วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2550

ฮาโรลด์ บลูม อ่าน ดอนกิโฆเต้ อย่างไร


ฮาโรลด์ บลูม นักปราชญ์ด้านวรรณกรรมชาวอเมริกัน เขียนไว้ว่า เซร์บันเตสและเช็คสเปียร์เสียชีวิตในวันเดียวกัน และต่างเป็นนักเขียนตะวันตกฅนสำคัญนับตั้งแต่ดานเต้เป็นต้นมา จวบจนบัดนี้ยังไม่มีนักเขียนฅนใดเทียบเทียมทั้งสองได้ ไม่ว่าจะเป็นตอลสตอย เกอร์เธ ดิกเกนส์ พรูซต์ จอยซ์ ไม่เพียงเท่านั้น นักเขียนรุ่นหลังไม่อาจหลบหนีพ้นจากเซร์บันเตสได้ ดิกเกนส์ โฟลแบรต์ จอยซ์ และพรูซต์ ต่างสะท้อนวิธีการเล่าเรื่องของเซร์บันเตสทั้งสิ้น

บลูมแนะนำการอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ ไว้ในหนังสือ How to Read and Why (2000) ว่า “หากจะพูดคุยกันในเรื่อง ควรอ่านนวนิยายอย่างไร จำเป็นต้องกล่าวถึง ดอนกิโฆเต้ฯ ของเซร์บันเตส ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรกและนิยายดีที่สุดของนิยายทั้งมวล อีกทั้งยังเป็นมากกว่านิยาย"

เนื่องจาก ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นหนังสือยาวมาก บลูมจึงแนะนำให้ผู้อ่านพิจารณามิตรภาพระหว่างดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่า ซึ่งเป็นมิตรภาพที่จะไม่เห็นที่ไหน แม้แต่ในงานของเช็คสเปียร์
ดอนกิโฆเต้และซานโช่โกรธเคืองผิดใจกันหลายครั้งหลายหน แต่กลับมาคืนดีกันเสมอ และไม่เคยคลายความรักความภักดีต่อกัน บทสนทนาของทั้งสองมีความหมายและมีความสำคัญ ลองเปิดหนังสือดูสักหน้า เราอาจพบถ้อยสนทนาระหว่างนายบ่าวคู่นี้ ซึ่งอาจอยู่ในอารมณ์ขุ่นเคืองหรือรื่นเริง แต่เปี่ยมความรักใคร่และมีพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน

เราต่างอยู่ในหนังสือเล่มนี้ มีเกียรติได้ฟังบทสนทนาชั้นยอดระหว่างอัศวินและซานโช่ ปันซ่า อัศวินสำรองของเขา บางครั้งตัวเราหลอมไปกับเซร์บันเตส แต่ส่วนใหญ่เราเป็นนักเดินทางที่ไม่มีใครเห็น ผู้ร่วมทางกับคู่หูเลิศล้ำไปในการผจญภัยและในเหตุการณ์เคราะห์ร้ายต่างๆ

เราจำต้องตระหนักขณะอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ ว่า เราไม่อาจวางตัวว่าฉลาดเหนืออัศวินและซานโช่ได้ เนื่องจากเวลาทั้งคู่อยู่ด้วยกัน เขารู้มากกว่าที่เรารู้ เมื่องานเขียนยิ่งใหญ่นี้จบลง อัศวินและซานโช่รู้แน่ชัดว่าตนเป็นใคร ซึ่งไม่ใช่จากการผจญภัยเท่ากับจากบทสนทนาสุดวิเศษของทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียงหรือการแลกเปลี่ยนความเห็น

แม้ทั้งสองจะโต้เถียงกันเผ็ดร้อนเพียงไร แต่ความรักและหวังดีต่อกันของทั้งคู่ไม่เคยลดน้อยลง ทั้งสองเรียนรู้ซึ่งกันและกันตลอดเวลา ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการได้ฟังอีกฝ่ายหนึ่ง ดอนกิโฆเต้และซานโช่ได้พัฒนาตัวตนใหม่ที่รุ่มรวยกว่าเดิม ค่อยซึมซับคุณค่าที่อีกฝ่ายยึดถือทีละน้อย การมองเห็นอันวิปลาสของดอนกิโฆเต้ เริ่มมีมิติที่ฉลาดและรอบคอบขึ้น ส่วนภูมิปัญญาชาวบ้านของซานโช่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกเกียรติยศของอัศวิน แม้ธรรมชาติของทั้งสองจะไม่เคยหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ทั้งคู่ได้เรียนรู้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

บทกวี โดยเฉพาะของเช็คสเปียร์ สอนให้เราคุยกับตัวเอง แต่ไม่ได้สอนให้คุยกับคนอื่น ทว่า ดอนกิโฆเต้และซานโช่รับฟังกันและกันจริงๆ อีกทั้งเปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากการรับรู้นี้--- มิตรภาพระหว่างซานโช่ ปันซ่าและอัศวินของเขา เลิศล้ำกว่ามิตรภาพอื่นใดในทางวรรณกรรม

อาการบ้าของดอนกิโฆเต้เกิดจากความตั้งใจจะวิกลจริตโดยแท้ นั่นคือเป็นความบ้าที่ไม่ได้มาจากเหตุผลอื่นใด ดังจะเห็นได้จากบทสนทนาระหว่างซานโช่และดอนกิโฆเต้ดังนี้

“ข้าเข้าใจว่า อัศวินที่ทำดังนั้นก็ด้วยมีเหตุกระตุ้น แล้วนายท่านเล่าขอรับ อะไรคือเหตุให้ท่านต้องกลายเป็นบ้า หญิงใดเมินเฉยท่าน … หรือมีเค้ามูลส่อว่า แม่หญิงดุลสิเนอาแห่งโตโบโซ่คบชู้สู่ชาย … หรือขอรับ”

“นี้แลคือข้อหมายสำคัญ” ดอนกิโฆเต้ตอบ “นี้คือความละเอียดอ่อนของสิ่งที่ข้าจะกระทำ การที่อัศวินพเนจรบ้าคลั่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งย่อมไม่มีคุณค่าอันใด ความวิเศษของมันอยู่ที่ว่าไม่มีมูลเหตุอันใดต่างหากเล่า …”

เช่นนี้แล้ว จะกล่าวได้ว่าดอนกิโฆเต้เป็นคนเสียจริตละหรือ เขาไม่ใช่ฅนโง่และไม่ใช่ฅนบ้า เขามักจะมองเห็นอย่างน้อยสองด้าน นั่นคือเห็นด้านที่เราเห็น แต่เขาเห็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งเป็นความเกรียงไกรที่เขาปรารถนาจะมอบให้ หรืออย่างน้อยได้มีส่วนแบ่งปัน

ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นทั้งโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม เซร์บันเตสทำให้ฅนอ่านรื่นเริงบันเทิงใจ การอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นความเพลิดเพลินไม่สิ้นสุด เราต่างเป็นตัวละครหนึ่งของเซร์บันเตส เป็นส่วนผสมของดอนกิโฆเต้กับซานโช่

หากจะถามว่าเหตุใดจึงควรอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ นั่นเพราะว่าเป็นนิยายดีที่สุดและเป็นนิยายเล่มแรกสุดของนิยายทั้งปวง

ดอนกิโฆเต้ฯ คือกระจกที่ไม่ได้ส่องให้เห็นธรรมชาติ แต่ส่องให้เห็นตัวตนผู้อ่าน มีส่วนหนึ่งในตัวเราที่เรายังไม่ได้รู้จักอย่างแท้จริง จนกว่าจะได้ไปรู้จักดอนกิโฆเต้ และซานโช่ ปันซ่า


แปลและเรียบเรียงจาก
* Bloom, Harold. Introduction: Don Quixote, Sancho Panza, and Miguel de Cervantes Saavedra. 2003.
* Bloom, Harold. How to Read and Why. Scribner, 2000.

จาก สูจิบัตร งานนิทรรศการหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ 3-10 มีนาคม 2550

* ภาพประกอบโดย Honore Daumier (1808 - 1879)

ไม่มีความคิดเห็น: