วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เซร์บันเตส นักฝันหลากวัฒนธรรม



เหตุใดดอนกิโฆเต้ฯ จึงเขียนขึ้นครั้งแรกด้วยภาษาอาหรับ ?

หรือพูดอีกอย่างคือ ทำไมเซร์บันเตสจึงเขียนหนังสือภาษาสเปน

โดยอ้างว่าแปลจากภาษาอาหรับ


ดอนกิโฆเต้ฯ ไม่เพียงเป็นวรรณกรรมเลื่องชื่อ แต่สะท้อนยุคสมัยที่วัฒนธรรมอิสลามในสเปนถูกกำจัด ลองดูจากบทล้อเรื่องที่มาของเนื้อเรื่องในหนังสือ เซร์บันเตสบอกว่าต้นฉบับวีรกรรมดอนกิโฆเต้ค้างไว้ที่การต่อสู้กับบุรุษชาวบาสก์ และตั้งแต่นั้น เซร์บันเตสเพียรเสาะหาตอนต่ออย่างขมักเขม้น จนวันหนึ่งในตลาดเมืองโตเลโด้ มีเด็กหนุ่มเอาปึกกระดาษเก่าเขียนด้วยภาษาอาหรับมาขาย เขาจึงเดินหาชาวมัวร์ที่พูดภาษาสเปนได้ เพื่อให้แปลปึกกระดาษเป็นภาษาสเปน “การหาฅนแปลดังว่าสักฅนหนึ่งมิใช่เรื่องยากเย็นแต่ประการใด” เซร์บันเตสถึงกับบอกว่า ขนาดให้หาฅนแปลจากภาษาฮีบรูก็ยังไม่ใช่เรื่องยากเย็น

ในเรื่อง ชายชาวมัวร์ผู้แปลบอกเซร์บันเตสว่า กระดาษปึกนี้เป็นเรื่องประวัติของดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ประพันธ์โดย ซีเด้ อาเมเต้ เบเนงเฆลี นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ เซร์บันเตสจึงพาชายชาวมัวร์นี้ไปยังระเบียงรอบมหาวิหาร และว่าจ้างให้แปลกระดาษปึกนั้น

เรารู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยั่วล้อให้ขำขัน ตั้งแต่ชื่อนักประวัติศาสตร์ ซีเด้ คือคำนำหน้าเพื่อการยกย่อง อาเมเต้ คือชื่อชาวอาหรับ เบเนงเฆลี เป็นคำอาหรับซึ่งเซร์บันเตสแผลงเสียงจาก เบเนงเฆน่า ที่แปลว่ามะเขือ นายมะเขือนักประวัติศาสตร์ผู้นี้เป็นเรื่องยั่วล้อไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ในนิยาย ดั่งการผจญภัยกังหันลมของดอนกิโฆเต้ หรือซานโช่ได้ครอบครองเกาะที่ไม่มีน้ำล้อมรอบ เบเนงเฆลีวางท่าจริงจังเหมือนอย่างดอนกิโฆเต้ แต่แสนแปลกประหลาด และเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการเข้าใจนิยายเล่มนี้

ตอนที่เซร์บันเตสเขียนเรื่องนี้ มุขตลกเหล่านี้ไม่อาจเป็นจริงได้เลย เราไม่อาจพบชาวมัวร์ที่พูดภาษาอาหรับ และชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรู ในตลาดเมืองโตเลโด้ ทั้งไม่มีชาวมัวร์ผู้ใดจะแปลหนังสือได้ที่ระเบียงรอบมหาวิหาร

ชาวยิวถูกขับออกจากสเปนตั้งแต่ ค.ศ. 1492 เหลือแต่ผู้ที่เปลี่ยนศาสนาแล้วเท่านั้น หนังสือภาษาอาหรับถูกเผาด้วยความลิงโลดไม่น้อยกว่าที่บาทหลวงเผาหนังสือของดอนกิโฆเต้ แม้ในตอนนั้นชาวมุสลิมยังไม่ถูกขับจากสเปน (เกิดขึ้นหลังจากดอนกิโฆเต้ฯ ภาคแรกตีพิมพ์เพียงไม่กี่ปี) แต่ชาวมุสลิมต้องเปลี่ยนศาสนาเช่นกัน สเปนเต็มไปด้วยคริสตังใหม่ ทั้งที่เปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาอิสลามและยูดา บ้างยังแอบถือปฏิบัติตามข้อกำหนดในศาสนาเดิมของตน เหตุที่เนื้อหมูเป็นอาหารยอดนิยมในสเปน เนื่องจากการกินเนื้อหมูคือการแสดงต่อสาธารณะว่า ผู้บริโภคมิได้ดำเนินตามกฏเกณฑ์ของอิสลามหรือยูดา ตรงข้ามกับมะเขือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหารของชาวมุสลิมและยิวมานาน ตั้งแต่สมัยโตเลโด้เป็นชุมชนชาวยิว

บทตอนเหล่านี้ของเซร์บันเตสจึงแสดงความเจ้าเล่ห์ วัฒนธรรมมุสลิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสเปนนาน 8 ศตวรรษถูกขับไล่ ชาวมุสลิมถูกกำจัดจากสเปนในช่วง ค.ศ. 1609-1614 เกิดการนองเลือดและเรื่องราวโศกนาฏกรรมจำนวนมาก ดอนกิโฆเต้ไม่อาจท่องไปทั่วแคว้นลามันช่าได้โดยไม่ประสบเรื่องราวอาดูรเหล่านี้ ชาวมัวร์และชาวมัวร์ที่เปลี่ยนศาสนามาถือคริสตัง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในฉากของดอนกิโฆเต้

เซร์บันเตสบรรยายตัวละคร มารีอา มากังเฆ โสไรยดา ว่า “นางเป็นชาวมัวร์แต่กายแลเครื่องนุ่งห่ม ทว่า จิตใจแลวิญญาณนางเป็นชาวคริสต์โดยแท้ นางมุ่งมาดจะเป็นชาวคริสต์แน่วแน่” ชาวมัวร์ในสเปนยังถูกจัดจำพวกด้วยว่าชาวถิ่นไหนเรียกว่าอย่างไร 'ตาการีโน' คือชื่อเรียกชาวมัวร์แห่งอาราก็อน ส่วนพวกอาศัยในเมืองกรานาด้า เรียกว่า 'มูเดฆาร์' ซึ่งเรียกกันในอาณาจักรเฟซ ว่า เอลเช่

ในภาคสองของนิยาย พิมพ์ ค.ศ. 1615 หลังจากมุสลิมถูกขับไปแล้ว มีตอนหนึ่ง ซานโช่เห็นเพื่อนบ้านชาวมัวร์แต่งกายปลอมตัว จึงถามว่า “ผีห่าตนใดจะจำเจ้าได้ ริโกเต้ ในชุดตัวตลกที่เจ้าสวมนี้” และ “บอกข้าสิว่าใครทำให้เจ้าแต่งเป็นฅนฝรั่งเศสเช่นนี้” ริโกเต้กล่าวถึงการขับไล่มุสลิมจากสเปนและความทุกข์เทวษนี้ เขาว่า “ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เราจักร่ำไห้ต่อสเปน ด้วยว่าเราเกิดที่นี้ นี่คือแผ่นดินแม่ของเรา”

เซร์บันเตสมีประสบการณ์เช่นนี้ ใน ค.ศ. 1571 เขาร่วมรบในฐานะคริสตังต่อสู้มุสลิมชาวเติร์กในสมรภูมิเลปันโต้ ได้ชัยชนะ เขาบาดเจ็บใช้แขนซ้ายไม่ได้จนตลอดชีวิต ต่อมาไม่นานถูกจับเป็นทาสจากกองเรือสลัดมุสลิม ประสบการณ์ช่วงนี้กลายเป็นเรื่องชาวมัวร์กับคริสตัง การลักพาตัว การเปลี่ยนศาสนา และการทรยศในเรื่อง เซร์บันเตสไม่ได้เขียนถึงเรื่องเหล่านี้ในฐานะนักรบ แต่เขียนจากมุมมองนักปรัชญา เรารู้สึกได้ถึงความเห็นอกเห็นใจต่อชาวมัวร์ของเขา ผู้รู้ยุคหลังเสนอแนวคิดว่าเซร์บันเตสอาจมาจากครอบครัวยิวที่เปลี่ยนศาสนา จึงอธิบายได้ว่าเหตุใดเขาจึงถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะเป็นวีรบุรุษสงคราม ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจเป็นได้ว่า ตำแหน่งที่เขาขอไปนั้นเป็นตำแหน่งราชการระดับสูง จึงถูกปฏิเสธ ชีวิตของเซร์บันเตสก็เหมือนกับผลงานของเขา มักตีความได้หลายด้าน และยังดึงดูดให้นักวิชาการศึกษาค้นคว้าต่อไป

ผู้รู้อื่นๆ เสนอว่านิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางศาสนายิว (Judaism) เราไม่อาจวางใจได้กระทั่งตัวละครเช่นซานโช่ ในนิยายเรื่องนี้ ซานโช่สวมบทบาทคริสตังเก่า ผู้ประกาศว่า เนื่องจากเขาเชื่อมั่นตามความเชื่อของโรมันคาทอลิก และเขาเป็น “ศัตรูของชาวยิว” นักประวัติศาสตร์จึงควรปฏิบัติต่อเขาอย่างดี


อันตัวข้าผู้ถือกำเนิดมาจากตระกูลคริสตังเก่า
ข้าว่าข้ามีคุณสมบัติเท่านี้ก็เพียงพอจะเป็นท่านเคานต์
-- ซานโช่ ปันซ่า (หน้า 222)



แต่ดอนกิโฆเต้ปฏิเสธความคิดเรื่องสายเลือดบริสุทธิ์ (จากอธิบายคำ 235 : เรื่องสายเลือดบริสุทธิ์มิมีผู้ถือศาสนาอื่นมาปนเป็นเรื่องสำคัญในสมัยนั้น โดยเฉพาะในการเป็นขุนนางหรือสมัครเป็นทหาร) ต้นฉบับของเบเนงเฆลีเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องอันจับต้องไม่ได้ของโลกที่สูญหาย ดอนกิโฆเต้ถือกำเนิดจากความคิดเปี่ยมด้วยการสิ้นสูญ เนื้อหาที่ถูกตำหนิ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาหรับหรือนิยายอัศวิน หลักการอันไม่คลอนแคลนของดอนกิโฆเต้ไม่อาจสู้รบกับโลกแห่งการหลอกลวง ต้องมนตรา และภาพฝันภาพหลอนต่างๆ ได้

สเปนของดอนกิโฆเต้คือโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อำนาจของหนังสือมาจากการแสวงหาอันดื้อดึงของดอนกิโฆเต้ เขาไม่ยอมให้เราเชื่อว่า จะมีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


* แปลและเรียบเรียงจาก ‘Regarding Cervantes, Multicultural Dreamer’ โดย Edward Rothstein นิวยอร์กไทมส์ 13 มิถุนายน 2005 ตีพิมพ์ครั้งแรกในสูจิบัตรงานนิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ที่ธรรมศาสตร์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็น blog ภาษาอาหรับ และแปลภาษาอาหรับที่ดีจริงๆครับ