการ นักคิด นักเขียน พูดว่าที่จริง สังคมไทยมีคนอย่างดอนกิโฆเต้ อ. ธีรยุทธ บอกว่าเช่น เทียนวรรณ เป็นผู้มีความคิดล้ำสมัยเรื่องประชาธิปไตย แต่ถูกกล่าวหาว่าฟั่นเฟือน เมื่อใครมีความฝันอย่างไร เราต้องให้ความยุติธรรมว่าสิ่งที่เขาฝันเป็นไปได้หรือไม่ ในเรื่องอุดมคติและความฝันของเล่มนี้ อ่านเองเถิดครับ จะพบว่าบางทีเราอาจมองสังคม มองผู้คนด้วยความเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าจะให้อภัยนะฮะ แต่หมายถึงความเข้าใจ ไม่จำเป็นว่าใคร เพราะคนเหล่านั้นเป็นแพะหรือแกะ ซึ่งเป็นศัตรูของเราหรือเป็นสีลม เราอาจแพ้แต่ไม่เคยท้อ ถ้าเราเชื่อว่าความดีงามมีอยู่ เราจะเชื่อว่าคนอย่างดอนกิโฆเต้หรือคนอย่างพวกเรา อาจช่วยให้ความดีงามกำเนิดขึ้นใหม่ได้

คุณสุวัฒน์เสริมว่าสังคมปัจจุบัน เราขาดความเชื่อมั่นตัวเอง ดอนกิโฆเต้สอนว่าเมื่อคุณเชื่อมั่นในสิ่งใด ควรยึดเอาไว้

อ. สว่างวันกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้จะไม่ยืนหยัดถึง 400 ปี ถ้าหัวข้อใหญ่ไม่ใช่เรื่องความดี เพราะดอนกิโฆเต้เป็นสุภาพบุรุษที่ต่อสู้เพื่อความดี เมื่อแรกซานโช่ติดตามด้วยอยากได้ดินแดน อยากได้เงินเดือน อยากได้ลา แต่ที่จริง เขาติดตามเพราะดอนกิโฆเต้เป็นคนดี หลายครั้งเขาบอกว่ารู้จักชายผู้นี้ดี คนที่จะรู้จักคนหนึ่งดีและยอมตกระกำลำบากด้วย ย่อมเพราะรู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี ขณะเดียวกันดอนกิโฆเต้โกรธซานโช่หลายครั้ง แต่รู้ว่าซานโช่ซื่อสัตย์ ไม่โกหก ทั้งสองคนเป็นคนดี ทำอย่างไรจะให้มีคนดีมากๆ วิธีหนึ่งคือการสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือที่ยกระดับจิตใจของเรา

จากคำถามผู้เข้าร่วมงาน อ. ปณิธิ เล่าถึงรสชาติที่แตกต่างระหว่างหนังและหนังสือ

ผมไม่เคยดูหนัง แต่ผมดู สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ดูตอนนั้นอายุยังไม่กร้านโลก ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก ดูแล้วร้องไห้ครับ แต่อ่านดอนกิโฆเต้ฯ แล้วไม่ร้องไห้เพราะผมโต หนามากพอ หนังมีความคิดอันหนึ่ง แต่ผมอาจเห็นอย่างอื่น ผมว่ามีอะไรหลายอย่างที่ล้อกัน ตอบโต้ข้างหน้าข้างหลังกัน ดอนกิโฆเต้รักดุลสิเนอาหรือเปล่า จะตอบอย่างไร ตอบยากนะครับ ตั้งชื่อม้า 4 วัน ตั้งชื่อตัวเอง 8 วัน แต่ดุลสิเนอาแพล็บเดียวได้เลย ดอนกิโฆเต้ออกเดินทางเพราะความรัก อ. สว่างวันว่าดอนกิโฆเต้เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครบ้าง (อ. สว่างวันตอบว่า ไม่ทราบค่ะ) ผมก็ไม่ทราบ ถ้าอาจารย์ตอบได้ผมก็คงงงครับ ในบ้านดอนกิโฆเต้มีหลานสาวคนหนึ่งอายุ 18 ปี มีทำไม (อ. สว่างวันเสริมว่าเพราะเซร์บันเตสมีหลานสาว) ครับ แต่ถึงแม้ชีวิตจริงมีหลานสาว จะเอามาใส่ทำไม (อ. สว่างวันตอบว่าเซร์บันเตสมีสาวๆ ในบ้านหลายคน ล้วนแต่เป็นสาวที่ขายไม่ออกทั้งสิ้น มารวมตัวอยู่ในบ้าน ภรรยาเซร์บันเตสอายุอ่อนกว่าเขาครึ่งหนึ่ง ชีวิตแต่งงานไม่ค่อยราบรื่น)

นั่นสิ ผมคิดเล่นๆ คิดมากจริงๆ สมมติพูดถึงเช็คสเปียร์ ตัวของเช็คสเปียร์ไม่พูดกับใครเลย หรือต้องไปทำคนอื่นถึงจะพูด แต่ตัวละครของดอนกิโฆเต้พูด พูดไปเรื่อยๆ เหมือนต่างคนต่างโต้ตอบกัน ผมรู้สึกว่าแผนการออกไปข้างนอกโดยมีนางในดวงใจ เป็นแผนที่ทำให้ดอนกิโฆเต้ห่างจากผู้หญิง ยิ่งทำยิ่งห่าง ไม่ใช่แผนการที่จะทำให้พบผู้หญิงเลย พบผู้หญิงเมื่อไร ขนาดในฝันจะกอดแล้วนะครับ ยังพูดว่าไม่ได้ ให้สัญญาแล้วกับดุลสิเนอา มีผู้หญิงสวยคนเดียวที่ดอนกิโฆเต้ยอมติดตามคือโดโรเตอา นอกนั้นถอยห่างเลย โดโรเตอาสวยมากนะครับ ดอนกิโฆเต้ประกาศว่าขอยอมอยู่ตามลำพังดีกว่า ไม่ยอมแต่งงานกับเธอ แต่โดโรเตอามีลักษณะของผู้ชาย ปลอมตัวเป็นผู้ชายอยู่ได้ตั้งนาน นี่สมัยใหม่มากเลยนะครับ ทั้งเรื่อง gender study เรื่องคนชายขอบ เรื่องเพศ การแปลงเพศ การข้ามเพศ ไม่มีเสียละที่เราจะไม่พบในดอนกิโฆเต้ ไม่ว่าจะพูดถึงปัญหาของเพศ ปัญหาเพศชายหญิง ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง หรือแม้แต่การข้ามเพศ ผมว่าเป็นนวนิยายที่มีการปลอมแปลงตัว การเผยร่าง การพรางกาย มากที่สุดเรื่องหนึ่ง มากจริงๆ

คือไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอย่างนั้น วรรณคดีเปิดให้เราคิด อาจเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ได้ หนังสือเล่มนี้ล้ำหน้าออกไปก้าวหนึ่ง หรือมากกว่าก้าวหนึ่ง

ส่งท้ายจาก อ. ปณิธิ

ผมขอพูดในสิ่งที่อยากพูดมาก ดอนกิโฆเต้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อทำให้ชีวิตตนเหมือนหนังสือที่อ่าน ในศตวรรษที่ 19 มาดามโบวารีของโฟลแบรต์คือดอนกิโฆเต้ เธออ่านเรื่องความรักโรแมนติก และพยายามอยากมีชีวิตเหมือนอย่างหนังสือ แต่ดอนกิโฆเต้เจ็บแสบไปกว่านั้น เขาพยายามทำตัวให้เหมือนหนังสือที่ผู้อื่นเขียน ในภาคสอง ผมอ่านถึงบทที่ 9 เองนะครับ เพราะคงจะมีอะไรให้คิดต่อไปในทางไม่ค่อยดีอีกกระมัง อ่านบทที่ 9 ดอนกิโฆเต้บอกซานโช่ว่าฉันบอกเธอตั้งหลายหนแล้วว่าไม่เคยเห็นดุลสิเนอา ที่ได้ยิน ที่หลงรักเขา เพราะหลงรักในสิ่งที่ผู้อื่นพูด แต่ภาคแรกกลับบอกว่าเคยเห็น 4 หนแล้วหลงรัก

ที่เห็น 4 หนแล้วหลงรักนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ดังเต้เห็นหญิงที่ตนรัก 2 หนเท่านั้นเอง แล้วเขียนหนังสือให้เป็นเทวดา ยิ่งกว่าเป็นนางในอุดมคติอีก เขียน Divine Comedy ให้เบียทริซเป็นเทวดาบนสวรรค์เลย ในภาคแรก ดอนกิโฆเต้ทำตัวให้เหมือนหนังสือที่ผู้อื่นอ่าน ภาคสองมีคนเอาเรื่องดอนกิโฆเต้ไปเขียน คือมีความเจ็บแสบที่ทำไมภาคสองต้องทำตัวให้เหมือนหนังสือที่แม้ตัวจะไม่ได้เขียน ก็เป็นต้นกำเนิดขึ้นมา หนังสือมหัศจรรย์ 2 เล่มอ้วนๆ นะครับ มันโต้ตอบกัน ตั้งปัญหาตรงนี้แล้วไปตอบตรงนั้น จุดอะไรขึ้นมาใหม่มากมาย สนุกจริงๆ ครับ ดีจริงๆ เป็นหนังสือที่ทำให้ผมอยากเรียนภาษาสเปนนะครับ

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่สี่

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า


งานเสวนาวันนี้สนุกสนานมาก ในหัวข้อ 'ในฐานะคนอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ' โดยมี อ. ปณิธิ หุ่นแสวง อาจารย์ภาควิชาภาษาฝรั่งเศสจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสุวัฒน์ หลีเหม ผู้ดำเนินรายการ, อ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ และ อ. ภาสุรี ลือสกุล ผู้แปล กวีนิพนธ์แห่งรักยี่สิบบท และบทเพลงความสิ้นหวังหนึ่งบท ของเนรูด้า

อ. ปณิธิคุยสนุกมากและมีเนื้อหาแพรวพราว เช่นเรื่อง เซ็กส์ในดอนกิโฆเต้ฯ อยากรู้ซะแล้วละซีว่าเป็นอย่างไรกัน ต้องขออภัยผู้อ่านที่ข้าพเจ้าป่วยในวันนี้ จึงขอนำภาพมาให้ชมก่อน แล้วเรื่องจะตามมาในวันหน้า โปรดติดตามชม ภาพแรกนี้เรียงจากซ้ายไปขวาคือ อ. สว่างวัน, อ. ภาสุรี, คุณปณิธิ และคุณสุวัฒน์











โปรดสังเกตเสื้อแขนยาวสีแดงที่ อ. ภาสุรี คนงามใส่ เสื้อนี้คือเสื้อทีมงาน ด้านหน้ามีพิมพ์ลายสีเหลืองลายเดียวกับปกหนังสือ ด้านหลังเขียนคำว่า ดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า เป็นภาษาอังกฤษ เป็นเสื้อยืดที่สวยงามและมีเบื้องหลังน่าระทึกใจ มีการเปลี่ยนแบบแทบทุกวัน (คนที่ไม่โรคจิตจริงๆ จะอดทนทำงานกับผีเสื้อไม่ได้) มีการเหน็บแนมประชดเสียดสีต่างๆ ใส่กันและกันถึงรสนิยมการออกแบบของแต่ละคน รวมถึงผู้ที่ไม่ต้องการอะไรเลยนอกจากขอให้เป็นเสื้อที่ใส่แล้วดูสวยขึ้น (สวยโดยไม่ต้องทำศัลยกรรม) ยังความปวดหัวให้ผู้ทำเสื้อยิ่งนัก เสื้อนี้ทำเสร็จหมาดๆ ทันวันงานเปิดนิทรรศการพอดี เฉพาะเจ้าสำนักผีเสื้อเท่านั้นที่จะได้เสื้อยืดซึ่งมีกระเป๋าด้านหน้า นัยว่าส่อสถานะพิเศษกว่าคนอื่นๆ เสื้อนี้มีเพียงสองขนาดคือ S และ L คือต้องสุดๆ ไปเลย ให้มันรู้กันไปว่าจะอยู่ขนาดไหน (ขนาดเอสนั้นยังใหญ่โตมาก จึงเป็นเสื้อที่อำพรางความสวยและความไม่งามไปได้ในเวลาเดียวกัน)

ใครไปงานแล้วมีคำถามหรือข้อสงสัยใด โปรดสะกิดเรียกผู้ที่ใส่เสื้อชนิดนี้ได้ทุกเมื่อ รวมถึงน้องๆ ที่มาช่วยหน้างาน ซึ่งเป็นนักศึกษาสาขาวิชาภาษาสเปนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ข้าพเจ้าสังเกตว่าผู้มาชมงานนี้บางคนมาทุกวัน บ้างมาเร็วเสียกว่าทีมงานเสียอีก ช่างเป็นแฟนพันธุ์แท้งานนิทรรศการที่น่ารักมาก ข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนยิ้มหวานกับผู้ชมเหล่านี้เนืองๆ

ขอฝากวาทะของอัศวินดอนกิโฆเต้ว่า

ทุกฉากทุกตอนในนิยายอัศวินพเนจรย่อมทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินแลตื่นใจพร้อมกัน ...
ขอจงเชื่อคำข้าเถิด แลดังกล่าวแล้ว จงอ่านหนังสือเล่มนี้
ท่านย่อมประจักษ์ว่าโศกเศร้า ทุกข์ตรม จะถูกขับออกจากใจท่าน

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550

นวนิยายที่กษัตริย์ทรงมอบแก่กษัตริย์

นวนิยายที่กษัตริย์ทรงมอบแก่กษัตริย์ ดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน
โดย ผู้จัดการ
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000026147

ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ฟิลิปเป้ที่ 3 แห่งสเปน ทอดพระเนตรชายผู้หนึ่งกำลังอ่านหนังสือที่ข้างถนน ชายผู้นั้นหัวเราะเสียจนน้ำตาไหล กษัตริย์ตรัสว่า “ชายผู้นี้หากไม่บ้าก็คงกำลังอ่านดอนกิโฆเต้อยู่”

หลายศตวรรษถัดมา นวนิยายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายที่ดีที่สุดในโลกเรื่องนี้ ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาล่าสุด คือภาษาไทย และได้รับการยกย่องว่าเป็นฉบับที่จัดพิมพ์ประณีตที่สุดในรอบทศวรรษ

งานวันที่สาม


รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า


หัวข้อเสวนาแรกของวันนี้คือ ''เปาะเปี๊ยะดอนฯ กับแผ่นหนังนาบไฟ" โดยคณะทำงานรูปเล่มหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ก่อนอื่นจำต้องกล่าวขออภัยที่ไม่มีภาพประกอบงานเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากผู้ถ่ายรูปคือหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา อย่างไรจะพยายามไปจิกตามเอารูปมาลงในภายหลังให้ได้ ตอนนี้ขอให้ท่านใช้จินตนาการไปก่อน


อัศวินเบื้องหลังการจัดทำรูปเล่มหนังสือรวม 4 ท่านขึ้นเสวนาบนเวที ได้แก่คุณมกุฏ อรฤดี หนึ่งในบรรณาธิการต้นฉบับ และบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ, อภิชัย วิจิตรปิยกุล บรรณาธิการฝ่ายศิลป์, วิกรัย จาระนัย ผู้จัดการสำนักพิมพ์ และ เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง ฝ่ายศิลป์ (หนึ่งในจำนวนนี้คือผู้พกมีดเล่มใหญ่ติดตัวตลอดเวลา ดังที่ข้าพเจ้าเคยรายงานไปแล้ว)


คุณมกุฏเล่าว่ากษัตริย์สเปนปรารถนาจะมอบของขวัญในวาระที่ในหลวงฯ ครองราชย์ครบ 60 ปี ทีมงานมีเวลาประมาณปีเศษหลังจากได้รับต้นฉบับ ในการตรวจแก้ต้นฉบับนั้น หกเดือนแรกทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ข้อยุติว่าควรใช้ภาษามาตรฐานอะไร ผู้แปลเร่งแล้วเร่งอีก ถึงกับเขียนจดหมายมาด่า ว่าในชีวิตนี้จะได้เห็นหนังสือหรือไม่ ในที่สุดด้วยความโกรธที่ผู้แปลเร่ง จึงออกแบบปกพิมพ์ปกออกมา และคิดว่าจะพิมพ์ออกมาโดยไม่ต้องตรวจแก้ต้นฉบับ แต่ ดอนกิโฆเต้ฯ มีแปลเป็นภาษาต่างๆ ออกมา 84 ภาษาแล้ว สวยๆ ทั้งนั้น ถ้าออกมาไม่ดีก็อายเขา จึงออกแบบปกใหม่ ขณะตรวจแก้ต้นฉบับได้ทำรูปเล่มไปด้วย น่าเสียดายที่วันนี้คนเก่งไม่มา คือคุณณรรฐ พิโรจน์รัตน์ ซึ่งเป็นคนเก่งมาก เขาอ่านลายมือผมออกหมด แก้ต้นฉบับในคอมพิวเตอร์ได้ เขาจำได้กระทั่งว่าชื่อตัวละครไหนปรากฏในหน้าไหน เสียดายที่วันนี้มาไม่ได้ หลังจากหนังสือออกมาแล้ว เขาดูจะเสียจริตไปเลย ขี่ม้าออกไปไม่กลับมาอีกเลย


เบื้องหลังหน้าปกหนัง


เบื้องแรกนั้นคาดการณ์ว่าหนังสือจะขายดีมาก จึงพิมพ์หน้าปกถึง 10,000 แผ่น เมื่อทิ้งหน้าปกชุดนี้ไป คุณวิกรัยช่วยคิดว่าจะทำหน้าปกอย่างไร สถานทูตกำหนดว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก 2 เล่มต้องเป็นปกหนัง คุณวิกรัยกล่าวว่างานนี้สร้างความเครียดและปวดหัวให้ไม่น้อย ต้องศึกษาศิลปะที่เกี่ยวข้องในยุคนั้น ต่อมาคุณมกุฏแนะว่าใช้หน้าปกเดิมฉบับพิมพ์ครั้งแรกไหม ซึ่งเขาเห็นด้วยเพราะเป็นหน้าปกที่สวยงาม


การทำหน้าปกด้วยหนังจะต้องทำ 2 ขั้นตอนหรือสองชั้น ชั้นแรกคือลายของพื้นที่กดลึกลงไป ชั้นที่สองคือชั้นตัวอักษรที่ต้องนูนขึ้นมา ต้องใช้ความร้อนกดบนหนังให้เกิดลวดลาย ในการทดลองปั๊มความร้อนลงในหนังครั้งแรกหมดหนังไป 5 ผืน (วัว 1 ตัวได้หนัง 1 ผืน ซึ่งหนังแต่ละผืนนำไปทำหน้าปกได้ประมาณ 4 ปก)


การทำปกหนังมีอุปสรรคจำนวนมาก เช่นบล็อคแม่พิมพ์เสีย มีรอยเล็กๆ ขึ้นมา แต่ทำให้เกิดรอยมลทินบนปกจนใช้การไม่ได้ ต้องขอให้ร้านทำบล็อคซ่อมอย่างเร่งด่วน โชคดีที่ร้านเปิดแม้จะเป็นวันหยุดทางศาสนา หรือโรงงานรับอัดหนังทำความร้อน มีแม่พิมพ์ขนาดไม่ใหญ่พอเท่าบล็อคที่สร้างขึ้น ทำให้พิมพ์ไม่ได้ คุณวิกรัยจึงสร้างเตาคล้ายเตาขายหมูปิ้ง ที่มีขนาดใหญ่พอจะพิมพ์บล็อคได้ แล้วก่อเตาโดยซื้อถ่านมาติดไฟปิ้ง ทดลองวิธีนี้จนเสียหนังไปอีกหลายผืน หรือวัวอีกหลายตัว


เมื่อกระบวนการทำปกหนังให้ขึ้นลายเสร็จสิ้น ก็มาถึงการเขียนลายให้เป็นสีทอง คุณอภิชัยเล่ากระบวนการนี้ แต่ก่อนอื่น ผีเสื้อแนะนำตัวบุคคลผู้นี้ว่าคุณอภิชัยเป็นคนดี ครั้งหนึ่งเมื่อสำนักพิมพ์ยากจน ช่วงรัฐบาลชวลิต เศรษฐกิจเจ๊งระเนระนาด ผีเสื้อก็ใกล้เจ๊งด้วย เขามาบอกว่าผมขอลดเงินเดือน อีกเดือนหนึ่งก็บอกอีกว่าผมขอลดเงินเดือน (ผีเสื้อสรุปว่าทำงานกับใครที่บอกว่าขอลดเงินเดือน คนนั้นจะเป็นคนดี ตรงข้ามกับคนที่ขอเพิ่มเงินเดือน) ปัจจุบันคุณอภิชัยเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร เขาเล่าปัญหาการทำลายทองบนผืนหนังว่า สมัยอยุธยาเรามีการทำลายทอง แต่มักทำกับวัสดุอื่นเช่นไม้ แต่หนังมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ถ้าเอาน้ำมันออก หนังจะแห้ง ดังนั้นจะทำอย่างไรจึงจะติดทองบนหนังได้


เบื้องหลังการเขียนลายทอง


เขาเริ่มต้นจากความไม่รู้และไม่ถนัดทางจิตรกรรมไทยนัก จึงสอบถามวิธีปิดทองจากเพื่อนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อนแนะนำว่าให้ซื้อสีน้ำมันยี่ห้อเฟล็กซ์ตราทหารที่บางลำพู ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวที่ช่างใช้ปิดพระพุทธรูป แต่ยังไม่เคยทดสอบติดบนผืนหนังมาก่อน วิธีการคือทาสีทองให้เรียบ รอให้สีแห้งแล้วปิดทองลงไป แต่แล้วก็พบปัญหาว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ แทนที่จะรอให้สีแห้งกลับต้องรอให้เพียงหมาดๆ แล้วปิดทองทับ จึงเสียวัวตัวที่ 6 ไปเนื่องจากผืนแรกๆ ที่ลองทำนั้นเสียใช้ไม่ได้


สาเหตุจากการใช้ไม่ได้มีต่างๆ กัน เนื่องจากตัวหนังสือเล็กมาก ต้องใช้พู่กันเบอร์ 0 หรือบางครั้งเหงื่อจากมือลงไปผืนหนัง ก็ทำให้เสียอีก จนตอนหลังต้องเอาแป้งโรยผืนหนัง ต้องใช้เวลามากกว่าจะรู้กระบวนการ การเขียนและปิดทองหนัง 1 ผืนใช้เวลาประมาณ 2 วัน เมื่อปิดทองเสร็จแล้วต้องรอให้หมาด แล้วปัดฝุ่นเศษทองคำเปลวออก ศิลปินเล่าว่าสูดผงทองเข้าไปมาก ยามตายไปศพเขาน่าจะมีค่าไม่น้อย แต่อย่างไรคงไม่เท่าอีกคนหนึ่งที่สูดทองไปมากกว่าตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเป็นช่างทอง


'อีกคนหนึ่ง' นี้คือคุณเฉลิมชาติ จบจากเชียงใหม่ ผีเสื้อแนะนำว่าเป็นคนดีอีกเช่นกัน บางครั้งลืมจ่ายเงินเดือนต่อเนื่องกันนาน เขาไม่เคยว่าอะไร เขาเรียนจิตรกรรม และเป็นผู้วาดรูปประกอบและวาดรูปปกให้ผีเสื้อ คุณเฉลิมชาติเล่าว่าในการทำงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนต่างพบปัญหา ทั้งปัจจัยภายนอกเช่นด้านเทคนิค และปัจจัยภายในจากตัวเอง เขาเป็นคนขี้โรค ตาข้างหนึ่งใช้งานไม่ดีนัก ต้องเพ่งและออกแรงเวลาจำเป็นต้องเขียนงานประณีต สมัยเรียนจิตรกรรมไทย เขาได้เรียนการควบคุมลมหายใจให้สมดุล ให้มือไม่สั่น จะได้เส้นคมชัดสวยงาม แต่การทำงานปิดทองทำให้เปิดพัดลมไม่ได้ จำต้องเปิดแอร์ เขาแพ้อากาศจึงมีอาการน้ำมูกไหลหายใจติดขัดยามเปิดแอร์ แต่ต้องควบคุมลมหายใจให้นิ่ง นั่งสูดลมหายใจแล้วกลั้นใจเขียนตัวอักษรทีละตัว ตัวอักษรบางตัวซับซ้อน หรือหมดลมหายใจเข้า ทำให้ต้องลบทิ้งและเขียนใหม่ หรือบางครั้งน้ำมูกยืดลงไปบนปก (ปิดทองบนน้ำมูก) หรือเขียนตัวอักษรผิดบ้าง เบลอบ้าง หรือเกิดอุบัติเหตุตอนเข้าเล่มทำให้ต้องทำใหม่หมดก็มี


อุบัติเหตุที่ว่าก็เช่นเมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว ต้องเอาแผ่นหนังเขียนลายทองไปให้ช่างเข้าปก ช่างเอาหนังเข้าโครงหนัง แล้วนำไปเข้าเล่ม บางทีเขาทำกาวเลอะ หรือเล็บไปกรีดหน้าแรกเข้า ขาด ทำให้ใช้ไม่ได้ ในงานนิทรรศการแสดงหน้าปกหนังฉบับต่างๆ ให้ดู
ภายหลังงานเสวนา ข้าพเจ้าสอบถามศิลปินว่าตกลงเล่มที่ถวายกษัตริย์สเปนมีขี้มูกเขาติดอยู่จำนวนเท่าไร แต่เขาไม่ยอมพูดด้วยในเรื่องนี้


ตอนแรกนั้นผีเสื้อออกแบบรูปเล่มว่าจะเป็นเล่มเล็ก ขนาดหนามากๆๆ แต่คิดว่าจะลำบากตอนมอบให้กษัตริย์สเปน ตัวอย่างรูปเล่มแรกนี้แสดงไว้ในงานนิทรรศการ เป็นเล่มสีฟ้าเล่มหนา ส่วนสันหนังสือนั้นทำเป็นสันโค้ง ในเรื่องนี้คุณมกุฏกล่าวว่าเคยสงสัยว่าทำไมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงไม่ทำสันโค้ง ให้สังเกตว่าหนังสือโบราณเล่มหนาปกแข็งต้องใช้สันโค้ง เพราะใช้มืออุ้มแล้วไม่เจ็บ ให้ลองถือเทียบดูได้ แม้แต่หนังสือที่น้ำหนักเท่ากัน ระหว่างหนังสือสันโค้งและสันตรง จะพบว่ารู้สึกไม่เท่ากัน การทำสันโค้งสมัยนี้มีเครื่องจักรทำได้ แต่หนังสือสันโค้งที่ทำด้วยเครื่องและที่ทำด้วยมือมีอายุไม่เท่ากัน หนังสือเคาะด้วยมือทนทานกว่า ดอนกิโฆเต้ทุกเล่มเป็นหนังสือสันโค้งที่เคาะด้วยมือ


ในเบื้องต้น ผีเสื้อใช้ฟอนต์ EAC ในการพิมพ์หนังสือ แต่พบว่าพิมพ์ออกมาแล้วไม่สวย ไม่ใช่อารมณ์ของหนังสือที่กล่าวถึงเรื่อง 400 ปีมาแล้ว เนื้อเรื่องโบราณแต่ฟอนต์กลับสมัยใหม่ ทำให้ต้องไปรื้อหนังสือเก่าสมัย ร. 5 และ ร. 6 มาดู พบว่าราชกิจจานุเบกษามีตัวหล่อพิมพ์โบราณที่ใช้สืบเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีผู้นำมาออกแบบใหม่เป็นฟอนต์ PSL-ThaiAntique แต่พบปัญหาคือเส้นบางเกินไป เมื่อนำมาพิมพ์เป็นหนังสือจะทำให้อ่านแล้วปวดตา จึงต้องแก้ปัญหา โดยคุณวิกรัยเพิ่มความหนาของตัวอักษร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการจัดหน้ามากมาย แต่สุดท้ายก็คิดค้นให้ลงตัวจนได้


ชื่องานเสวนามีคำว่า 'เปาะเปี๊ยะ' ทำให้มีการเล่าถึงที่มาของเรื่องนี้ เนื่องจากผีเสื้อต้องทำงานหนังสือเล่มนี้ถึงดึกดื่นอยู่นานประมาณ 3 เดือน ทำงานถึงตีหนึ่งตีสองหรือตีสาม ในช่วงเวลานั้นร้านอาหารปิดแล้ว เมื่อมีร้านขายเปาะเปี๊ยะที่ปากซอยจึงซื้อเหมากลับมากินกัน นานเข้าๆ วันหนึ่งคุณณรรฐ ถามว่าวันนี้ไม่มีเปาะเปี๊ยะดอนฯ หรือ จึงทำให้ได้ชื่อเปาะเปี๊ยะดอนฯ คนทำงานผีเสื้อจะรู้สึกว่าเราได้แช่มชื่นอีกแล้วถ้ามีเปาะเปี๊ยะกิน เมื่อทำหนังสือเสร็จร้านขายเปาะเปี๊ยะหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่รู้ว่าหายไปเพราะรวย หรือเปาะเปี๊ยะนี้ถูกส่งมาโดยดอนกิโฆเต้ ขณะนี้เดินไปหาซื้อทุกวันก็ไม่มีแล้ว




ความใฝ่ฝันของดอนฯ แห่งลามันช่า ล้าสมัยแล้วหรือยัง

งานเสวนาช่วงต่อมามีหัวข้อเร้าใจยิ่ง ว่าความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้ล้าสมัยแล้วหรือยัง ร่วมเสวนาโดยคนหนุ่ม 4 ท่านดังแสดงในภาพ จากซ้ายไปขวาคือ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการนิตยสาร Way, ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับละครเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่, วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน และ ดร. ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ พิธีกรที่เก่งมาก (คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ขออภัยมา ณ ที่นี้ที่ไม่ได้มางาน เนื่องจากติดภารกิจรายการ คนค้นคน ที่หนองคาย กลับมาไม่ทัน คุณสุทธิพงษ์เป็นหนึ่งในผู้กำกับเวที และเล่นละครเป็นคนของศาลศาสนา)

คุณยุทธนาคิดอย่างไร ถึงทำละครสู่ฝันอันยิ่งใหญ่

คณะละคร 28 ก่อตั้งในปี 2528 จัดทำละครเรื่องแรกคือ กาลิเลโอ (2528) ประสบความสำเร็จพอสมควร และเรื่องที่สองคือ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (2530) มีโปรดิวเซอร์คือคุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ และคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี สมัยผมเรียนอาจารย์ให้อ่านบทละครเพลงต่างๆ ตอนเรียนหนังสือ และประทับใจอะไรไม่เท่ากับ Man of La Mancha ทั้งในรูปแบบและเนื้อหา ผู้เขียนบทละครดัดแปลงเล่าช่วงชีวิตของเซร์บันเตส ผู้เขียนดอนกิโฆเต้ที่ถูกจับตัว ซึ่งเขาเล่าเรื่องดอนกิโฆเต้ให้คนคุกฟัง บทละครเรื่องนี้ดีมาก หลังจากนั้นมีหนังฮอลลีวูดแสดงนำโดย ปีเตอร์ โอทูล และโซเฟีย ลอเรน ซึ่งดูแล้วสู้บทละครไม่ได้ แม้จะเป็นนักแสดงอย่างโอทูล และลอเรนที่เล่นดีมาก

ไม่ว่าสภาพความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ก็ไม่อาจมาขวางกั้นขอบเขตแห่งจิตนาการ
แม้ในยามอับจนสิ้นไร้ ความฝันใฝ่ก็ยังปราศจากเขตแดน
ณ คุกใต้ดินแห่งหนึ่งในนครเซวิลล์ ประเทศสเปน
มิเกล เด เซร์บันเตส นักประพันธ์เอกของโลกถูกศาลศาสนาจับกุมมาคุมขังรวมกับนักโทษอื่นๆ ซึ่งมีทั้งหัวขโมย ฆาตกร แมงดาและโสเภณี
บรรดานักโทษเหล่านี้ ล้วนอยู่กันอย่างซังกะตาย
ทุกคนต่างหมดสิ้นความหวังในชีวิตและภายในคุกนี้
เซร์บันเตสก็ยังถูกนักโทษด้วยกันกล่าวหาว่าเป็นนักอุดมคติ
กวีชั้นเลวและคนซื่อ
ซึ่งเขาก็ยอมรับในข้อกล่าวหา
แต่เซร์บันเตสก็ยังขอโอกาสต่อสู้คดีเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
ด้วยการนำเสนอละคร อันเป็นเรื่องราวของ ดอนกิโฆเต้ อัศวินแห่งลามันช่า
ผู้พร้อมที่จะต่อสู้กับเหล่าอธรรม และใฝ่ฝันถึงแต่สิ่งที่ดีงาม
แล้วเขาก็ได้จุดไฟฝันให้สว่างขึ้นมาในหัวใจของปรรดาผู้สิ้นไร้
ซึ่งครั้งหนึ่งต้องดำรงอยู่อย่างยอมรับสภาพความจริง ของชีวิตอันยากแค้นขมขื่น
--- จาก สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ โดย มัทนี เกษกมล



คุณยุทธนากล่าวว่าหนังและละครนั้นต่างกัน หนังจำกัดจินตนาการคนเรา ในขณะที่บทละครเข้าถึงตัวละครที่ซับซ้อน และเปิดช่องว่างสำหรับจินตนาการให้เข้าสู่โลกความนึกฝันของดอนกิโฆเต้ การชมละครนั้นมีมนต์เสน่ห์ที่เรียกว่า Magic of Theatre ที่คนดูและละครดำเนินไปในเวลาจริง (real time) ความรู้สึกตรงกับคนดูมากกว่าหนังภาพยนตร์ที่เป็นสูตรสำเร็จแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ โอทูลยังไม่สามารถแสดงบทบาทออกมาดีเท่าละครที่เคยอ่าน คุณยุทธนาจึงเสนอให้คณะละคร 28 ทำละครเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือจะหาทุนจากไหน คณะละคร 28 เป็นเพียงคณะละครจนๆ แต่แล้วละครเพลงเรื่องนี้ก็เริ่มทำขึ้นด้วยอุดมคติของดอนกิโฆเต้ คือการดำรงอยู่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า การฝันและมุ่งไปตามสิ่งที่ฝัน

ละครเพลงเรื่องนี้ใช้พระเอก 2 คน คือศรัณยู วงษ์กระจ่าง และ จรัล มโนเพชร ที่มีพระเอกถึงสองคนนั้น ที่จริงมีพระเอกคนที่สาม คือคุณพรศิลป์ ที่เล่นเป็น กาลิเลโอ เป็นผู้ร้องเพลงเพราะ ในสมัยนั้นหานักร้องยาก นักแสดงต้องเก่งทั้งการร้อง เต้น และการเล่นละคร เมื่อการซ้อมเข้าสู่ช่วง 3 อาทิตย์สุดท้าย ตัวละครเอกบอกว่าไม่อาจทำได้ทั้ง 3 อย่าง (คือร้อง เต้น และเล่นละคร) จึงขอถอนตัว ผู้กำกับรับเอาศรัณยูผู้ต้องการรับบทนี้มาเล่น แม้จะ "ไม่เชื่อใจความสามารถการร้องเพลงเลย" และนำ จรัล มโนเพชร มารับบทบาทดอนกิโฆเต้ แม้จะไม่แน่ใจว่าคุณจรัลจะเต้นได้ไหม ด้วยเขาไม่เคยเล่นละครเวทีมาก่อน นักแสดงสองท่านนี้รับบทดอนกิโฆเต้สลับรอบกัน ซึ่งเป็นบทหนักมาก ด้วยต้องเล่นเป็น 3 ตัวละครคือ เซร์บันเตส, อล็องโซ กิฆาน่า และดอนกิโฆเต้ ดำเนินเรื่องตลอด 2 ชั่วโมงครึ่งโดยไม่มีเวลาพักครึ่ง

ละครเรื่องนี้มี 2 องก์ ไม่มีพักครึ่ง ซึ่งเข้าใจได้ว่าไม่ต้องการให้ผู้ชมหลุดไปสู่โลกความจริง ตัวละครในเรื่องนี้มีแต่คนรากหญ้า คนคุก คนโสมม และต้องการทำให้ผู้ชมเป็นคนต่ำที่สุด แต่ทุกคนมีความฝันถึงโลกนี้ที่ดีกว่า

ละครเรื่องนี้มีการร้องไห้ตบตีกันมากเพราะมัน 'push' ปกติต้องใช้เวลาซ้อมนานกว่านี้ แต่นี่รีบ เช้าต้องซ้อม 13.00-17.00 ซ้อมการแสดง หนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มร้องเพลง สามทุ่มถึงเที่ยงคืนเอาทุกอย่างมารวมกัน จึงเป็นการเร่งรัดตัวเอกอย่างยิ่ง เนื่องจากนักแสดงอื่นซ้อมมาแล้ว 3-4 เดือน เช่นคุณนรินทร ดังนั้นจึงไปไม่พร้อมกัน แต่ทุกคนต้องทำงานเป็นทีม

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ในมุมมองวชิระ บัวสนธ์

คุณเวียง วชิระ กล่าวถึงละครเรื่องนี้ว่า 20 ปีที่แล้ว ผมหนุ่มแน่นกว่านี้ รู้จักดอนกิโฆเต้ครั้งแรกด้วยไปอ่านที่ไหนไม่ทราบ อาจจะเป็น อ.เปลื้อง ณ นคร หรือ เจือ สตะเวทิน จำได้ว่าชื่อที่ผ่านหูคือดอนควิโซต จนเริ่มรู้จักที่ถนนหนังสือ พี่หง่าว (คุณยุทธนา) พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีโครงการทำละครเวที อ่านบทความในถนนหนังสือจึงได้รับรู้เรื่องราว มีโอกาสไปดูที่โรงละครแห่งชาติ ถึง 3, 4, 5 รอบ ตั้งแต่รอบสื่อมวลชน ผมจำหน้าตาพี่หง่าววันนั้นได้ชัดเจน เมื่อรอบสุดท้ายงานเลิกมีปาร์ตี้ ผู้ชายตัวเล็กคนนี้มีดวงตาที่ส่งประกายวาววิบออกมา ผมเคยคิดว่าถ้ามนุษย์สักคนมีความสุขจะมีอาการอย่างไร และเห็นได้ว่าพี่หง่าวมีความสุข ย้อนก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที ผมเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ดูละคร ถ้าใครดูละครและหัวใจไม่ได้ทำด้วยหินผา ถ้าน้ำตาไม่ไหลก็ต้องน้ำตารื้น ในฉากที่ดุลสิเนอามาบอกให้ดอนกิโฆเต้ตื่นฟื้นขึ้นจากเตียงที่นอนซมอยู่

จากกระบวนการเหล่านี้ที่ผมเห็นตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีจินตนาการหรือความใฝ่ฝัน ซึ่งอาจเห็นว่าวิกลจริตก็ได้หรือเห็นว่ามีความใฝ่ฝันสุกสกาวก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความใฝ่ฝันนั้นแล้ว ผมคิดไม่ออกว่าทำออกมาได้อย่างไร แม้นิยายกับบทละครจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยแก่นเรื่องหรือหัวใจของงานเขียนชิ้นนี้ยังคงอยู่ ในแง่อุดมคติและความใฝ่ฝัน ถ้าเรากลับไปสำรวจตรวจสอบจริงๆ ตั้งคำถามว่าความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้เป็นอย่างไร เขาอยากเป็นอัศวิน มีนางในดวงใจ ในหนังสือเป็นหญิงชาวนา ในบทละครคือโสเภณี ซึ่งต่างเป็นสามัญชน ไม่ใช่เจ้าหญิงสูงศักดิ์ แต่ดอนกิโฆเต้กลับเห็นเป็นนางในดวงใจ ผมอ่านแล้วกลับมาคิดถึงสภาพสังคมไทย ผู้นำของเราสมัยก่อน 19 กันยายน จริงๆ แล้วมีอุดมคติประมาณนี้อยู่หรือไม่ ผมยังสงสัยอยู่เหมือนกัน

คุณอธิคม พูดถึง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

ตอนละครฉายผมกำลังจะสอบเอ็นทรานซ์ เรื่องนี้มีพลังในการบอกต่อ รอบแรกๆ คนไม่มาก แต่ช่วงปลายมีคนล้นโรงละคร จากหนังสือบทละครที่ อ. มัทนีแปล และการได้รับฟังจากสื่อต่างๆ ที่ขวนขวายหามาอ่าน ละครเพลงนี้ให้น้ำหนักความคิด ความฝัน ความกล้าจะประกาศให้รู้ว่าโลกและสังคมควรเป็นอย่างไร ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับโลกที่เป็นอยู่ มีแต่คนบ้าอย่างดอนกิโฆเต้ที่ต่อสู้คัดง้างและบอกว่าโลกควรเป็นอย่างไร

เนื่องจากนิยายมีอายุกว่า 400 ปี จึงเป็นธรรมดาที่จะถูกตีความ ให้ค่า ดึงประเด็นออกมาใช้สอยให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุค เป็นไปได้ว่าผู้เขียนบทละครหยิบบางประเด็นมาใช้ คือความคิดความฝันของดอนกิโฆเต้ แต่มุมมองส่วนตัวของผมขณะอ่านนิยายแล้ว เซร์บันเตสกล่าวย้ำผู้อ่านตั้งแต่ต้นและบอกเป็นระยะๆ ตลอดเรื่องว่าดอนกิโฆเต้เป็นชายวิกลจริต น้ำหนักความเป็นนักฝันถูกตั้งข้อสงสัยหรือถูกเบรค แต่สังคมที่แวดล้อมดอนกิโฆเต้ ก็มีลักษณะสังคมที่ค่อนข้างเหลวไหลพอๆ กัน ทั้งความขี้ขลาด เอาตัวรอด เจ้าเล่ห์เพทุบายต่างๆ เช่นตอนหนึ่งที่ดอนกิโฆเต้ช่วยปล่อยทาสฝีพาย ผลคือถูกขว้างก้อนหินใส่ ผมตีความว่าภาพดอนและสังคมแวดล้อมมีความฉูดฉาดทั้งสองขั้ว

นิยายเรื่องนี้บอกต่อผ่านรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย ฝึกให้กล้าจินตนาการ ตั้งคำถามกับโลกและสังคม กล้าลุกขึ้นมาบอกว่าโลกควรเป็นอย่างไร แทนที่จะยอมรับว่าโลกเป็นเช่นนี้ หนังสือเรื่องนี้มีอิทธิพลการบอกต่อสูงมาก แต่เราควรรู้ว่าอาจบอกต่อโดยหยิบเพียงบางประเด็นมาใช้เท่านั้น

ความฝันและความบ้ามีเส้นแบ่งบางเบามาก คุณยุทธนาคิดว่าดอนกิโฆเต้บ้าหรือไม่

นวนิยายดอนกิโฆเต้เป็นเรื่องอัศวินที่ออกไปสู้กับคุณธรรม ซึ่งอยู่มาได้นานถึง 400 ปี หากกลับกันคือว่าถ้าสังคมนี้มันบ้าล่ะ คนนี้ก็เป็นคนดีที่ทำให้โลกนี้ดีกว่า นี่คือประเด็นที่ทำให้เรื่องนี้อยู่มาได้ 400 ปี ประเด็นของหนุ่มสาวที่มองโลกอย่างที่ควรเป็น ยึดความดีงาม มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันจะพบความดีงาม บางคนอยู่เฉยๆ ฝันเฟื่องไปเท่านั้น แต่ดอนกิโฆเต้ทำให้โลกนี้ดีขึ้น ดีกว่าเดิมทุกวันทุกเช้า นี่คือสิ่งที่มนุษย์อยากเป็น เช่นใน ผีเสื้อและดอกไม้ เช่นกัน เป็นเรื่องของมนุษย์กับความดีงาม ความบ้าความไม่บ้าถูกกำหนดโดยสังคม ทุกคนเป็น Man of La Mancha ได้ นัยยะนี้อยู่ในนิยาย แต่บทละครสรุปความได้คมคาย นั่นคือคำว่า Man คือทุกคน ละครเพลงเรื่องนี้จับแก่นออกมาได้ดี ออกมาเป็นเพลงเช่น The Quest และ Impossible Dream ละครที่สรุปนิยายยาวขนาดนี้ต้องจับประเด็นเด่นๆ คมๆ แล้วสรุปออกมา การมองโลกอย่างที่ควรเป็นถือเป็นสิ่งสูงค่าและมีเกียรติ (noble) ทุกคนหวังว่าอยากให้โลกนี้ดีกว่า ถ้าสิ่งนี้เรียกว่าบ้า น่าจะมีหลายคนที่พร้อมบ้าอย่างนั้น ซึ่งทำให้หนังสืออยู่มาได้นาน

พิธีกรถามว่าในละครมีฉากสำคัญหนึ่ง คือดอนกิโฆเต้สู้เพื่อปกป้องอัลดอนซ่า ดอนกิโฆเต้บอกว่าจะไปรักษาบาดแผลคนต้อนล่อ นางอัลดอนซ่าบอกว่าไปเองก็ได้ ในที่สุดถูกคนต้อนล่อข่มขืน ถ้าทำดีแล้วได้รับการตอบสนองแบบนี้ จะทำให้แนวคิดของดอนกิโฆเต้เป็นไปได้ในสังคมปัจจุบันหรือไม่

คุณวชิระตอบว่าโลกที่เป็นอยู่มักเป็นอย่างนั้น เวลาคุณมีปรารถนาดี ทำสิ่งดีๆ ไม่เสมอไปที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ส่วนใหญ่ได้ผลที่คาดไม่ถึง กรณีนี้ผมเข้าใจว่ามีฉากถัดจากนั้น ที่อัลดอนซามาชี้หน้าด่าว่าคุณธรรมบัญชาเป็นอย่างไรล่ะ ถูกข่มขืนยับเยินก็เห็นอยู่ แต่หัวใจชี้ขาดจะอยู่ฉากท้ายๆ ช่วงหนึ่งดูเหมือนอัลดอนซาจะเคลิ้มไปกับดอนกิโฆเต้ จนรู้สึกว่าข้าพเจ้าไม่ใช่อัลดอนซาแต่เป็นดุลสิเนอา แต่พอถูกข่มขืนก็กลับสู่โลกจริง ไม่เอาแล้วที่เป็นแม่หญิง จุดเปลี่ยนอยู่ตอนท้าย พอดอนกิโฆเต้กลับสู่โลกจริง เขาจำไม่ได้แล้วว่าเคยรู้จักคนนี้หรือ เคยรู้จักซานโช่หรือ แต่ได้มารื้อฟื้นความทรงจำ จินตนาการและความใฝ่ฝันให้กลับมา ถึงในละครดอนกิโฆเต้จะตาย คนในบ้านยืนยันว่าตายแล้ว แต่อัลดอนซายืนยันว่าเขามีชีวิตอยู่ ดอนกิโฆเต้ยังคงอยู่ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ความใฝ่ฝันยังคงอยู่ ดอนกิโฆเต้เป็นสัญลักษณ์ของความใฝ่ฝัน ถึงโลกที่ควรจะเป็น ไม่ใช่โลกที่เป็นอยู่

คุณอธิคม บอกว่าผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม อยู่ลำบากไหมในสังคมปัจจุบัน

หลายคนคงอยากเป็นนักฝันผู้ยิ่งใหญ่ แต่โดนมากๆ เข้าก็อาจเปลี่ยนใจได้ง่าย สิ่งนี้ไม่ล้าสมัยเพราะไม่เคยถูกบรรจุในยุคสมัย ไม่เคยมีมาแต่อ้อนแต่ออก ไม่ถูกนับเป็นกระแสหลักของสังคม แต่จะมีคนอย่างดอนกิโฆเต้ เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้วอดไม่ได้จะเทียบถึง The Old Man and the Sea ตอนสุดท้ายชายหาปลากลับคืนฝั่ง ไปพักผ่อนที่บ้านริมทะเล ไม่มีใครรับรู้วีรกรรมครั้งนั้น ผู้คนเพิกเฉยต่อวีรกรรมของคนๆ หนึ่งโดยไม่ให้ค่าอะไรเลย ท้ายที่สุด ดอนกิโฆเต้ยอมรับสภาพว่าที่ผ่านมาเขาบ้าไป มีการเหลื่อมกันระหว่างดอนกิโฆเต้และคนหาปลา ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมกระแสหลักไม่ค่อยจดจำคนลักษณะนี้ และมีวิธีวัดและให้ค่าอีกรูปแบบหนึ่ง

ตอนหนึ่งในละคร อัลดอนซาสนทนากับดอนกิโฆเต้ด้วยความสงสัยว่า ทำไมจะต้องทำอย่างนี้ด้วย ทำไมต้องทำตัวเป็นวีรบุรุษ เป็นอัศวินอยู่นั่นแล้ว เขาตอบว่า

ดอนกิโฆเต้ : ข้าหวังว่าจะเพิ่มความสง่างามให้แก่โลกได้บ้าง
อัลดอนซา : ไม่มีทาง ลงท้ายคุณนั่นแหละจะพ่ายแพ้จนยับเยิน
ดอนกิโฆเต้ : ชนะหรือแพ้ย่อมไม่สำคัญ
อัลดอนซา : แล้วอะไรล่ะที่สำคัญ
ดอนกิโฆเต้ : ขอเพียงได้ดำเนินรอยตามความใฝ่ฝัน
อัลดอนซา : ถุย นี่ไงความใฝ่ฝัน (หันหลังกลับเดินฉับๆจากไป แต่แล้วก็หยุด เดินกลับมา) ความใฝ่ฝันมันเป็นยังไง
ดอนกิโฆเต้ : มันคือภารกิจของอัศวินทุกคน....เป็นหน้าที่...หามิได้ เป็นอภิสิทธิ์ของเขาต่างหาก


คุณยุทธนากล่าวว่าผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนใฝ่ดีเป็นหลัก แต่สภาพสังคมทำให้เราต้องคลุกเคล้ากับสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำกันหลายชั้น อภิสิทธิ์ที่ดอนกิโฆเต้กล่าวถึงคือสิ่งที่เราจะรับรู้ได้เอง ซึ่งเพลง The Quest ต่อมาได้กลายเป็น แสงดาวแห่งศรัทธา เป็นความฝันอันสูงสุด ผมว่าดูละครเรื่องนี้แล้วยกระดับจิตใจ ที่เห็นผมมีความสุข ก็อาจเพราะได้รับการยกระดับจิตใจโดยไม่รู้ตัว ช่วงนั้นเราเป็นบ้าหรือเปล่าจะเอาอะไรมาวัด ชีวิตกับความดีงามน่าจะเป็นของคู่กันแน่ๆ แต่การจะฟันฝ่าไปสู่ความดีงาม ต้องแก้ไข ผจญหลายอย่าง ต้องอยู่ที่ guts (กึ๋น) ของตัวเองที่ต้องไม่ลืมอุดมคตินี้ไป ยกเว้นจะเหือดแห้งไปเลย ก็พวกละโมบ โลภ คอรัปชั่น ขาดจริยธรรมตั้งแต่ต้น คือไม่มีตั้งแต่แรก

คุณวชิระกล่าวเสริมว่าสมัยผมหนุ่ม รุ่นพี่จะชี้แนะ เมื่อรู้จักดอนกิโฆเต้ฉบับละคร ฉบับเยาวชนที่พี่ศรีดาวเรืองแปล ขอพูดว่าไหนๆ พวกเราในฐานะคนของสังคม ตอนแรกผมงง ทำไมพวกเราไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ ว่าเป็นหนังสือดีที่สุดในโลก Of Mice and Men ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ หรืองานวรรณกรรมบู๊ลิ้มก็มีลักษณะร่วมกัน ตัวละครไปเจอกันที่เรือนแรมแล้วเรื่องคลี่คลาย ผู้หญิงในเรื่องดอนกิโฆเต้ ยกเว้นแต่อัลดอนซาและมารีตอร์เนส หญิงรับใช้ที่โรงเตี๊ยมแล้ว นอกนั้นสวยทุกตัว ซึ่งเป็นขนบของวรรณกรรมบู๊ลิ้ม ถ้าใครรู้จักหนังสือเรื่องนี้ ควรมีหนังสือเก็บไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นบาปชนิดหนึ่ง

คุณอธิคมทิ้งท้ายว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะได้อ่านกัน อย่างน้อยควรมีไว้บ้านละหนึ่งเล่ม ดังที่ปกหลังบอกไว้ว่าหนังสือเรื่องนี้เก็บไว้ให้ถึงรุ่นลูกหลานอ่านได้ ผมเคยเขียนในสีสันว่าชื่นชมผีเสื้อที่กล้าหาญพิมพ์งานขนาดนี้ออกมา ทั้งที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงมาก ความคิดความฝันมีอยู่ในยีนมนุษย์ทุกคน พอเราถูกทดสอบเฆี่ยนโบยมากเข้าๆ จะมีคนจำนวนหนึ่งค่อยๆ กลายพันธุ์เป็นอีกแบบหนึ่ง ในนิยายเรื่อง ก็องดิด ของวอลแตร์ ตัวละครเอกแสวงหา ดิ้นรน เดินทาง เพียรพยายามหาความจริงแท้ของชีวิตว่าโลกควรเป็นอย่างไร แต่หลังจากการถูกเฆี่ยนโบยโดยชะตากรรมทั้งปวง กลับไม่ได้อะไรเลย แม้แต่พระเจ้ายังมองไม่เห็น วอลแตร์ถามว่าถ้ารู้อย่างนี้ว่าสู้ไป ดิ้นรนไป ก็จะไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้เสียงสรรเสริญ ไม่ได้ถูกรับเชิญให้เข้าไปในดินแดนของพระเจ้า มนุษย์จะยังเชื่อมั่นได้หรือไม่ ความคิดนี้อยู่ในวรรณกรรมหลายเรื่อง ไม่เฉพาะดอนกิโฆเต้ฯ

คุณชาติชายกล่าวว่าสุดท้ายแล้ว ดอนกิโฆเต้กล่าวว่า ที่สุดของความบ้าทั้งปวงคือมองชีวิตอย่างที่มันเป็น แทนที่จะมองชีวิตอย่างที่ควรเป็น เมื่อถามคุณยุทธนาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะได้ดูละครอีก คุณยุทธนาตอบว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ แต่ตัวเองไม่เคยทำงานซ้ำๆ ทีมงานละคร 28 ที่เรียกประชุมไปบอกว่ายินดี พร้อมช่วยเหลือ ที่ผ่านมาคุณยุทธนาทำแต่เรื่องคนคุก ละครตัวเองไม่พ้นคุก อยากทำสวยๆ แบบทวิภพบ้างแต่ทำไม่เป็น อยากทำแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความต่ำทราม แต่ให้ความรู้สึกดีงาม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยาก ถ้าทำได้จะมีความสุข

ก่อนฉายละครเพลงสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ คุณยุทธนาบอกว่าละครจะพูดของมันเอง ละครที่จะฉายนั้นช่องสามเป็นผู้ถ่ายทำ เป็นรอบที่คุณศรัญยู ซึ่งเป็นดาราสังกัดช่องสามเล่น ตอนนั้นผู้ถ่ายทำขอให้ดันไฟขึ้น เพราะกล้องสมัยนั้นจับแสงไม่พอ แต่คุณยุทธนาไม่ยอมด้วยจะรบกวนการแสดง ดังนั้นภาพในเทปอาจเห็นไม่ชัดนัก

คุณยุทธนาเล่าว่าละครเรื่องนี้พูดผ่านผู้ประพันธ์ ถึงชีวิตที่อยู่ไปวันๆ เพื่อสิ่งที่ดีงาม เซร์บันเตสในละครกล่าวถึงประสบการณ์สมัยไปสงครามดังนี้

ผมอยู่มาเกือบห้าสิบปีแล้ว ผมได้เห็นชีวิตอย่างที่มันเป็น เห็นความเจ็บปวด
ทุกข์ยากหิวโหย.. มันเป็นความโหดร้ายเกินกว่าจะทำใจให้เชื่อได้
ผมได้ยินเสียงคนเมาร้องเพลงดังมาจากร้านขายเหล้า
ได้ยินเสียงครวญครางดังมาจากกองขยะข้างถนน
ผมเคยเป็นทหารและได้เห็นเพื่อนล้มลงในสนามรบ ... หรือไม่ ก็ค่อยๆ
ตายไปทีละน้อยอย่างทรมานผมเคยโอบพวกเขาไว้ในอ้อมแขนเมื่อวาระสุดท้ายมาถึงคนเหล่านี้ล้วนมองชีวิตอย่างที่มันเป็น
กระนั้นก็ยังตายอย่างสิ้นหวัง ไม่เคยรู้จักความรุ่งโรจน์
ไม่เคยเอ่ยคำอำลาโลกอย่างกล้าหาญ ..มีแต่ดวงตาที่เต็มไปด้วยความสับสน
เฝ้าสะอึกสะอื้นถามว่า "ทำไม" เขาคงไม่ได้ถามว่าทำไมเขาต้องตาย
หากปรารถนาจะถามว่าทำไมจึงต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเล่า


เซร์บันเตสเห็นคนที่ตื่นขึ้นอย่างไม่มีความหวัง เมื่อตาย มองไปในแววตาแล้วเห็นว่าไม่มีอะไรเลย เขาเกิดมาทำไม ฉากนี้ซ้อมจนคุณศรัญยูหมดแรง คุณยุทธนาบอกว่าชอบฉากนี้มาก และอยากให้ดูการออกแบบท่าเต้นในละครเรื่องนี้ โดยคุณมานูเอล อาลูม ซึ่งเสียชีวิตไปไม่นานนี้ ผมว่าการออกแบบท่าเต้นดีมาก ไม่เคยเห็นใครออกแบบท่าเต้นระดับนี้ ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาน่าสนใจ มีหลายฉาก มีเพลงเล็กเพลงน้อยที่มีท่าเต้นบอกความหมายของฉาก

ชมเทปละครเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

และแล้วเวลาที่หลายคนรอคอยก็มาถึง ข้าพเจ้าอยากบอกว่าละครเรื่องนี้ทำดีมากเหลือเกิน แม้จะชมจากเทปที่บันทึกไว้ซึ่งไม่ใช่การแสดงสด แต่เป็นละครที่ดีมาก คุณศรัญยูเล่นดีอย่างชนิดน่าชื่นชม และน่าจะเป็นนักแสดงผู้เป็นที่อิจฉาคนหนึ่ง อะไรจะเคยเล่นเป็นตัวละครสำคัญของโลกทั้งดอนกิโฆเต้ และแฮมเล็ต ส่วนดุลสิเนอาโดยคุณนรินทรเล่นดีมาก ร้องเพลงดี ดูแล้วตกใจเล็กน้อยว่าเธออาจจะเปลืองเนื้อตัวไม่ใช่น้อย ซานโช่นั้นน่ารักมาก ใครรักซานโช่จะต้องไปชมฉากร้องเพลง 'ผมชอบเขา' ที่ว่า "ผมชอบเขา จริงจริงนะผมชอบเขา จะเอาผมไปต้มไปยำอย่างไร ก็ยังชอบ" ซึ่งน่ารักเป็นที่สุด

ละครเรื่องนี้ดึงดูดให้ผู้ชมร่วมไปกับความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้ ให้ซาบซึ้งกับอุดมคติและนับถือยกย่องเขา ฉากสุดท้ายที่ดุลสิเนอามาอยู่ข้างเตียงของดอนกิโฆเต้นั้น น่าประทับจนข้าพเจ้าน้ำตาไหล และถ้าไม่ได้ชมในที่สาธารณะคงจะร้องห่มร้องไห้หนักหนากว่านี้ ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดละครนี้จึงอยู่ในดวงใจใครหลายคน และเป็นที่กล่าวขวัญมาจนกระทั่งวันนี้ ความใฝ่ฝันและการยึดมั่นในความดีงามอย่างไรเล่าที่เราต้องยึดถือ ดูละครแล้วอยากให้มีการนำกลับมาสร้างใหม่เสียจริง ในเรื่องนี้คุณมกุฏแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้คิดการใหญ่และชักชวนคุณยุทธนาว่า น่าจะทำละครเรื่องนี้ออกมาอีกนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริง นั่นคงทำให้หลายคนสมหวัง

ขอจบการรายงานนี้ด้วยสาส์นรักจากดอนกิโฆเต้ ถึงแม่หญิงดุลสิเนอา จากหนังสือ สาส์นรักนี้ได้ชื่อว่าเป็นจดหมายรักที่ดีที่สุดในโลก ในละครเพลงนั้นกล่าวว่า

ยอดหญิงมิ่งขวัญ สุดบูชาของข้าเอ๋ย อัศวินผู้จงรักขอสยบแทบเท้า รับใช้นางจนหมดหัวใจ
โอ้ นางผู้งามยิ่งกว่าสตรีใดในหล้า พิสุทธิ์ดุจน้ำค้างยามอรุณรุ่ง
สุดจะสรรหาถ้อยคำมาพรรณา...ดุลสิเนอา
โปรดเมตตาให้ข้าได้อาจเอื้อมจุมพิตแม้เพียงชายอาภรณ์
และขอวอนให้นางมอบสิ่งอันเป็นมิ่งขวัญ เทอดไว้แนบกายยามออกศึก


ส่วนสาส์นรักในหนังสือเป็นดังนี้

แม่หญิงราชนิกุลผู้สูงส่ง

บุรุษผู้ทุกข์ระทมด้วยมิได้พบประสบพักตร์แลผู้มีบาดแผลลึกในหัวใจ
ขอส่งความปรารถนาดีแด่แม่หญิงดุลสิเนอาแห่งโตโบโซ่ผู้หวานล้ำ
ขอแม่หญิงมีเรือนกายแข็งแรง อันเป็นสิ่งที่ข้ามิมี
หากแม่หญิงผู้งามพิลาสหมิ่นแคลนข้า แลหากนางไม่มีหัวใจให้ข้าสักน้อยนิด
ความเมินเฉยของนางคือความตรอมตรมแห่งข้า แม้ข้าทนทุกข์ได้ทุกเมื่อ
ทว่าแทบมิอาจทานความระทมอันหนักหน่วงนานเนิ่น บัดนี้
อัศวินสำรองผู้ภักดีของข้านามซานโช่ จะเป็นผู้เล่าให้แม่หญิงได้สดับ โอ้
โฉมงามผู้ไร้เมตตา โอ้ ศัตรูอันเป็นที่รัก ข้าเฝ้ารอความการุณย์จากแม่หญิง
แม้นางประสงค์จะชุบชีวิตข้า ข้าอยู่ในเงื้อมมือแห่งนางแล้ว
หาไม่ก็จงกระทำตามแต่ใจนางปรารถนาเถิด ชีวิตข้าจัดได้ด่าวดิ้น
สนองความโหดร้ายแห่งนางแลปรารถนาแห่งข้า

ทาสรักของแม่หญิงตราบสิ้นลมปราณ
อัศวินหน้าเศร้า