วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550

วันเปิดงานนิทรรศการ ดอนกิโฆเต้ฯ ที่ธรรมศาสตร์

รายงานโดยเจ้าหญิงมิโกมิโกน่า





ในวันเปิดนิทรรศการดอนกิโฆเต้ฯ ที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (พุธที่ 27 มิถุนายน 2550) ผู้เข้าหอสมุดจะได้เห็นหุ่นดอนกิโฆเต้งดงามกำลังนั่งอ่านหนังสือ และตู้นิทรรศการต่างๆ จัดแต่งหน้าตาสะสวย ทำให้ผู้แวะผ่านมาสนใจหยุดชม งานนี้มีสูจิบัตรวางให้หยิบในราคาตามศรัทธา (10, 20, 50, 100 บาท) ซึ่งรายได้ทั้งหมดมอบให้หอสมุดธรรมศาสตร์ ภายในสูจิบัตรมีบทความต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือดอนกิโฆเต้ รวมทั้งเรื่องย่อ และแนะนำตัวละคร

ปกหนังสือฉบับขายในงาน, ปกหนังสือที่ผีเสื้อมอบให้หอสมุด มธ. และเสื้อยืดที่ระลึก


มีหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ หน้าปกพิเศษฉบับธรรมศาสตร์ สีเหลือง-แดง มีรูปดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า ชักม้าไปเยือนแม่โดม จำหน่ายเฉพาะงานนี้เท่านั้น ปกอ่อนราคาเล่มละ 499 บาท (ราคาปกอ่อนปกติคือ 494 บาท) ปกแข็งราคาเล่มละ 599 บาท (ราคาปกแข็งเล่มเล็กคือ 696 บาท) และเสื้อยืดที่ระลึกงานนิทรรศการครั้งนี้ มี 2 สีพื้นให้เลือก คือสีเหลืองและสีแดง ราคาตัวละ 200 บาท (ขนาด S, L, XL) รายได้มอบให้หอสมุดธรรมศาสตร์เช่นกัน ข้าพเจ้าทราบว่าหนังสือและเสื้อยืดเป็นที่นิยมไม่น้อย แถมใครๆ ยังสนใจสูจิบัตรอีกด้วย

สำนักพิมพ์ผีเสื้อจัดพิมพ์หนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ปกแข็ง ฉบับปกพิเศษของธรรมศาสตร์ ระบุว่าหนังสือนี้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 100 เล่ม เพื่อมอบให้ห้องสมุดสาขาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ในการกล่าวเปิดงาน คุณมกุฏ อรฤดี กล่าวว่าหลายสิบปีมาแล้ว คุณชวน หลีกภัย เคยให้ยืมเงิน บัดนี้ก็ยังไม่คืนและตั้งใจจะไม่คืน เนื่องจากเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่เคยยืมเงินนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

(จากซ้าย) ชวน หลีกภัย, มกุฏ อรฤดี,
ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ., ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผอ.สำนักหอสมุด


ดังนั้นเมื่อคุณชวนกล่าวเปิดงาน จึงเรียกคุณมกุฏว่า 'ลูกหนี้' และกล่าวว่าป่านนี้ก็ขาดอายุความไปแล้ว ถึงจะไม่ขาดอายุความ ก็ไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ เพราะไม่มีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และกล่าวว่าสมัยเป็นนักศึกษานั้น ตอนนี้ต้องยุ่ง เตรียมเล่นงิ้ว เล่นบทโขน บทลิเก สมัยโน้นเราไม่มีโอกาสแสดงออกทางอื่น ปีหนึ่งมีครั้งเดียวคือวันที่ 27 มิถุนายน (วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) สมัยนั้นเป็นคนเขียนบท ต้องไปขอคำปรึกษาผู้รู้เพื่อความสมจริง ให้สนุก ปัจจุบัน มีปรากฏการณ์นอกเหนือจากวันสถาปนา คือมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรภาษาสเปน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นความจำเป็นที่มีมาแต่เดิม เป็นภาษาที่ใช้ในสหประชาชาติ จำเป็นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และถึงอนาคต คงมีประโยชน์ ขอแสดงความชื่นชมด้วยความจริงใจ



คุณชวนกล่าวต่อว่า ผมขอเรียนว่าหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ นั้น ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยได้ยินเลย มาโตขึ้นได้ยิน หนังสือนี้เขียนไว้ตั้งแต่สี่ร้อยปีก่อน แต่กลับไม่มีอิทธิพลสู่เรา ซึ่งความจริงน่าจะมีอิทธิพลไม่มากก็น้อย มหาภารตะยังแพร่หลายกว่าดอนกิโฆเต้ฯ ผมเองยังดอนกิโฆเต้อ่านไม่จบ แต่สะดุดใจรูปก่อน เป็นภาพลายเส้น ฝีมือจิตรกรที่เขียนดีมาก ขอแถมว่านอกจากสาระของหนังสือ นอกจากจะเป็นหนังสือดีแล้ว ภาพลายเส้นนั้นเป็นฝีมือของศิลปินผู้เขียนที่สามารถมาก คนไทยอ่านหนังสือปีละสิบสองบรรทัด โครงการนี้น่าจะเพิ่มได้อีกสักหนึ่งบรรทัด อย่าไปโลภมากครับ ความยาวของหนังสือคงไม่จูงใจให้คนอ่าน แต่ผู้เรียนทุกคณะควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ให้ทุกคณะอ่าน ให้เวลาหกเดือนหรือหนึ่งปี อ่านให้จบ ก็จะเป็นประโยชน์ในการเสริมความรู้ทางวรรณกรรมให้นักศึกษาของเรา จะได้ไม่เถียงกันว่าจะทำหลักสูตรอย่างไร ให้คนจบการศึกษาเป็นคนมีคุณภาพ พยายามสร้างคนที่มีสำนึก ความรับผิดชอบ มีหลักของตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ขอให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

หลังจากนั้นเป็นรายการเสวนา 'ดอนกิโฆเต้กับการเมือง และธรรมศาสตร์' โดย อ. ทรงยศ แววหงษ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, อ. นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์, อ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งขอเรียบเรียงให้ฟังคร่าวๆ ดังนี้

(จากซ้าย) ทรงยศ แววหงษ์, นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ


อ. ทรงยศ แววหงษ์ ผู้ดำเนินรายการเริ่มด้วยการบอกว่า สังคมไทยได้ยินชื่อดอนกิโฆเต้ ครั้งแรกๆ จากละครที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผลักดัน ดอนกิโฆเต้เป็นคนล่าฝัน มีความฝันเกี่ยวกับอุดมคติบางอย่าง ธรรมศาสตร์ก็กำลังล่าฝัน ไม่รู้ว่าหลงไปที่ไหน ตามเจอบ้างหรือยัง นี่ก็ตามไปถึงรังสิต -- ขอแนะนำผู้ร่วมเสวนา เริ่มจากคนซึ่งไม่ค่อยร่วมสมัยเท่าไหร่ เพราะเกิดช้ากว่าเขาเพื่อน คือ อ. นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์ จบการศึกษาด้าน Latin American Studies จากเบิร์กลีย์ และบรรณาธิการเครางาม ตอนนี้ก็ยังงามอยู่ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้อยู่นอกเหนือคำแนะนำต่างๆ นานา เป็นผู้ผลักดันคณะละครที่สำคัญที่สุดในแง่ประวัติศาสตร์การละครในเมืองไทย คือคณะละคร 28 ละครเรื่อง 'สู่ฝันอันยิ่งใหญ่' เป็นละครซึ่งฮือฮามาก และ อ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์เรียนทางด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญาการเมือง เป็นผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกศึกษา ซึ่งจะพูดถึง ดอนกิโฆเต้ การเมือง และธรรมศาสตร์

อ. นุชธิดา พูดถึงเรื่องที่ว่า ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นกระจกสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ของสเปนได้อย่างไร

อ. นุชธิดา : อ่านครั้งแรกจะรู้สึกตลก ไม่ว่าดอนกิโฆเต้จะเผชิญกังหันลม ขโมยอ่างช่างตัดผม เห็นโรงเตี๊ยมเป็นปราสาท แต่เรื่องนี้ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง ดอนกิโฆเต้ทำทุกอย่างด้วยสำนึกของความดีงามในจิตใจ ทุกอย่างเป็นโลกของอุดมคติ การผจญภัยของดอนกิโฆเต้เป็นเหมือนการต่อสู้ระหว่างโลกฝันและโลกจริง ความขัดแย้งนี้ออกมาว่าโลกจริงเป็นฝ่ายชนะ แต่การมองโลกแง่ดีของดอนกิโฆเต้แสดงว่าเขาศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีงาม ผู้แต่งเป็นคนนำเสนอการมองโลกแง่ดี ให้เรายิ้มและหัวเราะกับตัวละครแทนที่จะมองโลกแง่ร้าย

ดอนกิโฆเต้ไล่ตามความฝัน ในขณะที่โลกความจริงเป็นของซานโช่ ปันซ่า ซึ่งสะท้อนสังคมสเปนยุคนั้นว่ามีทั้งความฝันและความจริง เซร์บันเตสผ่านร้อนผ่านหนาวมากมายในชีวิต ได้เห็นสเปนทั้งในยุครุ่งโรจน์และร่วงโรย สเปนเคยทำตัวเป็นพี่ใหญ่ของยุโรป ออกไปรบรา แต่ความจริงคือต้องกู้หนี้ยืมสินคนอื่น ยืมเงินประเทศน้องๆ เพื่อการรบต่างๆ และมาพ่ายแพ้ยับเยิบต่ออังกฤษ ดอนกิโฆเต้คือคนที่เตือนสติว่าอะไรคือมายา อะไรคือความจริง อาจสะกิดเตือนเล็กๆ ว่าให้สเปนเลิกคิดทีเถอะว่าสเปนเป็นจักรวรรดิ สเปนไม่มีเงิน ไม่มีคน ให้ใช้เงินถูกทางหน่อย น่าจะกลับมาแก้ไขปัญหาในประเทศ



อ. ทรงยศถามคุณสุชาติว่า ดอนกิโฆเต้ฯ สำคัญอย่างไรในแง่วรรณกรรม

คุณสุชาติ : ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ตอบ ผมในฐานะสนใจวรรณกรรมโดยทั่วไป คิดว่าวรรณกรรมสำคัญต้องมีองค์ประกอบของมัน นักเขียนดังๆ เช่น ดอสตอยเยฟสกี้ โฟลก์เนอร์ เฮมิงเวย์ นาโบคอฟ ล้วนให้แต้มหนังสือเล่มนี้ ดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า เหมือนคนคนเดียวกัน เป็นเหรียญเดียวกันที่อยู่ละด้าน สิ่งเหล่านี้ฝังตัวในมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ที่หนังสือได้รับการยกย่อง ผมคิดว่าเป็นเพราะสามารถสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ในหลายลักษณะ

เราทำละคร สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ผ่านบทละครเพลง เอาแก่นของนิยายมาย่อยและแต่งเป็นเพลง ตอนนั้นสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ นานา หลังเหตุการณ์สิบสี่ตุลา หกตุลา มีหนังของปีเตอร์ โอทูล ซึ่งคนรุ่นสิบสี่ตุลาชอบมากๆ ทำนอง จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ดอนกิโฆเต้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อผู้ถูกกดขี่ มีตอนหนึ่งในละครที่มีคนบอกว่า 'ให้มองชีวิตอย่างที่มันเป็น' แต่ดอนกิโฆเต้บอกว่า 'ให้เรามองชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น' ผมว่าเป็นสิ่งที่ต่อสู้กันในใจคน

ถ้าอำนาจวรรณกรรมมีจริง จะต้องมีผลชีวิตจิตใจของเรา ดอนกิโฆเต้นั้นเปลี่ยนตัวเขาจากคนธรรมดาเป็นคนบ้า การต่อสู้ระหว่างอุดมคติและความจริง ความใฝ่ฝันและโลกจริง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของงานวรรณกรรมต่อมาในยุโรป ถ้าถามว่าดอนกิโฆเต้ฯ สำคัญอย่างไร ประการแรกคือตัวละครคู่หูสองคน มีนัยยะทำให้คนรู้สึกว่าคือตัวเราเอง มีการต่อสู้ ท้อถอย แล้วกลับไปสู้ใหม่ ตัวละครทั้งสองตัวมีอะไรสุดขั้วคนละแบบ แต่ค่อยๆ เคลื่อนเข้าหากัน ระหว่างนั้นมีการพูดคุยถกเถียง สร้างให้เกิดความต่อเนื่อง ซานโช่ ปันซ่าคือคนระดับที่เรียกว่ารากหญ้า (อ. ทรงยศ เสริมว่า PTV) ติดสินบนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็เอา แต่ขณะเดินทางไปด้วยกันก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ้าเซร์บันเตสเขียนดอนกิโฆเต้เพียงภาคเดียว เราคงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของซานโช่ ในช่วงหลัง ดอนกิโฆเต้รับสภาพตัวเอง แต่ซานโช่ไม่ยอม

ดอนกิโฆเต้ฯ สะท้อนสัญลักษณ์ของการต่อต้านทรราชย์และผู้กดขี่ นาโบคอฟเคยกล่าวว่า เมื่อดอนกิโฆเต้ก้าวออกจากหมู่บ้าน สิ่งที่เรียกว่าโลกสมัยใหม่ (modern world) เริ่มปรากฏขึ้น

อ. ทรงยศ : กษัตริย์ ฆวน การ์ลอส อยู่ฝ่ายฟรังโก ซึ่งฆ่าคนเยอะในสงครามกลางเมือง หนังสือนี้พิมพ์ด้วยเจตนาดี กษัตริย์สเปนมอบให้เจ้าไทย สามารถเขมือบฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกตัวเองได้ ขอจบกะทันหันเพียงเท่านี้

อ. ทรงยศถามคุณสุชาติต่อว่าทำไมนักเขียนซ้ายไทย เช่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์, ม.จ. อากาศดำเกิง, จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่พูดถึงหนังสือเล่มนี้ ทำไมสี่ร้อยปี ดอนกิโฆเต้ฯ ยังเดินทางไม่ถึงเมืองไทย จะอธิบายอย่างไร

คุณสุชาติ : เป็นความอาภัพของบ้านเรา หนังสือเล่มนี้น่าจะมาถึงห้าสิบปีหรือร้อยปีก่อน ตั้งแต่เริ่มต้น เราส่งนักเรียนไปรับความคิดฝรั่งมา ไปเรียน กลับมาไทยและเขียนหรือแปลหนังสือ เราได้แต่งานเช่น ความพยาบาท ของแมรี่ คอลเรลลี ซึ่งถือเป็นงานชั้นสอง ทำไมงานของโจเซฟ คอนราด, ดอสตอยเยฟสกี้ ไม่ถูกส่งผ่านมาในสังคมไทย เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีสถาบันการแปลที่นำงานคลาสสิกและโมเดิร์นคลาสสิกมาแปลหมดแล้ว แม้แต่เช็กเปียร์เราก็ได้บางเรื่อง ไม่ได้แฮมเล็ต ไม่ได้แม็คเบ็ธ เราไม่ได้งานที่เป็นกล่องดวงใจของเขา อยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เขาไปศึกษาเรื่องนี้ดู รวมถึงงานแปลต่างๆ ที่มาถึงสังคมบ้านเรา พวกเจบุ๊คส์ เคบุ๊คส์ งานแปลจากญี่ปุ่น-เกาหลี คนรุ่นใหม่อ่านเรื่องแปลของดอนกิโฆเต้ไหม อ่านแล้วรู้สึกลิเกไหม



อ. ธเนศ : หนังสืออันดับสองรองจากไบเบิ้ล หนังสือใหญ่ขนาดนี้ ไม่ต้องพูดนะ กลับไปอ่านดีกว่า

ผมเคยแปลบทความของ มิลาน คุนเดอร่า ให้คุณสุชาติ ในเรื่อง ทำไมต้องอ่านหนังสือคลาสสิก นักเขียนคนนี้ฝีปากจัดจ้าน สรุปบทความง่ายๆ ได้ว่าเป็นหนังสือที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อ่านกัน แต่รู้ว่าดี ทุกคนบอกว่าดี แต่ยังอ่านไม่จบ ผมก็บอกว่าอ่านหนังสือพวกนี้ แต่ไม่บอกว่าอ่านไปสามหน้า-ห้าหน้า นี่คือหนังสือคลาสสิก ถ้าถามว่าใครอ่านจบบ้าง--อย่าถามเลยนะครับ เสียบรรยากาศ ผมเห็นภาษาไทยก็นึกว่าเคยเห็นมาก่อนไหม เคยเห็นฉบับย่อ แสดงว่ารุ่นเก่าๆ มีคนแนะนำ แต่ไม่ออกฉบับเต็มๆ ทำไมหนังสือดีๆ ไม่เข้ามาไทย คุณสุชาติแขวะพวกนักเรียนนอก คุณสุชาติไม่ได้เรียนจบเมืองนอกเลยเล่นงานได้เรื่อยๆ ผมพยายามไม่พูดแก้ต่าง (defend) แต่ประเทศอาณานิคมจะได้คลาสสิกเร็วกว่าเรา เช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ปัจจุบัน จะตอบคำถามนี้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าตอบแบบโพสต์โมเดิร์น มันไม่ใช่ พอเกิดการเขียนนิยายสมัยใหม่ขึ้นมา ก็เกิดการ localization เช่น ดอนกิโฆเต้กลายเป็นพระอภัยมณี งานคลาสสิกอาจจะมาถึงและเห็นได้ในงานของไทย แต่ในลักษณะอื่น

ในอเมริกา เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ชอบหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ รู้จักไหมครับ คนนี้เป็นหัวหน้าใหญ่ซีไอเอ ยุคไอเซนฮาวร์ คนที่เราไม่ค่อยชอบทำไมชอบหนังสือเล่มนี้ คนอื่นที่ชอบมีเช่น ซัมเมอร์เซ็ต มอห์ม, ซามูเอล จอห์นสัน กล่าวว่ามีหนังสือสามเล่มที่น่าจะยาวกว่านี้ คือ ดอนกิโฆเต้, โรบินสัน ครูโซ และ The Pilgrim's Progress

วิลเลี่ยม บัตเลอร์ ยีตส์ กล่าวว่าไม่มีบทละครใดที่หลังจากอ่านจบแล้ว ที่ตัวละครจะตามเราออกมา ดังที่ดอนกิโฆเต้ตามเราออกมาจากหนังสือ ซาบซึ้งมากครับ

การเมืองปัจจุบันไม่มีดุลยภาพ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่ไม่มีจินตนาการเลย ยิ่งร่างมากขนาดนี้ยิ่งไม่มีจินตนาการ ซึ่งจะทำให้ไม่มีพลัง และจะต้องพังและล้มไป ผมมีเอกสารติดตัวมาด้วย มีสติกเกอร์ 'ไม่ร่วม ไม่ร่าง ไม่รับ รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร' แต่มีชุดเดียวนะครับ การเมืองสมัยใหม่เขาค้นพบระบบประชาธิปไตย พวกเรารับมา ผมว่าอุปสรรคใหญ่ของระบบประชาธิปไตยคือการคิดว่าเหตุผลแก้ปัญหาได้ วิกฤติของเรานั้น เรามีระบบการเมืองที่มีแต่เหตุผล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีบริบทด้วย แต่ไม่มีจินตนาการ มีแต่จุดหมายที่ต้องการ

คำถามตอนแรกว่าธรรมศาสตร์จะไปไหน ผมว่ายังไม่เจอเป้าหมาย เพราะมันเริ่มต้นด้วยการไม่มีจินตนาการของความเป็นธรรมศาสตร์ ยุคหนึ่งธรรมศาสตร์มีจุดหมายคือการเมือง คนเข้ามาคือชาวบ้าน เริ่มต้นด้วยการเป็นตลาดวิชา นี่คือสิ่งที่ดอนกิโฆเต้ทำ ตัวละครในเรื่องเป็นชาวบ้านหมดเลย เป็นคนเลี้ยงแกะ เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมู ช่างตัดผม มีบาทหลวงก็เป็นบาทหลวงชาวบ้าน

ธรรมศาสตร์กลายจากตลาดวิชาเป็นมหาวิทยาลัยปิด ช่วงหนึ่งของการปิดมหาวิทยาลัยมีแสงสว่างอันใหม่เกิดขึ้น คือการเกิดคณะศิลปศาสตร์ ผมคิดว่าแนวคิดคือความคิดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ผมประทับใจมาก แต่ก่อนอาจารย์ผู้ก่อตั้งคอยมาเดินดู ผมเห็นคนใส่เสื้อนอกก็ต้องสยบแล้ว คณะนี้ศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ เรียนจินตนาการทั้งนั้น เป็นความคิด คิดฝัน อย่างคุณสุชาติก็เป็นรุ่นหนึ่งของคณะศิลปศาสตร์ ผ่านมาสามสิบปี เรากำลังนั่งมองว่าความฝันจะจุดไฟได้อีกไหม ความฝันไม่ใช่การจัดการ ตอนนี้อยู่ในยุคโครงการพิเศษ จ่ายแพงก็ได้ จ่ายถูกก็ได้...แบบถูกๆ... ผมนึกไม่ออกว่าจะไปหาจินตนาการมาจากที่ไหนในระบบแบบนี้ ผมก็อยากเป็นซานโช่ ปันซ่า เงินเดือนอาจารย์ก็น้อยๆ แต่แล้วเขาจะให้เราจุดไฟให้คนรุ่นใหม่ ผมสอนวิชาสหวิทยาการมนุษยศาสตร์ มีความเห็นจากนักศึกษาว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม แต่พอจบแล้วเขาก็เห็นคุณค่านะครับ

ด้านดีของความเป็นคนมันต้องมี ต้องออกมา มีความหวัง ผมได้คุยกับคุณมกุฏ เห็นว่าจะพิมพ์หนังสือดีหนังสือคลาสสิกออกมา ผมว่ายังจะมีคนอ่าน เป็นแรงบันดาลใจต่อไป ของดีทุกอย่างต้องเริ่มที่ปริมาณน้อย ถ้าบังคับให้ทุกคนอ่าน จะเป็นการฆาตกรรม เพราะเขาจะไม่อยากอ่านหนังสืออีกเลย กลับบ้านไม่ต้องไปบอกให้ลูกหลานอ่านนะครับ ซื้อมาวางไห้เขาเห็นทุกวัน แล้วให้เขามาดูละครเพลงอาทิตย์หน้าดีกว่า

อ. ทรงยศ : ในเรื่องนี้ ซานโช่ ปันซ่า หิวมาก อยากกิน ดอนกิโฆเต้บอกว่าไม่มีตอนไหนในนิยายอัศวินที่เขาจะกินข้าวกัน เมื่อเช้าผมเห็นข่าวการแจกเงิน ที่หัวคะแนนเอาคนมาแจกเงิน เขาบอกว่าเอาเสื้อไปด้วย เปลี่ยนเสื้อแล้วจะได้กลับมาเอาเงินรอบสองได้ นี่เป็นซานโช่ ปันซ่าจริงๆ

เสน่ห์ของหนังสือที่อยู่ได้ถึงสี่ร้อยปี ก็เพราะอ่านในยุคสมัยต่างๆ ในบริบทที่แตกต่างกัน ก็จะได้ความหมายที่หลากหลายไปเรื่อยๆ

คุณสุชาติทิ้งท้ายว่า วรรณกรรมที่มีคนพูดถึง เป็นเพราะมันมีชีวิต สร้างฐานทางจินตนาการให้วัฒนธรรมการอ่าน-วัฒนธรรมหนังสือ ในเรื่อง Zorba the Greek ของ Nikos Kazantzakis ซอร์บากล่าวว่า "I hope for nothing. I fear for nothing. I am free." เขาเป็นอิสรชน ดอนกิโฆเต้ก็คืออิสรชน

อ. ธเนศ ยกวาทะบางตอนจากหนังสือมาเล่าฟัง เช่นตอนที่ดอนกิโฆเต้ทำตัวเป็นบ้า ซานโช่ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำตัวเป็นบ้า จึงถามว่า "ข้าเข้าใจว่า อัศวินที่ทำดังนั้นก็ด้วยมีเหตุกระตุ้น แล้วนายท่านเล่าขอรับ อะไรคือเหตุให้ท่านต้องกลายเป็นบ้า" ดอนกิโฆเต้ตอบว่า

"นี้แลคือข้อหมายสำคัญ นี้คือความละเอียดอ่อนของสิ่งที่ข้าจะกระทำ
การที่อัศวินพเนจรบ้าคลั่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ย่อมไม่มีคุณค่าอันใด
ความวิเศษของมันอยู่ที่ว่า ไม่มีมูลเหตุอันใดต่างหากเล่า เช่นนี้
แม่หญิงของข้าจักเข้าใจได้ว่า แม้มิมีมูลเหตุข้าก็ยังกระทำปานนี้
หากมีมูลเหตุประกอบด้วยจักลุกลามถึงเพียงไหน"


บทตอนนี้เรียกเสียงฮาและเสียงผิวปากหวือจากผู้ชมในห้องประชุม

อ. ธเนศ ยกตัวอย่างต่อไปว่า ตอนหนึ่งดอนกิโฆเต้กล่าวถึงยุคทอง ดังนี้ "ได้ชื่อว่ายุคทองก็เนื่องแต่เป็นยุคที่มิแบ่งเขาแบ่งเรา สรรพสิ่งในศานติสมัยล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้น มนุษย์ทุกผู้เมื่อปรารถนาสิ่งใดเพื่อดำรงชีพ ลำบากก็เพียงยื่นมือคว้าจากต้นโอ๊ค" นี่คล้าย ยูโทเปีย ของโทมัส มอร์ แนวคิดการมองคนเท่าเทียมกันเริ่มเกิดแล้ว เกิดในคนระดับล่าง ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าวรรณคดีไทยจะมีบ้างไหมที่คนอยากเป็นอิสระ เป็นไพร่ที่อยากหลุดพ้น ส่วนใหญ่เห็นแต่ไพร่ที่อยากมีเจ้านาย อันนี้ก็ต้องศึกษาดูนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2550

งานนิทรรศการ ดอนกิโฆเต้ฯ ที่ธรรมศาสตร์

นิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ฯ ที่ธรรมศาสตร์ เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดหลักสูตรวิชาภาษาสเปน ร่วมจัดงานโดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ดวงกมลฟิลม์เฮ้าส์ นิตยสาร ฅ คน

27 มิถุนายน - 20 กรกฎาคม 2550
ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ โถงนิทรรศการ ชั้น U.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ


พิธีเปิดงาน พุธ 27 มิถุนายน 2550 13.30 น. โดย นายชวน หลีกภัย

เวลาทำการหอสมุดปรีดี พนมยงค์ :
จันทร์-ศุกร์ 8.00-20.00 น., เสาร์-อาทิตย์ 9.00-18.00 น.
ติดต่อฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุด สำนักหอสมุด โทรศัพท์ 02-613-3518-9 ในวันเวลาราชการ

ในงานมีการเสวนาเกี่ยวกับหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ เบื้องหลังความเป็นมาของฉบับแปลภาษาไทย แสดงหนังสือดอนกิโฆเต้ภาษาต่างๆ แสดงเหรียญกษาปณ์ทองคำและเหรียญเงิน รูปดอนกิโฆเต้และเซร์บันเตส ภาพและโปสเตอร์ดอนกิโฆเต้ จำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ เพื่อมอบรายได้แก่สำนักหอสมุด สำหรับกิจกรรมบริการทางวิชาการแก่สังคม และโครงการชนบทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำนักพิมพ์ผีเสื้อจะจัดพิมพ์หนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสนี้ โดยมีตราสัญลักษณ์รูปโดมประดับหน้าปก และพิมพ์ปกด้วยสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อจำหน่ายในงานนี้เท่านั้น และมอบรายได้แก่สำนักหอสมุด สำหรับกิจกรรมบริการทางวิชาการแก่สังคม และโครงการชนบทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรมและเสวนาจัดที่ ห้องกิจกรรมเรวัต พุทธินันทน์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์
บุคคลภายนอก โปรดนำบัตรประชาชนหรือบัตรนักศึกษาติดตัวไปด้วย เพื่อเข้าหอสมุด

พุธ 27 มิถุนายน 14.30 น.เสวนา 'ดอนกิโฆเต้ฯ กับการเมือง และธรรมศาสตร์'
โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ทรงยศ แววหงส์, นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์, รศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
หลังเสวนา ฉายภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ฯ ของ Orson Welles

เสาร์ 30 มิถุนายน 13.30 น. ฉายภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ฯ ของ Orson Welles

เสาร์ 7 กรกฎาคม 13.30 น.เสวนา 'ดอนกิโฆเต้ฯ นักฝันหรือคนบ้า'
โดย เวียง วชิระ บัวสนธ์, สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ, อธิคม คุณาวุฒิ, ดร. ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์
หลังการเสวนาฉายละครเพลง 'สู่ฝันอันยิ่งใหญ่' ของคณะละคร 28

เสาร์ 14 กรกฎาคม 13.30 น.เสวนา 'นวนิยายดีที่สุดในโลก ดีอย่างไร'
โดย วัลยา วิวัฒน์ศร, ดร. ปณิธิ หุ่นแสวง, มกุฏ อรฤดี
หลังเสวนาฉายภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ ของ Peter Yates

กำหนดการกิจกรรม
http://www.bflybook.com/DonQvixote_Agenda.htm
รายละเอียดเพิ่มเติม
http://www.bflybook.com/

แผนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://www.bflybook.com/Temp4/DonTU/PicSmallSuperNew/TUmap.gif
รถประจำทาง ขสมก ที่ผ่านธรรมศาสตร์
http://www.bflybook.com/Temp4/DonTU/PicSmallSuperNew/BusLine.gif
แผนที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์http://www.bflybook.com/Temp4/DonTU/PicSmallSuperNew/TUmapInside.gif

สอบถามรายละเอียดที่ 02-261-6330, 02-663-4660-2 หรือ dondebangkok@yahoo.com

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550

แนะนำตัวละคร ดอนกิโฆเต้ฯ



ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

ขุนนางต่ำศักดิ์ผู้มีถิ่นกำเนิดที่ลามันช่า อายุห้าสิบปีเศษ
แข็งแรง ผอมเกร็ง แก้มตอบ ใช้เวลายามว่าง (คือเกือบทั้งปี)
หมกมุ่นอ่านแต่นิยายอัศวินด้วยคลั่งไคล้ใหลหลง อ่านเช้ายันค่ำ
ค่ำยันเช้าจนถึงแก่เสียจริตในที่สุด และตกลงใจเป็นอัศวินพเนจร
เดินทางไปทั่วเพื่อกำจัดภัยพาล อภิบาลสาวพรหมจารี
ชำระล้างความอัปยศและอยุติธรรมในโลก

เขาเป็นอัศวินผู้กล้า มั่นในรักสุดซึ้ง และเขาเชื่อว่าชีวิตสุขสบาย บำเหน็จรางวัล แลการพักผ่อนนั้น
มีไว้เพื่อข้าราชสำนักผู้อ่อนแอ แต่อุปสรรค การครุ่นคิด ตลอดจนการศึกนั้น
สรรไว้เพื่อบุคคลที่โลกขนานนามว่า ‘อัศวินพเนจร’




ซานโช่ ปันซ่า

อัศวินสำรองของดอนกิโฆเต้
เป็นชาวนาที่ไม่มีสมองเท่าใดนัก ตัวเตี้ย พุงพลุ้ย
แต่ขายาวดุจไหกระเทียมต่อขา ขี้ตื่นและติดจะตาขาว
ปากมาก ไม่สำรวมวาจา ดอนกิโฆเต้ชักชวนให้ร่วมผจญภัย
โดยสัญญาจะให้ซานโช่ปกครองดินแดนมีน้ำล้อมรอบ
น้ำใจและความภักดีของซานโช่ทำให้ดอนกิโฆเต้ยกย่องว่า
’เป็นอัศวินสำรองสุดเลอเลิศผู้หนึ่งที่อัศวินพเนจรเคยมีมา’

เซร์บันเตสกล่าวในคำนำว่า อย่าขอบใจเขาเพราะแนะนำให้รู้จักดอนกิโฆเต้ แต่ให้ขอบใจที่เขาแนะนำซานโช่ ปันซ่า
ซึ่ง ‘เป็นเพชรน้ำเอกเหนืออัศวินสำรองทั้งปวง เท่าที่เคยปรากฏในนิยายอัศวิน’




ดุลสิเนอา แห่งโตโบโซ่

นางในดวงใจของดอนกิโฆเต้
หญิงงามผู้สูงศักดิ์และเลอโฉมพิลาสหาใดเปรียบ
ดวงเนตรสีทองอำพัน เกศาเป็นประกายดุจทองคำ ผิวขาวปานหิมะ
สองปรางแต้มสีกุหลาบ ความงามและความดีของนางเลิศล้ำ
เหนือคำพรรณนาของกวีคนใด วีรกรรมทั้งหมดของดอนกิโฆเต้อุทิศแด่นาง ด้วยว่า
‘อัศวินใดแม้นปราศจากความรักแล้วไซร้ ก็เปรียบประดุจร่างอันปราศจากวิญญาณ’

ดอนกิโฆเต้รำพันถึงเจ้าหัวใจของเขาว่า ‘โอ้! แม่หญิงดุลสิเนอาแห่งโตโบโซ่ ผู้เป็นทิวาในราตรี
ประทีปในความทุกข์ ดาวเหนือส่องนำทาง แลดารา
นำโชคแห่งชีวิตข้า’



โรสินันเต้

ม้าคู่ใจของดอนกิโฆเต้
เป็นม้าหย็องกรอด ผอมกะหร่อง มีแต่หนังหุ้มกระดูกดั่งฝีในท้องรุมเร้า
มีนิสัยเฉื่อยเนือย ยกขาหน้ากระโจนไม่เป็น
แต่ดอนกิโฆเต้กลับเห็นว่าเป็นยอดอาชา
ยิ่งกว่าม้าของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์
นามโรสินันเต้ แปลว่า ‘ม้าที่เคยทุรลักษณ์’
ภายหลังมีผู้เขียนคำสดุดีว่าเป็น ‘ยอดอาชาคู่ขวัญ ยอดอัศวิน’



ฬาของซานโช่

พาหนะคู่ใจของซานโช่ เป็นฬาลักษณะดี
เมื่อซานโช่กลับถึงบ้าน
หลังจากออกผจญภัยกับดอนกิโฆเต้
และเจอหน้าเมีย สิ่งแรกที่เมียถามคือ
’ฬายังอยู่ดีหรือไม่’





อัลด็อนซ่า โลเร็นโซ่

สาวชาวนาที่ดอนกิโฆเต้แอบมีจิตปฏิพัทธ์มาเนิ่นนาน
อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นหญิงร่างสูงล่ำสัน
แข็งแกร่งบึกบึน กล้าหาญ มีขนหน้าอก เสียงดังกึกก้อง
นางพุ่งแหลนไกลกว่าชายหนุ่มผู้แข็งแรงที่สุดในหมู่บ้าน
และมีฝีมือหมักหมูเค็มเป็นเลิศกว่าหญิงใดในแคว้นลามันช่า

ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับปกอ่อน



ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน
เล่มเล็ก ฉบับปกอ่อน ราคา 494 บาท จำหน่ายเฉพาะใน "ร้านหนังสือ" เท่านั้น
ISBN 9789741403325 สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

รายละเอียดจาก ดวงกมลสมัย ผู้จัดจำหน่าย
http://www.dktoday.net/dktoday2/book/butterfly/9789741403325.htm