วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่สี่ ฉบับเนื้อหา

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

งานเสวนาหัวข้อ 'ในฐานะคนอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ' มีผู้ร่วมเสวนาบเวทีได้แก่ อ. ปณิธิ หุ่นแสวง อาจารย์ภาควิชาภาษาฝรั่งเศสจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสุวัฒน์ หลีเหม, อ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ดำเนินรายการโดย อ. ภาสุรี ลือสกุล อาจารย์ภาควิชาภาษาสเปน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะที่ อ. ปณิธิ สอนวรรณคดี อ่านแล้วมีมุมมองอย่างไร

เล่มนี้คงเป็นวรรณกรรมสเปนเล่ม 3 ที่อ่านแต่เป็นเล่มขนาดใหญ่สุด ที่จริงเป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดที่ผมอ่าน รองจากพระอภัยมณีตอนอยู่ปี 1 ถ้าถามความรู้สึกคงเป็นความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป คือรู้สึกภูมิใจที่อ่านจบ แต่ความภูมิใจอีกอันคือได้อ่านหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งของโลก อ. ภาสุรีบอกว่าผมเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีฝรั่งเศส แต่เวลาอ่านหนังสือ เราพอจะรู้ว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือสำคัญที่สุดของโลก ผมเคยเห็นหนังสือที่พูดถึงหนังสือสำคัญของโลก เขาบอกว่า 3 เล่มสำคัญที่สุดคือ Divine Comedy ของดังเต้ บทละครของเช็คสเปียร์ และดอนกิโฆเต้ ของเซร์บันเตส บังเอิญผมถูกบังคับให้เรียนงานของดังเต้กับเช็คสเปียร์มาแล้ว ดังนั้นพออ่านเล่มนี้จบก็เท่ากับได้อ่านหนังสือของนักประพันธ์ยิ่งใหญ่ 3 เล่ม 3 คนพอดี ก็ตายได้แล้วนะฮะ ตาหลับแล้ว ไม่มีอะไรค้างคาในชีวิตอีกต่อไป

อีกอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส ที่จริงชื่อดอนกิโฆเต้ หรือที่คนฝรั่งเศสออกเสียงว่า ดอนกิชอด เป็นชื่อที่กลับมาเสมอในภาษาฝรั่งเศส ดังนั้นแม้จะสอนภาษาฝรั่งเศส ก็น่าจะต้องรู้จักชื่อนี้ไว้ว่าหมายถึงอะไร เร็วๆ นี้หนังสือพิมพ์ข่าวประเภทไทม์หรือนิวสวีคของฝรั่งเศส ลงข่าวไล่เลี่ยกัน 2 ข่าว เช่นข่าวจากฉบับเดือนมกราคม ต้นปีนี้เอง เขาพูดถึงขบวนการหนึ่งเรียกว่าขบวนการลูกหลานดอนกิโฆเต้ เป็นขบวนการต่อสู้เพื่อคนที่ได้รับความอยุติธรรมในสังคม หรือพวกด้อยโอกาสเช่นไม่มีที่อยู่ ยากจน ชื่อขบวนการเหมือนกับคำสารภาพของผู้เข้าร่วมว่าเขามีความกล้า แต่การต่อสู้เพื่อคนด้อยโอกาสนี้เสมือนการต่อสู้กับสีลม เขาว่าอย่างนั้น ก็แล้วแต่เราจะเข้าใจว่าการต่อสู้กับสีลมหมายความว่าอย่างไร บทความอีกอันกล่าวถึงบาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อาเบ้ ปิแอร์ เป็นคนก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนยากจนด้อยโอกาสเหมือนกัน โดยเฉพาะคนไม่มีที่อยู่อาศัย กิจกรรมของสมาคมคือไปเก็บของเก่าๆ เอามาปรับปรุงตกแต่งแล้วขายใหม่ นำเงินไปการกุศล ทำคล้ายๆ พระพยอมนะฮะแต่ทำมาก่อนนานมาก บาทหลวงเพิ่งมรณภาพไปไม่นาน บทความนี้เป็นบทความเดือนมกราคมเช่นกัน ชื่อบทความว่า 'กำลังคอยดอนกิโฆเต้คนใหม่' เขาให้คำอธิบายสั้นๆ ว่าเมื่อไหร่คุณความดีที่เคยมีอยู่ในอดีต จึงจะกลับคืนมาอีก เหมือนกับว่าจะมีดอนกิโฆเต้คนใหม่กลับมา นี่คือความสำคัญของดอนกิโฆเต้ในวัฒนธรรมที่ผมทำงาน อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ เวลาคนฝรั่งเศสหรือคนยุโรปเอ่ยถึงดอนกิโฆเต้ จะพบว่าให้ความสำคัญหรือตีความหมายต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอ่านหรือรู้จักดอนกิโฆเต้มาแล้วคงพอเข้าใจ

ปี 1605 ดอนกิโฆเต้ตีพิมพ์ เป็นปีที่เช็คสเปียร์แสดงเรื่องแฮมเล็ต ปีซึ่งเซร์บันเตสตาย เช็คสเปียร์ก็ตายพร้อมกัน

ที่สำคัญคือได้อ่านดอนกิโฆเต้แล้ว ได้อ่านนิยายที่นักเขียนทั่วโลกลงมติว่าดีที่สุด นี่เป็นนวนิยายดีที่สุดนะครับ ไม่ถูกใจก็แย่แล้ว ต้องขอบคุณผู้แปล ผู้พิมพ์ และขอบคุณตัวเองด้วยที่มีกำลังใจถือหนังสืออ่านไม่ให้ตกใส่หน้าอกนะฮะ

อ. ภาสุรีเสริมว่า คำ ดอนกิโฆเต้ ปรากฏในเอกสารวิชาการเกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเปิดสารานุกรมดูจึงพบว่าถ้าใช้ในแวดวงวิชาการสายวิทย์ ดอนกิโฆเต้หมายถึงคนที่อ่านอะไรมากๆ แล้วอิน คิดว่าตัวเองเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

มุมมองคุณสุวัฒน์

นี่คือหนังสือที่ว่ากันว่าดีที่สุดเล่มหนึ่ง ได้อ่านดอนกิโฆเต้ฯ แล้วเป็นความภาคภูมิใจ เมื่ออ่านจบอยากรู้ว่าโลกพูดถึงหนังสือเล่มนี้อย่างไร พบว่าข้อความในหนังสือส่งผลต่อคนแทบทุกมุมโลก หลากหลายสาขาวิชาชีพ อ่านผิวๆ คืออ่านสนุกมากถึงมากที่สุด

อ. ปณิธิ อ่านหนังสือแล้วสนุกไหม

สนุกครับ แต่มันสนุกเพราะต้องกับรสนิยมในการอ่าน ต้องกับวิถีทางการอ่านของผม ผมชอบมากเลยนะครับ มีความมหัศจรรย์มากมายในหนังสือเล่มนี้ ผมได้หนังสือฉบับเล่มใหญ่มา มีเอกสารเล่มบางๆ อธิบายคำ และอีกส่วนสัก 3-4 หน้าเป็นกระดาษว่างๆ สำหรับให้ผู้อ่านบันทึก ไม่พอครับ ต้องขนาดนี้นะครับ (ชูสมุดบันทึกหนาประมาณ 200 หน้า) อ่านไปก็จดไป จดข้ามไปข้ามมา ผมอยากเรียนว่าทำไมชอบหนังสือเล่มนี้มาก อ้อ ผมขอเปิดวงเล็บว่าผมอ่านหนังสือเล่มนี้เที่ยวเดียว อ่านไปจดไป ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งนะครับ คือควรอ่านอย่างที่คุณมกุฏอ่าน คืออ่าน 100 เที่ยวแล้วอยู่กับเขา 24 ชั่วโมงจนหนังสือเหม็นนะฮะ ของผมยังหอมอยู่ดีนะฮะ ยังไม่มีกลิ่นอะไรเลยนะฮะ

ความมหัศจรรย์แรกที่พบคือในอารัมภบท สะดุดใจผมมาก ผู้ประพันธ์เขียนว่า "แม้ข้าพเจ้าจักเปรียบได้ดั่งบิดาของดอนกิโฆเต้ ทว่า ข้าพเจ้าก็เป็นเพียงบิดาเลี้ยงเท่านั้น" ทีนี้ทำไมผู้ประพันธ์ถึงเขียนอย่างนี้ พออ่านจะพบว่าผู้ประพันธ์ทำเหมือนกับว่าไปเอาเอกสารที่พบ ซึ่งเป็นชีวประวัติที่เขียนในบันทึกประจำปีของแคว้นลามันช่าเอามาเล่าใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เล่าไม่เชิงเป็นของเขา แต่เซร์บันเตสเอาเรื่องคนอื่นมาเล่าใหม่ อ่านไปถึงบทที่ 9 ดอนกิโฆเต้กำลังเงื้ออาวุธต่อสู้กับชาวบาสก์ แล้วเรื่องหยุดแค่นั้น เพราะต้นฉบับเล่าจบลงเพียงนั้น หยุดค้างไว้แล้วต้องออกหาต้นฉบับ ไปได้ต้นฉบับที่ตลาดเมืองโตเลโด้ ต้นฉบับกลับกลายเป็นบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ เขียนเป็นภาษาอาหรับ ดังนั้นต้องแปลด้วย

เรื่องดอนกิโฆเต้ซึ่งมีนัยยะทางคริสต์ศาสนา กลับกลายเป็นว่าเขียนโดยชาวอาหรับ ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่คริสเตียนที่ดี แล้วยังต้องหาคนมาแปลอีกต่างหาก แล้วเอามาเล่าต่อโดยเซร์บันเตส แสดงว่าคนเล่าจริงๆ ไม่รู้ใคร คนเขียนพยายามกลบเสียงผู้เล่าหมด จนเราไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นผู้เล่า เช่นมีประโยค "โชคชะตาย่อมจักนำสิ่งดีๆ ไปสู่สิ่งที่ประเสริฐขึ้นอีกครา" นี่เป็นความคิดของเซร์บันเตส หรือความคิดนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ หรือผู้แปลแปลขึ้นมา ซึ่งอาจแปลผิดก็ได้ ดังนั้นผู้เขียนคือใคร หาไม่ได้ ถ้าพูดตามหลักการของนักอ่านสมัยใหม่ ต้องเรียกว่าผู้ประพันธ์ตายสนิท เพราะตกลงไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ ว่าหลังจากอ่านไม่ทราบเที่ยวที่เท่าไร คุณมกุฏโทรไปถาม อ. วัลยาว่าใครแต่งหนังสือเล่มนี้ จำไม่ได้ อ. วัลยาบอกว่าจำไม่ได้เหมือนกัน เพราะอ่านแล้วลืมผู้แต่งไปเลย

ผมคิดว่าถ้าเซร์บันเตสรู้เรื่องนี้จะต้องบอกว่า แหม! จริงๆ เลยนะนี่ อย่างที่อยากได้เลย คือเวลาอ่านเล่มนี้ไม่ต้องคำนึงผู้แต่ง ไม่มีใครคอยควบคุมเราว่าควรอ่านอย่างไร เพราะมีแต่ตัวหนังสือเล่มอ้วนๆ ต่อหน้าเรา ให้เราอ่านโดยไม่มีเซร์บันเตสควบคุมว่าอ่านอย่างนี้นะ ความหมายอย่างนี้นะ เพราะถ้ามีผู้แต่งมาควบคุม ผมเข้าใจว่ากลไกของหนังสือมันเหมือนถูกบล็อคหรือถูกหยุด จะมีความหมายอันเดียว แต่เซร์บันเตสพยายามถอยห่างออกไป หลบไปให้ไกล จนกระทั่งเหลือแต่ตัวหนังสือ ทีนี้ตัวหนังสือจะอยู่ลำพังไม่ได้ ต้องมีผู้อ่านที่จะอ่านหนังสือนั้นเอง ตามที่เราจะพบความหมายหรือตีความในฐานะผู้อ่าน

เวลาผมอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ บางทีก่อนอ่าน โดยเฉพาะหนังสือที่มีความสำคัญเช่นนี้ เราจะรู้สึกว่า เอ๊ จะอ่านได้ไหม เซร์บันเตสก็ไม่รู้จัก ประวัติศาสตร์สเปนก็ไม่รู้จัก ปี 1605 ที่หนังสือเขียนขึ้น เกิดอะไรในสเปนก็ไม่รู้ พระเจ้าเฟลิเป้ที่ 3 คือใครไม่รู้ ใหญ่สำคัญอย่างไรไม่ทราบ ไม่รู้จักภูมิหลังประวัติศาสตร์สเปน แต่พอมาเจอหนังสืออย่างนี้ ที่ปล่อยให้หนังสืออยู่กับเรา ให้เราโต้ตอบกับหนังสือ คุยกับหนังสือตามลำพัง มันเป็นความสุข ไม่มีเงาของผู้เขียนมากำกับ ไม่มีใครมาบอกว่าต้องอ่านแบบนี้ อ่านวันนี้ได้อย่างนี้ อ่านอีกวันได้อีกวัน อ่านตอนหน้าว่าอย่างนี้ อ่านตอนหลังมาแย้งตอนหน้า

แล้วหนังสือเล่มนี้นะครับ ตัวหนังสือมันเหมือนแมว แล้วผู้อ่านเป็นหนู มันจะคอยตบแล้วปล่อยให้เราวิ่งๆ ไป แล้วตามตะปบบอกอีกที ตรงนี้ว่าอยางนี้ เอ๊ะ ชักสงสัยทำไมมันเป็นแบบนี้ มันปล่อยให้เราหาปริศนาตอนปลายตอนต้น น่าสนุก น่าสนุกมาก เสียดายได้อ่านหนเดียวนะครับ ถ้าได้อ่าน 100 หนคงสนุกมากกว่านี้เยอะ ถ้ามีโอกาสแล้วผมจะบอกว่าผมพบอะไรในการอ่านแบบไปโลดๆ ของผม โดยปล่อยให้ อ. สว่างวัน อธิบายไปว่าเซร์บันเตสเป็นใคร มีเมียกี่คน ไปรบที่ไหน มีแผลเป็นที่ไหนบ้าง ถูกจับกี่หน ผมว่าสนุกมากเลยนะครับ ผมก็สนใจนะฮะ แต่เอาไว้ก่อน ขอผมกับหนังสือดวลกันตัวต่อตัวก่อน ผมรู้สึกมันมากเลยครับ

อ่านดอนกิโฆเต้ฯ แล้ว คุณสุวัฒน์ คิดอย่างไร

ผมชอบมากจนถึงมากที่สุด อ่านไปหัวเราะไป ขณะอ่านต้องตั้งคำถามว่าตกลงดอนกิโฆเต้เสียจริตจริงหรือ คนฟั่นเฟือนใช้เหตุผลได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ โดยเฉพาะช่วงที่เขาปลอบประโลม พูดคุย ให้เหตุผลแก่อัศวินสำรองของเขาในหลายๆ เรื่อง ผมเคยอ่านบทวิจารณ์หนึ่งที่บอกว่าดอนกิโฆเต้ฟั่นเฟือน เนื่องจากเขายึดมั่นในเหตุและผลของเขา สิ่งที่ดอนกิโฆเต้มีเสมอคือเหตุและผล เพียงแต่เหตุผลเขาเป็นสิ่งแปลกประหลาดและพิกลสำหรับโลกรอบข้าง ความรู้สึกผู้อ่านคือหนังสือเรื่องนี้ทำให้เราได้คิด

ถาม อ. ปณิธิ ว่าสถานภาพอาจารย์ มีผลอย่างไรกับการอ่านหรือไม่

มีผลครับ เป็นอาจารย์คือมันหลีกเลี่ยงตัวเองไม่ได้ แต่ก็อ่านแบบคนทั่วไป มีสัมภาระ มีต้นทุนบ้างเล็กน้อย เรื่องบ้าไม่บ้าเราก็ตั้งคำถาม แต่บางทีแว่นตาของคนสอนวรรณคดีมันถอดออกไม่ได้ หรือถอดออกก็ยังเห็นวรรณคดีอยู่ตรงหน้า ฉะนั้น เวลาอ่านหนังสือ อาจจะแตกต่างจากคุณสุวัฒน์ ผมเป็นนักอ่านที่ไม่ได้เรื่อง คำว่าไม่ได้เรื่องคือจำเรื่องไม่ได้ แต่สิ่งที่เห็นคือ นี่เป็นหนังสือวรรณคดีที่ว่าด้วยวรรณคดี และเป็นวรรณคดีที่วิจารณ์วรรณคดี และวิจารณ์ด้วยวิธีแยบยลและฉลาดมาก เป็นหนังสือที่มีข้อความโต้ตอบกัน คือผมนึกเอาว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คล้ายๆ กับผมเห็นชายชราคนหนี่ง ไม่รู้ว่าเป็นใคร แข็งแรงมาก มาจากดินแดนไกล แล้วเล่าเรื่องให้ฟัง พอเล่าเสร็จผมบอกว่าคุณปู่หรือคุณทวดครับ หนังสือคุณทวดสนุกจังเลยครับ มีข้อคิดต่างๆ เห็นเลยว่าเป็นเรื่องของความบ้า ก็ได้ยินเสียงคุณปู่หัวเราะว่า เฮอะ! แล้วก็ไป นี่ทำให้ผมคิดว่าคุณปู่หัวเราะแปลกๆ

คำว่า อัศวินพเนจร ใช้มากในหนังสือ ตั้งแต่ตอนต้นๆ ที่ดอนจะออกผจญภัยในโลกกว้าง อาจนึกถึงเรื่อง 80 วันรอบโลก ของ จูลส์ เวิร์น ก่อนออกเดินทางเขาตั้งชื่อม้า 4 วัน ตั้งชื่อตัวเอง 8 วัน ยังไม่ไปไหนเลยนะฮะ 12 วันแล้ว ออกเดินทางครั้งที่หนึ่ง 2 วัน ไปช่วยเด็กหนุ่มอันเดร็สแล้ววิวาทกับพ่อค้าจนแอ้งแม้ง จนเขาต้องพากลับมา 2 วันหลังจากเตรียมตัว 12 วัน ยังอยู่แถวเมืองลามันช่า เดินทางครั้งที่สองไปกับซานโช่ นับคร่าวๆ ไม่รู้นับถูกไหม ผมนับได้ 18 วัน ไม่ได้ไปไหน อยู่รอบๆ แล้วเขาหิ้วปีกกลับเหมือนกัน เขาไปไม่ไกล ผมเคยอบรมมัคคุเทศก์ที่คณะอักษรศาสตร์ อย่างดอนกิโฆเต้ได้บัตรมัคคุเทศก์ทั่วไป--ซึ่งพาไปทั่วประเทศไทย--ไม่ได้นะครับ ได้อย่างดีก็แค่มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ก็คืออยู่ในนั้นน่ะ คำว่า พเนจร ของหนังสือไม่ใช่พเนจรทางร่างกาย แต่เป็นการเดินทางในจิตใจ ในแง่วรรณคดี หนังสือเล่มนี้กินความกว้างขวางมาก กินเนื้อที่กว้างขวางมาก เพราะเรื่องแทรก เรื่องแทรกจำนวนมากที่แทรกเอาๆ ทำให้จักรวาลของดอนกิโฆเต้ออกไปไกล ไปไกลถึงคนที่พายเรือ ไกลถึงโลกของชาวมุสลิม ไกลถึงคนคุก เรื่องแทรกที่เล่ามาต่างตั้งปัญหา ชวนให้เรื่องของดอนกิโฆเต้มีปมน่าสนใจ น่าตั้งคำถามมากขึ้น

ที่คุณสุวัฒน์บอกว่าดอนกิโฆเต้เป็นเรื่องของคนบ้า สมมติเราตกลงกันอย่างนั้น ดอนกิโฆเต้บ้าเพราะอ่านนิยายอัศวิน แต่เรื่องนี้บอกว่ามันไม่ได้มีแต่คนบ้าอ่านหนังสือเท่านั้น มีคนบ้าคนอื่นด้วย คนถ้าจะบ้า บ้าด้วยเรื่องอื่นก็ได้ อย่างอัลเซลโม่คงไม่ดีนัก ที่อยู่ดีๆ แต่งงานแล้ว รักเมีย อยากดูว่าเมียซื่อสัตย์ไหม สมมติคุณสุวัฒน์กับผมเป็นเพื่อนรักกันมาก แล้วผมแต่งงาน อยู่ดีๆ ผมอยากพิสูจน์ว่าเมียซื่อสัตย์หรือเปล่า ผมชวนคุณสุวัฒน์มาบ้านบ่อยๆ แล้วผมหลบฉาก อย่างนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวผม...บ้าหรือเปล่า ต่อมาต้องไม่ลืมว่าบาทหลวงกับกัลบก ที่ต้องการรักษาอาการยึดถือความลวงของดอนกิโฆเต้ วิธีรักษาคือแก้ไขด้วยความลวงเช่นกัน บาทหลวงปลอมตัวเป็นผู้หญิง เอาหางวัวมาคลุมหน้า กัลบกปลอมเป็นคนรับใช้ เพราะฉะนั้นบ้าหรือเปล่า ใครบ้ากว่ากัน บ้าก็ต้องรักษาด้วยบ้าเหมือนกัน

หนังสือที่ดอนกิโฆเต้อ่าน ขอโทษนะครับ ผมไปไกล ผมเริ่มออกชเลจรแล้วนะครับ หนังสือที่ดอนกิโฆเต้อ่านถูกวิจารณ์ว่าเป็นหนังสือไม่สมจริง เป็นเรื่องกึ่งบังเอิญ เต็มไปด้วยความบังเอิญ แล้วเราบอกว่าดอนกิโฆเต้อ่านหนังสือจนสติแตก เป็นหนังสือไม่สมควรอ่าน เรื่องเล่าต่างๆ ที่เอามาแทรก เอามาอ่าน ซึ่งคนอ่านก็เพลิน คนฟังก็เพลิน ก็เต็มไปด้วยเรื่องไม่ดีทั้งนั้น เป็นเรื่องไม่คาดฝัน หรือเป็นไปไม่ได้ มีแต่เรื่องไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครว่าอะไรนี่ ทุกคนก็นั่งฟัง บาทหลวงซึ่งเผาหนังสือของดอนกิโฆเต้เกือบหมดห้องสมุดไม่เห็นว่าอะไร นั่งฟังว่าเรื่องนี้ดี เขาอาจติบ้างว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้ แต่อดทนด้วยดี เอ๊ะ แล้วตกลงเราจะไปว่าดอนกิโฆเต้อ่านหนังสือไม่เข้าท่า ไปเผาหนังสือดอนกิโฆเต้ ก็ชอบกล

พวกที่เผาหนังสือดอนกิโฆเต้คือใครนะฮะ คือกัลบกกับบาทหลวง กัลบกวิจารณ์กับบาทหลวงว่าหนังสือเล่มนี้ดี เล่มนั้นไม่ดี เล่มนี้ควรเผา เล่มนั้นไม่ควรเผา หนังสือระบุว่าบาทหลวงเป็นผู้ทรงภูมิรู้จากมหาวิทยาลัยซีเกวนซ่า เป็นมหาวิทยาลัยในเมืองเล็กๆ เป็นมหาวิทยาลัยไม่มีชื่อเสียง แล้วคนที่เอาหนังสือเขาไปเผาเนี่ยเป็นคนอย่างนี้ฮะ เป็นบาทหลวงบ้านนอก จบจากมหาวิทยาลัยเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียง แล้วเราจะเอาอะไรไปเชื่อว่าหนังสือที่ท่านทั้งหลายเอาไปสำเร็จโทษในกองเพลิง มันตัดสินด้วยความเที่ยงธรรมถูกต้อง ตัวบาทหลวงเองเคยคุยอย่างออกรสในเรื่องหนังสือกับดอนกิโฆเต้ แสดงว่าความจริงไม่ใช่เกณฑ์สำหรับตัดสินเลย ไม่ว่าความจริงในหนังสือหรือความจริงในชีวิต ไม่ใช่เกณฑ์จะมาบอกว่า ที่เราบอกหนังสือเล่มนี้ไม่ดี เพราะเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์หรือความลวง ที่จริงแล้ว หนังสือเรื่องนี้จะบอกว่านั่นไม่ใช่เกณฑ์ มีเกณฑ์อื่น ซึ่งอ่านเองนะฮะ หนังสือมีบอกไว้ ในคำพูดของเจ้าวัดว่าที่จริงไม่น่าเผาหนังสือเล่มนั้นเพราะดีอย่างนี้ ทั้งที่เกี่ยวกับนิยายอัศวินเหมือนกัน

เหมือนหนังสือเล่มนี้ตั้งโจทย์ไว้ข้างหน้า แล้วเอามาตอบไว้ข้างหลัง มีทาสฝีพายคนหนึ่งบอกว่าเขียนบันทึกประวัติจากชีวิตจริง และบอกว่าหนังสือเขาต้องดีกว่าคนอื่น เพราะเป็นเรื่องจริง และที่ยังไม่จบเพราะเขายังไม่ตาย เขาต้องดีกว่า แล้วดอนกิโฆเต้บอกว่าท่านต้องเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาแน่ๆ กลายเป็นว่าหนังสือดีต้องจริง ย้อนกลับไปหน่อยหนึ่ง จำนิทานที่ซานโช่เล่าให้ดอนกิโฆเต้ฟังได้ไหม ที่ว่าชายคนหนึ่งมีแพะ ย้อนไปเล่ารายละเอียดเจ้าของแพะ ดอนกิโฆเต้บอกให้เล่าเรื่องตามลำดับเวลาสิ เล่าเรื่องไหนต้องเล่าเรื่องนั้น ไปมุ่งเรื่องนั้นเลย ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องเล่าที่ดีได้อย่างไร ข้อแรกนะครับ แต่หนังสือเล่มนี้หยุดและเล่าเรื่องอื่นตลอดเวลา มันมีเยอะ เรื่องเล่าแล้วหยุด ทิ้งเอาไว้ ปล่อยให้เราอ้าปากค้างตลอดเวลา แต่ตัวดอนกิโฆเต้ให้ข้อคิดว่าหนังสือที่ดีต้องรู้จักลำดับความ ไม่หยุดชะงักไม่ออกนอกเรื่อง ข้อสอง มีชายคนหนึ่งหนีหญิงที่ตัวรัก พาแพะหนีมาด้วยหลายตัว ฟังให้ดีนะครับ เดี๋ยวต้องนับให้ได้นะครับว่าแพะมีเท่าไหร่ ชายผู้นี้พาแพะมาถึงแม่น้ำ เอาแพะลงเรือข้ามไป แพะตัวที่หนึ่งลงเรือข้ามไป แพะตัวที่สองลงเรือข้ามไป เล่าไปเล่ามา มีแพะกี่ตัวแล้วครับ จำไม่ได้แล้ว เล่าต่อไม่ได้ จบ ก็บอกแล้วไง บอกแล้วให้จำให้ได้ว่าแพะมีกี่ตัว

เรื่องอย่างนี้ฟังดูก็เรื่องแพะๆ แต่เหมือนสิ่งที่ซานโช่เล่าคือ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ คือเอาแพะลงเรือกี่ตัว ต้องบอกให้ได้ว่ากี่ตัว เรื่องเล่าที่เลียนแบบความจริงดังที่ซานโช่เล่า คล้ายกับหลักการของทาสฝีพาย แต่เอาเข้าจริงแล้วเล่าไม่ได้ เพราะมันจริงเกินไป นี่เป็นตัวอย่างการโต้ตอบทางความคิด ประเด็นปัญหาที่ตบให้เราคิดอย่างนี้ แล้วอ่านๆ ไป ตบว่าความคิดนี้ไม่ใช่ เป็นอย่างนี้ทั้งเรื่อง

อ. สว่างวันเสริมว่า จนวันนี้นักวิจารณ์ยุคปัจจุบันยังไม่ทราบว่า เซร์บันเตสคิดอย่างไรกับวรรณคดียุคนั้น คือเขาเป็นเสียงของกัลบก เป็นเสียงของบาทหลวง หรือเห็นด้วยกับดอนกิโฆเต้ 100% หรือเขาเห็นด้วยกับเจ้าวัด ยังหาบทสรุปไม่ได้

อ. ปณิธิ เสริมว่า ประเด็นต่างๆ ที่พบในหนังสือทันสมัยมาก เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันในปลายศตวรรษที่ 20 เช่นเรื่องความตายของผู้ประพันธ์ ปี 1968 มีบทความก้องโลกที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องความตายของผู้ประพันธ์ คือตายมาตั้งแต่ตอนต้นแล้วนะฮะ แล้วในอารัมภบท เซร์บันเตสมอบอาณาจักรแห่งนักประพันธ์ให้ผู้อ่าน เซร์บันเตสเป็นคนแรกๆ ผมไม่รู้นะครับก่อนหน้าเซร์บันเตส แต่เขาเป็นคนแรกๆ ผู้นึกถึงทฤษฎีที่เรียกว่า Regression คือคิดถึงผู้อ่าน ผู้อ่านเป็นคนให้ความหมาย หนังสืออยู่ของมัน ผู้อ่านต่างหากเป็นผู้เข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้นมันทันสมัย มีอะไรให้ต้องคิดต้องตอบคำถาม ที่ตลบท้ายตลบหน้าเราอยู่ตลอดเวลา

อ. สว่างวันเสริมว่าวรรณคดีสเปนจะเอาฉากมาเรียงๆ กัน ต้องเล่าเรื่องให้สนุกเข้าไว้ มีนิยายเชิงเสเพล ตัวเอกต้องหลอกลวงและเล่าประวัติตัวเอง ซึ่งในยุคนั้นบอกกันว่าเป็นงานเขียนเลอเลิศมาก เพราะเล่าประวัติชีวิตตนเองจริงๆ แต่เซร์บันเตสบอกว่าไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะเล่าชีวิตจริงๆ จะต้องมีตกแต่งเพิ่มเติม สิ่งที่เซร์บันเตสให้คุณค่าคือความสมจริงต่างหาก

อ. ปณิธิ กับประเด็น ดอนกิโฆเต้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ ใครในนี้อาจเคยได้ยินปรัชญา มนุษย์คือสิ่งที่ตัวกระทำ ทุกวันนี้แทบไม่มีใครรู้จัก กิฆาน่า แต่กิโฆเต้เป็นอัศวิน จะอย่างไรก็ตาม เขาเป็นอัศวินเพราะสิ่งที่เขากระทำ ทุกอย่างเป็นไปได้สำหรับใครคนหนึ่ง ถ้าพิจารณาในแง่นี้ ไม่แปลกเลยที่อ่างของกัลบกจะเป็นหมวกเกราะ สรรพสิ่งในโลกนี้ โดยตัวเองไม่เป็นอะไร แต่มันเป็นอะไรสำหรับใคร มนุษย์เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่ตัว

อ. ปณิธิ เห็นว่าดอนกิโฆเต้ซึ่งเป็นตัวละครสากล มีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรต่อสังคมไทย

ปี 2530 เรามีละครสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ทุกคนไม่ว่านักวิชาการ นักคิด นักเขียน พูดว่าที่จริง สังคมไทยมีคนอย่างดอนกิโฆเต้ อ. ธีรยุทธ บอกว่าเช่น เทียนวรรณ เป็นผู้มีความคิดล้ำสมัยเรื่องประชาธิปไตย แต่ถูกกล่าวหาว่าฟั่นเฟือน เมื่อใครมีความฝันอย่างไร เราต้องให้ความยุติธรรมว่าสิ่งที่เขาฝันเป็นไปได้หรือไม่ ในเรื่องอุดมคติและความฝันของเล่มนี้ อ่านเองเถิดครับ จะพบว่าบางทีเราอาจมองสังคม มองผู้คนด้วยความเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าจะให้อภัยนะฮะ แต่หมายถึงความเข้าใจ ไม่จำเป็นว่าใคร เพราะคนเหล่านั้นเป็นแพะหรือแกะ ซึ่งเป็นศัตรูของเราหรือเป็นสีลม เราอาจแพ้แต่ไม่เคยท้อ ถ้าเราเชื่อว่าความดีงามมีอยู่ เราจะเชื่อว่าคนอย่างดอนกิโฆเต้หรือคนอย่างพวกเรา อาจช่วยให้ความดีงามกำเนิดขึ้นใหม่ได้

คุณสุวัฒน์เสริมว่าสังคมปัจจุบัน เราขาดความเชื่อมั่นตัวเอง ดอนกิโฆเต้สอนว่าเมื่อคุณเชื่อมั่นในสิ่งใด ควรยึดเอาไว้

อ. สว่างวันกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้จะไม่ยืนหยัดถึง 400 ปี ถ้าหัวข้อใหญ่ไม่ใช่เรื่องความดี เพราะดอนกิโฆเต้เป็นสุภาพบุรุษที่ต่อสู้เพื่อความดี เมื่อแรกซานโช่ติดตามด้วยอยากได้ดินแดน อยากได้เงินเดือน อยากได้ลา แต่ที่จริง เขาติดตามเพราะดอนกิโฆเต้เป็นคนดี หลายครั้งเขาบอกว่ารู้จักชายผู้นี้ดี คนที่จะรู้จักคนหนึ่งดีและยอมตกระกำลำบากด้วย ย่อมเพราะรู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี ขณะเดียวกันดอนกิโฆเต้โกรธซานโช่หลายครั้ง แต่รู้ว่าซานโช่ซื่อสัตย์ ไม่โกหก ทั้งสองคนเป็นคนดี ทำอย่างไรจะให้มีคนดีมากๆ วิธีหนึ่งคือการสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือที่ยกระดับจิตใจของเรา

จากคำถามผู้เข้าร่วมงาน อ. ปณิธิ เล่าถึงรสชาติที่แตกต่างระหว่างหนังและหนังสือ

ผมไม่เคยดูหนัง แต่ผมดู สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ดูตอนนั้นอายุยังไม่กร้านโลก ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก ดูแล้วร้องไห้ครับ แต่อ่านดอนกิโฆเต้ฯ แล้วไม่ร้องไห้เพราะผมโต หนามากพอ หนังมีความคิดอันหนึ่ง แต่ผมอาจเห็นอย่างอื่น ผมว่ามีอะไรหลายอย่างที่ล้อกัน ตอบโต้ข้างหน้าข้างหลังกัน ดอนกิโฆเต้รักดุลสิเนอาหรือเปล่า จะตอบอย่างไร ตอบยากนะครับ ตั้งชื่อม้า 4 วัน ตั้งชื่อตัวเอง 8 วัน แต่ดุลสิเนอาแพล็บเดียวได้เลย ดอนกิโฆเต้ออกเดินทางเพราะความรัก อ. สว่างวันว่าดอนกิโฆเต้เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครบ้าง (อ. สว่างวันตอบว่า ไม่ทราบค่ะ) ผมก็ไม่ทราบ ถ้าอาจารย์ตอบได้ผมก็คงงงครับ ในบ้านดอนกิโฆเต้มีหลานสาวคนหนึ่งอายุ 18 ปี มีทำไม (อ. สว่างวันเสริมว่าเพราะเซร์บันเตสมีหลานสาว) ครับ แต่ถึงแม้ชีวิตจริงมีหลานสาว จะเอามาใส่ทำไม (อ. สว่างวันตอบว่าเซร์บันเตสมีสาวๆ ในบ้านหลายคน ล้วนแต่เป็นสาวที่ขายไม่ออกทั้งสิ้น มารวมตัวอยู่ในบ้าน ภรรยาเซร์บันเตสอายุอ่อนกว่าเขาครึ่งหนึ่ง ชีวิตแต่งงานไม่ค่อยราบรื่น)

นั่นสิ ผมคิดเล่นๆ คิดมากจริงๆ สมมติพูดถึงเช็คสเปียร์ ตัวของเช็คสเปียร์ไม่พูดกับใครเลย หรือต้องไปทำคนอื่นถึงจะพูด แต่ตัวละครของดอนกิโฆเต้พูด พูดไปเรื่อยๆ เหมือนต่างคนต่างโต้ตอบกัน ผมรู้สึกว่าแผนการออกไปข้างนอกโดยมีนางในดวงใจ เป็นแผนที่ทำให้ดอนกิโฆเต้ห่างจากผู้หญิง ยิ่งทำยิ่งห่าง ไม่ใช่แผนการที่จะทำให้พบผู้หญิงเลย พบผู้หญิงเมื่อไร ขนาดในฝันจะกอดแล้วนะครับ ยังพูดว่าไม่ได้ ให้สัญญาแล้วกับดุลสิเนอา มีผู้หญิงสวยคนเดียวที่ดอนกิโฆเต้ยอมติดตามคือโดโรเตอา นอกนั้นถอยห่างเลย โดโรเตอาสวยมากนะครับ ดอนกิโฆเต้ประกาศว่าขอยอมอยู่ตามลำพังดีกว่า ไม่ยอมแต่งงานกับเธอ แต่โดโรเตอามีลักษณะของผู้ชาย ปลอมตัวเป็นผู้ชายอยู่ได้ตั้งนาน นี่สมัยใหม่มากเลยนะครับ ทั้งเรื่อง gender study เรื่องคนชายขอบ เรื่องเพศ การแปลงเพศ การข้ามเพศ ไม่มีเสียละที่เราจะไม่พบในดอนกิโฆเต้ ไม่ว่าจะพูดถึงปัญหาของเพศ ปัญหาเพศชายหญิง ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง หรือแม้แต่การข้ามเพศ ผมว่าเป็นนวนิยายที่มีการปลอมแปลงตัว การเผยร่าง การพรางกาย มากที่สุดเรื่องหนึ่ง มากจริงๆ

คือไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอย่างนั้น วรรณคดีเปิดให้เราคิด อาจเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ได้ หนังสือเล่มนี้ล้ำหน้าออกไปก้าวหนึ่ง หรือมากกว่าก้าวหนึ่ง

ส่งท้ายจาก อ. ปณิธิ

ผมขอพูดในสิ่งที่อยากพูดมาก ดอนกิโฆเต้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อทำให้ชีวิตตนเหมือนหนังสือที่อ่าน ในศตวรรษที่ 19 มาดามโบวารีของโฟลแบรต์คือดอนกิโฆเต้ เธออ่านเรื่องความรักโรแมนติก และพยายามอยากมีชีวิตเหมือนอย่างหนังสือ แต่ดอนกิโฆเต้เจ็บแสบไปกว่านั้น เขาพยายามทำตัวให้เหมือนหนังสือที่ผู้อื่นเขียน ในภาคสอง ผมอ่านถึงบทที่ 9 เองนะครับ เพราะคงจะมีอะไรให้คิดต่อไปในทางไม่ค่อยดีอีกกระมัง อ่านบทที่ 9 ดอนกิโฆเต้บอกซานโช่ว่าฉันบอกเธอตั้งหลายหนแล้วว่าไม่เคยเห็นดุลสิเนอา ที่ได้ยิน ที่หลงรักเขา เพราะหลงรักในสิ่งที่ผู้อื่นพูด แต่ภาคแรกกลับบอกว่าเคยเห็น 4 หนแล้วหลงรัก

ที่เห็น 4 หนแล้วหลงรักนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ดังเต้เห็นหญิงที่ตนรัก 2 หนเท่านั้นเอง แล้วเขียนหนังสือให้เป็นเทวดา ยิ่งกว่าเป็นนางในอุดมคติอีก เขียน Divine Comedy ให้เบียทริซเป็นเทวดาบนสวรรค์เลย ในภาคแรก ดอนกิโฆเต้ทำตัวให้เหมือนหนังสือที่ผู้อื่นอ่าน ภาคสองมีคนเอาเรื่องดอนกิโฆเต้ไปเขียน คือมีความเจ็บแสบที่ทำไมภาคสองต้องทำตัวให้เหมือนหนังสือที่แม้ตัวจะไม่ได้เขียน ก็เป็นต้นกำเนิดขึ้นมา หนังสือมหัศจรรย์ 2 เล่มอ้วนๆ นะครับ มันโต้ตอบกัน ตั้งปัญหาตรงนี้แล้วไปตอบตรงนั้น จุดอะไรขึ้นมาใหม่มากมาย สนุกจริงๆ ครับ ดีจริงๆ เป็นหนังสือที่ทำให้ผมอยากเรียนภาษาสเปนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: