วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2550

งาน ฌาคส์ เพรแวรต์ รำลึก

Jacques Prevert (1900 - 1977) เป็นกวีชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 2007 รัฐบาลฝรั่งเศสฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งมรณกรรมของเขา ในโอกาสนี้สำนักพิมพ์ผีเสื้อจัดพิมพ์ 'จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร' (Lettre des Iles Baladar, 1952) และ 'โรงอุปรากรแห่งดวงจันทร์' (L'Opera de la lune, 1953) โดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในประเทศไทยสนับสนุนการแปล การพิมพ์ และจัดเสวนาว่าด้วยผลงานของฌาคส์ เพรแวรต์ ผลงานสองเล่มนี้แปลโดย อ. วัลยา วิวัฒน์ศร



ผู้กล่าวเปิดงานเสวนานี้คือคุณฌ็อง ชาร์กอนเนต์ ผู้ช่วยทูตวัฒนธรรมสถานทูตฝรั่งเศส เขารู้จักเพรแวรต์มานานแล้ว และได้เห็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอ่านบทประพันธ์ Le Cancre (เด็กเกเร) ของเพรแวรต์ ทำให้ได้แรงบันดาลใจนิพนธ์บทกวี L'Arraignee (แมงมุม)

เพรแวรต์ไม่ได้เขียนเพียงบทกวี ยังเขียนบทภาพยนตร์กว่า 50 เรื่อง และเขียนงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก ให้เด็กๆ ไปใช้ในโรงเรียน เขาเป็นกวีผู้สามารถเอาเรื่องชีวิตประจำวันมาเขียนเป็นภาษาง่ายๆ ทำให้ผู้คนติดใจ ถือเป็นกวีดังผู้เป็นที่รู้จักมากคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20


หลังจากนั้นเป็นการเสวนา จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร โดย อ. ปณิธิ หุ่นแสวง และ อ. วัลยา วิวัฒน์ศร ผู้แปลหนังสือ



อ. ปณิธิ : สวัสดีครับ ที่นั่งข้างๆ ผมคือ รศ. วัลยา วิวัฒน์ศร อาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เชี่ยวชาญมากที่สุดในตอนนี้ มีผลงานแปลวรรณกรรมมากมายหลากหลาย วันนี้ผมยินดีจะคุยกับอาจารย์เรื่องการรำลึกถึงฌาคส์ เพรแวรต์ ในบรรดานักประพันธ์โดยเฉพาะกวีของฝรั่งเศส ถ้าถามว่านิสิตจำชื่อใครได้มากที่สุด ที่ติดอันดับหนึ่งในห้าคือฌาคส์ เพรแวรต์ เพราะงานของเขาเข้าใจไม่ยาก และพูดถึงเรื่องของนักเรียนมาก กวีที่ถูกใจนักเรียนคนนี้ กวีที่หลายโรงเรียนนำไปตั้งชื่อโรงเรียน เป็นกวีที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 14 ผลงานที่เด็กๆ ชอบส่วนใหญ่ว่าด้วยอิสรภาพและจินตนาการของนักเรียน เป็นอิสรภาพที่จะไม่พบในชั้นเรียน อาจเป็นเหตุผลให้เด็กๆ ชอบ อ. วัลยาชอบด้วยเหตุผลนี้หรือเปล่าครับจึงแปล

อ. วัลยา : นิสิตอักษรทุกคนรู้จักเพรแวรต์ ในชั้นเรียนจะเรียนบทกวีของเพรแวรต์ เขาใช้คำพูดง่ายๆ ถ้อยคำเรียบง่าย แต่เป็นการทำงานอย่างฉลาดของกวี เพื่อให้ภาษาติดปากผู้อ่าน เมื่อสองสามปีที่แล้วไปเจอหนังสือปกแข็ง เป็นงานรวมเล่ม La Pleiade ซึ่งสำนักพิมพ์กัลลิมารด์นี้จะพิมพ์แต่ผลงานมีชื่อเสียงเท่านั้น ดิฉันชอบ 2 เรื่องนี้ เพรแวรต์จะทำงานร่วมกับนักเขียนภาพประกอบ อ่านแล้วชอบทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ เก็บไว้ว่าวันหนึ่งเมื่อมีเวลาจะแปลงานของเพรแวรต์ เมื่อคุณชาร์กอนเนต์อยากพิมพ์งาน 2 ภาษาก็นึกถึงเพรแวรต์ทันที เพราะสองเรื่องนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ไพเราะ


อ. ปณิธิ : ที่จริงแล้วผมไม่ได้อ่านหนังสือ แต่ได้อ่านต้นฉบับ ฉบับภาษาฝรั่งเศสไม่สวยอย่างของอาจารย์นะฮะ (โชว์ต้นฉบับที่ถ่ายเอกสารมา) ด้อยไปทุกอย่าง แต่แม้จะอ่านฉบับจากเครื่องถ่ายเอกสาร ไม่ได้ประณีต แต่ขอระบายความรู้สึกส่วนตัวในฐานะคนอ่าน ผมชอบเพรแวรต์ก็ชอบตามแฟชั่น เพราะอ่านง่าย เพรแวรต์เป็นกวีที่ใช้ภาษาจากชีวิตประจำวัน หลายคนบอกว่าเป็นกวีที่เกิดในท้องถนน กวีของท้องถนน สำหรับผมที่เคยอยู่ในฝรั่งเศส อยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงปารีส ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าภาษาชาวบ้าน เพรแวรต์เป็นคนเดินถนนในปารีส ซอกซอนไปตามย่านเก่าๆ ของปารีส นี่อาจเป็นเหตุผลที่เพรแวรต์เป็นกวีที่ผมติดใจ ผมไม่มีโอกาสไปย่านเก่าๆ ของปารีส จะผิดกันก็ตรงนั้น ถึงผมจะไม่มีต้นฉบับสวยๆ แต่โดยชื่อ ชเลจร รู้สึกว่าโดยชื่อก็สามารถทำให้จินตนาการของเราออกไปกว้างขวาง ไม่ใช่กว้างขวางธรรมดาแต่เป็นกว้างขวางและรื่นรมย์ ชื่อ 'เกาะ' ทำให้คิดอะไรมากมาย ไม่ทราบว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่า อาจารย์ถึงเลือกมาแปล

อ. วัลยา : ชื่อเรื่องก็เป็นสิ่งจูงใจ Baladar เป็นคำที่เพรแวรต์คิดขึ้นมา ต้องมาหาว่าทำไมต้องใช้ Baladar เกาะนี้ไม่ปรากฏในแผนที่ จะปรากฏตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ชาวเรือ "เรียกเกาะเหล่านี้ว่า หมู่เกาะชเลจร ทั้งนี้เพราะเกาะเหล่านี้ไม่เคยอยู่กับที่ แล้วยังชอบเขียนชื่อของมันไว้ตรงนั้นตรงนี้บนแผนที่เดินเรืออีกด้วย" Baladar เหมือนคำกริยาภาษาฝรั่งเศส แปลว่าเดินเล่น บวกกับคำนามที่หมายถึงบทกวีดนตรีของพวกวณิพก ดังนั้นเสียงก่อให้เกิดความหมาย ทำให้จินตนาการไปได้ มีจดหมายจากหมู่เกาะนี้ พวกเขาทำอะไรกัน อยากพูดถึงการแปลชื่อเรื่อง ปกติการแปลชื่อเฉพาะเราจะไม่แปลความหมาย จะถ่ายเสียงชื่อ เป็นจดหมายจากหมู่เกาะบาลาดาร์ จึงนึกว่าต้องแปลชื่อเฉพาะหรือ ตัวบทมีชื่อเกาะต่างๆ ถ้าถ่ายแต่เสียงจะไม่มีความหมาย จึงต้องแปลชื่อเฉพาะ คิดว่าบาลาดาร์จะใช้ชื่ออะไรดี ก็นึกถึง วนัสจร คือผู้ท่องไปในป่าหรือนายพราน จะเก็บคำว่า จร ถ้าภาษากวีน่าจะเป็นชเลจร หมู่เกาะต่างๆ ในเรื่องจึงแปลมีเช่น หมู่เกาะต้องใจ เกาะนอกสารบบ เกาะปัจจุบันทันด่วน เกาะนิรนาม หมู่เกาะคุมเชิง หมู่เกาะขี้ระแวง หมู่เกาะพึงยำเกรง หมู่เกาะผลุบโผล่ หมู่เกาะคุ้มดีคุ้มร้าย หมู่เกาะดุดัน หมู่เกาะลอยเลื่อน หมู่เกาะดั้งเดิม หมู่เกาะเซื่องซื่อ หมู่เกาะพักผ่อน หมู่เกาะในฝัน หมู่เกาะจริงใจ ซึ่งเป็นชื่อที่นักเดินเรือตั้งให้หมู่เกาะนี้ การแปลต้องแปลให้คนที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสเข้าใจความหมาย จึงต้องใช้การแปลวิธีใหม่ ดังนั้นวิธีการแปลต้องอยู่ที่บริบทด้วย
เรื่องนี้ใช้ภาษากวีที่ไพเราะ มีการเสียดสีประชดประชันตามลักษณะคนฝรั่งเศส เนื้อหาที่ซ่อนไว้ในนิทานคือต่อต้านการล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสเป็นประเทศล่าอาณานิคม พอๆ กับอังกฤษในศตวรรษ 19-20 เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพรแวรต์เหมือนคนฝรั่งเศสจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการล่าอาณานิคม ในฐานะนักคิดนักเขียนเขาจึงเขียนนิทานเพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคม

อ. ปณิธิ : ฟังดูเข้มแข็งบึกบึนนะครับ แต่ผมเข้าใจว่าวิธีการเสนอปัญหาไม่ได้ทำให้อ่านหน้านิ่วคิ้วขมวด แต่อ่านอารมณ์ดีและจริงใจ ผมรู้สึกว่าเพรแวรต์ใช้ภาษาประจำวันก็จริง แต่เสน่ห์คือถ้อยคำที่ใช้ทำให้เรารู้สึกแปลก อัศจรรย์แปลกๆ อารมณ์ดี ผมฟังนักเรียนซ้อมอ่านบทกวี (โรงอุปรากรแห่งดวงจันทร์) ผมก็รู้สึกอย่างนั้น เช่นนักเรียนท่องว่า แสงสว่างของโลก แทนที่จะเป็นแสงสว่างของดวงจันทร์อย่างที่เรามักได้ยิน หรือคำว่า ราคาประหยัด ที่กลายเป็น ราคาแห่งดวงดาว ความหมายแตกต่างกันมาก นี่คือความเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเห็นในงาน หมู่เกาะก็ชวนฝันอยู่แล้ว แต่เกาะที่ไม่อยู่กับที่ช่างเป็นภาพงดงาม ความอัศจรรย์ไม่ได้เจอได้แต่ในแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ แต่เจอได้ที่นี่ เป็นเสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ เป็นการสร้างสรรค์ อาจารย์บอกว่างานพูดถึงปัญหาการล่าอาณานิคม เพรแวรต์เกิดปี 1900 เกิดพร้อมศตวรรตที่ 20 เขาผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ของศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะยุคแห่งความสวยงามหรือสงครามโลก กระทั่งยุคล่าอาณานิคม แนวคิดอยางนี้สำหรับคนเอเชียอย่างเรา เราเป็นฝ่ายถูกล่า เวลาพูดถึงการล่าอาณานิคมจะเป็นปัญหาใหญ่หนัก เศร้าหมองเคร่งเครียด แต่ผมเข้าใจว่าอ่านงานของเพรแวรต์จะไม่รู้สึกอย่างนั้น

อ. วัลยา : ไม่เลยค่ะ เพรแวรต์เล่นคำมีเสน่ห์อย่างที่ อ. ปณิธิว่าไว้ เขาเล่นกับสี นกแก้วสีน้ำเงิน หรือแดง หรือขาว นี่คือสีธงชาติฝรั่งเศส นกแก้วคือตัวแทนประเทศฝรั่งเศส พอคนไทยอ่าน สีธงชาติไทยก็เหมือนกัน แต่เราเป็นผู้ถูกล่า มีหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าเพรแวรต์เขียนในปี 1952 เพราะหลายตอนตรงกับสิ่งที่เกิดในบ้านเราปัจจุบัน

อ. ปณิธิ : เกาะมีนกแก้วสีต่างๆ มาบอกข่าว คนไม่สนใจ เพราะข่าวซ้ำๆ ว่าด้วยสงครามและเงินตรา

อ. วัลยา : สงครามและเงินตราคือสิ่งที่เพรแวรต์ไม่เห็นด้วย มองว่าผู้คนให้คุณค่ากับเงินมากไป

อ. ปณิธิ : พอมีคนมาขายข่าว มีชายชราเอาหนังสือพิมพ์มาขาย ผมไม่ทราบว่าอาจารย์แปลเพราะถูกกดดันจากสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ เนื้อความว่า "ข่าวจากมหาทวีป ขอรับ ข่าวโคมลอย ขอรับ ข่าวสมานฉันท์ ขอรับ"

อ. วัลยา : ไม่ค่ะ ดิฉันแปลตรง โคมลอยคือเชื่อไม่ได้ ทุกประเทศปล่อยข่าวเพื่อทำลายกันและกัน และพร้อมประนีประนอม ธรรมชาตินักการเมืองประเทศไหนก็เหมือนกัน เราเห็นข่าวบ้านเรา ส.ส. พรรคหนึ่งเล่นงานอีกพรรค อีกพักเรื่องจะเงียบไป เพราะต่างแฉกันและกันได้ นี่คือสมานฉันท์ในแง่การเมือง ชื่อหนังสือพิมพ์ เสียงก้องจากถ้ำและจากค่ายโจร เป็นตัวแทนมหาทวีป คือทุกประเทศที่ล่าอาณานิคม คือประเทศที่ทำสงคราม เห็นเงินตราเป็นใหญ่ เอาแรงงานทาส ทรัพยากร ทองคำ โลหะมีค่ามาเป็นของตัว วิธีนำเสนอของเพรแวรต์จึงอ่านสบาย

อ. ปณิธิ : ของความต่อมาเป็นข้อความลักษณะเฉพาะของเพรแวรต์ ทำให้เรายิ้ม แต่แสบๆ คันๆ เขาว่า ชายชราขายหนังสือพิมพ์ "รู้ดีว่า ผู้อยู่อาศัยบนเกาะนี้ไม่อ่านสิ่งตีพิมพ์ใดๆ แต่ทุกปีเมื่อเขามาขาย ชาวเกาะจะซื้อหนังสือพิมพ์ของเขาทั้งหมด ไม่เคยถามว่าเป็นฉบับวันที่ใดหรือปีใด ทั้งนี้เพื่อจุนเจือเขา" ผมว่านี่คือการสมานฉันท์อย่างดี ซื้อไปไม่ได้อ่านข่าว แต่เพื่อช่วย ถ้อยคำนี้เหมือนซื่อๆ แต่กระทบใจคนได้

อ. วัลยา : ต่อนะคะ "ชาวเกาะไม่เคยใช้เงิน จึงจ่ายด้วยปลารมควัน ยาเส้น กล้วย แยมดอกกุหลาบ ส้ม สร้อยคอเปลือกหอย แล้วชายชราก็จะจากไป หัวใจเปี่ยมสุข" ชาวเกาะอยู่ด้วยสิ่งที่เขาเพาะปลูกเอง ทำเอง และจุนเจือผู้อื่น

อ. ปณิธิ : ตัวเองมีความสุขไม่พอนะฮะ แล้วเพรแวรต์เสนอประเด็นอะไรในการล่าอาณานิคม

อ. วัลยา : พูดถึงเกาะเล็กที่สุดในหมู่เกาะชเลจร ชาวเมืองไม่รู้ว่ามีทองคำ จึงตั้งชื่อว่าเกาะที่ไม่สำคัญแต่อย่างใด เกาะเล็กไร้สิ่งใดทั้งสิ้น มหาทวีปฆ่านกยูงเอามาทำหุ่นฟาง นกยูงเปรียบเหมือนประเทศเล็กๆ ไม่มีพิษสง ชาวมหาทวีปเอาหุ่นฟางมาขายเกาะ ชาวเกาะไม่สนใจ ชาวมหาทวีปเห็นที่โกยผงทำด้วยทอง เบ็ดทำด้วยทอง แสดงว่าเกาะนี้มีทองแต่ชาวเกาะไม่เห็นคุณค่า ก็เลยจะมาขุดทอง ... มันจะกลายเป็นเล่าเรื่องไป

อ. ปณิธิ : ฮะ ไม่ต้องเล่าก็ได้ ภาพต่างๆ ที่เสนอจะมีการใช้อำนาจ อาวุธเข้าข่มขู่ ด้วยถ้อยคำธรรมดาๆ ถ้าอ่านดูจะตื่นเต้นเหมือนกัน หรือผมตื่นเต้นง่ายเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบนะฮะ อ่านเพรแวรต์แล้วเทียบกับชาวเกาะที่มีชีวิตกับธรรมชาติ เทียบกับเมืองที่กัดกินกันเอง คนถูกฆ่า ถูกลงโทษ เพราะเอาข่าวที่สงวนไว้กับคนกลุ่มหนึ่งไปขาย ภาพที่เรานึกตามเพรแวรต์ถึงพวกที่พยุหยาตราไปเกาะ ก็เหมือนสิ่งชั่วร้าย สัตว์ประหลาด เข้าไปเหยียบย่ำสิ่งสวยงามที่เพรแวรต์สร้างไว้ตั้งแต่ต้น เพรแวรต์สามารถทำให้ตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าความงาม ความน่าเอ็นดู จะไม่มีอยู่อีกแล้ว จะถูกทำลายโดยสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวมากที่สุด อาจารย์คิดว่าเพรแวรต์อยากบอกอะไรกับเราอีกใน จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร



อ. วัลยา : ตอนต้นจะบรรยายชีวิตชาวเกาะ เป็นวงจรชีวิตที่สนุกสนาน สงบสุข ชาวเกาะจับปลาทูน่าไปแสดงคอนเสิร์ต ทูน่าที่ร้องเพลงเพราะจะถูกโยนกลับลงทะเล ตัวที่ร้องไม่เพราะจะถูกกิน หนังสือบอกว่า
"เรื่องนี้พวกปลาทูน่าคงไม่ชอบนัก ก็นับว่าโชคดีแหละ เพราะเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต
บางครั้งชาวเกาะก็หล่นจากเรือหาปลา หล่นลงไปไม่ทันไร ฝูงปลาฉลามหิวโหยว่ายมาถึง
ชาวเกาะคนนั้นไม่เคยพูดว่า "นี่เป็นเรื่องที่เกิดแก่ข้าคนเดียวเท่านั้น" เขารู้ว่านี่เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นแก่ทุกคน ครั้งหนึ่ง ชาวเกาะอีกคนตกจากต้นมะพร้าวสูงลิ่ว หัวทิ่มกระแทกพื้นดินแห้งแข็ง ถึงแก่ความตาย คนอื่นๆ พูดว่า "เขาถูกลูกมะพร้าวกิน!"

ทำให้เห็นวงจรชีวิตว่าธรรมชาติเป็นประโยชน์ต่อเรา และทำร้ายเราได้ แต่มหาทวีปนั้น คนทำร้ายคน

อ. ปณิธิ : เราเกื้อกูลกันตลอดเวลา ไม่ได้ทำร้ายกัน ในการกินอาหารนั้น สิ่งมีชีวิตเกื้อกูลเรา แต่เราเกื้อกูลสิ่งมีชีวิตอื่นเช่นกัน

อ. วัลยา : หนังสือบรรยายว่าความสุขเดินเล่นอยู่บนเกาะเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง เมืองหลวงของมหาทวีปชื่อ 'ฆ่า-ฆ่า-นกยูง-นกยูง' ตรงข้ามกับเกาะ ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เพรแวรต์เขียนปี 1952 จะตรงกับเหตุการณ์ปัจจุบันในไทย พออ่านประโยค "สะพานใหญ่นั้นแม้จะผ่านพิธีเปิดใหญ่โตมโหฬารแล้ว ก็ยังอยู่ในขั้นใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จเท่านั้น และยังจำเป็นต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์อีกทั้งสะพาน" เพรแวรต์รู้หรือว่าธงชาติไทยและธงชาติฝรั่งเศสสีเหมือนกัน

อ. ปณิธิ : สุวรรณภูมิ พอดีผมดูซิตคอมนะฮะ ไม่ได้เอ่ยถึงใคร เขาบอกว่า แต่งตัวเฉิดฉันท์สุวรรณภูมิ เรื่องนี้แปลยากไหมครับ เป็นร้อยแก้วที่เป็นร้อยกรอง กลอนเปล่ามีสัมผัสนอก สัมผัสใน ในภาษาฝรั่งเศส อาจารย์ถ่ายทอดยากไหมครับ

อ. ว้ลยา : ถ้าแปลเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกคงยาก คงหยุดแปล แต่อาศัยว่าเคยแปลเรื่องยากๆ มาแล้ว ก็ยังดีใจว่าถ้าไม่มีประสบการณ์การแปลมามากพอ เราคงต้องร้องไห้ ดังนั้นถ้าถามว่ายากไหม ถ้าเป็นแต่ก่อนคงบอกว่ายาก ส่วนตอนนี้บอกว่าไม่ง่าย แต่สนุก พยายามหาคำเทียบกับต้นฉบับ เช่น ขณะที่ผู้ปกครองมหาทวีปหนีจากเกาะ เขานำรูปหล่อตัวเองบนหลังม้า เป็นรูปหล่อทองคำพาหนีไปด้วย เมื่อข้ามสะพาน สะพานก็โงนเงน เพราะยังสร้างไม่เสร็จดี แถมคนงานพากันถอดสลักเกลียว นำกลับไปเป็นที่ระลึกและค่าชดเชย สะพานจึงพัง มีประโยคว่า

"เมื่อนายพลเจ้าภาษีประสงค์จะห้อม้าทองคำสูงส่งของเขา
ตามกองทัพบนสะพานให้ทัน
ก็มิต่างจากการให้สัญญาณ
ทำลายสะพานทั้งสะพานด้วยตนเอง

ทองคำย่อมหนักกว่าน้ำ
และบางครั้งเหล็กกล้าก็เปราะบางกว่าสายลม
พลันสายน้ำเค็มและเศษเหล็กแท่งเหล็กพร่างพรายประหนึ่งพลุ

แล้วม้าทองคำตัวใหญ่
กับสะพานเหล็กกล้าสูงใหญ่
ก็หายวับไปกับตาใต้เกลียวคลื่น"


นี่เป็นประโยคยากที่สุดในการแปล ดิฉันพยายามทำให้ต้นฉบับและภาษาไทยมีความยาวใกล้เคียงกัน ลองนึกภาพสะพานเหล็กที่สูง พังลง ตกในน้ำ น้ำกระเด็นขึ้นมา นี่คือความเปรียบที่เพรแวรต์เขียนไว้ คิดว่าแปลอย่างไรจะใช้คำไม่เกิน ได้ภาพเดิม

อ. ปณิธิ : ผมไม่มีหนังสือ หนังสือที่อาจารย์มีในมือ เพรแวรต์เป็นคนเขียนและมีคนวาดรูปเป็นคนอื่น ผมกำลังคิดถึงศัพท์คำหนึ่งที่เราใช้ คือเท็กซ์กับภาพประกอบเป็นอันหนึ่งเดียวกัน แยกจากกันไม่ออก เหมือน เจ้าชายน้อย นี่เป็นลักษณะเดียวกันใช่ไหมครับ

อ. วัลยา : ใช่ค่ะ โดยเฉพาะ โรงอุปรากรแห่งดวงจันทร์

อ. ปณิธิ : ฉบับแปลใช้รูปจากเขา

อ. วัลยา : ใช่ค่ะ ผีเสื้อพอเห็นก็คิดว่าควรใช้รูปเขา ไม่จำเป็นต้องวาดใหม่ หนังสือบางเล่ม เช่น นิทานข้างถนน สำนักพิมพ์ผีเสื้อวาดรูปเอง ซึ่งได้รับคำชมจากประเทศฝรั่งเศสว่าสำนักพิมพ์ไทยวาดภาพสวยกว่าของฝรั่งเศส ผีเสื้อมีจิตรกรฝีมือดี

อ. ปณิธิ : อาจารย์มีอะไรจะแนะนำอีกไหมครับ

อ. วัลยา : ถึงตอนจบ ชาวเกาะไม่ยอม ลุกมาต่อสู้ ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น หาทางขับไล่คนเหล่านี้ออกไป คนจากมหาทวีปทิ้งข้าวของไว้ เจอเครื่องฉายหนัง ก็เห็นแต่ข่าวสวนสนาม รู้สึกใช้ไม่ได้ ก็โยนทิ้งทะเล ชาวเกาะจึงฉายหนังของตนเอง ใช้จินตนาการเล่าเรื่องราวของตัวเอง เรื่องการทิ้งข้าวของจากมหาทวีปนั้น เพรแวรต์บอกว่าเราไม่ควรรับอารยธรรมของชาติที่มาครอบครองเรา แต่ควรรักษาวัฒนธรรมเดิมของเรา ต่อมามีการตั้งชื่อเกาะใหม่ว่า เกาะใหม่แสนสุข แต่บางคนก็พอใจเรียกว่า "เกาะเหมือนเดิม" นั่นคือตอนจบ

อ. ปณิธิ : ขอจบรายการตรงนี้ อยากเรียนท่านผู้ฟังว่าข้อสรุปผมคงไม่ต่างจากอาจารย์วัลยา เมื่ออ่านตอนต้นจะรู้สึกว่าเพรแวรต์พยายามบอกว่าธาตุแท้ของมนุษย์นั้น มีความดี เป็นสิ่งมีชีวิตใสสะอาด บริสุทธิ์ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักมีชึวิตกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีสัมพันธภาพอย่างดี ความชั่วทั้งหลายเป็นสิ่งที่ผ่านมาทำลาย ความชั่วนั้นมีความโลภ ฉ้อฉล แต่ลองอ่านหนังสือดู ขณะเพลิดเพลินกับภาษาของเพรแวรต์ ถึงตอนจบ ตราบใดที่เราไม่ยอมรับอำนาจ ความชั่วไม่ควรเอาชนะเราได้ ความชั่วไม่ควรเอาชนะความดีงาม ความบริสุทธิ์ได้ ถ้าไม่ยอมรับอำนาจความชั่ว ไม่ยอมรับว่ามีอำนาจเหนือเรา เราจะอยู่ในหมู่เกาะเหมือนเดิมได้

* * *





หลังจากนั้นเป็นการพักน้ำชา และเป็นการอ่านบทนิพนธ์เรื่องโรงอุปรากรแห่งดวงจันทร์ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าอยากบอกว่าน้องๆ นิสิตเหล่านี้เก่งน่าทึ่งมากๆ นี่เป็นการอ่านบทนิพนธ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง เห็นได้ว่าน้องๆ เตรียมตัวฝึกซ้อมอย่างดี อ่านได้ไพเราะมาก เป็นการเล่าเรื่องทั้งสองภาษา ภาษาฝรั่งเศสและไทย ไพเราะทั้งน้ำเสียง ได้ทั้งความรื่นรมย์จากถ้อยคำกวีในเรื่อง ใครที่ได้ฟังคงประทับใจไม่ต่างกัน อดเสียดายแทนผู้ที่ไม่ได่ร่วมฟังว่าพลาดของดีเสียแล้ว





ผู้สนใจหนังสือโปรดอดใจรอสักนิด หนังสือแสนเสน่ห์ 2 เล่มนี้จะวางแผงในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รูปดำปิ๊ดปี๋ ดูไม่รู้เรื่องเลย
เปลี่ยนรูปใหม่ได้ไหมคะ

Don de Bangkok กล่าวว่า...

จะนำรูปมาแสดงเพิ่มเติมค่ะ รักแล้วรอหน่อย...นะ