วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่แปด วันสุดท้าย

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

เริ่มงานวันนี้โดยการมอบเงินรายได้จากงานนี้ให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นเงินทั้งสิ้นเท่าไรข้าพเจ้าจำไม่ได้ ประมาณหนี่งแสนกว่าบาท ที่จำไม่ได้เพราะมัวสนใจหมกมุ่นเรื่องอื่นอยู่ แต่จะเป็นเรื่องอะไรนั้นข้าพเจ้าไม่อาจบอกได้ (ขออภัยด้วยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รายงานข่าวที่แย่จริงๆ ปกติแล้วเคยชินกับชีวิตเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรมิโกมิก็อน มากกว่าเป็นนักข่าว) งานนี้มีการขายหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ เพื่อนำรายได้มอบให้หอสมุดแห่งชาติ ผีเสื้อขายหนังสือได้เท่ากับจำนวนที่เซร์บันเตสกล่าวไว้ในเล่มสอง คือประมาณ 18,000 เล่ม

ต่อมาเป็นการมอบของขวัญที่ระลึกให้ผู้เกี่ยวข้องในงาน ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่นักการจากหอสมุดแห่งชาติทุกท่านที่ช่วยเหลือร่วมมือในงานอย่างดียิ่ง รวมถึงน้องๆ นักศึกษาภาควิชาภาษาสเปนจากรามคำแหงทุกท่าน ที่ทั้งน่ารักและมาช่วยด้วยหัวใจเกินร้อย หลังจากนั้นเป็นการมอบเหรียญที่ระลึกดอนกิโฆเต้ฯ แก่ผู้ร่วมงาน

จากนั้นเป็นการเสวนา 'ก่อนจะถึงดอนกิโฆเต้ฯ เล่มสอง ตอนจบ' โดย อ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล และ อ. วัลยา วิวัฒน์ศร

อ. วัลยา : วันนี้เป็นการจัดงานวันที่ 8 ขอสรุปคร่าวๆ เรื่องการทำงานดอนกิโฆเต้ฯ ภาคแรก ก่อนแปลภาคแรก อ. สว่างวันศึกษาเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง อ่านหนังสือแปลเก่าๆ หลายเล่มเพื่อศึกษาภาษาไทยเก่า สะสมคลังคำก่อนแปล 2 ปี ได้รับอนุญาตให้ลางาน (สอนเพียง 1 วิชา) เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ตามคำขอของเอกอัครราชทูตสเปน อ. สว่างวันใช้เวลาตรวจแก้ต้นฉบับกับดิฉันครึ่งปี แล้วต้นฉบับไปอยู่กับผีเสื้อ ครึ่งปีแรกคุณมกุฏหาตัวตนเซร์บันเตสไม่เจอ อ่านแล้วมองไม่เห็นเซร์บันเตสเลย ดิฉันลืมว่าผู้เขียนคือใคร ถ้าหาตัวผู้เขียนไม่เจอ ไม่แน่ใจว่าพอไปตรวจแก้จะเข้าใจหนังสือได้อย่างไร จากประสบการณ์งานแปลอื่นๆ คุณมกุฏใช้เวลาไม่นาน อ่านเพียง 4-5 รอบก็เจอตัวผู้เขียนเจอแล้ว แต่ดอนกิโฆเต้นี่ 12 รอบ บางบทเป็น 100 รอบ จึงช้า ถ้าถึงภาค 2 เมื่อไรผู้แปลเรียนจบปริญญาเอก ทั้งดิฉันและคุณมกุฏคงไม่ต้องใช้เวลานาน ด้วยเข้าถึงนักประพันธ์ได้ดีขึ้น อ. สว่างวันเตรียมตัวอย่างไรบ้างสำหรับการแปลภาค 2

อ. สว่างวัน : ยังไม่มีโอกาสขอบคุณผีเสื้ออย่างเป็นทางการ มีแต่การทะเลาะกันอย่างไม่เป็นทางการหลายยก อยากขอขอบคุณทุกท่านในสำนักพิมพ์ ได้เดินทางไปบ้านเกิดเซร์บันเตส เห็นว่าหนังสือฉบับภาษาไทยจัดว่าสวยที่สุดฉบับหนึ่ง การเตรียมงานทั้งหมด เวลาทำภาค 1 ต้องอ่านภาค 2 ไปด้วย ปัจจุบันไปเรียนที่มาดริด มีวิชาวรรณคดีที่ดีมาก มีอาจารย์ปรมาจารย์ด้านเซร์บันเตสและงานประพันธ์ 2 ท่าน คนแรกมีวิธีการสอนที่แปลกมาก เก่งมาก เดินเข้ามาบอกว่าใครมีอะไรจะถามบ้าง อาจารย์ตอบได้ทุกอย่าง นักศึกษาต้องไปทำการบ้านมาว่าจะถามอะไร แม้คำถามว่าเซร์บันเตสเป็นเกย์หรือเปล่า เพราะเขาติดคุกนานตั้ง 5 ปี อาจารย์ตอบว่าไม่มีทาง เพราะอะไร เมื่อนักโทษหรือผู้เคยเป็นเชลยกลับสเปน ต้องรายงานตัวว่ามีชีวิตยังไง ฝักใฝ่ศาสนาอื่นหรือเปล่า ทุกคนไม่มีใครกล่าวถึงเซร์บันเตสในแง่ลบเลย ทุกคนบอกถึงความกล้าหาญ เสียสละ ความเป็นชายผู้ดีของเขา ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องเกย์ไม่เกย์ของเซร์บันเตส พออาจารย์ทราบว่าแปลดอนกิโฆเต้ฯ อยู่ อาจารย์ปวารณาตัวว่ามีข้อสงสัยให้ปรึกษาได้ทุกเมื่อ อาจารย์อีกท่านให้ไปอ่านหนังสือพันกว่าหน้า อ่านเดือนหนึ่งเต็มๆ เป็นหนังสือขายดีก่อนหน้าดอนกิโฆเต้ฯ คนสเปนบอกว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่อ่านเล่มนี้ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจเซร์บันเตสลึกซึ้งขึ้น เซร์บันเตสบอกว่าหนังสือดีควรอ่านสนุก แต่เล่มนี้อ่านไม่สนุกเลย นี่เป็นวิธีเตรียมการอย่างหนึ่ง ได้รู้บริบทว่าวรรณกรรมสเปนยุคนั้นเป็นอย่างไร คือเซร์บันเตสเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่ง

อ. วัลยา : อาจารย์ได้ไปเรียนที่สเปน มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายินดีช่วยเหลือ อาจารย์เคยตั้งคำถามถึงภาค 2 บ้างไหม

อ. สว่างวัน : ถามว่าองค์รวมเป็นอย่างไร เซร์บันเตสสร้างเขาวงกต 1 ลูก ปากทางเข้าง่าย เซร์บันเตสใช้คำศัพท์อ่านง่าย สละสลวย พอเหมาะควร ไม่ได้ใช้คำหรูๆ มาแทรก แต่พอเดินเข้าไปข้างใน อ่านแล้วมีอะไรให้เราต้องคิดสลับซับซ้อน เราต้องเข้าใจบริบททั้งหมดจึงจะสื่อความหมายได้หลายๆ ชั้น

อ. วัลยา : ดอนกิโฆเต้ภาค 2 พิมพ์ห่างภาคแรก 10 ปี เซร์บันเตสมีชื่อเสียงในช่วง 10 ปีนั้น อยากให้อาจารย์พูดว่าทำไมต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เราเห็นความแตกต่างของเทคนิคการเขียนหรือไม่ หรือตอนท้ายภาคแรกเซร์บันเตสเขียนว่ามีการจารึกของอัศวินต่างๆ ปราชญ์ต่างๆ บันทึกที่หลุมศพตัวละคร ทำไมเขาจบโดยมาจารึกให้คนเหล่านี้เสียชีวิตไปหมดแล้ว ทำไมภาค 2 จึงกลับมา

อ. สว่างวัน : 10 ปีเซร์บันเตสทำอะไร อันที่จริงน่าจะรวยแต่ไม่รวย เพราะอาภัพมาก เกิดมาจน เป็นทหารก็ไม่ดัง ติดคุกหลายครั้ง เป็นข้าราชการ ตอนแรกเขาไม่ค่อยชอบเขียนร้อยแก้ว สมัยนั้นนักประพันธ์มีฝีมือมีสตางค์ต้องเขียนบทละคร เซร์บันเตสมีฝีมือแต่ไม่ใช่ฝีมือตามขนบในยุคนั้น ทดลองเขียนแบบอื่น เขียนบทละครออกมา 8 เรื่อง ถือว่าเป็นละครสลับฉากดีที่สุดของสเปนในสมัยนั้น แต่ไม่มีใครเอาขึ้นแสดง เขาตัดพ้อไว้ในหนังสือ พอเขียนภาค 1 จบต่อภาค 2 เลย เขียนไปๆ ในยุคนั้นมีนักเขียนดีๆ เกิดขึ้นเยอะ เซร์บันเตสไปอ่านงานก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของคนอื่น คิดว่าเรื่องแทรกทำให้โครงเรื่องหลักเสียไป จึงตัดใจยกออกจากภาค 2 ได้เป็นหนังสืออีกเล่ม เขียนไปๆ ไม่จบสักที ปี 1614 มีนักเขียนผู้หนึ่งอดรนทนไม่ได้ เขียนดอนกิโฆเต้ภาค 2 ต่อให้ ถือเป็นฉบับปลอม ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าใครเขียน มีแต่นามปากกาและการสันนิษฐานไปต่างๆ ฉบับปลอมทำให้ดอนกิโฆเต้เป็นตัวตลก เซร์บันเตสเจ็บช้ำมาก ถ้าไม่มีฉบับปลอม เราอาจไม่ได้อ่านดอนกิโฆเต้ภาค 2

อ. วัลยา : เล่มแรกมีการเดินทาง 2 ครั้ง มีเรื่องแทรก แล้วเล่ม 2 ?

อ. สว่างวัน : เล่ม 2 เดินทางครั้งเดียว เรื่องแทรกน้อยมาก แต่เรื่องแทรกเหล่านี้ถักทอเป็นผืนเดียวกับโครงเรื่องหลัก

อ. วัลยา : ในเล่ม 2 ตัวละครในเรื่องแทรกออกมาเจอดอนกิโฆเต้และซานโช่ด้วยไหม

อ. สว่างวัน : เจอค่ะ ไม่มีเรื่องที่ตัดออกไปได้เลย

อ. วัลยา : ดอนกิโฆเต้ฝันอยากได้ครอบครองอาณาจักร ซานโช่อยากได้ครอบครองดินแดนมีน้ำล้อมรอบ ความฟุ้งฝันนี้เป็นจริงไหม

อ. สว่างวัน : ได้ครอบครองดินแดน บาราตาเรีย (มาจาก บาราโต้ แปลว่าถูกๆ) ซานโช่ร่วมเดินทางกับดอนกิโฆเต้ เข้าไปอยู่ในปราสาทแห่งหนึ่ง เจอวังจริงของดยุคและดัทเชส ทั้งคู่เคยอ่านงานเขียนเล่มแรก รู้ว่าสองคนนี้อยากครอบครองดินแดน เลยให้ไปครอบครอง และสร้างเรื่องกลั่นแกล้งซานโช่ต่างๆ เป็นตลกที่ทำให้สงสารดอนกิโฆเต้และซานโช่ แต่ดอนกิโฆเต้ไม่ได้เป็นจักรพรรดิ ไม่ได้เป็นอัศวินเก่งที่สุดในโลก

เซร์บันเตสสร้างตัวละคร 1 ตัวคือ เบเนงเฆลี มาโผล่ในภาคแรก บทที่ 9 เป็นศิลปะการประพันธ์อย่างหนึ่ง ภาค 2 เปลี่ยนวิธีดำเนินเรื่อง ตัวละครมาวิจารณ์งานในภาคแรก ตัวละครซานซอน การัสโก้ มาบอกซานโช่ว่ามีหนังสือที่เล่าเรื่องราวของเธอกับดอนกิโฆเต้ ซานโช่ฟังแล้วผึ่ง ถามว่าเป็นอย่างไร ซานซอนล้อเลียนซานโช่เล็กน้อย เขาว่าเธออย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเหรียญทองคำ 100 เอสกูโด้หายไปไหน ซานโช่แอบมุบมิบไป หรือทำไมลาหายไปหายมา เซร์บันเตสมีวิธีแก้ไขที่สนุกมาก เช่นเมื่อซานโช่ถูกซักไซ้จึงบอกให้เล่าเรื่องให้ฟัง พอซานโช่ได้ยินคำว่า ดอนญาดุลสิเนอา ซานโช่ว่าเรื่องนี้ไม่จริง เพราะตลอดการเดินทางไม่เคยเรียก ดอนญา เรียกแต่ว่าแม่หญิง เรื่องนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลย สมัยนั้นเทคนิคการประพันธ์แบบนี้ไม่มี

อ. วัลยา : ในเล่ม 2 ผู้ประพันธ์สร้างตัวละคร 2 ชุด คือดยุคและดัทเชส และซานซอน ดังนั้นตัวละครในเล่ม 1 ไม่ใช่ตัวละคร แต่เป็นชีวิตจริง 2 คน เป็นวีรกรรมลือลั่นรู้กันไปทั่ว เกิดขึ้นจริง ซานโช่มีตัวจริง เหมือนการเขียนซ้อนๆ ซึ่งในภาคแรกมี แต่น้อยกว่า

อ. สว่างวัน : ภาคแรกไม่ลึกลับเท่านี้ เขาเชื่อมั่นแล้วว่าศิลปะเขาไปถูกทาง

อ. วัลยา : ตอนท้ายที่มีจารึกว่าตัวละครตายหมด แล้วภาค 2 เขาทำอย่างไร

อ. สว่างวัน : ตอนท้ายมีบทกลอน 10 กว่าหน้า เป็นบทกลอนสนุกมาก ตลกเสียส่วนใหญ่ จารึก ณ หลุมฝังศพดอนกิโฆเต้ เขาตายไปแล้ว (อ. วัลยาเสริมว่าจะเห็นว่าเขามีตัวตนจริง มีหลุมศพ) ใครย้อนไปก่อนหน้านั้น หนังสือบอกว่าแม้ผู้เรียบเรียงจะพยายามสืบเสาะหาเรื่องการออกผจญภัยครั้งที่ 3 ของดอนกิโฆเต้สักเท่าใด ก็ไม่ปรากฏพบ หนังสือบอกว่าการเดินทางครั้งที่ 3 ไปเมืองซาราโกซ่า การัสโก้บอกว่าตอนท้ายผู้เขียนสัญญาจะเขียนเล่ม 2 แต่หาต้นฉบับไม่พบ และไม่แน่ใจว่าจะเขียนไหม เพราะตามปกติภาค 2 จะไม่ดีเท่าภาคแรก แต่สุดท้ายไม่ได้เดินทางไปซาราโกซ่า เพราะฉบับปลอมไปซาราโกซ่า เซร์บันเตสแค้นใจเลยเปลี่ยนเส้นทาง

อ. วัลยา : อ. สว่างวันบอกว่าหนังสืออ่านสนุก เราน่าจะลองอ่านให้ฟังว่าอารมณ์ขันที่ว่าเป็นอย่างไร ต่อไปนี้เป็นคำพูดระหว่างดอนกิโฆเต้และซานโช่ ดอนกิโฆเต้ฝากจดหมายรักให้ซานโช่นำไปมอบแก่ดุลสิเนอา ซานโช่ไม่ได้เอาไปให้ แต่บอกว่ามอบให้แล้ว ดอนกิโฆเต้ซักว่าแม่นางเป็นอย่างไรบ้าง โดยเริ่มถามว่า

"เมื่อเจ้าไปถึง ราชินีแห่งความงามพิลาสทำสิ่งใดอยู่รึ ข้าเชื่อว่านางคงร้อยสร้อยไข่มุกหรือปักตราอัศวินด้วยดิ้นทองคำให้ผู้จงรักของนางอยู่"

"หามิได้ขอรับ นางกำลังฝัดข้าวสาลีอยู่ที่ลานบ้าน"

"ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงแน่แก่ใจได้ทีเดียวว่า เมล็ดข้าวสาลีทั้งนั้นจักกลายเป็นไข่มุกยามต้องมือนาง เจ้าได้สังเกตหรือไม่ว่าข้าวสาลีดังว่านั้นเป็นสีขาวพิสุทธิ์หรือสีน้ำตาล"

"สีแดงขอรับ"

"ข้าประกันได้ทีเดียวว่าเมื่อเมล็ดข้าวผ่านมือนางแล้ว ย่อมกลายเป็นขนมปังข้าวสาลีขาวละมุน แลเมื่อเจ้ามอบสาส์นรักของข้าแด่นาง นางจุมพิตสาส์นนั้นหรือวางไว้เหนือหัวของนางหรือไม่ หรือมีอากัปกิริยาเช่นใด นางทำฉันใดบ้าง"

"เมื่อข้าจะส่งจดหมายให้นั้น นางออกแรงฝัดข้าวเต็มกระด้งอยู่ นางจึงกล่าวว่า 'วางจดหมายไว้บนถุงแป้งนั้นเถิด เพื่อนเอ๋ย ข้ายังอ่านมิได้ถ้าไม่เป็นธุระข้าวในกระด้งให้เสร็จก่อน'"

"ช่างชาญฉลาดเสียนี่กระไร นี้คงด้วยว่านางประสงค์จะอ่านและดื่มด่ำสาส์นรักของข้าช้าๆ แล้วอย่างไรอีกซานโช่ เมื่อทำงานอยู่นั้น นางกล่าวสิ่งใดแก่เจ้า ไต่ถามถึงข้าบ้างหรือไม่
แลเจ้าตอบว่ากระไร จงเล่าทุกถ้อยทุกคำให้ข้ารู้ถี่ถ้วนเถิด"

"นางมิได้ถามสิ่งใด แต่ข้าเลช่าให้ฟังว่าท่านมาลำบากลำบนทรมานตนเพื่อนาง เปลือยร่างท่อนบน นอนกลางดิน ไม่ดื่มกินบนโต๊ะอาหาร ปล่อยให้หนวดเครารุงรัง ใช้ชีวิตในเทือกเขาแห่งนี้ดังสัตว์เถื่อนตัวหนึ่ง แลเฝ้าคร่ำครวญสาปแช่งโชคชะตาของตน"

"ที่เจ้าพูดว่าข้าสาปแช่งโชคชะตาของตนนั้น เจ้ากล่าวผิด ตรงข้าม ข้านึกนิยมยินดีโชควาสนาของตนแลจักเป็นเช่นนี้ชั่วอายุขัยของข้า ด้วยว่าชะตาดลให้ข้าคู่ควรแก่การได้รักหญิงผู้สูงส่งเช่นแม่หญิงดุลสิเนอาแห่งโตโบโซ่"

"สูงจริงแท้ขอรับ สูงกว่าข้าราวหนึ่งฝ่ามือเห็นจะได้"

"เจ้ารู้ได้ฉันใด ซานโช่ เจ้าลองเทียบส่วนสูงของเจ้ากับนางกระนั้นหรือ"

"ข้าเผอิญวัดดู ด้วยว่าเมื่อข้าช่วยนางขนถุงข้าวสาลีขึ้นหลังฬา ข้าเข้าใกล้นางจนสังเกตว่านางสูงกว่าข้าราวหนึ่งฝ่ามือ"

"แม้ความข้อนี้จะเป็นจริง แต่นางก็เป็นกุลนารีผู้เพียบพร้อมคุณความดีสูงส่ง ว่าแต่ซานโช่ เจ้าคงไม่ปฏิเสธว่า เมื่อเจ้าเดินเคียงข้างนางนั้น เจ้าได้กลิ่นหอมกรุ่นกำจายของเครื่องหอม กลิ่นน้ำหอมชั้นเลิศที่ข้าเองก็มิรู้จักชื่อ หอมตรลบอบอวลดั่งหลุดเข้าไปในร้านขายถุงมือหนังชั้นดีใช่หรือไม่"

"ข้าบอกได้เพียงว่า ข้าได้กลิ่นสาบๆ เยี่ยงบุรุษ คงด้วยเหตุงานหนัก เหงื่อออกเหนียวเหนอะหนะ"

"มิใช่ดังนั้นหรอก เจ้าคงเป็นหวัด หรือว่าได้กลิ่นตัวเจ้าเองกระมัง ข้าแน่แก่ใจทีเดียวว่ากลิ่นกายนางเปรียบได้ดุจกลิ่นกุหลาบกลางดงหนาม ดอกลิลลี่กลางทุ่งกว้าง แลกลิ่นน้ำมันหอมระเหยกรุ่น"

"คงดังนั้นแลขอรับ ข้าได้กลิ่นที่คิดว่าลอยจากร่างแม่หญิงดุลสิเนอาอยู่หลายครา ที่จริงคงระเหยมาจากตัวข้าเอง ไม่มีสิ่งใดต้องฉงนดอก ด้วยว่าปิศาจทุกตัวย่อมมีกลิ่นคล้ายคลึงกัน"

"จากนั้น เมื่อฝัดข้าวสาลีเพื่อส่งไปโรงสีแล้ว นางทำเช่นไรยามอ่านสาส์นรัก"

"จดหมายนั้นหรือ นางหาได้อ่านไม่ดอก นางบอกว่านางไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น
นางฉีกจดหมายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พลางแจงว่านางไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดได้อ่านได้ฟัง
ด้วยเกรงว่าจะทำให้ความลับฉาวไปทั้งหมู่บ้าน นางบอกอีกว่า ให้เล่าเรื่งอความรักที่นายท่านมีต่อนาง แลการทรมานตนแปลกๆ ที่ท่านกระทำเพื่อนางก็พอแล้ว สุดท้าย นางกล่าวแก่ข้าว่าขอให้แจ้งนางท่านด้วยว่า นางฝากจูบมือท่าน แลใคร่พบหน้าท่านยิ่งกว่าจะเขียนจดหมายตอบ"



อ. วัลยา

: ในภาคแรกดุลสิเนอาไม่เคยปรากฏตัว นางปรากฏตัวในเล่ม 2 หรือไม่

อ. สว่างวัน : มีค่ะ มีฉากที่ดอนกิโฆเต้ไปถ้ำแล้วยืนยันว่าเจอดุลสิเนอา แต่ไม่มีคนอื่นรู้ว่าเจอหรือไม่เจอ

คำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนา : อ. สว่างวันจะแปลภาค 2 เมื่อเรียนจบปริญญาเอก จึงอยากทราบจะใช้เวลาเรียนประมาณกี่ปี เพื่อจะประมาณได้ว่าเมื่อไรเราจะได้อ่านภาค 2

อ. วัลยา : ตอนนี้ อ. สว่างวันลงวิชาหมดแล้ว กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ มีเวลาเรียน 5 ปี ตอนนี้ผ่านไปปีเศษ หัวข้อวิทยานิพนธ์คือเซร์บันเตสในบทประพันธ์ของมัสเอา ซึ่งเป็นนักเขียนร่วมสมัยกับเรา เสียชีวิตปี 1972
เขาได้รับอิทธิพลจากเซร์บันเตสเยอะ



หลังการเสวนาเป็นการประมูลข้าวของที่นำมาแสดงในงานนิทรรศการด้วยความสนุกสนานยิ่ง ทั้งสแตมป์ รูปปั้นหุ่นดอนกิโฆเต้ตัวเล็ก ตุ๊กตาดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า กระปุกพริกไทยเกลือ แก้วน้ำ ไพ่ โปสการ์ด มีการตัดราคาและเชือดเฉือนกันอย่างน่าติดตามยิ่ง

ข้าพเจ้าเป็นนักข่าวที่เลวอีกเช่นเคย มิได้จดราคาไว้ หากใครอยากทราบขอให้แจ้งไว้ แล้วข้าพเจ้าจะมารายงานในภายภาคหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: