วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่สาม


รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า


หัวข้อเสวนาแรกของวันนี้คือ ''เปาะเปี๊ยะดอนฯ กับแผ่นหนังนาบไฟ" โดยคณะทำงานรูปเล่มหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ก่อนอื่นจำต้องกล่าวขออภัยที่ไม่มีภาพประกอบงานเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากผู้ถ่ายรูปคือหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา อย่างไรจะพยายามไปจิกตามเอารูปมาลงในภายหลังให้ได้ ตอนนี้ขอให้ท่านใช้จินตนาการไปก่อน


อัศวินเบื้องหลังการจัดทำรูปเล่มหนังสือรวม 4 ท่านขึ้นเสวนาบนเวที ได้แก่คุณมกุฏ อรฤดี หนึ่งในบรรณาธิการต้นฉบับ และบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ, อภิชัย วิจิตรปิยกุล บรรณาธิการฝ่ายศิลป์, วิกรัย จาระนัย ผู้จัดการสำนักพิมพ์ และ เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง ฝ่ายศิลป์ (หนึ่งในจำนวนนี้คือผู้พกมีดเล่มใหญ่ติดตัวตลอดเวลา ดังที่ข้าพเจ้าเคยรายงานไปแล้ว)


คุณมกุฏเล่าว่ากษัตริย์สเปนปรารถนาจะมอบของขวัญในวาระที่ในหลวงฯ ครองราชย์ครบ 60 ปี ทีมงานมีเวลาประมาณปีเศษหลังจากได้รับต้นฉบับ ในการตรวจแก้ต้นฉบับนั้น หกเดือนแรกทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ข้อยุติว่าควรใช้ภาษามาตรฐานอะไร ผู้แปลเร่งแล้วเร่งอีก ถึงกับเขียนจดหมายมาด่า ว่าในชีวิตนี้จะได้เห็นหนังสือหรือไม่ ในที่สุดด้วยความโกรธที่ผู้แปลเร่ง จึงออกแบบปกพิมพ์ปกออกมา และคิดว่าจะพิมพ์ออกมาโดยไม่ต้องตรวจแก้ต้นฉบับ แต่ ดอนกิโฆเต้ฯ มีแปลเป็นภาษาต่างๆ ออกมา 84 ภาษาแล้ว สวยๆ ทั้งนั้น ถ้าออกมาไม่ดีก็อายเขา จึงออกแบบปกใหม่ ขณะตรวจแก้ต้นฉบับได้ทำรูปเล่มไปด้วย น่าเสียดายที่วันนี้คนเก่งไม่มา คือคุณณรรฐ พิโรจน์รัตน์ ซึ่งเป็นคนเก่งมาก เขาอ่านลายมือผมออกหมด แก้ต้นฉบับในคอมพิวเตอร์ได้ เขาจำได้กระทั่งว่าชื่อตัวละครไหนปรากฏในหน้าไหน เสียดายที่วันนี้มาไม่ได้ หลังจากหนังสือออกมาแล้ว เขาดูจะเสียจริตไปเลย ขี่ม้าออกไปไม่กลับมาอีกเลย


เบื้องหลังหน้าปกหนัง


เบื้องแรกนั้นคาดการณ์ว่าหนังสือจะขายดีมาก จึงพิมพ์หน้าปกถึง 10,000 แผ่น เมื่อทิ้งหน้าปกชุดนี้ไป คุณวิกรัยช่วยคิดว่าจะทำหน้าปกอย่างไร สถานทูตกำหนดว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก 2 เล่มต้องเป็นปกหนัง คุณวิกรัยกล่าวว่างานนี้สร้างความเครียดและปวดหัวให้ไม่น้อย ต้องศึกษาศิลปะที่เกี่ยวข้องในยุคนั้น ต่อมาคุณมกุฏแนะว่าใช้หน้าปกเดิมฉบับพิมพ์ครั้งแรกไหม ซึ่งเขาเห็นด้วยเพราะเป็นหน้าปกที่สวยงาม


การทำหน้าปกด้วยหนังจะต้องทำ 2 ขั้นตอนหรือสองชั้น ชั้นแรกคือลายของพื้นที่กดลึกลงไป ชั้นที่สองคือชั้นตัวอักษรที่ต้องนูนขึ้นมา ต้องใช้ความร้อนกดบนหนังให้เกิดลวดลาย ในการทดลองปั๊มความร้อนลงในหนังครั้งแรกหมดหนังไป 5 ผืน (วัว 1 ตัวได้หนัง 1 ผืน ซึ่งหนังแต่ละผืนนำไปทำหน้าปกได้ประมาณ 4 ปก)


การทำปกหนังมีอุปสรรคจำนวนมาก เช่นบล็อคแม่พิมพ์เสีย มีรอยเล็กๆ ขึ้นมา แต่ทำให้เกิดรอยมลทินบนปกจนใช้การไม่ได้ ต้องขอให้ร้านทำบล็อคซ่อมอย่างเร่งด่วน โชคดีที่ร้านเปิดแม้จะเป็นวันหยุดทางศาสนา หรือโรงงานรับอัดหนังทำความร้อน มีแม่พิมพ์ขนาดไม่ใหญ่พอเท่าบล็อคที่สร้างขึ้น ทำให้พิมพ์ไม่ได้ คุณวิกรัยจึงสร้างเตาคล้ายเตาขายหมูปิ้ง ที่มีขนาดใหญ่พอจะพิมพ์บล็อคได้ แล้วก่อเตาโดยซื้อถ่านมาติดไฟปิ้ง ทดลองวิธีนี้จนเสียหนังไปอีกหลายผืน หรือวัวอีกหลายตัว


เมื่อกระบวนการทำปกหนังให้ขึ้นลายเสร็จสิ้น ก็มาถึงการเขียนลายให้เป็นสีทอง คุณอภิชัยเล่ากระบวนการนี้ แต่ก่อนอื่น ผีเสื้อแนะนำตัวบุคคลผู้นี้ว่าคุณอภิชัยเป็นคนดี ครั้งหนึ่งเมื่อสำนักพิมพ์ยากจน ช่วงรัฐบาลชวลิต เศรษฐกิจเจ๊งระเนระนาด ผีเสื้อก็ใกล้เจ๊งด้วย เขามาบอกว่าผมขอลดเงินเดือน อีกเดือนหนึ่งก็บอกอีกว่าผมขอลดเงินเดือน (ผีเสื้อสรุปว่าทำงานกับใครที่บอกว่าขอลดเงินเดือน คนนั้นจะเป็นคนดี ตรงข้ามกับคนที่ขอเพิ่มเงินเดือน) ปัจจุบันคุณอภิชัยเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร เขาเล่าปัญหาการทำลายทองบนผืนหนังว่า สมัยอยุธยาเรามีการทำลายทอง แต่มักทำกับวัสดุอื่นเช่นไม้ แต่หนังมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ถ้าเอาน้ำมันออก หนังจะแห้ง ดังนั้นจะทำอย่างไรจึงจะติดทองบนหนังได้


เบื้องหลังการเขียนลายทอง


เขาเริ่มต้นจากความไม่รู้และไม่ถนัดทางจิตรกรรมไทยนัก จึงสอบถามวิธีปิดทองจากเพื่อนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อนแนะนำว่าให้ซื้อสีน้ำมันยี่ห้อเฟล็กซ์ตราทหารที่บางลำพู ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวที่ช่างใช้ปิดพระพุทธรูป แต่ยังไม่เคยทดสอบติดบนผืนหนังมาก่อน วิธีการคือทาสีทองให้เรียบ รอให้สีแห้งแล้วปิดทองลงไป แต่แล้วก็พบปัญหาว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ แทนที่จะรอให้สีแห้งกลับต้องรอให้เพียงหมาดๆ แล้วปิดทองทับ จึงเสียวัวตัวที่ 6 ไปเนื่องจากผืนแรกๆ ที่ลองทำนั้นเสียใช้ไม่ได้


สาเหตุจากการใช้ไม่ได้มีต่างๆ กัน เนื่องจากตัวหนังสือเล็กมาก ต้องใช้พู่กันเบอร์ 0 หรือบางครั้งเหงื่อจากมือลงไปผืนหนัง ก็ทำให้เสียอีก จนตอนหลังต้องเอาแป้งโรยผืนหนัง ต้องใช้เวลามากกว่าจะรู้กระบวนการ การเขียนและปิดทองหนัง 1 ผืนใช้เวลาประมาณ 2 วัน เมื่อปิดทองเสร็จแล้วต้องรอให้หมาด แล้วปัดฝุ่นเศษทองคำเปลวออก ศิลปินเล่าว่าสูดผงทองเข้าไปมาก ยามตายไปศพเขาน่าจะมีค่าไม่น้อย แต่อย่างไรคงไม่เท่าอีกคนหนึ่งที่สูดทองไปมากกว่าตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเป็นช่างทอง


'อีกคนหนึ่ง' นี้คือคุณเฉลิมชาติ จบจากเชียงใหม่ ผีเสื้อแนะนำว่าเป็นคนดีอีกเช่นกัน บางครั้งลืมจ่ายเงินเดือนต่อเนื่องกันนาน เขาไม่เคยว่าอะไร เขาเรียนจิตรกรรม และเป็นผู้วาดรูปประกอบและวาดรูปปกให้ผีเสื้อ คุณเฉลิมชาติเล่าว่าในการทำงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนต่างพบปัญหา ทั้งปัจจัยภายนอกเช่นด้านเทคนิค และปัจจัยภายในจากตัวเอง เขาเป็นคนขี้โรค ตาข้างหนึ่งใช้งานไม่ดีนัก ต้องเพ่งและออกแรงเวลาจำเป็นต้องเขียนงานประณีต สมัยเรียนจิตรกรรมไทย เขาได้เรียนการควบคุมลมหายใจให้สมดุล ให้มือไม่สั่น จะได้เส้นคมชัดสวยงาม แต่การทำงานปิดทองทำให้เปิดพัดลมไม่ได้ จำต้องเปิดแอร์ เขาแพ้อากาศจึงมีอาการน้ำมูกไหลหายใจติดขัดยามเปิดแอร์ แต่ต้องควบคุมลมหายใจให้นิ่ง นั่งสูดลมหายใจแล้วกลั้นใจเขียนตัวอักษรทีละตัว ตัวอักษรบางตัวซับซ้อน หรือหมดลมหายใจเข้า ทำให้ต้องลบทิ้งและเขียนใหม่ หรือบางครั้งน้ำมูกยืดลงไปบนปก (ปิดทองบนน้ำมูก) หรือเขียนตัวอักษรผิดบ้าง เบลอบ้าง หรือเกิดอุบัติเหตุตอนเข้าเล่มทำให้ต้องทำใหม่หมดก็มี


อุบัติเหตุที่ว่าก็เช่นเมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว ต้องเอาแผ่นหนังเขียนลายทองไปให้ช่างเข้าปก ช่างเอาหนังเข้าโครงหนัง แล้วนำไปเข้าเล่ม บางทีเขาทำกาวเลอะ หรือเล็บไปกรีดหน้าแรกเข้า ขาด ทำให้ใช้ไม่ได้ ในงานนิทรรศการแสดงหน้าปกหนังฉบับต่างๆ ให้ดู
ภายหลังงานเสวนา ข้าพเจ้าสอบถามศิลปินว่าตกลงเล่มที่ถวายกษัตริย์สเปนมีขี้มูกเขาติดอยู่จำนวนเท่าไร แต่เขาไม่ยอมพูดด้วยในเรื่องนี้


ตอนแรกนั้นผีเสื้อออกแบบรูปเล่มว่าจะเป็นเล่มเล็ก ขนาดหนามากๆๆ แต่คิดว่าจะลำบากตอนมอบให้กษัตริย์สเปน ตัวอย่างรูปเล่มแรกนี้แสดงไว้ในงานนิทรรศการ เป็นเล่มสีฟ้าเล่มหนา ส่วนสันหนังสือนั้นทำเป็นสันโค้ง ในเรื่องนี้คุณมกุฏกล่าวว่าเคยสงสัยว่าทำไมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงไม่ทำสันโค้ง ให้สังเกตว่าหนังสือโบราณเล่มหนาปกแข็งต้องใช้สันโค้ง เพราะใช้มืออุ้มแล้วไม่เจ็บ ให้ลองถือเทียบดูได้ แม้แต่หนังสือที่น้ำหนักเท่ากัน ระหว่างหนังสือสันโค้งและสันตรง จะพบว่ารู้สึกไม่เท่ากัน การทำสันโค้งสมัยนี้มีเครื่องจักรทำได้ แต่หนังสือสันโค้งที่ทำด้วยเครื่องและที่ทำด้วยมือมีอายุไม่เท่ากัน หนังสือเคาะด้วยมือทนทานกว่า ดอนกิโฆเต้ทุกเล่มเป็นหนังสือสันโค้งที่เคาะด้วยมือ


ในเบื้องต้น ผีเสื้อใช้ฟอนต์ EAC ในการพิมพ์หนังสือ แต่พบว่าพิมพ์ออกมาแล้วไม่สวย ไม่ใช่อารมณ์ของหนังสือที่กล่าวถึงเรื่อง 400 ปีมาแล้ว เนื้อเรื่องโบราณแต่ฟอนต์กลับสมัยใหม่ ทำให้ต้องไปรื้อหนังสือเก่าสมัย ร. 5 และ ร. 6 มาดู พบว่าราชกิจจานุเบกษามีตัวหล่อพิมพ์โบราณที่ใช้สืบเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีผู้นำมาออกแบบใหม่เป็นฟอนต์ PSL-ThaiAntique แต่พบปัญหาคือเส้นบางเกินไป เมื่อนำมาพิมพ์เป็นหนังสือจะทำให้อ่านแล้วปวดตา จึงต้องแก้ปัญหา โดยคุณวิกรัยเพิ่มความหนาของตัวอักษร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการจัดหน้ามากมาย แต่สุดท้ายก็คิดค้นให้ลงตัวจนได้


ชื่องานเสวนามีคำว่า 'เปาะเปี๊ยะ' ทำให้มีการเล่าถึงที่มาของเรื่องนี้ เนื่องจากผีเสื้อต้องทำงานหนังสือเล่มนี้ถึงดึกดื่นอยู่นานประมาณ 3 เดือน ทำงานถึงตีหนึ่งตีสองหรือตีสาม ในช่วงเวลานั้นร้านอาหารปิดแล้ว เมื่อมีร้านขายเปาะเปี๊ยะที่ปากซอยจึงซื้อเหมากลับมากินกัน นานเข้าๆ วันหนึ่งคุณณรรฐ ถามว่าวันนี้ไม่มีเปาะเปี๊ยะดอนฯ หรือ จึงทำให้ได้ชื่อเปาะเปี๊ยะดอนฯ คนทำงานผีเสื้อจะรู้สึกว่าเราได้แช่มชื่นอีกแล้วถ้ามีเปาะเปี๊ยะกิน เมื่อทำหนังสือเสร็จร้านขายเปาะเปี๊ยะหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่รู้ว่าหายไปเพราะรวย หรือเปาะเปี๊ยะนี้ถูกส่งมาโดยดอนกิโฆเต้ ขณะนี้เดินไปหาซื้อทุกวันก็ไม่มีแล้ว




ความใฝ่ฝันของดอนฯ แห่งลามันช่า ล้าสมัยแล้วหรือยัง

งานเสวนาช่วงต่อมามีหัวข้อเร้าใจยิ่ง ว่าความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้ล้าสมัยแล้วหรือยัง ร่วมเสวนาโดยคนหนุ่ม 4 ท่านดังแสดงในภาพ จากซ้ายไปขวาคือ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการนิตยสาร Way, ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับละครเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่, วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน และ ดร. ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ พิธีกรที่เก่งมาก (คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ขออภัยมา ณ ที่นี้ที่ไม่ได้มางาน เนื่องจากติดภารกิจรายการ คนค้นคน ที่หนองคาย กลับมาไม่ทัน คุณสุทธิพงษ์เป็นหนึ่งในผู้กำกับเวที และเล่นละครเป็นคนของศาลศาสนา)

คุณยุทธนาคิดอย่างไร ถึงทำละครสู่ฝันอันยิ่งใหญ่

คณะละคร 28 ก่อตั้งในปี 2528 จัดทำละครเรื่องแรกคือ กาลิเลโอ (2528) ประสบความสำเร็จพอสมควร และเรื่องที่สองคือ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (2530) มีโปรดิวเซอร์คือคุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ และคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี สมัยผมเรียนอาจารย์ให้อ่านบทละครเพลงต่างๆ ตอนเรียนหนังสือ และประทับใจอะไรไม่เท่ากับ Man of La Mancha ทั้งในรูปแบบและเนื้อหา ผู้เขียนบทละครดัดแปลงเล่าช่วงชีวิตของเซร์บันเตส ผู้เขียนดอนกิโฆเต้ที่ถูกจับตัว ซึ่งเขาเล่าเรื่องดอนกิโฆเต้ให้คนคุกฟัง บทละครเรื่องนี้ดีมาก หลังจากนั้นมีหนังฮอลลีวูดแสดงนำโดย ปีเตอร์ โอทูล และโซเฟีย ลอเรน ซึ่งดูแล้วสู้บทละครไม่ได้ แม้จะเป็นนักแสดงอย่างโอทูล และลอเรนที่เล่นดีมาก

ไม่ว่าสภาพความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ก็ไม่อาจมาขวางกั้นขอบเขตแห่งจิตนาการ
แม้ในยามอับจนสิ้นไร้ ความฝันใฝ่ก็ยังปราศจากเขตแดน
ณ คุกใต้ดินแห่งหนึ่งในนครเซวิลล์ ประเทศสเปน
มิเกล เด เซร์บันเตส นักประพันธ์เอกของโลกถูกศาลศาสนาจับกุมมาคุมขังรวมกับนักโทษอื่นๆ ซึ่งมีทั้งหัวขโมย ฆาตกร แมงดาและโสเภณี
บรรดานักโทษเหล่านี้ ล้วนอยู่กันอย่างซังกะตาย
ทุกคนต่างหมดสิ้นความหวังในชีวิตและภายในคุกนี้
เซร์บันเตสก็ยังถูกนักโทษด้วยกันกล่าวหาว่าเป็นนักอุดมคติ
กวีชั้นเลวและคนซื่อ
ซึ่งเขาก็ยอมรับในข้อกล่าวหา
แต่เซร์บันเตสก็ยังขอโอกาสต่อสู้คดีเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
ด้วยการนำเสนอละคร อันเป็นเรื่องราวของ ดอนกิโฆเต้ อัศวินแห่งลามันช่า
ผู้พร้อมที่จะต่อสู้กับเหล่าอธรรม และใฝ่ฝันถึงแต่สิ่งที่ดีงาม
แล้วเขาก็ได้จุดไฟฝันให้สว่างขึ้นมาในหัวใจของปรรดาผู้สิ้นไร้
ซึ่งครั้งหนึ่งต้องดำรงอยู่อย่างยอมรับสภาพความจริง ของชีวิตอันยากแค้นขมขื่น
--- จาก สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ โดย มัทนี เกษกมล



คุณยุทธนากล่าวว่าหนังและละครนั้นต่างกัน หนังจำกัดจินตนาการคนเรา ในขณะที่บทละครเข้าถึงตัวละครที่ซับซ้อน และเปิดช่องว่างสำหรับจินตนาการให้เข้าสู่โลกความนึกฝันของดอนกิโฆเต้ การชมละครนั้นมีมนต์เสน่ห์ที่เรียกว่า Magic of Theatre ที่คนดูและละครดำเนินไปในเวลาจริง (real time) ความรู้สึกตรงกับคนดูมากกว่าหนังภาพยนตร์ที่เป็นสูตรสำเร็จแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ โอทูลยังไม่สามารถแสดงบทบาทออกมาดีเท่าละครที่เคยอ่าน คุณยุทธนาจึงเสนอให้คณะละคร 28 ทำละครเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือจะหาทุนจากไหน คณะละคร 28 เป็นเพียงคณะละครจนๆ แต่แล้วละครเพลงเรื่องนี้ก็เริ่มทำขึ้นด้วยอุดมคติของดอนกิโฆเต้ คือการดำรงอยู่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า การฝันและมุ่งไปตามสิ่งที่ฝัน

ละครเพลงเรื่องนี้ใช้พระเอก 2 คน คือศรัณยู วงษ์กระจ่าง และ จรัล มโนเพชร ที่มีพระเอกถึงสองคนนั้น ที่จริงมีพระเอกคนที่สาม คือคุณพรศิลป์ ที่เล่นเป็น กาลิเลโอ เป็นผู้ร้องเพลงเพราะ ในสมัยนั้นหานักร้องยาก นักแสดงต้องเก่งทั้งการร้อง เต้น และการเล่นละคร เมื่อการซ้อมเข้าสู่ช่วง 3 อาทิตย์สุดท้าย ตัวละครเอกบอกว่าไม่อาจทำได้ทั้ง 3 อย่าง (คือร้อง เต้น และเล่นละคร) จึงขอถอนตัว ผู้กำกับรับเอาศรัณยูผู้ต้องการรับบทนี้มาเล่น แม้จะ "ไม่เชื่อใจความสามารถการร้องเพลงเลย" และนำ จรัล มโนเพชร มารับบทบาทดอนกิโฆเต้ แม้จะไม่แน่ใจว่าคุณจรัลจะเต้นได้ไหม ด้วยเขาไม่เคยเล่นละครเวทีมาก่อน นักแสดงสองท่านนี้รับบทดอนกิโฆเต้สลับรอบกัน ซึ่งเป็นบทหนักมาก ด้วยต้องเล่นเป็น 3 ตัวละครคือ เซร์บันเตส, อล็องโซ กิฆาน่า และดอนกิโฆเต้ ดำเนินเรื่องตลอด 2 ชั่วโมงครึ่งโดยไม่มีเวลาพักครึ่ง

ละครเรื่องนี้มี 2 องก์ ไม่มีพักครึ่ง ซึ่งเข้าใจได้ว่าไม่ต้องการให้ผู้ชมหลุดไปสู่โลกความจริง ตัวละครในเรื่องนี้มีแต่คนรากหญ้า คนคุก คนโสมม และต้องการทำให้ผู้ชมเป็นคนต่ำที่สุด แต่ทุกคนมีความฝันถึงโลกนี้ที่ดีกว่า

ละครเรื่องนี้มีการร้องไห้ตบตีกันมากเพราะมัน 'push' ปกติต้องใช้เวลาซ้อมนานกว่านี้ แต่นี่รีบ เช้าต้องซ้อม 13.00-17.00 ซ้อมการแสดง หนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มร้องเพลง สามทุ่มถึงเที่ยงคืนเอาทุกอย่างมารวมกัน จึงเป็นการเร่งรัดตัวเอกอย่างยิ่ง เนื่องจากนักแสดงอื่นซ้อมมาแล้ว 3-4 เดือน เช่นคุณนรินทร ดังนั้นจึงไปไม่พร้อมกัน แต่ทุกคนต้องทำงานเป็นทีม

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ในมุมมองวชิระ บัวสนธ์

คุณเวียง วชิระ กล่าวถึงละครเรื่องนี้ว่า 20 ปีที่แล้ว ผมหนุ่มแน่นกว่านี้ รู้จักดอนกิโฆเต้ครั้งแรกด้วยไปอ่านที่ไหนไม่ทราบ อาจจะเป็น อ.เปลื้อง ณ นคร หรือ เจือ สตะเวทิน จำได้ว่าชื่อที่ผ่านหูคือดอนควิโซต จนเริ่มรู้จักที่ถนนหนังสือ พี่หง่าว (คุณยุทธนา) พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีโครงการทำละครเวที อ่านบทความในถนนหนังสือจึงได้รับรู้เรื่องราว มีโอกาสไปดูที่โรงละครแห่งชาติ ถึง 3, 4, 5 รอบ ตั้งแต่รอบสื่อมวลชน ผมจำหน้าตาพี่หง่าววันนั้นได้ชัดเจน เมื่อรอบสุดท้ายงานเลิกมีปาร์ตี้ ผู้ชายตัวเล็กคนนี้มีดวงตาที่ส่งประกายวาววิบออกมา ผมเคยคิดว่าถ้ามนุษย์สักคนมีความสุขจะมีอาการอย่างไร และเห็นได้ว่าพี่หง่าวมีความสุข ย้อนก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที ผมเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ดูละคร ถ้าใครดูละครและหัวใจไม่ได้ทำด้วยหินผา ถ้าน้ำตาไม่ไหลก็ต้องน้ำตารื้น ในฉากที่ดุลสิเนอามาบอกให้ดอนกิโฆเต้ตื่นฟื้นขึ้นจากเตียงที่นอนซมอยู่

จากกระบวนการเหล่านี้ที่ผมเห็นตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีจินตนาการหรือความใฝ่ฝัน ซึ่งอาจเห็นว่าวิกลจริตก็ได้หรือเห็นว่ามีความใฝ่ฝันสุกสกาวก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความใฝ่ฝันนั้นแล้ว ผมคิดไม่ออกว่าทำออกมาได้อย่างไร แม้นิยายกับบทละครจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยแก่นเรื่องหรือหัวใจของงานเขียนชิ้นนี้ยังคงอยู่ ในแง่อุดมคติและความใฝ่ฝัน ถ้าเรากลับไปสำรวจตรวจสอบจริงๆ ตั้งคำถามว่าความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้เป็นอย่างไร เขาอยากเป็นอัศวิน มีนางในดวงใจ ในหนังสือเป็นหญิงชาวนา ในบทละครคือโสเภณี ซึ่งต่างเป็นสามัญชน ไม่ใช่เจ้าหญิงสูงศักดิ์ แต่ดอนกิโฆเต้กลับเห็นเป็นนางในดวงใจ ผมอ่านแล้วกลับมาคิดถึงสภาพสังคมไทย ผู้นำของเราสมัยก่อน 19 กันยายน จริงๆ แล้วมีอุดมคติประมาณนี้อยู่หรือไม่ ผมยังสงสัยอยู่เหมือนกัน

คุณอธิคม พูดถึง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

ตอนละครฉายผมกำลังจะสอบเอ็นทรานซ์ เรื่องนี้มีพลังในการบอกต่อ รอบแรกๆ คนไม่มาก แต่ช่วงปลายมีคนล้นโรงละคร จากหนังสือบทละครที่ อ. มัทนีแปล และการได้รับฟังจากสื่อต่างๆ ที่ขวนขวายหามาอ่าน ละครเพลงนี้ให้น้ำหนักความคิด ความฝัน ความกล้าจะประกาศให้รู้ว่าโลกและสังคมควรเป็นอย่างไร ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับโลกที่เป็นอยู่ มีแต่คนบ้าอย่างดอนกิโฆเต้ที่ต่อสู้คัดง้างและบอกว่าโลกควรเป็นอย่างไร

เนื่องจากนิยายมีอายุกว่า 400 ปี จึงเป็นธรรมดาที่จะถูกตีความ ให้ค่า ดึงประเด็นออกมาใช้สอยให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุค เป็นไปได้ว่าผู้เขียนบทละครหยิบบางประเด็นมาใช้ คือความคิดความฝันของดอนกิโฆเต้ แต่มุมมองส่วนตัวของผมขณะอ่านนิยายแล้ว เซร์บันเตสกล่าวย้ำผู้อ่านตั้งแต่ต้นและบอกเป็นระยะๆ ตลอดเรื่องว่าดอนกิโฆเต้เป็นชายวิกลจริต น้ำหนักความเป็นนักฝันถูกตั้งข้อสงสัยหรือถูกเบรค แต่สังคมที่แวดล้อมดอนกิโฆเต้ ก็มีลักษณะสังคมที่ค่อนข้างเหลวไหลพอๆ กัน ทั้งความขี้ขลาด เอาตัวรอด เจ้าเล่ห์เพทุบายต่างๆ เช่นตอนหนึ่งที่ดอนกิโฆเต้ช่วยปล่อยทาสฝีพาย ผลคือถูกขว้างก้อนหินใส่ ผมตีความว่าภาพดอนและสังคมแวดล้อมมีความฉูดฉาดทั้งสองขั้ว

นิยายเรื่องนี้บอกต่อผ่านรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย ฝึกให้กล้าจินตนาการ ตั้งคำถามกับโลกและสังคม กล้าลุกขึ้นมาบอกว่าโลกควรเป็นอย่างไร แทนที่จะยอมรับว่าโลกเป็นเช่นนี้ หนังสือเรื่องนี้มีอิทธิพลการบอกต่อสูงมาก แต่เราควรรู้ว่าอาจบอกต่อโดยหยิบเพียงบางประเด็นมาใช้เท่านั้น

ความฝันและความบ้ามีเส้นแบ่งบางเบามาก คุณยุทธนาคิดว่าดอนกิโฆเต้บ้าหรือไม่

นวนิยายดอนกิโฆเต้เป็นเรื่องอัศวินที่ออกไปสู้กับคุณธรรม ซึ่งอยู่มาได้นานถึง 400 ปี หากกลับกันคือว่าถ้าสังคมนี้มันบ้าล่ะ คนนี้ก็เป็นคนดีที่ทำให้โลกนี้ดีกว่า นี่คือประเด็นที่ทำให้เรื่องนี้อยู่มาได้ 400 ปี ประเด็นของหนุ่มสาวที่มองโลกอย่างที่ควรเป็น ยึดความดีงาม มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันจะพบความดีงาม บางคนอยู่เฉยๆ ฝันเฟื่องไปเท่านั้น แต่ดอนกิโฆเต้ทำให้โลกนี้ดีขึ้น ดีกว่าเดิมทุกวันทุกเช้า นี่คือสิ่งที่มนุษย์อยากเป็น เช่นใน ผีเสื้อและดอกไม้ เช่นกัน เป็นเรื่องของมนุษย์กับความดีงาม ความบ้าความไม่บ้าถูกกำหนดโดยสังคม ทุกคนเป็น Man of La Mancha ได้ นัยยะนี้อยู่ในนิยาย แต่บทละครสรุปความได้คมคาย นั่นคือคำว่า Man คือทุกคน ละครเพลงเรื่องนี้จับแก่นออกมาได้ดี ออกมาเป็นเพลงเช่น The Quest และ Impossible Dream ละครที่สรุปนิยายยาวขนาดนี้ต้องจับประเด็นเด่นๆ คมๆ แล้วสรุปออกมา การมองโลกอย่างที่ควรเป็นถือเป็นสิ่งสูงค่าและมีเกียรติ (noble) ทุกคนหวังว่าอยากให้โลกนี้ดีกว่า ถ้าสิ่งนี้เรียกว่าบ้า น่าจะมีหลายคนที่พร้อมบ้าอย่างนั้น ซึ่งทำให้หนังสืออยู่มาได้นาน

พิธีกรถามว่าในละครมีฉากสำคัญหนึ่ง คือดอนกิโฆเต้สู้เพื่อปกป้องอัลดอนซ่า ดอนกิโฆเต้บอกว่าจะไปรักษาบาดแผลคนต้อนล่อ นางอัลดอนซ่าบอกว่าไปเองก็ได้ ในที่สุดถูกคนต้อนล่อข่มขืน ถ้าทำดีแล้วได้รับการตอบสนองแบบนี้ จะทำให้แนวคิดของดอนกิโฆเต้เป็นไปได้ในสังคมปัจจุบันหรือไม่

คุณวชิระตอบว่าโลกที่เป็นอยู่มักเป็นอย่างนั้น เวลาคุณมีปรารถนาดี ทำสิ่งดีๆ ไม่เสมอไปที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ส่วนใหญ่ได้ผลที่คาดไม่ถึง กรณีนี้ผมเข้าใจว่ามีฉากถัดจากนั้น ที่อัลดอนซามาชี้หน้าด่าว่าคุณธรรมบัญชาเป็นอย่างไรล่ะ ถูกข่มขืนยับเยินก็เห็นอยู่ แต่หัวใจชี้ขาดจะอยู่ฉากท้ายๆ ช่วงหนึ่งดูเหมือนอัลดอนซาจะเคลิ้มไปกับดอนกิโฆเต้ จนรู้สึกว่าข้าพเจ้าไม่ใช่อัลดอนซาแต่เป็นดุลสิเนอา แต่พอถูกข่มขืนก็กลับสู่โลกจริง ไม่เอาแล้วที่เป็นแม่หญิง จุดเปลี่ยนอยู่ตอนท้าย พอดอนกิโฆเต้กลับสู่โลกจริง เขาจำไม่ได้แล้วว่าเคยรู้จักคนนี้หรือ เคยรู้จักซานโช่หรือ แต่ได้มารื้อฟื้นความทรงจำ จินตนาการและความใฝ่ฝันให้กลับมา ถึงในละครดอนกิโฆเต้จะตาย คนในบ้านยืนยันว่าตายแล้ว แต่อัลดอนซายืนยันว่าเขามีชีวิตอยู่ ดอนกิโฆเต้ยังคงอยู่ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ความใฝ่ฝันยังคงอยู่ ดอนกิโฆเต้เป็นสัญลักษณ์ของความใฝ่ฝัน ถึงโลกที่ควรจะเป็น ไม่ใช่โลกที่เป็นอยู่

คุณอธิคม บอกว่าผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม อยู่ลำบากไหมในสังคมปัจจุบัน

หลายคนคงอยากเป็นนักฝันผู้ยิ่งใหญ่ แต่โดนมากๆ เข้าก็อาจเปลี่ยนใจได้ง่าย สิ่งนี้ไม่ล้าสมัยเพราะไม่เคยถูกบรรจุในยุคสมัย ไม่เคยมีมาแต่อ้อนแต่ออก ไม่ถูกนับเป็นกระแสหลักของสังคม แต่จะมีคนอย่างดอนกิโฆเต้ เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้วอดไม่ได้จะเทียบถึง The Old Man and the Sea ตอนสุดท้ายชายหาปลากลับคืนฝั่ง ไปพักผ่อนที่บ้านริมทะเล ไม่มีใครรับรู้วีรกรรมครั้งนั้น ผู้คนเพิกเฉยต่อวีรกรรมของคนๆ หนึ่งโดยไม่ให้ค่าอะไรเลย ท้ายที่สุด ดอนกิโฆเต้ยอมรับสภาพว่าที่ผ่านมาเขาบ้าไป มีการเหลื่อมกันระหว่างดอนกิโฆเต้และคนหาปลา ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมกระแสหลักไม่ค่อยจดจำคนลักษณะนี้ และมีวิธีวัดและให้ค่าอีกรูปแบบหนึ่ง

ตอนหนึ่งในละคร อัลดอนซาสนทนากับดอนกิโฆเต้ด้วยความสงสัยว่า ทำไมจะต้องทำอย่างนี้ด้วย ทำไมต้องทำตัวเป็นวีรบุรุษ เป็นอัศวินอยู่นั่นแล้ว เขาตอบว่า

ดอนกิโฆเต้ : ข้าหวังว่าจะเพิ่มความสง่างามให้แก่โลกได้บ้าง
อัลดอนซา : ไม่มีทาง ลงท้ายคุณนั่นแหละจะพ่ายแพ้จนยับเยิน
ดอนกิโฆเต้ : ชนะหรือแพ้ย่อมไม่สำคัญ
อัลดอนซา : แล้วอะไรล่ะที่สำคัญ
ดอนกิโฆเต้ : ขอเพียงได้ดำเนินรอยตามความใฝ่ฝัน
อัลดอนซา : ถุย นี่ไงความใฝ่ฝัน (หันหลังกลับเดินฉับๆจากไป แต่แล้วก็หยุด เดินกลับมา) ความใฝ่ฝันมันเป็นยังไง
ดอนกิโฆเต้ : มันคือภารกิจของอัศวินทุกคน....เป็นหน้าที่...หามิได้ เป็นอภิสิทธิ์ของเขาต่างหาก


คุณยุทธนากล่าวว่าผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนใฝ่ดีเป็นหลัก แต่สภาพสังคมทำให้เราต้องคลุกเคล้ากับสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำกันหลายชั้น อภิสิทธิ์ที่ดอนกิโฆเต้กล่าวถึงคือสิ่งที่เราจะรับรู้ได้เอง ซึ่งเพลง The Quest ต่อมาได้กลายเป็น แสงดาวแห่งศรัทธา เป็นความฝันอันสูงสุด ผมว่าดูละครเรื่องนี้แล้วยกระดับจิตใจ ที่เห็นผมมีความสุข ก็อาจเพราะได้รับการยกระดับจิตใจโดยไม่รู้ตัว ช่วงนั้นเราเป็นบ้าหรือเปล่าจะเอาอะไรมาวัด ชีวิตกับความดีงามน่าจะเป็นของคู่กันแน่ๆ แต่การจะฟันฝ่าไปสู่ความดีงาม ต้องแก้ไข ผจญหลายอย่าง ต้องอยู่ที่ guts (กึ๋น) ของตัวเองที่ต้องไม่ลืมอุดมคตินี้ไป ยกเว้นจะเหือดแห้งไปเลย ก็พวกละโมบ โลภ คอรัปชั่น ขาดจริยธรรมตั้งแต่ต้น คือไม่มีตั้งแต่แรก

คุณวชิระกล่าวเสริมว่าสมัยผมหนุ่ม รุ่นพี่จะชี้แนะ เมื่อรู้จักดอนกิโฆเต้ฉบับละคร ฉบับเยาวชนที่พี่ศรีดาวเรืองแปล ขอพูดว่าไหนๆ พวกเราในฐานะคนของสังคม ตอนแรกผมงง ทำไมพวกเราไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ ว่าเป็นหนังสือดีที่สุดในโลก Of Mice and Men ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ หรืองานวรรณกรรมบู๊ลิ้มก็มีลักษณะร่วมกัน ตัวละครไปเจอกันที่เรือนแรมแล้วเรื่องคลี่คลาย ผู้หญิงในเรื่องดอนกิโฆเต้ ยกเว้นแต่อัลดอนซาและมารีตอร์เนส หญิงรับใช้ที่โรงเตี๊ยมแล้ว นอกนั้นสวยทุกตัว ซึ่งเป็นขนบของวรรณกรรมบู๊ลิ้ม ถ้าใครรู้จักหนังสือเรื่องนี้ ควรมีหนังสือเก็บไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นบาปชนิดหนึ่ง

คุณอธิคมทิ้งท้ายว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะได้อ่านกัน อย่างน้อยควรมีไว้บ้านละหนึ่งเล่ม ดังที่ปกหลังบอกไว้ว่าหนังสือเรื่องนี้เก็บไว้ให้ถึงรุ่นลูกหลานอ่านได้ ผมเคยเขียนในสีสันว่าชื่นชมผีเสื้อที่กล้าหาญพิมพ์งานขนาดนี้ออกมา ทั้งที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงมาก ความคิดความฝันมีอยู่ในยีนมนุษย์ทุกคน พอเราถูกทดสอบเฆี่ยนโบยมากเข้าๆ จะมีคนจำนวนหนึ่งค่อยๆ กลายพันธุ์เป็นอีกแบบหนึ่ง ในนิยายเรื่อง ก็องดิด ของวอลแตร์ ตัวละครเอกแสวงหา ดิ้นรน เดินทาง เพียรพยายามหาความจริงแท้ของชีวิตว่าโลกควรเป็นอย่างไร แต่หลังจากการถูกเฆี่ยนโบยโดยชะตากรรมทั้งปวง กลับไม่ได้อะไรเลย แม้แต่พระเจ้ายังมองไม่เห็น วอลแตร์ถามว่าถ้ารู้อย่างนี้ว่าสู้ไป ดิ้นรนไป ก็จะไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้เสียงสรรเสริญ ไม่ได้ถูกรับเชิญให้เข้าไปในดินแดนของพระเจ้า มนุษย์จะยังเชื่อมั่นได้หรือไม่ ความคิดนี้อยู่ในวรรณกรรมหลายเรื่อง ไม่เฉพาะดอนกิโฆเต้ฯ

คุณชาติชายกล่าวว่าสุดท้ายแล้ว ดอนกิโฆเต้กล่าวว่า ที่สุดของความบ้าทั้งปวงคือมองชีวิตอย่างที่มันเป็น แทนที่จะมองชีวิตอย่างที่ควรเป็น เมื่อถามคุณยุทธนาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะได้ดูละครอีก คุณยุทธนาตอบว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ แต่ตัวเองไม่เคยทำงานซ้ำๆ ทีมงานละคร 28 ที่เรียกประชุมไปบอกว่ายินดี พร้อมช่วยเหลือ ที่ผ่านมาคุณยุทธนาทำแต่เรื่องคนคุก ละครตัวเองไม่พ้นคุก อยากทำสวยๆ แบบทวิภพบ้างแต่ทำไม่เป็น อยากทำแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความต่ำทราม แต่ให้ความรู้สึกดีงาม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยาก ถ้าทำได้จะมีความสุข

ก่อนฉายละครเพลงสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ คุณยุทธนาบอกว่าละครจะพูดของมันเอง ละครที่จะฉายนั้นช่องสามเป็นผู้ถ่ายทำ เป็นรอบที่คุณศรัญยู ซึ่งเป็นดาราสังกัดช่องสามเล่น ตอนนั้นผู้ถ่ายทำขอให้ดันไฟขึ้น เพราะกล้องสมัยนั้นจับแสงไม่พอ แต่คุณยุทธนาไม่ยอมด้วยจะรบกวนการแสดง ดังนั้นภาพในเทปอาจเห็นไม่ชัดนัก

คุณยุทธนาเล่าว่าละครเรื่องนี้พูดผ่านผู้ประพันธ์ ถึงชีวิตที่อยู่ไปวันๆ เพื่อสิ่งที่ดีงาม เซร์บันเตสในละครกล่าวถึงประสบการณ์สมัยไปสงครามดังนี้

ผมอยู่มาเกือบห้าสิบปีแล้ว ผมได้เห็นชีวิตอย่างที่มันเป็น เห็นความเจ็บปวด
ทุกข์ยากหิวโหย.. มันเป็นความโหดร้ายเกินกว่าจะทำใจให้เชื่อได้
ผมได้ยินเสียงคนเมาร้องเพลงดังมาจากร้านขายเหล้า
ได้ยินเสียงครวญครางดังมาจากกองขยะข้างถนน
ผมเคยเป็นทหารและได้เห็นเพื่อนล้มลงในสนามรบ ... หรือไม่ ก็ค่อยๆ
ตายไปทีละน้อยอย่างทรมานผมเคยโอบพวกเขาไว้ในอ้อมแขนเมื่อวาระสุดท้ายมาถึงคนเหล่านี้ล้วนมองชีวิตอย่างที่มันเป็น
กระนั้นก็ยังตายอย่างสิ้นหวัง ไม่เคยรู้จักความรุ่งโรจน์
ไม่เคยเอ่ยคำอำลาโลกอย่างกล้าหาญ ..มีแต่ดวงตาที่เต็มไปด้วยความสับสน
เฝ้าสะอึกสะอื้นถามว่า "ทำไม" เขาคงไม่ได้ถามว่าทำไมเขาต้องตาย
หากปรารถนาจะถามว่าทำไมจึงต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเล่า


เซร์บันเตสเห็นคนที่ตื่นขึ้นอย่างไม่มีความหวัง เมื่อตาย มองไปในแววตาแล้วเห็นว่าไม่มีอะไรเลย เขาเกิดมาทำไม ฉากนี้ซ้อมจนคุณศรัญยูหมดแรง คุณยุทธนาบอกว่าชอบฉากนี้มาก และอยากให้ดูการออกแบบท่าเต้นในละครเรื่องนี้ โดยคุณมานูเอล อาลูม ซึ่งเสียชีวิตไปไม่นานนี้ ผมว่าการออกแบบท่าเต้นดีมาก ไม่เคยเห็นใครออกแบบท่าเต้นระดับนี้ ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาน่าสนใจ มีหลายฉาก มีเพลงเล็กเพลงน้อยที่มีท่าเต้นบอกความหมายของฉาก

ชมเทปละครเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

และแล้วเวลาที่หลายคนรอคอยก็มาถึง ข้าพเจ้าอยากบอกว่าละครเรื่องนี้ทำดีมากเหลือเกิน แม้จะชมจากเทปที่บันทึกไว้ซึ่งไม่ใช่การแสดงสด แต่เป็นละครที่ดีมาก คุณศรัญยูเล่นดีอย่างชนิดน่าชื่นชม และน่าจะเป็นนักแสดงผู้เป็นที่อิจฉาคนหนึ่ง อะไรจะเคยเล่นเป็นตัวละครสำคัญของโลกทั้งดอนกิโฆเต้ และแฮมเล็ต ส่วนดุลสิเนอาโดยคุณนรินทรเล่นดีมาก ร้องเพลงดี ดูแล้วตกใจเล็กน้อยว่าเธออาจจะเปลืองเนื้อตัวไม่ใช่น้อย ซานโช่นั้นน่ารักมาก ใครรักซานโช่จะต้องไปชมฉากร้องเพลง 'ผมชอบเขา' ที่ว่า "ผมชอบเขา จริงจริงนะผมชอบเขา จะเอาผมไปต้มไปยำอย่างไร ก็ยังชอบ" ซึ่งน่ารักเป็นที่สุด

ละครเรื่องนี้ดึงดูดให้ผู้ชมร่วมไปกับความใฝ่ฝันของดอนกิโฆเต้ ให้ซาบซึ้งกับอุดมคติและนับถือยกย่องเขา ฉากสุดท้ายที่ดุลสิเนอามาอยู่ข้างเตียงของดอนกิโฆเต้นั้น น่าประทับจนข้าพเจ้าน้ำตาไหล และถ้าไม่ได้ชมในที่สาธารณะคงจะร้องห่มร้องไห้หนักหนากว่านี้ ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดละครนี้จึงอยู่ในดวงใจใครหลายคน และเป็นที่กล่าวขวัญมาจนกระทั่งวันนี้ ความใฝ่ฝันและการยึดมั่นในความดีงามอย่างไรเล่าที่เราต้องยึดถือ ดูละครแล้วอยากให้มีการนำกลับมาสร้างใหม่เสียจริง ในเรื่องนี้คุณมกุฏแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้คิดการใหญ่และชักชวนคุณยุทธนาว่า น่าจะทำละครเรื่องนี้ออกมาอีกนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริง นั่นคงทำให้หลายคนสมหวัง

ขอจบการรายงานนี้ด้วยสาส์นรักจากดอนกิโฆเต้ ถึงแม่หญิงดุลสิเนอา จากหนังสือ สาส์นรักนี้ได้ชื่อว่าเป็นจดหมายรักที่ดีที่สุดในโลก ในละครเพลงนั้นกล่าวว่า

ยอดหญิงมิ่งขวัญ สุดบูชาของข้าเอ๋ย อัศวินผู้จงรักขอสยบแทบเท้า รับใช้นางจนหมดหัวใจ
โอ้ นางผู้งามยิ่งกว่าสตรีใดในหล้า พิสุทธิ์ดุจน้ำค้างยามอรุณรุ่ง
สุดจะสรรหาถ้อยคำมาพรรณา...ดุลสิเนอา
โปรดเมตตาให้ข้าได้อาจเอื้อมจุมพิตแม้เพียงชายอาภรณ์
และขอวอนให้นางมอบสิ่งอันเป็นมิ่งขวัญ เทอดไว้แนบกายยามออกศึก


ส่วนสาส์นรักในหนังสือเป็นดังนี้

แม่หญิงราชนิกุลผู้สูงส่ง

บุรุษผู้ทุกข์ระทมด้วยมิได้พบประสบพักตร์แลผู้มีบาดแผลลึกในหัวใจ
ขอส่งความปรารถนาดีแด่แม่หญิงดุลสิเนอาแห่งโตโบโซ่ผู้หวานล้ำ
ขอแม่หญิงมีเรือนกายแข็งแรง อันเป็นสิ่งที่ข้ามิมี
หากแม่หญิงผู้งามพิลาสหมิ่นแคลนข้า แลหากนางไม่มีหัวใจให้ข้าสักน้อยนิด
ความเมินเฉยของนางคือความตรอมตรมแห่งข้า แม้ข้าทนทุกข์ได้ทุกเมื่อ
ทว่าแทบมิอาจทานความระทมอันหนักหน่วงนานเนิ่น บัดนี้
อัศวินสำรองผู้ภักดีของข้านามซานโช่ จะเป็นผู้เล่าให้แม่หญิงได้สดับ โอ้
โฉมงามผู้ไร้เมตตา โอ้ ศัตรูอันเป็นที่รัก ข้าเฝ้ารอความการุณย์จากแม่หญิง
แม้นางประสงค์จะชุบชีวิตข้า ข้าอยู่ในเงื้อมมือแห่งนางแล้ว
หาไม่ก็จงกระทำตามแต่ใจนางปรารถนาเถิด ชีวิตข้าจัดได้ด่าวดิ้น
สนองความโหดร้ายแห่งนางแลปรารถนาแห่งข้า

ทาสรักของแม่หญิงตราบสิ้นลมปราณ
อัศวินหน้าเศร้า

2 ความคิดเห็น:

Don de Bangkok กล่าวว่า...

"พี่หง่าวทำ (ละครเพลงสู่ฝันอันยิ่งใหญ่) เลยครับ ไม่มีใครเล่นเป็นดอนกิโฆเต้ ผมเล่นให้ก็ได้"
--- เวียง วชิระ บัวสนธ์

"ผมต่างหากจะเล่นเป็นดอนกิโฆเต้ คุณน่ะเล่นเป็นซานโช่"
--- ดร. ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับสำหรับบทความ