วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันแรก

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า

บรรยากาศงานนิทรรศการวันแรกเริ่มต้นด้วยความครึกครื้น เมื่อเดินเข้าหอสมุดแห่งชาติ เราจะเห็นป้ายสีสันสดใสบอกทางไปงานนิทรรศการวางตามทางเดินเป็นระยะๆ เมื่อถึงทางเข้าจะเห็นเสาต้นใหญ่หลายต้นห่มด้วยผ้าสีแดงและเหลืองสด มั่นใจว่าเข้าไปแล้วจะได้พบดอนกิโฆเต้เป็นแม่นมั่น

เข้าไปแล้วจะเห็นพัดลมตั้งอยู่เป็นอันดับแรก ส่ายหัวไปมาต้อนรับแขกด้วยความร่าเริงยิ่ง โถงหน้าห้องประชุมนั้นแขวนด้วยผ้าผืนยักษ์ พิมพ์วาทะต่างๆ มีภาพวาดสวยงามมากบนผ้า ทั้งภาพดอนกิโฆเต้และซานโช่ ที่เด่นเป็นสง่าอยู่กลางโถงทางเดินคือรูปปั้นดอนกิโฆเต้กำลังอ่านหนังสือ เป็นรูปปั้นปูนปลาสเตอร์สีขาวสวย หุ่นตัวนี้เป็นขวัญใจของทุกคน เป็นดาราที่มีผู้ถ่ายรูปด้วยมากที่สุด เช่นในรูปนี้ คุณสว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลดอนกิโฆเต้ฯ ชักภาพกับหุ่นอัศวิน (ผู้แปลหน้าใสปิ๊งคนนี้กำลังศีกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศสเปน และกลับมาเมืองไทยเพื่องานนี้โดยเฉพาะ) ข้างรูปหุ่นอัศวินมีกระดาษสำหรับให้ผู้มาเยี่ยมชมงานนิทรรศการลงชื่อ รูปนี้แสดงภาพจากงานวันแรก จะเห็นว่าเพียงวันเดียวกระดาษนี้ก็เกือบเต็มเสียแล้ว




รูปนี้ยังแสดงบรรยากาศห้องโถงที่ล้อมรอบด้วยป้ายผ้าสีขาว เป็นบรรยากาศงดงามอลังการไม่น้อย แถมบริเวณนี้ยังคลอไปด้วยบทเพลงจากละครเพลง Man of La Mancha ทำให้เข้าสู่บรรยากาศของยุคอัศวินอย่างน่ารื่นรมย์ (เบื้องหลังของการแขวนผ้าและติดตั้งไฟในบริเวณนี้นั้น ทำให้คนทำงานร้อนและเป็นไก่ย่างห้าดาวไปเลย เพราะบริเวณนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ)

รูปปั้นนี้จัดทำโดย เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง และ อภิชัย วิจิตรปิยกุล ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (นับวันทำงานจริงประมาณ 20 วัน) ยังไม่นับหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นที่ปั้นหุ่นตัวแรก แต่เนื่องจากใช้เทคนิคที่ไม่ถนัด พบปัญหาจำนวนมาก คิดว่าหากทำออกมาจะได้ผลไม่ดี จึงทิ้งหุ่นตัวเก่าและเริ่มต้นใหม่ (คนทำงานสำนักพิมพ์ผีเสื้อน่าจะเป็นโรคติดต่อที่รักษาไม่หายชนิดหนึ่ง คือหากเห็นอะไรไม่ดีจะทนไม่ได้และทิ้งไปเลย ผู้ทำงานกับสำนักพิมพ์นี้น่าจะไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม ในการสัมภาษณ์ศิลปิน เขาไม่ยอมรับว่าตนเองบ้า เพียงแต่บอกว่าเขาทำงานนี้อย่างไม่มีอนาคต เมื่อซักถามมากเข้า เขาตอบว่าเขาไม่คิดถึงอนาคต แต่มีความสุขกับปัจจุบัน อะไรจะเท่และอุดมคติดังดอนกิโฆเต้ไม่มีผิด)

หุ่นที่ตั้งแสดงมีน้ำหนักมากพอควร เนื่องจากมีโครงเหล็กข้างใน ส่วนวัสดุนั้นใช้ปูนไป 6 กระสอบ (กระสอบละ 25 กิโลกรัม) แต่ปูนที่ใช้จริงในหุ่นน่าจะประมาณ 4 กระสอบ ศิลปินผู้ปั้นคาดว่าน้ำหนักหุ่นน่าจะประมาณ 150 กิโลกรัม เทคนิคการปั้นคือปั้นปูนสด โดยขึ้นโครงเหล็กแล้วเอาปูนพอก เป็นงานที่บ้าพลัง ทุนต่ำ เวลาน้อย เพื่อให้เสร็จทันเวลางานนิทรรศการ อย่างไรก็ตาม ทำออกมาแล้วน่าภาคภูมิใจ เพราะเห็นใครๆ ก็รักและอยากชักภาพกับหุ่นดอนกิโฆเต้ด้วยกันทั้งนั้น




หนึ่งในของแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจของงานนิทรรศการครั้งนี้คือหนังสือ ดอนกิโฆเต้ฯ ของฝรั่งเศส ฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 1863 เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกที่มีภาพประกอบของ กุสตาฟ ดอเร่ หนังสือสองเล่มนี้หอบหิ้วมาจากกรุงปารีสโดยคุณปอล แวงซอง เป็นหนังสือฉบับใหญ่โต แต่ละเล่มหนักกว่า 10 กิโลกรัม ในภาพนี้ผู้แปลและเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย (ขวาสุดในรูป) กำลังชมหนังสือเล่มนี้ในตู้งานแสดง


หลังจากบทกล่าวเปิดงานโดยบุคคลสำคัญต่างๆ แล้ว มีการสนทนาบนเวทีโดย อ. วัลยา วิวัฒน์ศร และคุณปอล แวงซอง คุณปอลเล่าว่าไป "ล่า" หนังสือเก่าเล่มนี้ตามร้านหนังสือเก่าในปารีสจนได้พบในที่สุด คุณปอลต้องนำรถเข็นไปขนหนังสือมาใส่รถ วันที่ไปรับหนังสือนั้นฝนตก คุณปอลกางร่มให้หนังสือในรถเข็น โดยตัวเองยอมเปียก ช่างเป็นเรื่องน่าประทับใจเสียนี่กระไร ตอนแรกที่ อ. วัลยาเรียกคุณปอลว่าเป็นอัศวินหน้าเศร้า จึงเรียกเสียใหม่ว่าเป็นอัศวินหน้ายิ้ม เพราะเขาเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันและความรักต่อหนังสือ





น้ำใจของคุณปอลทำให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวินประจำสำนักพิมพ์ไปตลอดกาล ภาพนี้แสดงคุณปอล แวงซอง และยังได้เห็นฉากหลังเป็นเวทีของงานซึ่งงดงามไม่น้อย ด้านหลังเวทีเป็นผืนผ้า ตรงกลางพิมพ์ภาพเซร์บันเตส ผู้เขียนดอนกิโฆเต้ฯ ชุดเก้าอี้ที่ตั้งบนเวทีนั้นงดงามหาใดปาน เป็นชุดเก้าอี้ขาม้าที่สวยจนเกินบรรยาย







หลังจากนั้นเป็นการเสวนาโดย อ. วัลยา วิวัฒน์ศร หนึ่งในบรรณาธิการต้นฉบับ และ สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล บรรยากาศออกแนวสบายใจ ดังจะเห็นได้จากภาพนี้ที่ต่างคนต่างยิ้มแย้มรื่นเริง ผู้แปลบอกเล่าเรื่องน่าสนใจหลายประการในการแปล เช่นทำงานหนักจนต้องไปค้างบ้าน อ. วัลยา ระยะหนึ่ง หรือเมื่อติดขัดข้อมูลต่างๆ ต้องติดต่อสอบถามผู้อื่น แม้กระทั่งท้องฟ้าจำลองนั่นเลยเชียว คำพูดบางคำต้องคิดแล้วคิดอีกกว่าจะได้มา เช่นคำว่า 'เรือนแรม' ที่บ้านเรามักคิดว่าคือ 'โรงเตี๊ยม' แต่ถ้าแปลเช่นนั้นแล้ว คนต้องนึกภาพดอนกิโฆเต้ผูกผมจุกเป็นเอี้ยก้วยแน่นอน จึงมาลงท้ายด้วยคำว่า 'เรือนแรม' ที่ไพเราะหาน้อยไม่



ส่วนรูปสุดท้ายนี่เป็นเรื่องส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง รูปปั้นนี้แสดงในตู้กระจกของงานนิทรรศการ มียุงที่กินเลือดจนตัวบวมเป่งตัวหนึ่งเกาะที่ต้นคอของรูปปั้นนี้ เมื่อเห็นเข้า ข้าพเจ้าทนไม่ได้ด้วยคิดว่าอัศวินของเรานอกจากจะอ่านหนังสือจนเป็นบ้าแล้ว ยังถูกยุงกัดต่อหน้าต่อตา จึงคิดว่าควรไปตามศิลปินผู้ปั้นรูปมาดู ด้วยเขาเป็นผู้ให้กำเนิดหุ่นนี้ น่าจะเดือดเนื้อร้อนใจไม่น้อย ปรากฏว่าเมื่อศิลปินมาเห็นเข้ากลับทำหน้าเฉยเมยไม่แยแส สีหน้าบอกความว่า 'เรียกมาดูด้วยเรื่องแค่เนี้ย' เขาบอกว่าเดี๋ยวยุงมันก็ไป อัศวินดอนฯ มีเสื้อเกราะ ไม่เป็นไรหรอก

ข้าพเจ้าไม่อยากเชื่อว่าศิลปินจะใจร้ายกับดอนฯ ถึงเพียงนี้ แต่คิดไปก็เข้าใจได้ ด้วยผู้ปั้นหุ่นผู้นี้พกมีดขนาดใหญ่ติดตัวตลอดเวลา อดสงสัยไม่ได้ว่ามีปัญหาส่วนตัวใดในชีวิต เมื่อถามว่าพกมีดประจำตัวเลยหรือ เขาตอบว่าเป็นธรรมชาติของคนทำงานอาชีพเกี่ยวกับงานศิลปะที่ต้องพกมีดติดตัวทุกคน จะด้ามเล็กใหญ่แล้วแต่ ความรู้นี้จุดแสงสว่างให้ข้าพเจ้าไม่น้อย สรุปได้ว่าศิลปินชายนั้นเป็นบุคคลอันตรายยิ่ง (นอกจากพกมีดแล้ว เมื่อถามถึงอาวุธอื่นที่พกเป็นประจำ เขาตอบว่าไขควง และขวาน)

สุดท้ายแล้วข้าพเจ้าไปตามบุคคลผู้หนึ่งที่ทำหน้าเซ็งเช่นเดียวกับศิลปิน แต่อาจเบื่อรำคาญมากกว่า จึงไขตู้และไล่ยุงออกไป (ไม่ได้เพียงไล่ แต่บี้ยุงนั้นให้ตายคาตู้นิทรรศการ อาจเพื่อตัดรำคาญไม่ให้ไปเรียกเขามาดูด้วยเรื่องแค่นี้อีก ข้าพเจ้าไม่ได้หวังให้เขาทำถึงขนาดนั้น ใครเห็นศพยุงอ้วนตายจมกองเลือด โปรดทราบว่ามาจากข้าพเจ้าเอง)

ดูท่วงท่าดอนกิโฆเต้ในรูปปั้นนี้เถิด ดูเขาจะจดจ่อกับความคิดบางอย่าง ถามจริงว่าจะทนเห็นเขาถูกยุงกัดนานๆ ได้หรือไร

แล้วคุณว่าดอนกิโฆเต้กำลังคิดอะไร

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Very funny about an unfortunate mosquito and the heroic bloodshed. Don may wonder where is the books he read? Why the artist put them under his buttock?