วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2550

งานวันที่สอง

รายงานโดย เจ้าหญิงมิโกมิโกน่า



งานวันนี้มีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี มาร่วมงานเสวนา ในหัวข้อ 'สิงห์สนามหลวง พูดถึง ดอนกิโฆเต้ฯ' ร่วมกับคุณอรรคภาค เล้าจินตนาศรี คุณสุชาติเล่าว่าสนใจหนังสือ ดอนกิโฆเต้ฯ ตั้งแต่วัยหนุ่ม เนื่องจากตอนนั้นสนใจวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นการส่วนตัว ทั้งได้ยินนักเขียนดังเช่น เฮมิงเวย์ ตอลสตอย จอยซ์ กล่าวถึงหนังสือเรื่องนี้ในแง่ชื่นชม เฮมิงเวย์ถึงขนาดลงทุนเรียนภาษาสเปนเพื่ออ่านนิยายเรื่องนี้ในภาษาต้นฉบับ ทำให้ลองไปหาหนังสือเล่มนี้ ไปหาในห้องสมุดก็ไม่พบ ไปหาในร้านหนังสือเก่าแถวสนามหลวง เจอฉบับย่นย่อของสำนักพิมพ์เดล จึงซื้อมาอ่านเพื่อให้รู้ว่าเกี่ยวกับอะไร

คุณสุชาติกล่าวว่า ควรมีการแปล ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นภาษาไทยตั้งแต่ 40 ปีก่อน เขาควรได้อ่านฉบับแปลเมื่ออายุ 20 ปี ถ้าได้อ่านตอนนั้นน่าจะจุดประกายให้ได้โลดแล่นมากกว่านี้ "ผมคงโลดแล่นกว่านี้" ตอนนี้เขาอายุกว่าหกสิบแล้ว แต่อ่านแล้วยังรู้สึกเหมือนตนเองเป็นเด็กหนุ่ม

ต่อมาคุณสุชาติได้พบ ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับเต็มที่ร้านดวงกมล เป็นฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพนกวิน จึงซื้อมา 2 เล่ม ต่อมาคุณสุชาติได้ให้หนังสือหนึ่งเล่มในจำนวนนั้นแก่คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้เพิ่งออกจากป่า

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

คุณสุชาติเล่าถึงละครของคณะ 28 เรื่องนี้ว่า ไม่ได้มาจากหนังสือฉบับเต็ม เขาเป็นผู้อำนวยการแสดงของละคร หน้าที่คือ "คอยระวังเวลานักแสดงกับผู้กำกับจะตบกัน เป็นกันชนให้เขา" โปรดักชั่นของเรื่องนี้เป็นเงินถึง 4 ล้านบาท ทำให้อดเกรงไม่ได้ว่าตนเองจะตกเป็นหนี้เป็นสิน

เนื้อหาของหนังสือ จากมุมมองของ สิงห์สนามหลวง

คุณสุชาติบอกว่าเราสามารถมอง ดอนกิโฆเต้ฯ ได้ทั้งในแง่งานวรรณกรรม และงานที่ทำให้เราเข้าใจยุโรปศตวรรษที่ 16-17 เนื่องจากหนังสือเรื่องนี้สะท้อนสังคมยุโรปหลายด้านในยุคนั้น ในตอนนั้นสเปนเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นยุครุ่งเรืองและมั่งคั่ง สเปนสนับสนุนการค้นพบดินแดนใหม่ ตอนที่ ดอนกิโฆเต้ฯ ภาคแรกตีพิมพ์ออกมา เรื่องราวในนั้นสะท้อนสเปนในยุคเฟื่องฟูทางศิลปะวิทยาการ สเปนในตอนนั้นเป็นเสมือนศูนย์กลางหนึ่งของโลก เซร์บันเตสเขียนภาคสองออกมา 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อภาคสองออกมา สเปนเสื่อมลง เริ่มเสียความเชื่อมั่นในตนเอง มีปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งขนานไปกับเรื่องราวของดอนกิโฆเต้ เขาเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในตนเองในภาคแรก แต่ภาคสองเขาเริ่มยอมรับความจริง เซร์บันเตสน่าจะแสดงให้เห็นสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นนวนิยายเล่มนี้ไม่เป็นเพียงงานวรรณกรรม แต่มีนัยยะเชิงสังคมและประวัติศาสตร์

แก่นเรื่องของดอนกิโฆเต้ฯ คือ ความขัดแย้งระหว่างอุดมคติและความเป็นจริงในชีวิต บุคลิกของดอนกิโฆเต้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายต่อหลายคน แม้กระทั่งคณะสุภาพบุรุษของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากบุคลิกเช่นนี้ ดังคำกล่าวของคุณกุหลาบว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น"

วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ นักประพันธ์ชั้นเอกกล่าวไว้ว่า "ก้าวแรกที่ดอนก้าวเท้าออกจากหมู่บ้านลามันช่า สิ่งที่เรียกว่าโลกสมัยใหม่ได้ปรากฏขึ้น" เซร์บันเตสเขียนนิยายสมัยใหม่และยังให้กำเนิดตัวละครสมัยใหม่ นิยายตามขนบสเปนในยุคนั้นคือนิยายอัศวิน แต่เซร์บันเตสกลับเขียนให้ตัวละครเขามีลักษณะ anti-hero คือมีบุคลิกที่ต่างไปจากบุคลิกตามขนบโดยสิ้นเชิง แทนที่พระเอกจะหล่อล่ำ แข็งแรง กลับเป็นชายวัยห้าสิบปีเศษผู้ผอมแห้ง ทว่า ตัวละครผู้นี้กลับมีความคิดอุดมคติ เขาเชื่อในอุดมการณ์ดีงาม ความเชื่อของเขานำทางเขาไป ดังคำกล่าวเช่น แสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือวาทะ "An ideal is like a guiding star." ของตอลสตอย

ดอนกิโฆเต้ชวนซานโช่ ปันซ่า ให้ร่วมเดินทางไปด้วย ซานโช่เป็นคนระดับรากแก้วหรือรากหญ้า ตีนติดดิน ยอมตามดอนกิโฆเต้ไปด้วยคำสัญญาว่าจะให้สิ่งของต่างๆ บอกว่าจะให้เอสเอ็มแอลก็ไป บอกว่าจะให้บ้านเอื้ออาทรก็ไป ซานโช่ติดตามดอนกิโฆเต้ไปด้วยความคิดเช่นนี้

บทเรียนจากเรื่องนี้มาจากการเดินทาง ซึ่งมีวรรณกรรมสำคัญก่อนหน้านี้หลายเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทาง เช่นอีเลียดและโอดิสซี ในโอดิสซีเล่าถึงการหาทางกลับบ้านของตัวละคร ซึ่งใช้เวลาถึงสิบปีในการกลับบ้าน ยูลิซิสของเจมส์ จอยซ์ บอกการเดินทางในหนึ่งวันของตัวละคร เริ่มตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือแม้แต่วรรณกรรมของไทยเราเช่นเรื่องพระราม ที่เดินทางเป็นระยะเวลานาน การเดินทางเหล่านี้ทำให้เราได้รู้จักตัวเอง

ดอนกิโฆเต้ฯ ทำให้เรารู้จักตัวเอง แม้ในเรื่องจะบอกว่าดอนกิโฆเต้เป็นบ้า แต่เขามีสติตลอดเวลา สติทำให้เขาสงสัยและตั้งคำถามถึงเรื่องต่างๆ นอกจากนั้น เขายังมีซานโช่คอยเตือนสติ บทเรียนระหว่างเดินทางทำให้คนเราเปลี่ยนโลกทัศน์

คุณค่าของวรรณกรรมที่ดีคือทำให้เราได้คิด ดอนกิโฆเต้ฯ คือหนังสือที่เฮมิงเวย์ใช้คำว่า move หรือ "เคลื่อน" ตัวเขา ดอนกิโฆเต้เป็นคนล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ อาวุธของเขาคือความเชื่อ ซึ่งเป็นดังดวงดาวนำทางให้แก่เขา



นิยายอัศวินปัจจุบันของบ้านเรา


ตลาดหนังสือไทยปัจจุบันไม่ได้ต่างไปจากนิยายอัศวินยุคดอนกิโฆเต้เท่าใดนัก เนื่องจากมีนิยายแปลยอดฮิตจากเกาหลี ญี่ปุ่น เซร์บันเตสเขียนเรื่องที่ต่างไปจากคนอื่นในยุคนั้น (ยุคสมเด็จพระนเรศวร) และเรื่องของเขาเกรียงไกรมาจนถึงปัจจุบันนี้ คุณสุชาติกล่าวว่ายังคอยอยู่ว่าจะมีนักเขียนไทยสักคนที่ทำใด้อย่างเซร์บันเตส

แต่เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องสั่งสมความรู้ ต้องอ่านงานเขียนดีๆ ที่แปลเป็นภาษาไทย ยิ่งอ่านมากยิ่งสร้างสมภูมิรู้ภูมิคิด

มีวรรณกรรมสำคัญของโลกที่ควรแปลเป็นภาษาไทยออกมาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว แต่งานแปลในไทยทำได้เพียงการนำวรรณกรรมชั้นสองมาแปล เช่น ความพยาบาท ของแมรี่ คอลเรลลี น่าเสียดายว่าแม้ไทยจะมีนักเรียนนอกมานาน แต่เรากลับไม่สามารถนำงานที่เป็น "กล่องดวงใจ" ของต่างชาติมาแปลเป็นภาษาไทยได้ วรรณกรรมที่นำมาแปลในบ้านเราเหล่านี้น่าจะมีอิทธิพลทางอ้อมมาถึงวรรณกรรมไทยปัจจุบันไม่มากก็น้อย อย่างนี้หรือไม่ วรรณกรรมไทยจึงวนเวียนซ้ำๆ ซากๆ แต่เรื่องเพ้อฝัน เรื่องครอบครัว

เราไม่มีองค์กรทำงานด้านนี้ให้ต่อเนื่อง ไม่มีสำนักงานการแปล ไม่มีใครให้ความสำคัญกับงานแปลอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 เราล้าหลังกว่าสังคมญี่ปุ่น วรรณกรรมคลาสสิกนั้นมีแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นหมดแล้ว บ้านเราเติบโตแบบสะเปะสะปะ หยิบเอากล่องดวงใจเขามาไม่ได้ และช้าเกินไป

ในยุคสมัยที่ไทยมีประชากร 8 ล้านคน หนังสือของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง พิมพ์ 2,000 เล่ม ขายหมดภายใน 6 เดือน เทียบกับปัจจุบัน ที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน มีคนไปเรียนต่อเมืองนอกมากมาย มีบัณฑิตจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปีละร่วมแสนคน มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจำนวนมาก หนังสือบ้านเราที่พิมพ์ครั้งละ 2,000 เล่มเท่าเดิม ยังขายไม่หมด สิ่งนี้สะท้อนอะไรถึงสังคมไทย สะท้อนว่านักศึกษาและผู้มีการศึกษาไม่ได้อ่านหนังสือ เรามีวัฒนธรรมแท่นพิมพ์และการผลิตหนังสือ แต่ไม่เคยมีวัฒนธรรมการอ่าน ลองถามสำนักพิมพ์ผีเสื้อดูก็ได้ว่าพิมพ์ ดอนกิโฆเต้ฯ กี่เล่ม และขายได้กี่เล่ม

อย่างไรก็ตาม เราต้องพยายามต่อไป เริ่มต้นช้ายังดีกว่าไม่ได้เริ่มเลย เราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และเริ่มที่หอสมุดแห่งชาติ อันเป็นสถาบันความรู้คู่ชาติ น่าดีใจที่หอสมุดมีการจัดงานนิทรรศการเช่นนี้ ขอให้เราทำตามแบบอย่างดอนกิโฆเต้ที่มีความเชื่อเป็นอาวุธ

คุณสุชาติปิดท้ายด้วยเรื่องตลก (หรือคิดอีกทีว่าสะท้อนความไม่รู้เรื่องหนังสือของบ้านเราเพียงใด ก็อาจเป็นเรื่องเศร้ามาก) มีคนถามว่าอยากติดต่อคุณ มนัส จรรยงค์ จะติดต่อได้อย่างไร เขาตอบว่าจะต้องผ่านกระทรวงไสยศาสตร์และเทคโนโลยี นั่นคือผ่านร่างทรง เช่นเดียวกัน เมื่อลูกชายเขาทำงานกับสำนักพิมพ์หนึ่ง สำนักพิมพ์สนใจหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงขอให้ลูกชายเขาช่วยติดต่อจิตร ภูมิศักดิ์ ให้ด้วย

คุณสุชาติปิดท้ายการสนทนาที่สนุกมากครั้งนี้ด้วยบทกวี แด่สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ประพันธ์โดย ศรีดาวเรือง ขึ้นต้นว่า "ถ้าอย่างนั้นฉันจะร้องให้ก้องฟ้า"


แฟนพันธุ์แท้ ดอนกิโฆเต้ฯ




หลังจากนั้นเป็นรายการแฟนพันธุ์แท้ ดอนกิโฆเต้ฯ โดยหนุ่มสาว 10 ท่าน ซึ่งมาร่วมงานด้วยสาเหตุต่างๆ กัน บ้างอยากประชาสัมพันธ์ภาควิชาภาษาสเปนของมหาวิทยาลัย บ้างอยากเป็นนักเขียนและชอบดอนกิโฆเต้ บ้างจะมาตามหานางดุลสิเนอา บ้างมาประกาศว่าฉันคือดุลสิเนอา บ้างบอกตามตรงว่ายังโสดและอยากมาหาแฟนหนุ่มโรแมนติกในงานนี้ ใครรู้ตัวว่าโรแมนติกรีบมาเลย พร้อมแต่งงานทันทีหลังการแข่งขัน

เสน่ห์ของการแข่งขันนี้ไม่ได้อยู่ที่คำถามและคำตอบมากนัก แต่อยู่ที่คำตอบผิด ซึ่งน่าสนใจจริงๆ เช่นคำถามว่า ภาพประกอบในหนังสือแปลใช้ภาพของ กุสตาฟ ดอเร่ แต่จะเห็นว่าในภาพมีลายเซ็นของอีกคนชื่อ H. Pisan ถามว่าเขาคือใคร

คำตอบที่ถูกคือ ปิซานเป็นคนแกะแม่พิมพ์ (หนังสือสมัยก่อนพิมพ์ภาพวาดประกอบโดยมีนักวาดมาวาดรูป และมีผู้แกะแม่พิมพ์ ปิซานแกะแม่พิมพ์โดยใช้เหล็กแหลมขูดบนโลหะให้เป็นร่อง ดูลายเส้นละเอียดในภาพแล้วจะเห็นความอุตสาหะและฝีมือของศิลปิน เมื่อจะพิมพ์ภาพ ทำโดยใส่หมึกลงไปและเช็ดออก หมึกจะไปค้างตามร่องที่แกะไว้ เมื่อพิมพ์ลงในกระดาษจะปรากฏลายเส้นเป็นภาพ)

ผู้เข้าแข่งขันหลายท่านตอบน่ารักมากว่า ปิซานคือเพื่อนของดอเร่ (มีทั้งคำตอบว่าเพื่อนสนิท และเพื่อนรัก) บ้างตอบว่าเป็นเพื่อนของเซร์บันเตสก็มี คุณคมสัน นันทจิต ถูกใจคำตอบเหล่านี้อย่างยิ่งจนอยากให้คะแนน ด้วยอารมณ์ประมาณว่า มาบอกอะไรกันป่านนี้

คำถามอีกข้อถามฉายาของอัศวินกะรุ่งกะริ่ง มีผู้ตอบว่า ต้อยหมวกแดง

อีกข้อหนึ่งถามความสามารถพิเศษของดุลสิเนอา หลายท่านตอบว่าร้องเพลงเพราะ และสวย คำตอบที่แท้จริงคือเธอมีฝีมือหมักหมูเค็มเป็นเลิศในแคว้นลามันช่า

หรือคำถามว่าดอนกิโฆเต้มีปานสีน้ำตาลเข้มกับขนหยาบๆ คล้ายขนหมูปรากฏอยู่ที่ใด หลายท่านตอบว่าที่ก้น

การแข่งขันมีแต่ความสนุกและรื่นเริงดังรายการตลก ผู้ชนะเป็นนักศึกษาภาควิชาภาษาสเปนจากรามคำแหง ซึ่งเฉือนรองชนะเลิศเพียงคะแนนเดียว แต่น่าชื่นชมสปิริตและความน่ารักของผู้เข้าแข่งขันทุกท่าน

ก่อนไปฝากคำถามไว้บ้างดีกว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบถูกเลยในงาน หญิงรับใช้ที่แขวนข้อมือดอนกิโฆเต้ในเรือนแรมนั้นมีชื่อว่าอะไร ?

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆๆค่ะสำหรับบทความดีๆ