วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่ห้า


รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

งานเสวนาเรื่อง 'บรรณาธิการต้นฉบับแปล กับการตรวจแก้วรรณกรรมสำคัญ' มีผู้เสวนาบนเวทีคือ อ. วัลยา วิวัฒน์ศร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ทั้งสองเป็นบรรณาธิการต้นฉบับแปล ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน และคุณสุวัฒน์ หลีเหม ผู้เคยอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับแปล ปัจจุบันมีอาชีพเป็น บ.ก. ต้นฉบับแปล

อ. วัลยา : ขอต้อนรับท่านผู้ฟังทุกท่าน ในแง่การแปลและการตรวจแก้ต้นฉบับงานแปล คุณมกุฏถือเป็นอาจารย์ของดิฉัน ก็องดิด งานแปลเรื่องแรกทำให้ดิฉันเห็นว่าผิดพลาดอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร คุณมกุฏมุ่งมั่นมากในการตรวจแก้เพราะเป็นนักประพันธ์ และทำงานทางวรรณกรรมมาเป็นเวลานาน มีประสบการณ์กว่า 30 ปี มากกว่าดิฉัน คุณมกุฏอยากให้สอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาวิชาแปล มีวิชาการตรวจแก้ต้นฉบับ คณะอักษรศาสตร์กับผีเสื้อจัดอบรมเรื่องบรรณาธิการต้นฉบับแปลแก่บุคคลภายนอก ขณะนี้จัดแล้ว 5 ครั้ง ใช่ไหมคะ (หันไปถามคุณมกุฏ) จะจัดอีกครั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ คงเป็นครั้งสุดท้าย (คุณมกุฏแย้ง) ดิฉันไม่ประสงค์จะทำงานต่อหลังจากทำงานมาระยะเวลายาวนาน (คุณมกุฏทำสีหน้าเซ็ง) ไม่ต้องมาทำหน้า... (หัวเราะ)

คุณมกุฏติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยอื่น ที่มหาสารคาม การตรวจแก้เป็นสาขาวิชา และล่าสุดคือ ม.บูรพา จะเป็นสาขาวิชาเอก คุณมกุฏไปดูเรื่องการคัดนิสิตเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คุณมกุฏ
: นักศึกษาปี 1 ต้องเลือกวิชาเอกในปี 2 มีวิชาเอก 3 สาขาให้เลือกคือ บรรณารักษ์, สารสนเทศและบ.ก. ต้นฉบับ นิสิต 39 คนมีเด็กเลือกวิชานี้ 21 คน หลังสัมภาษณ์แล้ว วันนั้นยกโขยงไปหลายคน แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะรับทั้ง 21 คนหรือไม่ เมื่อถามว่าหนังสือเล่มสุดท้ายที่คุณอ่านคืออะไร เมื่อใด ตอบว่าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร คำถามว่าชอบอ่านหนังสือไหม ตอบว่าไม่ค่อยชอบ อย่างนี้ก็คงจะไม่ได้

เมื่อคืนผมนอนไม่หลับ ลุกมาจด เราเริ่มงานนี้มาตั้งแต่วันเสาร์จนถึงวันนี้ มีบุคคลหนึ่งมาที่นี่ทุกวัน มาดูงาน มานิทรรศการ ตอนแรกไม่ทราบว่าเป็นใคร ได้แต่ทักทาย เมื่อวาน อ. วัลยาบอกว่ารู้ไหม คนที่มาคือ รปภ. ผมดีใจ คิดว่าเขาคงเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง คือ รปภ. คล้ายๆ รมต. วันแรกมีข้าราชการระดับสูงมาหลายคน คนหนึ่งขอหนังสือ นิสัยผมใครอยากได้อะไรผมให้ แต่ 'อยากได้' กับ 'ขอ' ไม่เหมือนกัน ตอนแรกผมตัดสินใจส่งไปให้ แต่เมื่อคืนผมเปลี่ยนใจแล้ว ผมจะส่งหนังสือของผีเสื้อทุกเล่มไปให้ รปภ. ผู้นี้เป็นเวลา 3 ชั่วอายุคน คือรุ่นเขา รุ่นลูกเขา และหลานเขา ที่เล่าเรื่องนี้แสดงอะไรให้เห็น คนบางคนบางพวกอยู่ผิดที่ผิดทาง เมื่อเช้านั่งรถมาผมหวังว่าหากเขาปรารถนาจะทำงานกับสำนักพิมพ์ผม ผมจะเชิญ และเขาจะมีเงินเดือนเท่าบรรณาธิการ

ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญเรื่องหนังสือ เราจะหวังอะไรได้ล่ะครับ ตั้งแต่ผมทำดอนกิโฆเต้ฯ อ. วัลยาบอกว่าผมเริ่มเสียสติมากขึ้นทุกทีๆ ผมอยากเป็นอัศวิน อัศวินที่ได้ทำอะไรดีๆ กับหนังสือ วิชาบรรณาธิการต้นฉบับสำคัญ ขาดไม่ได้ วันที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีมา บอกว่าญี่ปุ่นมีหน่วยงานดูแลเรื่องแปลมาเป็นร้อยปีแล้วมั้ง ดังนั้นวรรณกรรมคลาสสิกทั้งหลายมีอยู่ในภาษาญี่ปุ่นหมดแล้ว แต่ในไทย มีเล่มไหนบ้างที่แปลอย่างเป็นทางการโดยการรับรองของรัฐบาล ไม่มี ลูกหลานเหลนโหลนเราจะล้าหลังต่อไป ถ้าไม่มีวิชาการตรวจแก้ จะหวังอะไรได้

อ. วัลยา : ตอนแรกคนบอกว่าจะไปสอนอะไรได้ ทำไมต้องมีวิชา บ.ก. ต้นฉบับ เวลาที่เราแปลหนังสือ เราเข้าใจความหมายในภาษาต้นฉบับ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เมื่ออ่านภาษาไทย ความเข้าใจภาษาต้นฉบับยังอยู่ในสมองเรา เราคิดว่าภาษาแปลนั้นถ่ายทอดอรรถรส ภาพ เสียง กลิ่น หมดแล้ว เราก็มองไม่เห็นข้อบกพร่องในการแปลของเรา ดังนั้นความเข้าใจเดิมยังคงอยู่

หากใครเก่งภาษาไทยโดยรู้เรื่องวรรณศิลป์ เป็นคนอ่านหนังสือแล้วเห็นภาพพจน์ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้สัมผัส เขามาคุยกับเรา เขาอาจอธิบายให้เราได้ว่าภาพพจน์ไม่แจ่มชัด นี่คือความสำคัญของการมี บ.ก. ต้นฉบับ เช่น "เขาตะเกียกตะกายลงจากหน้าผา" ดิฉันจะมองไม่เห็นภาพ สำหรับดิฉัน การตะเกียกตะกายคือการไต่ขึ้น คำนี้ทำให้นึกภาพตัวละครไม่ออก ผู้แปลอาจเห็นภาพอีกอย่าง คำเหล่านี้เป็นคำที่ดิฉันสะดุด คำว่า 'ไต่' ใช้ได้ทั้งขึ้นและลง แต่ ตะเกียกตะกาย ขึ้นอย่างเดียว

เมื่อวานนี้คุณสุวัฒน์ขึ้นเวทีในฐานะนักอ่าน ขณะอ่าน เขาบอกว่ามีโมหะจริต อยากจับผิดอาจารย์เพราะอาจารย์มาจับผิดเขา แต่การเขียนของเซร์บันเตส สาระในนั้นทำให้คุณสุวัฒน์ลืมจับผิดอาจารย์

คุณมกุฏ : เขาจับผิดเก่งนะ ตอนหลังได้รับเชิญไปสอนวิชาการตรวจแก้ต้นฉบับที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพา เขาเป็นความหวังหนึ่งของวิชาตรวจแก้ต้นฉบับ จากการอบรมที่ผ่านมา 5-6 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมบอกว่า คนที่ทำงานเป็น บ.ก. ต้นฉบับต้องมีลักษณะ ปากหมา ตาผี หูปีศาจ ผมวิตกที่ อ. วัลยาจะหยุดสอน เพราะวิชานี้สอนคนเดียวไม่ได้ สังขารอย่างนี้จะไปสอนได้อย่างไร 50-60 ชั่วโมง อยากให้อ. วัลยาเห็นว่าคนมันเยอะนะ พลังมันเยอะ ช่วยบอกอาจารย์ว่าอย่าเกษียณเถอะ ขอให้ช่วยสอน

มีรุ่นหนึ่งตอนสอน ผมย้อมผม ย้อมผมสีดำ อุตส่าห์ย้อมเข้ามาในห้อง ตั้ง 40 ชั่วโมงไม่มีใครถามผมสักคนว่าทำไมผมจึงดำ ย้อมคิ้วด้วย ย้อมอย่างดี ไม่มีใครถาม ในที่สุดต้องบอกว่าที่ย้อมผมนี้คือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ถ้าหัวเบ้อเร่อเบ้อร่ายังไม่สังเกต แล้วจะไปสังเกตตัวอักษรเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างไร (คุณสุวัฒน์เสริมว่าควรย้อมครึ่งหัวเฉพาะซีกซ้ายหรือขวา) อย่างวันนี้เหรียญที่ผมติดเสื้อมา ไม่มีใครถามเลยว่าเหรียญอะไร

วันดีคืนดี หน้าสำนักพิมพ์ผีเสื้อมีคนมากดกริ่ง พอเดินออกมาเช้าวันหนึ่ง มีลังกระดาษ 10 ลังวางที่ประตู ปราศจากผู้คน คุณรู้ไหมว่าในนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่ระเบิด ไม่ใช่ขนม ในนั้นมีหนังสือวัดเกาะประมาณ 2 พันเล่ม

อ. วัลยา : หนังสือวัดเกาะคือบทกลอนสมัย 70 ปีที่แล้ว เล่มเล็กๆ บางๆ เป็นกลอนเช่นของสุนทรภู่ ปัจจุบันเป็นหนังสือหายาก


(ภาพจาก ผู้จัดการ)

คุณมกุฏ : แต่อยู่ในลังนี้ครบถ้วนทั้งหมด ผมงงจนบัดนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเมื่อวานซืนเราพูดเรื่องเปอะเปี๊ยะดอนฯ ทำไมเจ้าของร้านจึงมาเปิดที่หน้าปากซอย เฉพาะช่วงที่เราทำหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ แต่พอดอนกิโฆเต้ฯ ปิดเล่มพิมพ์เสร็จ ร้านนี้หายไปเลย เราคิดว่าเซร์บันเตสส่งเขามา

คุณณรรฐ ไม่เคยทำหนังสือ มาช่วยเรา การแก้ต้นฉบับมีการโยงเยอะมาก ใช้หมึกสีเขียว การตรวจแก้ไม่ใช่หมึกแดง เพราะครูใช้หมึกสีแดงกับเราตั้งแต่เด็กและเรารู้สึกเจ็บปวด หากใช้หมึกสีแดงแม้แต่ตัวเดียว เจ้าของจะรู้สึกไม่ดี คุณณรรฐมาช่วย คุณคิดดู หนังสือ 600 หน้า จะต้องทำต้นฉบับทั้งหมด 12 ชุด ตรวจแก้ 12 ครั้ง แก้ครั้งที่ 1 คุณณรรฐต้องนั่งหน้าจอ จิ้มๆ พิมพ์ใหม่ แก้ครั้งที่ 1 คุณณรรฐจิ้มๆ ลายมือผมยุ่งอีรุงตุงนัง อ. ปณิธิบอกว่าต้นฉบับมันเหม็นเพราะเอาไปนอนด้วย พอคุณณรรฐทำเสร็จแล้ว เขาขี่รถยนต์โฟล์คสวาเกนเก่าๆ หายไปเลย

อ. วัลยา : เรียมเหลือทนแล้วนั่น

คุณมกุฏ : ถ้าไม่มีณรรฐ ต้นฉบับนี้ไม่เสร็จ ผมเพิ่งทำหัวใจออกจากโรงพยาบาล ณรรฐเป็นคนช่วยผมอย่างมาก ผมพยายามติดต่อเขา แต่ติดต่อไม่ได้ ไม่รู้เขาอยู่ไหน ใครเจอณรรฐช่วยบอกให้มารับเหรียญหน่อย ผมอยากมอบเหรียญให้เขา

อ. วัลยา : ก่อนคุณมกุฏถูกเซร์บันเตสครอบงำ ได้ถูกบัลซัคครองงำมาก่อน แก้ 12-17 ครั้ง

(ในการเสวนา อ. วัลยามีตัวอย่างต้นฉบับมาให้ดู ขอให้ผู้เข้าร่วมเสวนาลองอ่านว่าสะดุดติดขัดอะไรไหม อ่านตรงไหนไม่เข้าใจ ไม่เห็นภาพ การสะกดผิด การใช้คำซ้ำ ตัวอย่างเหล่านี้ใช้เพื่อเป็นประเด็นว่าในการตรวจแก้ต้นฉบับ เราดูอะไรบ้าง)

คุณมกุฏ : การตัดคำต้องคิดด้วยว่าทำไม คำว่า 'ที่อยู่' ทำให้คิดไปถึง address จึงตัดออกได้ แต่ต้องดูว่าไม่ทำให้ภาษาเดิมเสียไป ผู้ตรวจแก้ต้นฉบับต้องทำงานร่วมกับผู้แปล ไม่ต้องมาตบตีกันทีหลัง

คุณสุวัฒน์ : ต้นฉบับที่ใช้ตัวเลขและตัวหนังสือ เมื่อใดที่ตัวเลขอยู่ในเครื่องหมายคำพูด ให้ใช้คำอ่านแทนตัวเลข เมื่ออยู่นอกคำพูด ให้ใช้ตัวเลข

อ. วัลยา : ถ้าสำนักพิมพ์แต่ละแห่งมีการตรวจแก้ ผู้อ่านจะไม่เกิดภาพสะดุด และมีการเกลาภาษา การดูคำสะกด

คุณมกุฏ : การสะกดสมัยนี้เรียกพิสูจน์อักษร ผมชอบใช้คำเดิมใน ร. 6 ว่าตรวจทานมากกว่า เพราะเห็นคำนี้แล้วนึกถึงตำรวจต้องไปพิสูจน์หลักฐาน พิสูจน์ศพ คืออยากใช้คำว่าตรวจทาน ก็อยากให้ลองคิดดู

อ. วัลยา : จากแบบฝึกหัด เมื่อไรภาพไม่ชัด ผู้แปลต้องบอกว่าเราแปลผิด ตาผีคืออ่านแล้วต้องสะดุด ตรรกะในแง่ความเป็นเหตุผลดูแล้วเป็นไปไม่ได้

คุณสุวัฒน์ : ถ้าเราไม่มีต้นฉบับของประโยค

อ. วัลยา : ต้องถามผู้แปลทันทีว่าทำไม ผู้แปลควรจะไปค้น

คุณมกุฏ : การตรวจแก้ต้นฉบับ นักเขียนบางคนไม่ใช้ความหมายแรกของคำศัพท์เลย ถ้าแปลโดยใช้ความหมายแรก เรื่องจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในการตรวจแก้ต้นฉบับครั้งหนึ่ง ของนักเขียนที่ไม่ชอบใช้ความหมายที่หนึ่งหรือสองเลย แต่ชอบใช้ความหมายไกลๆ ออกไป คำพวกนี้ทำให้เราหลงกล สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาตัวนักเขียนให้เจอ หาจากไหน จากประวัติหรือก็ใช่ แต่ลึกไปกว่านั้นคือเรื่องที่คุณอ่านอยู่นั่นเอง นักแปลบางคนสามารถแปลเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างแยบยลมาก นักแปลอาจเผลอมองเห็นคำว่า กรวดทราย เป็น ช้าง ได้ ชีวิตของเราดั่งหนึ่งช้างที่อยู่บนหาดทราย ถ้าไม่เฉลียวใจไม่สงสัย ก็ได้ แต่ตาผีต้องเห็นว่าทำไมช้างไปอยู่บนหาดทราย ไม่ปกติ ต้องดูต้นฉบับ แก้ได้ทันที ไม่ต้องถามผู้แปลได้

บ.ก. ที่ตรวจแก้ต้นฉบับภาษาที่ 1 ได้จะต้องรู้ภาษานั้นอย่างดี แต่ถ้าไม่มีก็ต้องหาคน บางครั้ง บ.ก. ต้นฉบับที่ทำงานมานานอาจพลาดได้ จึงต้องมีมือที่ 2 คอยดูว่า บ.ก. คนแรกพลาดอะไรมา คนนี้จะสนุกที่จับได้ว่าผิด จะสนุกที่สุด ผมยินดีเป็น บ.ก. มือสองตลอดชีวิต ทุกครั้งที่ผมเจออะไรก็ตามที่ อ. วัลยา ผิด ผมจะมีความสุขมาก 4 ทุ่ม-5 ทุ่มโทรไปหา อ. วัลยา อาจารย์ครับผิดตรงนี้ครับ ผมจะ โอ๊ย... (สีหน้าปลาบปลื้ม)
เมื่อคุณฝันเป็นภาษาฝรั่งเศส อย่าได้หวังว่าจะตรวจแก้ต้นฉบับฝรั่งเศส-ไทยได้ 100% ต้องมีคนคอยจับผิด คนนั้นไม่ต้องจบปริญญาเอกภาษาไทย ผู้ที่จบปริญญาเอกภาษาไทยเขาคิดเป็นภาษาอังกฤษ ดร.ท่านหนึ่งใช้ภาษาไทยคำว่า งานครั้งนี้ให้การสนับสนุนโดย ... งานนี้มันขึ้นศาลหรือครับ ถึงใช้คำว่า 'ให้การ' เพราะเขาคิดประโยคนี้เป็นภาษาอังกฤษ

เรากลัวว่าอ่านดอนกิโฆเต้ฯ ภาษาไทยจบ ไปคุยกับฝรั่งปรากฏว่านักอ่านไทยบอกว่าดอนกิโฆเต้ฯ ดีมาก ใช้ภาษาทันสมัยเปี๊ยบ ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากความละอายที่เราจะได้รับ เพราะหนังสือเขียนมา 400 ปีแล้ว

อ. วัลยา : บ.ก. ต้องอ่านแล้วเห็นภาพ แล้วคิดว่าภาพไปด้วยกันได้ไหม และขอให้เชื่อความสามารถของนักประพันธ์ ว่าเขาจะไม่เขียนอะไรไม่เข้าท่า ดังนั้นต้องสะดุด ในการสลับประโยค อย่าเริ่มแปลด้วยการสลับตำแหน่ง อย่าสลับวลีข้างต้นข้างท้ายในทันที ควรคงไว้ถ้าโครงสร้างยังเป็นไทย เพราะนักเขียนเรียงตามความสำคัญ จะสลับเฉพาะเมื่อโครงสร้างประโยคไม่เป็นภาษาไทย

คุณมกุฏ : ถ้าอ่านดอนกิโฆเต้ฯ จะมีข้อสงสัยเยอะ อย่างเรื่องคำโบราณ อ่านแล้วรู้สึกไหม ผู้บรรยายกล่าวถึงคำว่าวิสัยทัศน์ จินตนาการ อ่านแล้วรู้ว่าตัวละครจินตนาการ แต่ไม่เคยมีคำว่าจินตนาการในยุคนั้น สุดท้ายเราใช้คำว่า คิดฝัน หรือคำว่าสุภาพบุรุษ ใช้คำว่า ชายผู้ดี คำว่าวิสัยทัศน์เป็นคำใหม่ เราไม่ใช้ จะบอกว่าสมเด็จพระนเรศวรมีวิสัยทัศน์กว้างไกลนั้นใช้ไม่ได้ จึงใช้คำอื่นแทน เหมือนอัศวินสมเด็จพระนเรศวรจ๊าบมาก ใช้ไม่ได้ ไม่ถามหรือครับว่าผมเอาคำเหล่านี้มาจากไหน

ตอนตรวจเรื่องของวอลแตร์ หรือบัลซัค ผมคือวอลแตร์ ผมคือบัลซัค ได้ผลนะครับที่สมมติตัวเองเป็นนักเขียน เหมือนคนที่ทรงเจ้าเข้าผี และทำได้ แต่เซร์บันเตสไกลเกินไป ผมอ่านต้นฉบับ 6 เดือน ยังไม่รู้เลยว่าเซร์บันเตสเป็นใคร เป็นการหายไปของนักเขียน

อ. วัลยา : นักประพันธ์ซ่อนตัวสนิทมาก ที่เด่นคือตัวละคร เพราะเขาซ่อนตัวสนิทมาก ช่วงหลังนักเขียนหลายคนพยายามซ่อนตัว แต่ซ่อนไม่สนิท บัลซัคแม้รูปชั่วตัวดำแต่มีเสน่ห์ มีรูปหนึ่งหน้าเหมือนคุณมกุฏ

คุณมกุฏ : โปรดอย่าบอกเช่นนั้น เพราะบัลซัคได้รับชื่อว่าเป็นชายผู้อัปลักษณ์ที่สุดคนหนึ่ง

อ. วัลยา : แท้จริง เซร์บันเตสกล่าวชื่อตัวเองไว้ในหนังสือ แต่เราไม่รู้เลยว่าเป็นเขา

คุณมกุฏ : ผมทะเลาะกับ อ. สว่างวัน (ผู้แปล) วันหนึ่งเขาเขียนจดหมายมาต่อว่าผมต่างๆ นานา

อ. สว่างวัน : ตอนนั้นคับแค้นใจ ถ้ามีกำหนดเวลาจะประสาทเสียมาก ต้องทำส่งประเทศสเปน เนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง (คุณมกุฏแก้ว่า ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง นิดหนึ่ง) มีการขอยืมตัวไปปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ทูตตอนนั้นบอกว่านึกว่ามาขอลูกสาว ต้องไปขอตัวที่มหาวิทยาลัย ส่งงานยก 1 ส่วนยก 2 คือรอสำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือ เงื่อนตายคือปี 2005 จนเดือนกันยายนยังมีคำถามแปลกๆ เช่น จะแยกชื่อกับนามสกุลดีไหม ก็ร้อนใจว่ายังอยู่ตรงนี้ มีคนถามว่าไม่เห็นมีผลงานออกมาเลย แปลจริงหรือ จึงไปตัดพ้อต่อว่าทำไมไม่ทำสักที คุณมกุฏบอกว่านักเขียนซ่อนตัวสนิท

คุณมกุฏ : เวลาตรวจแก้ต้นฉบับ เราปกป้องนักเขียน เราต้องเป็นศัตรูกับผู้แปล เราตั้งสมมติฐานว่าผู้แปลจะแปลผิด แปลผิด แปลผิด แปลผิด เมื่อใดที่เราตรวจโดยคิดว่าตนเองเป็นนักเขียน เราจะตรวจแก้ได้ดี ถ้าเราคิดว่าเป็นสมบัติของเรา เราจะปกป้องอย่างยิ่ง ต้นฉบับผ่าน อ. วัลยามาแล้วอย่างดี ที่ไม่ต้องแก้เลยคือกวีนิพนธ์ ทั้งที่เรามีกวีประจำสำนักพิมพ์ คนหนึ่งอายุ 85 อีกคนอายุ 58 ไม่ต้องแก้เพราะอ. วัลยาเป็นนักกลอนเก่า คุณพ่อก็เป็นนักเขียน อาจารย์ทำงานส่วนนี้ได้ดีวิเศษ

เรื่องที่ว่าศัพท์ภาษาโบราณมาจากไหน ผมสมมติว่าตัวเองเป็นคนยุคนั้น ต้องไม่อ่านข่าว ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่อ่านหนังสือสมัยใหม่ สมมติตัวเองว่าอยู่ยุคนั้น ผมมีพจนานุกรมโบราณชุดหนึ่ง 5 เล่ม ปกสีชมพูเชยมาก ผมเกลียดมาก

อ. วัลยา : ขอโทษนะคะ สีของจุฬา พิมพ์โดยโรงพิมพ์จุฬาฯ

คุณมกุฏ : พจนานุกรมของหมอสมิท อะไรสักอย่าง พิมพ์ใหม่ ผมซื้อมา 2 ชุด เห็นสีไม่สวยผมเอาไปเก็บ ถือก็เจ็บมือ ผมเก็บในตู้ไม่ได้ใช้ พอเจอคำที่ใช้ศัพท์เก่าก็งุ่นง่าน ผมเดินเข้าห้องน้ำวันละ 100 หน เวลาผมคิดอะไรไม่ออก เดินเข้าห้องน้ำจะคิดออก จะมีสถานที่แห่งหนึ่งสำหรับแต่ละคน ที่พอเราเดินไปแล้วจะคิดออก ผมแค่เดินไปห้องน้ำ ไปล้างมือจะคิดออก วันหนึ่งเกิดคิดได้ว่ามีพจนานุกรม ทำไมไม่เอามาเปิด คำใดก็ตามผ่าน อ. วัลยามาแล้วยังใหม่อยู่ เอาคำนั้นมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ จะออกมาเป็นคำแปล เช่นสุภาพบุรุษ คือ gentleman ในพจนานุกรมใช้คำว่า ชายผู้ดี

อ. สว่างวัน : มีปัญหามากด้านภาษา จะเอาสมัยไหนดี จึงขอเลือกภาษาในร. 6 เพราะคุ้นเคยอ่านพระราชนิพนธ์แปลหลายเรื่อง แต่รู้สึกยังเก่าไม่พอ ต้องขอบคุณท่านทั้งสองที่ปรับให้เข้าใกล้ภาษาของเซร์บันเตสมากขึ้น

คุณมกุฏ : คำว่า เรือนพักแรม ยังคงอยู่ถึงคราวที่เราแก้ฉบับครั้งที่ 10 ทุกคืนต้องอ่านหนังสือสาส์นสมเด็จ อ่านพระราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสืออ่านสนุก ภาษาเราจะได้มา คืนหนึ่งผมอ่านสาส์นสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพลี้ภัยไปอยู่ชวา เขียนจดหมายถึงกรมนริศฯ ว่าวันนี้ฉันไปพักที่เรือนแรมแห่งหนึ่ง ผมลุกมาตีห้า ดูว่ามีเรือนพักแรมอยู่กี่แห่ง ปรากฏว่าต้องทำอาร์ตเวิร์กใหม่ ในการจัดหน้านั้นคนทำหนังสือจะรู้ ตัววิ่งไปหมด ผีเสื้อจัดหน้าประหลาด โดยทำให้วรรคเท่ากันทุกวรรค จะใช้ระบบอัตโนมัติของฝรั่งไม่ได้ ซึ่งจะทำให้มีบางวรรคห่างนิดนึง บางวรรคห่างคืบหนึ่ง เราอยากให้เท่ากัน ทุกวรรคในหนังสือต้องนั่งเคาะห้าครั้ง 600 หน้า จะเคาะกี่เที่ยว

อ. วัลยา : เขาถึงขับรถโฟล์คเต่าหายไป

คุณมกุฏ : แต่ขอบคุณว่าในที่สุดเราไม่ผิด อ. สว่างวันอีเมลถามจากสเปน รู้ได้อย่างไรว่าต้องแก้อย่างนี้ ผมจำได้หมด ผมเป็นคนอาฆาตแค้นนะ (หัวเราะ)

ทำไมต้องเป็น เรือนแรม ภาษาสมัยหลังแปลว่าโรงเตี๊ยม อัศวินขี่ม้าไปโรงเตี๊ยม นึกถึงหนังกำลังภายในทันที ร. 5 ใช้ทับศัพท์ว่าโฮเตล แต่จะใช้โฮเตลก็ใช้ไม่ได้ เพราะลักษณะโฮเตลกับเรือนแรมต่างกัน

ทำไมต้องแก้ 12 รอบ เพราะรอบหนึ่งเจอคำผิดคำหนึ่ง ครั้งที่ 10 แก้เรือนพักแรม คุณณรรฐ อัศวินที่สูญหายไปแล้ว ต้องนั่งเคาะตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย นักข่าวผู้หนึ่งถามว่าผมอ่านดอนกิโฆเต้ฯ กี่ครั้ง อ่านแต่ต้นจนจบ 12 ครั้ง แต่บางบทอ่านถึง 100 ครั้ง คือบทที่ 1 ถ้าคุณพลาดตั้งแต่บทเริ่มต้น จบเลย เพราะแกเล่นอะไรไว้เยอะ ขายได้เท่าไร เจ็ดแสนแปดหมื่นเล่มในประเทศไทย วันนี้มีคนมาฟังสองหมื่นกว่าคน
บทแรกต้องดูเป็นพิเศษ ผมสงสัยจนวันนี้ว่าบุคคลที่อุทิศให้ มีตัวตนจริงไหม

อ. สว่างวัน : ดยุคมีตัวตนจริง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจริง ก่อนลงมือแปลเคยคุยกับคุณมกุฏเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งไปเรียน บ.ก. ต้นฉบับรุ่น 2 ได้เรียนคุณมกุฏว่าอยากแปลเรื่องนี้ คุณมกุฏบอกว่าเคยมีคนตั้งใจจะแปลเหมือนกัน แต่พอจะทำก็เสียชีวิตไป (สุริยฉัตร ไชยมงคล เริ่มแปลไว้ส่วนหนึ่ง) อาศัยความเชื่อศรัทธา คือว่ามีเจตนาดี คิดว่าชีวิตเซร์บันเตสลำเค็ญ เขียนภาคแรกก็ยังไม่รวย เขียนภาคสองเสร็จก็เสียชีวิต อาภัพคับแค้น หลุมฝังศพอยู่ไหนก็ไม่รู้ ไปพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของเซร์บันเตส ไปคุยกับแผ่นป้ายว่าดิฉันตั้งใจยิ่งยวดจะแปลหนังสือท่าน เพราะอ่านแล้วสนุก ได้รับความรู้มากมาย อยากให้คนไทยได้อ่านในภาษาไทย ตอนทำก็อธิษฐานให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ระหว่างทำงานมีปัญหา ดิฉันต้องทำงานตามร้านกาแฟเงียบๆ ทำจนปิดไป 2 ร้าน ทำงานไปฝากหนังสือไป ออกไปเดินเล่น คิดว่าเซร์บันเตสส่งร้านกาแฟมาให้

คุณมกุฏ : ผีเสื้อบวงสรวงกันเยอะ คุณวิกรัยบวงสรวงเรื่องทำปก อุปสรรคเยอะมาก 2,000 เล่มแรกเสีย สถานทูตให้พิมพ์ 2 เล่มถวายเป็นปกหนัง, 200 เล่มพิมพ์กระดาษอาร์ตมอบให้สถานทูต และมีเงื่อนไขให้ขาย 2,000 เล่ม พิมพ์เสร็จเย็บเชือกเสร็จ เคาะสันโค้ง ขึ้นตัวอย่างมาให้ดู ก็ดีใจว่าหนังสือสวยที่สุดในโลก ล้อตัวเองว่าเอ๊ะ ลูกใครนะ ทำงานเก่งจัง นอนกอดได้ไม่กี่คืน ไปเห็นว่ามีหน้าหนึ่งรูปไม่ชัด เปิดไปทีละหน้า มือไม้สั่น ทุกกรอบมีตำหนิ (1 กรอบมี 8 หน้า) จะทำอย่างไร มันจะแย่แล้วละ คุณลองคิดดูว่า 2,000 เล่มเป็นเงินเท่าไร ไม่อยากคิด หัวใจอัศวิน

อ. วัลยา : ชรา

คุณมกุฏ : จึงบอกร้านเพลทให้ทำเพลทอีกชุด หาโรงพิมพ์ใหม่จึงได้ออกมา 2,000 เล่มแรกอยู่ที่เราประมาณ 8 เล่ม นอกนั้นเอาไปตัดขายเป็นเศษกระดาษ มีคนถามว่าทำไมไม่เอาไปบริจาค เวลาเราให้ของใครจะให้ของดีที่สุด ของบูดของเสียจะอยากเอาไปให้เขาหรือ เวลาให้หนังสือใคร จะเลือกหนังสือที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด เพราะมันอยู่ไปอีกหลายปี ถ้าเอาหนังสือชำรุดไปให้เขา เขาจะรู้สึกอยางไร เงินหาได้ ความรู้สึกที่จะทดแทน มันคืนมาไม่ได้ นี่คือเซร์บันเตส มีอะไรมาเล่นตลอดเวลา

อ. สว่างวัน : ท่านช่วยเรา เลื่อนกำหนดเวลาเสด็จของกษัตริย์สเปน จากเดิมวันที่ 5 ธันวาคม

คุณมกุฏ : เราทำเสร็จตามกำหนดเดิม มีฉบับพร้อมมอบให้ แต่ไม่ดีเท่า

อ. สว่างวัน : ฉากหนึ่งที่แปลคือฉากซานโช่ถูกโยนขึ้นลง เราไม่รู้ว่าเรือนแรมยุคนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีเล่มที่มีภาพประกอบ นึกภาพไม่ออกว่าโยนซานโช่ในบ้านหรือนอกบ้าน อ. วัลยาบอกว่าต้องหาให้เจอว่าเรือนแรมเป็นอย่างไร พบเล่มที่มีรูปประกอบ จีงรู้ว่ามีประตูใหญ่ มีรั้วเตี้ยๆ ล้อม มีอาคารสองชั้น ไม่ใช่โยนในอาคารแต่โยนข้างนอก

คุณมกุฏ : ตลอดเวลาที่ผ่านม ผมโมโห อ. สว่างวันมาก แต่พูดอะไรไม่ออก ผมพยายามนึกว่าเกิดสมัยเซร์บันเตส แต่พอไม่มีภาพ คุณนะคุณเอ๋ย มันยาก เซร์บันเตสเล่นกับเราตลอดเวลา ให้ อ. สว่างวันหาฉบับมีรูปประกอบให้จากสเปน ก็มีแต่รูปไม่ดี คุณภาพไม่ดี ไม่คม กระดาษปรูฟราคาถูก

ตอนกำลังกลุ้ม เพิ่งออกจากโรงพยาบาลคนที่หัวใจสลายเนี่ย ต้องมาปวดหัวจัดอาร์ตเวิร์ก จัดไปๆ จัดเผื่อมาแทรกรูป บ่นกับคุณอภิชัย (บรรณาธิการฝ่ายศิลป์) ว่าแย่แล้ว เกียรติยศในการทำหนังสือคงไม่เหลือ เพราะหารูปประกอบที่ดีไม่ได้ เขาฟังแล้วก็เฉยเป็นเดือน วันหนึ่งเขามาบอกว่ามีรูปประกอบของดอเร่ชุดหนึ่ง เกี่ยวกับดอนกิโฆเต้ คุณอภิชัยไปดูเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ แล้วไปเที่ยวร้านหนังสือ เป็นหนังสือรวมรูปเฉพาะภาคแรก เป็นภาพสุดวิเศษ คมชัดมาก ไปซื้อที่พัฒน์พงษ์ (ตอนกลางวัน ตอนนั้นมีร้านหนังสือชื่อ Bookseller ที่คุณอภิชัยมักไปเดินหาหนังสือศิลปะมาสะสมบ่อยๆ) รูปประกอบผีเสื้อจะดีมาก พอหนังสือเสร็จก็มาคิดว่าเล่มสองจะทำอย่างไร วันหนึ่งอะไรดลใจให้จัดนิทรรศการ ที่จริงงานอย่างนี้ไม่เคยอยู่ในหัวผม ผมไม่เคยอยากเจอผู้คนมากกว่า 5 คน แต่มีอะไรดลใจให้จัดงาน และจัดที่หอสมุดแห่งชาติ จึงโทรหา อ. วัลยา ขอให้ใครช่วยหาหนังสือดอนกิโฆเต้ฉบับภาษาต่างๆ

อ. วัลยา : คุณปอลอายุ 82 ปี แต่งงานกับ อ. สอนภาษาฝรั่งเศสคนไทย จึงบอกให้คุณปอลช่วยจัดหาดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับฝรั่งเศสที่มีภาพประกอบของดอเร่ คุณมกุฏต้องการฉบับพิมพ์ครั้งแรก คุณปอลไปร้านขายของเก่าอยู่ 4 ครั้งจึงได้มา

คุณมกุฏ : ได้ภาพประกอบหนังสือเล่ม 2 อย่างสมบูรณ์ในตู้ (งานนิทรรศการ) เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ชุดที่หลงเหลือในโลกนี้

อ. วัลยา : ภาพประกอบไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว แต่ค่าถ่ายภาพของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสคิดแพงมาก เลยขอจากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสไม่ได้

คุณมกุฏ : ทั้งหมดประมาณ 300 รูป

อ. วัลยา : ภาพประกอบช่วยมากในการแปล ใน เออเฌนี บรรยายผู้หญิงตอนเจอคนรัก มีความสุขมาก เธอหวีผม นึกไม่ออกว่าผมจะเป็นอย่างไร มีภาพประกอบสมัยเดียวกับที่บัลซัคเขียน เมื่อเห็นภาพก็อ๋อๆๆ แปลได้ อย่าเลือกภาพประกอบจากสมัยหลัง การแต่งกายจะเปลี่ยนไป ใน สาวสามสิบ บัลซัคพูดถึงนโปเลียนมาสวนสนาม บรรยายกองทัพ ทหารแต่ละกองแต่งตัวอย่างไร ฝรั่งเศสมีหนังสือภาพทหารและการแต่งกาย หนังสือภาพช่วยนักแปลค่ะ ช่วยในการแปล

คุณสุวัฒน์ : ดอนกิโฆเต้ฯ ภาค 2 มีกำหนดแล้วเสร็จเมื่อไหร่

คุณมกุฏ : ชั่วชีวิตนี้ ผมคิดว่า อ. สว่างวันจะทำเล่ม 2

อ. สว่างวัน : จะไปบนใหม่ที่บ้านเกิดเซร์บันเตส

คุณมกุฏ : ขอให้ทำในเวลาปีสองปีนี้ ยังแข็งแรง

อ. สว่างวัน : ต้องทำปริญญาเอก อยากแปลเรื่องสั้น 12 เรื่องของเซร์บันเตส เพราะสนุกเหมือนกัน เรียกปริญญาเอกพร้อมแปลเรื่องสั้นยังพอเห็นภาพ

อ. วัลยา : อย่าเอาเวลาไปแปลเรื่องสั้น ทำปริญญาเอกให้เร็วที่สุดแล้วค่อยทำเรื่องสั้น

คุณมกุฏ : ยังไงก็รีบๆ หน่อยแล้วกัน

คุณสุวัฒน์ : บางท่านไม่เคยเข้ารับอบรมการตรวจแก้ต้นฉบับ บทบาทผู้แปลกับ บ.ก. เป็นอย่างไร

อ. วัลยา : ต้องมีใครสักคนมาอ่านก่อน ตั้งคำถาม ผู้แปลคิดว่าตัวเองถ่ายทอดความหมายถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ใช่ บรรณาธิการมาอ่านก่อนตีพิมพ์จะเห็น ดังที่คุณมกุฏบอก เพื่อปกป้องวรรณกรรม ปกป้องนักเขียน เพื่อให้ได้อ่านงานที่มีคุณภาพ

คุณมกุฏ : เสียดายคุณณรรฐ เขารู้ว่าคำๆ นี้อยู่หน้าไหน คำๆ นี้มีกี่คำ ผมว่าเขาไม่ใช่คน เขาเป็นอะไรก็ไม่รู้ เช่น แก้วน้ำ เขาบอกได้ว่าอยู่หน้า 83 บรรทัดที่ 6 มันถึงขนาดนี้เลยนะ จะไม่ให้ผมแปลกใจได้อย่างไรว่าวันหนึ่งเขาจะขับรถออกไปแล้วหายไปเลย

คุณสุวัฒน์ : พูดถึงหนังสือแปล จะเห็นภาพผู้แปลชัดเจนกว่าบรรณาธิการ

อ. วัลยา : สำนักพิมพ์ที่บอกว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้แปลพอแล้ว คิดผิด เข้าใจผิด เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ ในที่นี้น่าจะมีคนจากสำนักพิมพ์ นี่เป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์ งานแปลที่คุณตีพิมพ์ออกไป สำนักพิมพ์รับผิดชอบมากกว่านักแปล

คุณมกุฏ : ประเทศชาติรับผิดชอบ เคยเห็นข่าวช้างตกหล่ม นักแปลเหมือนช้าง ต้องมีสักวันที่ช้างพลาด สะดุดขาตัวเอง วันนี้พูดโดยเฉพาะเรื่องงานใหญ่ ต้องรีบขาย ปลายเดือนนี้ต้องรีบทำ รีบเอามาลดราคากระหน่ำที่ศูนย์สิริกิติ์ ถ้าเรามัวรอให้เอกชนทำ งานแปลอยางนี้ต้องลงทุนมาก ทูตต้องขอให้นักแปลหยุดงานสอน ค่าใช้จ่ายเยอะ สำนักพิมพ์ผีเสื้อปิดสำนักพิมพ์ 1 ปี ไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อทำดอนกิโฆเต้ฯ อย่างเดียว ปีด 2 ปีตอนทำสถาบันหนังสือแห่งชาติ ถ้าไม่มีใครเริ่ม จะมีใครทำ 12-13 ปีที่แล้ว ผมไปพบ อ. วัลยาที่ห้องทำงาน คุยกัน ผมแปลกใจทำไมผมไป ปกติผมไม่เจอคนแปลกหน้า ผมป่วยอยู่ ผมกลัว กลัวคน ไม่ค่อยอยากเจอคน คงเพราะหนังสือทำให้ไม่อยากเจอคน ผมพูดเร็วกว่านี้เยอะ ผมพูดไม่รู้เรื่อง อยู่ยาวมาก 4 ชั่วโมง

อ. วัลยา : พารานอยด์มาก พูดเสียงดัง พูดแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่มองหน้าผู้พูด มองหน้าต่าง พูดดังมาก พอคุณมกุฏไปแล้วต้องไปขอโทษเพื่อนร่วมห้องทำงาน

คุณมกุฏ : มาคุย ระบายความอึดอัดในใจให้ฟัง ผมเรียนน้อย รู้น้อย ทำอย่างไรจะอ่านหนังสือวิชาการรู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อ. ช่วยหน่อย

อ. วัลยา : เพราะใช้ภาษาไทยโครงสร้างภาษาต่างประเทศ

คุณมกุฏ : อาจารย์ช่วยสอนวิชาตรวจต้นฉบับในมหาวิทยาลัยหน่อยได้ไหม คนอย่างผมจะได้อ่านรู้เรื่อง จนวันหนึ่ง ผมตื้นตันมาก อ. ส่งต้นฉบับ ก็องดิด มาให้ บอกว่ากำลังแปลหนังสือ ผมอ่านเสร็จโทรบอกว่า มันดีแต่มือไม้ผมไม่สุข ขอทำอะไรกับต้นฉบับ อ. อนุญาต เท่านั้นแหละ ผมแก้เลย แก้ไปเยอะเลย

อ. วัลยา : ตอนแปลหนังสือโง่ 100% ใช้สรรพนามผิด ศตวรรษ 18 ใช้ผม-คุณ คุณมกุฏสุภาพมาก ถามว่าควรใช้คำนี้หรือ

คุณมกุฏ : ตอนแรกสุภาพมากเพราะกลัวเขาจะด่า ผมไปคุยให้ใครฟัง เขาบอกว่าไปตรวจแก้ของแกได้ยังไง แกดุจะตาย

อ. วัลยา : ตรวจแก้ต้นฉบับต้องอธิบายได้ ถ้าอธิบายได้ก็รับการตรวจแก้กันได้ ดิฉันกับ อ. สว่างวันสนิทกันได้เพราะการทำงาน

คุณมกุฏ : บรรณาธิการห้ามเอาข้อบกพร่องของนักแปลที่คุณตรวจแก้มาบอกในที่สาธารณะ ผิด ทำไม่ได้ ชีทที่สอนจะไม่มีชื่อผู้แปล ไม่มีชื่อเรื่อง บางครั้งต้องเปลี่ยนชื่อตัวละคร นักแปลต้องไม่มีสำนวนเป็นของตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น: